BMW Art Cars ศิลปะขับเคลื่อนยานยนต์ (ตอนจบ)

ในครั้งที่แล้ว เราได้พาท่านไปชม BMW Art Cars จำนวนมากที่มาจากยุค 80s และ 90s ซึ่งหลายรุ่น ไม่ใช่รถที่ราคาแพงสูงเสียดฟ้า แต่ได้ความงามที่เสกให้โดยศิลปินชื่อดังหลายท่าน กลายเป็นรถโชว์ที่มีความโดดเด่น Art Cars ในยุคนั้น ถือเป็นช่วงที่เฟื่องฟูที่สุด มีการสร้างรถแบบนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

.

ทว่า ในช่วงใกล้เปลี่ยนศตวรรษ มาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนศิลปินที่มีพลังใจมากพอจะมาทำงานในลักษณะนี้จะมีจำนวนน้อยลง Art Cars ในช่วงหลังจึงออกมาแบบนานๆที หรือบางครั้งก็เว้นช่วง เงียบหายไปหลายปี อย่างไรก็ตาม ทาง BMW ก็พยายามให้ประเพณีการนำศิลปะมาอยู่บนรถ เป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไป ดังนั้น ในตอนสุดท้ายของ BMW Art Cars ซีรีส์บทความชุดนี้ เราจะพาท่านไปชมรถ BMW Art Cars ตั้งแต่ปี 1999 จนถึงคันล่าสุด

หากท่านพลาด ไม่ได้อ่าน BMW Art Cars สองตอนก่อนหน้านี้ ท่านสามารถคลิกได้ที่นี่

BMW Art Cars ตอนที่ 1

BMW Art Cars ตอนที่ 2

Art Car No. 15- BMW V12 LMR, 1999

ข้อความที่พิมพ์บนตัวรถ โดยศิลปิน Jenny Holzerปกป้องฉันจากสิ่งที่ฉันต้องการ / ความล้มเหลว มีเสน่ห์ในตัวของมันตลอด / เธอซับซ้อนมากจนลืมนึกถึงอันตราย / การไร้ความสามารถพิเศษเป็นภัยมหันต์ / จิตที่เพ่งอยู่ในสิ่งเดียว คือต้นทางของความสำเร็จ / ถ้าเซ็กส์ไม่ช่วย แล้วอะไรล่ะช่วยเราได้

Jenny Holzer เกิดที่เมือง Gallipolis รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 1950 ในวัยเด็ก เธอมีความฝันอยากเป็นศิลปินวาดภาพแบบ Abstract และเข้าเรียนที่ Duke University ในรัฐ North Carolina เมื่ออายุได้ 18 ปี แต่ในช่วง 4-6 ปีต่อมา เธอได้ก้าวเข้าสู่ศิลปะแขนงใหม่ของการใช้ “ตัวอักษร” งานที่มีชื่อเสียงของเธออย่าง TRUISMS ซึ่งเกิดในช่วงปี 1977 ที่เธอย้ายมาอยู่ New York ดูแล้วเหมือนถ้อยคำขวัญยาวๆที่พิมพ์ลงบนกระดาษธรรมดา แต่ Jenny อธิบายว่า ถ้อยคำ ก็คือศิลปะอย่างหนึ่ง

จากนั้น เธออาศัยศิลปะแนวนี้ในการพัฒนาตนเองประยุกต์เข้ากับการใช้กราฟฟิค วัสดุที่เป็นแบ็คกราวนด์ หรือใช้แสงจากการฉายตัวอักษร LED ในการสร้างงานศิลปะของเธอ เมื่อคุณเดินทางไปตามสถานที่สำคัญต่างๆในโลก รวมถึง Time Square ที่ New York หากได้เห็นตัวอักษรเรียงเป็นถ้อยคำยาวๆตามกำแพง หรือฉายอยู่บนตึก พิมพ์อยู่บนเสื้อยืด นั่นก็อาจเป็นผลงานของเธอ เรียกได้ว่าเป็นการผสานความเป็นศิลปะจากเรื่องมุมมอง แสง และสี เข้ากับสิ่งที่เธอเขียน ซึ่งได้มาจากการเรียนปรัชญาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

สำหรับ Art Car หมายเลข 15 ของเธอนั้น Jenny เลือกใช้ข้อความ ซึ่งเธอบอกว่า “มันคือสัจธรรมที่อาจไม่มีวันตาย” ตัวรถนั้นใช้สีสันและการตกแต่งแบบธรรมดาตามมาตรฐานรถแข่ง แต่เพื่อสร้างเอกลักษณ์ประจำค่ายของ BMW ที่มีสีฟ้าและขาวเป็นส่วนประกอบ เธอจึงใช้ตัวอักษรแบบชุบโครเมียมและสี Phosphorescent ทำให้เวลารถแข่งวิ่งตอนกลางวัน ความเงาของโครเมียมสะท้อนกับท้องฟ้า ก็จะได้โทนสีฟ้าในบางจังหวะ ในขณะที่ช่วงกลางคืน การสะท้อนเงาก็ยังออกมาเหลื่อมระหว่างสีโครเมียมและสีน้ำเงิน

The BMW V12 LMR

  • รถแข่ง Le Mans Prototype สร้างโดยความร่วมมือระหว่าง BMW Motorsport และ Williams F1
  • โครงสร้างหลักของรถ มาจากรถแข่ง V12 LM ที่ล้มเหลวในการแข่ง แต่ถูกเปลี่ยนภายนอกใหม่
  • ใช้ Roll-over cage เพียงอันเดียวฝั่งคนขับเพื่อลดแรงต้านอากาศ จากเดิมที่เป็นชิ้นยาว
  • เครื่องยนต์ V12 สูบ รหัส S70/3 มีพื้นฐานเกือบเหมือนเครื่องยนต์ในซูเปอร์คาร์ McLaren F1 ความจุ 5,990.5 ซี.ซี. ให้พลัง 580 แรงม้า
  • ความเร็วสูงสุด 340 กิโลเมตร/ชั่วโมง

รถ Art Car คันนี้ เข้าร่วมแข่งในรายการ Le Mans เดือนพฤษภาคม 1999 แต่เฉพาะในช่วงควอลิฟายเท่านั้น ไม่ได้ลงแข่งจริง อย่างไรก็ตาม รถแข่ง V12 LMR อีกสองคัน ได้ลงแข่งจริง และชนะรายการแข่งโดยรถที่มี Joachim Winkelhock, Pierluigi Martini และ Yannick Dalmas เป็นผู้ขับ

Art Car No. 16 – BMW H2R, 2007

“ผมหวังว่างานศิลปะชิ้นนี้จะช่วยสร้างมุมมองและความคิดใหม่ๆที่เรามีต่อรถ และยุคสมัยที่เราอยู่ด้วยกันในขณะนี้ ด้วยการนำเอาศิลปะ การออกแบบ วิถีชีวิต และความกังวลที่เรามีต่อสภาพสิ่งแวดล้อม มารวมกัน เป็นภาษาที่สื่อในงานชิ้นนี้ของผม” – Olafur Eliasson

Olafur Eliasson เป็นบุตรของชาวไอซ์แลนด์ที่ย้ายมาอยู่ในเดนมาร์กในปี 1966 เขาเกิดที่เมือง Copenhagen ในปี 1967 พ่อของเขามีอาชีพเป็นพ่อครัว และหลงใหลในศิลปะมาก แต่มีชีวิตที่ไม่ราบรื่นเท่าไหร่เนื่องจากฐานะไม่สู้ดีนัก เมื่อ Olafur อายุได้ 8 ขวบ พ่อกับแม่ของเขาก็แยกทาง พ่อกลับไปอยู่ไอซ์แลนด์ ส่วนตัวเขาเองก็เรียนอยู่ต่อที่เดนมาร์ก และกลับไปหาพ่อในช่วงปิดเทอม

แม้ว่าเขาจะมีพรสวรรค์ทางด้านการวาดเขียน แต่เมื่อให้สัมภาษณ์ Olafur บอกว่า ช่วงแรกเริ่ม เขาสนใจในเรื่องการเต้น Break Dance มากกว่า ในวัย 18 ปี เขาและเพื่อนอีก 2-3 คน ตั้งเป็นกลุ่มนักเต้นชื่อ Harlem Gun Crew แล้วก็ตระเวนเต้นตามไนท์คลับ รวมถึงเข้าร่วมประกวดนักเต้น จนกระทั่งไปคว้าแชมป์จากการแข่งที่สวีเดนมาได้

เมื่อเขาอายุมากขึ้น ก็ได้ร่ำเรียนศิลปะจากอาจารย์อีกหลายคน เช่น Einar Thorstein ซึ่งมีความเชี่ยวชาญศิลปะด้านรูปทรงเรขาคณิต แต่ Olafur พัฒนาไปไกลกว่านั้น นอกจากใช้รูปทรงต่างๆในการสร้างงานศิลปะแล้ว เขายังเชี่ยวชาญในการใช้แสง สี หรือแม้กระทั่งการปรับอุณหภูมิ และพ่นละอองน้ำเพื่อสร้างมิติของงานที่แตกต่าง นับเป็นศิลปินแนวใหม่ที่หาตัวจับยาก

ในปี 2007 BMW ติดต่อให้ Olafur มาสร้างสรรค์ผลงานลงบนรถต้นแบบพลังไฮโดรเจน (H2R Prototype) เขาตัดสินใจเลาะโครงสร้างเปลือกนอกของรถต้นแบบคันนี้ออกจนหมด และแทนที่ด้วยวัสดุแผ่นโลหะและตาข่ายเหล็ก จากนั้นเพื่อความ “แนว” ในสไตล์ของเขาเอง รถก็ถูกนำเข้าห้องเย็น แล้วก็ฉีดพ่นน้ำจำนวน 530 แกลลอน ให้ไปจับและแข็งตัวเป็นแผ่นน้ำแข็งบางๆคลุมรอบคัน และตบท้ายด้วยการติดตั้งชุดไฟเรืองแสงส่องจากด้านในรถ นั่นก็ทำให้ทุกครั้งที่นำรถคันนี้ไปจัดแสดงที่ใด ทางผู้จัดก็ต้องเตรียมห้องเย็นเอาไว้ เพื่อกันไม่ให้น้ำแข็งละลาย

ด้วยวิธีนี้ Art Car ของ Olafur Eliasson จึงเป็นสื่อในการแสดงวิสัยทัศน์ที่เขามีต่อโลกและยานยนต์ การขับเคลื่อน พลังงานทดแทนแบบใหม่ และความสัมพันธ์ระหว่างโลกแห่งยานยนต์กับสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน นับเป็นภาษาแห่งกวีที่ถ่ายทอดออกมาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาอย่างไม่มีใครกล้าเลียนแบบ

The BMW H2R (ในภาพบน คือรถต้นแบบ ก่อนที่จะถูกรื้อทำ Art Car)

  • เป็นรถแข่งพลังไฮโดรเจน สร้างขึ้นมาเพื่อทำสถิติโลก
  • H2R ย่อมาจาก Hydrogen Record Car
  • สร้างขึ้นภายใน 10 เดือน ภายใต้การดูแลของ Raymond Freymann
  • เครื่องยนต์ V12 6.0 ลิตร จาก 760Li ถูกนำมาดัดแปลงให้ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง
  • พลัง 285 แรงม้า ความเร็วสูงสุดที่ทำสถิติ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง

รถ BMW H2R ประสบความสำเร็จในการสร้างสถิติ 9 หัวข้อสำหรับรถพลังไฮโดรเจนที่มีเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน เป็นรถที่พิสูจน์ว่าไฮโดรเจนเหลวสามารถใช้งานแทนเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้ และยังมีความสามารถที่จะบังคับควบคุมได้เหมือนรถสมัยใหม่ทั่วไป

Art Car No. 17 – BMW M3 GT2, 2010

“รถแข่งพวกนี้เหมือนกับชีวิต มันมีแรงและพลังงานมหาศาล คุณจะเอาชีวิตคุณไปรวมกับมัน รับพลังที่มีอยู่ล้นเหลือภายใต้ฝากระโปรงนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของคุณ การเชื่อมต่อระหว่างชีวิตของคุณกับพลังงานของรถ นั่นล่ะคือไอเดียที่ผมอยากถ่ายทอดให้เห็นในรถคันนี้” – Jeff Koons

Jeffrey L. Koons เกิดที่เมือง York รัฐ Pennsylvania สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 1955 ในวัยเด็ก เขาต้องเดินเร่ขายกระดาษห่อของขวัญและขนมขบเคี้ยวตามบ้านเรือนเพื่อหารายได้พิเศษในระหว่างเรียน จนกระทั่งในเวลาต่อมา เขาหลงใหลในงานศิลปะแบบ Surreal ของ Salvador Dali มากจนขอนัดเจอตัวจริงที่โรงแรม St. Regis ใน New York City ความคลั่งไคล้ของเขา มากถึงขนาดเมื่อยุค 70s มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาย้อมผมสีแดง และเอาดินสอแต่งหนวดตัวเอง ตั้งใจให้ดูเหมือน Salvador Dali

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียนจบ เขากลับไปทำอาชีพนักค้าหุ้นในตลาด Wallstreet ซึ่งช่วยให้เขามีรายได้มาสร้างงานศิลปะของตัวเอง Jeff ยังไม่โด่งดังจนกระทั่งกลางยุค 80s ด้วยฐานะการเงินที่เพียงพอ เขาสามารถตั้งสตูดิโอและจ้างพนักงาน 30 คนไว้คอยช่วยเหลือในด้านต่างๆ งานของเขาที่โด่งดังก็อย่างเช่น “Rabbit” ซึ่งถูกประมูลขายในราคา 91.1 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ถือเป็นงานศิลปะที่มีมูลค่าซื้อขายสูงอันดับต้นของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่

นอกจากนี้ เขายังมีงานสำคัญอีกหลายชิ้นที่ถูกนำไปจัดแสดง ณ Museum of Modern Art ที่ New York, พิพิธภัณฑ์ Guggenheim และ The National Gallery ที่ Washington DC

สำหรับงานที่ Jeff Koons สร้างลงบน M3 GT2 คันนี้ เขาเริ่มสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองโดยการเอารูปรถแข่งหลายๆคันมาดู นอกจากนี้ยังดูพวกภาพกราฟฟิค สีสันสดๆ ภาพต่างๆที่เป็นตัวแทนของความเร็ว และการระเบิดพลัง เมื่อภาพพวกนี้แล่นเข้าหัวเขาหมดแล้ว Jeff ก็เริ่มบรรเลงฝีมือ ใช้ธีมของสีสันเป็น “การระเบิดพลังงาน และการเคลื่อนไหว” ภายในของรถที่เป็นโลหะดิบสีเงิน ตัดกับความฉูดฉาดของภายนอกที่ออกแบบมาให้เหมือนกับกำลังวิ่งอย่างรวดเร็ว แม้ว่ามันจะจอดอยู่นิ่งๆก็ตาม

The BMW M3 GT2

  • รถเวอร์ชั่นแข่ง ใช้เครื่อง V8 4.0 ลิตร พละกำลัง 500 แรงม้า
  • ความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  • รถคันของ Jeff Koons เผยโฉมก่อนการแข่งที่ Centre Pompidou ใน Paris วันที่ 2 มิถุนายน 2010

BMW Art Car No. 17 เป็นรถหนึ่งในไม่กี่คันที่ได้เข้าแข่งจริงโดยทาง BMW Motorsport ดูแลในการนำรถเข้าร่วมการแข่ง 24 Hours of Le Mans ในวันที่ 12 มิถุนายน 2010 ขับโดย Andy Priaulx, Dirk Mueller และ Dirk Werner สีสันของรถหมายเลข 79 (เป็นการรำลึกถึงรถ Art Car ปี 1979 ของ Andy Warhol) เป็นที่ถูกใจทั้งแฟนๆ และช่างภาพสายมอเตอร์สปอร์ต

อย่างไรก็ตาม รถแข่งหมายเลข 79 ก็เหมือนกับบรรพบุรุษ Art Car ยุคแรกๆของมันที่ลงสนามจริง ตรงที่ประสบปัญหาทางเทคนิค และต้องถอนตัวจากการแข่ง เมื่อวิ่งไปได้ 53 รอบสนาม

Art Car No. 18 – BMW M6 GT3, 2017

“สำหรับดิฉันแล้ว แสง คือสิ่งที่แทนความคิด และความเร็วในการคิดก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครวัดได้ รถ Art Car หมายเลข 18 คือสิ่งที่ดิฉันใช้เพื่อพิสูจน์ว่าจิตใจของมนุษย์มีขอบเขตสิ้นสุดหรือไม่ เรากำลังเข้าสู่ยุคที่จิตใจสามารถเข้าควบคุมสิ่งต่างๆได้โดยตรง และความคิดก็สามารถส่งต่อกันได้ เช่นเครื่องจักรต่างๆกับ AI เรากำลังหาว่าทัศนคติแบบไหน อารมณ์แบบไหนกันแน่ที่จะเป็นกุญแจไขพาเราไปสู่ยุคใหม่” – Cao Fei

ในบรรดาศิลปินที่สร้างสรรค์งานลงบน Art Car ทั้งหมด Cao Fei น่าจะเป็นคนที่อายุน้อยที่สุด เพราะเธอเพิ่งเกิดเมื่อปี 1978 ที่ Guangzhou สาธารณรัฐประชาชนจีน เธอเรียนจบปริญญาตรีจาก Guangzhou Academy of Fine Arts ในปี 2001 ซึ่งตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น เธอได้สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงมากมาย ทั้ง The Little Spark (1998) และ Imbalance 257 (1999) ซึ่งเป็นงานชิ้นที่ออกแนวต่อต้านประเพณีและความเชื่อโบราณที่สร้างข้อจำกัดให้กับคนรุ่นใหม่

ในปัจจุบัน Cao Fei ย้ายมาอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ศิลปะของเธอคือการนำกระแสสังคม บวกกับงานสไตล์ Surrealism และยังมีผลงานด้านการสร้างภาพยนตร์และสารคดี งานต่างๆของเธอได้ถูกนำไปจัดแสดงที่ Serpentine Gallery, Tate Modern ใน London, พิพิธภัณฑ์ Guggenheim, Centre Pompidou ใน Paris และอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ เธอยังได้รับรางวัล Chinese Contemporary Art Award สาขาศิลปินอายุน้อยผลงานเยี่ยมในปี 2006 และในปี 2016 ก็ได้รางวัล Piedra de Sal Award ที่ Cuenca Biennale

สำหรับ BMW Art Car No. 18 นี้ Cao Fei ฉีกกฎศิลปะทุกข้อที่เคยมีด้วยการเป็น “Digital Art Car” คันแรก งานของเธอ คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความเร็วในการเปลี่ยนแปลงในสังคมจีน ทั้งเรื่องประเพณี และอนาคต แม้ว่าตัวงานอาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ที่จริง Cao Fei ต้องค้นคว้าข้อมูลจำนวนมาก ย้อนกลับไปถึงประวัติศาสตร์ชนชาติหลายพันปี และยังต้องสร้างจินตภาพให้เห็นถึงอนาคตในศตวรรษใหม่

นอกจากนี้ Cao Fei ยังใช้เวลาในรถ M6 GT3 คันจริง โดยมีนักแข่งหญิงพานั่งรอบสนามแข่ง เพื่อให้รับรู้ถึงความดุดันและอารมณ์ของ M6 ขั้นตอนการศึกษาทั้งประวัติศาสตร์ และตัวรถ ทำให้ Cao Fei ต้องใช้เวลาสร้างงานชิ้นนี้ถึง 3 ปี

Art Car No. 18 นี้ เป็นชิ้นงานที่ประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ วิดิโอ ซึ่งโฟกัสไปที่การเดินทางข้ามสู่ห้วงเวลาต่างๆ มี Augmented Reality ที่ใช้แสงสีสดงดงาม ซึ่งจะมองเห็นได้ก็ต้องใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนในการดู (“BMW Art Car #18) และองค์ประกอบสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ก็คือ BMW M6 GT3 สีดำคาร์บอน

ซึ่งบนตัวรถนี้ Cao Fei บอกว่า โครงสร้างของรถแข่งที่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ คือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจ เธอจึงคิดที่จะสะท้อนมันออกมาให้เห็นถึงภายนอกรถด้วยการใช้สีดำแบบไม่สะท้อนแสง

The BMW M6 GT3.

  • เริ่มต้นวิจัยและสร้างในปี 2015 เพื่อนำมาใช้แทน Z4 GT3 ซึ่งใช้แข่งมาตั้งแต่ปี 2010
  • เครื่องยนต์แบบ V8 4.4 ลิตรทวินเทอร์โบ เกือบทั้งบล็อค เหมือน M6 สเป็คโรงงาน มีการปรับแต่งเพียงเล็กน้อยตามกติกาการแข่ง
  • พลังจากเครื่องยนต์ 585 แรงม้า ความเร็วสูงสุด ประมาณ 280 กิโลเมตร/ชั่วโมง

หลังจากที่เผยโฉมในวันที่ 31 พฤษภาคม 2017 ที่ Minsheng Art Museum กรุงปักกิ่ง BMW Art Car หมายเลข 18 ก็เข้าร่วมการแข่งขัน FIA GT World Cup ที่ Macau ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน โดยมี Augusto Farfus ซึ่งเพิ่งไปแข่งรายการ 24 Hours of Daytona ในรถ Art Car หมายเลข 19 ที่ลงลายรอบคันโดย John Baldessari

Art Car No. 19 – BMW M6 GTLM, 2016

“รถยนต์คือสัญลักษณ์ของชีวิตในยุคสมัยนี้ รูปแบบของศิลปะที่ผมสร้างเพื่อรถคันนี้อาจจะดูเป็นสไตล์เสียดสีขี้เล่น แต่ก็มีเอกลักษณ์ของงานที่เป็นตัวผม จะพูดก็ได้ว่า BMW Art Car คันนี้มีความเป็นศิลปะของ Baldessari ทุกกระเบียดนิ้ว และเป็นงานศิลปะที่เร็วที่สุดที่ผมเคยทำมา” – John Baldessari

John Anthony Baldessari เกิดเมื่อ 17 มิถุนายน 1931 ที่ National City รัฐ California สหรัฐอเมริกา เขาเป็นศิลปินแขนง Conceptual Artist ที่สร้างทั้งงานและลูกศิษย์เอาไว้มากมาย เพราะใช้ชีวิตตั้งแต่ปี 1959 จนถึงปี 2008 ในการสอนศิลปะให้กับเด็กรุ่นใหม่ ไล่ตั้งแต่ระดับมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย

เขาเริ่มศึกษางานแบบ Contemporary ในยุค 60s และกลายเป็นศิลปินหัวใหม่ที่มีผลงานน่าจับตา เป็นผู้บุกเบิกงานแบบ American Concept Art ตลอดชีวิตของเขา ต้องจัดนิทรรศการโชว์ผลงานของตัวเองกว่า 200 ครั้ง และยังไม่นับงานที่ไปจัดแสดงร่วมกับคนอื่นอีก 1,000 งาน เขาได้รับรางวัล Golden Lion ที่ Venice Biennale ในปี 2009 และรางวัล National Medal of Arts ในปี 2014 ในฐานะผู้ที่อุทิศต้นให้กับการพัฒนางานศิลปะ

สำหรับ Art Car คันที่ 19 นี้ John Baldessari เลือกใช้งานแนว Minimalist ที่เขาถนัด มีแค่สีแดง เหลือง ฟ้า และเขียวเท่านั้นที่เขาเลือกใช้ บางจุดของรถ ก็จะมีจุดวงกลมสีเดียวขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเขาสำหรับงานแบบนี้

ภาพที่อยู่ด้านข้างรถ เป็นแนวผสมผสานระหว่างความเป็น 2 และ 3 มิติ ไปพร้อมกัน มีการใช้ตัวอักษร สะกดคำว่า FAST ซึ่งเป็นจุดที่ใช้เพื่อเสริมภาพลักษณ์ของตัวรถ เป็นการสื่อสารที่ออกจะแปลก แต่เข้าใจง่ายในสายตาคน อันที่จริงจะให้เขียนยาวกว่านี้ก็คงไม่เหมาะ เพราะเวลาวิ่งอยู่ในสนามแข่ง ความเร็วของรถทำให้ผู้ชมมีเวลาที่จะอ่านอักษรเพียงน้อยนิดเท่านั้น

The BMW M6 GTLM.

  • เป็นรถแข่งที่พัฒนามาจาก M6 F12 ใช้แข่งในรายการ IMSA แทนรถ Z4 GTE
  • เครื่องยนต์เป็นแบบ V8 4.4 ลิตร 585 แรงม้า
  • ความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปรับเพิ่มลดได้ แล้วแต่ว่าวิ่งสนามไหน)

รถคันนี้ เผยโฉมครั้งแรกที่งาน Art Basel ที่ Miami รัฐ Florida และเข้าร่วมแข่งในรายการ 24 Hours of Daytona ในปี 2017 โดยมี BMW Team RLL เป็นผู้ดูแลทีมแข่ง และเข้าร่วมรายการ IMSA WeatherTech SportsCar Championship (IWSC) โดยมีผู้ขับได้แก่ Bill Auberlen, Alexander Sims, Augusto Farfus และ Bruno Spengler โดยคว้าอันดับ 8 ในรายการดังกล่าว และชนะอันดับต้นในคลาสของมัน 4 ครั้งในปี 2017 ก่อนที่จะถูกปลดระวางและแทนที่ด้วย BMW M8 GTE ในปี 2018

ส่วน John Baldessari ก็ใช้ชีวิตในฐานะครูสอนศิลปะเรื่อยมา และยังร่วมงานกับศิลปินรุ่นลูกอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ Art Car ในครั้งนี้ ที่เขาได้รับการติดต่อจากทาง BMW พร้อมๆกันกับ Cao Fei และเริ่มงานในเวลาเดียวกัน แต่ John ทำเสร็จก่อน และได้เผยโฉมก่อน เป็นสาเหตุที่ว่าทำไม Art Car หมายเลข 19 จึงตอกปี 2016 และ หมายเลข 18 เป็นปี 2017

John เพิ่งจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา ในวัย 88 ปี ที่ Los Angeles

และทั้งหมดนี้ ก็คือการจบของซีรีส์บทความ BMW Art Car ศิลปะขับเคลื่อนยานยนต์ กับรถทั้ง 19 คันที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยศิลปินจำนวนมาก หลายท่านได้ล่วงลับไปนานแล้ว แต่ยังฝากงานศิลปะเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป หลายท่านที่มีชีวิตอยู่ ก็เป็นอาจารย์ที่ยังคงสอนสิ่งใหม่ๆให้กับโลกแห่งศิลปะอยู่อย่างไม่ย่อท้อ

ท้ายสุดนี้ หากคุณมีใจรักในรถ BMW และศิลปะ ทาง BMW Thailand ร่วมกับ BMWCAR Magazine มีงานใหญ่ไว้รอคุณ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2020 นี้ พบกันกับงาน #BIMMERMEET4 “Tribute to BMW Art Cars” ซึ่งเราจะได้เห็นขบวน Parade อันประกอบด้วย BMW Art Car ที่เป็นฝีมือของศิลปินและ Bimmer ชาวไทย

มาร่วมงานกันนะครับ จะได้เห็นว่าฝีมือทางศิลปะของคนไทย ไม่เป็นรองใครในระดับสากล สำหรับท่านที่สนใจเข้าร่วม สามารถลงทะเบียนได้ คลิกที่นี่เพื่อลงทะเบียนครับ

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments