หลักการทำงานของระบบถุงลมนิรภัย ของดีที่คุณคงไม่อยากใช้

ในโลกของรถยนต์ สิ่งหนึ่งที่มีพัฒนาการต่อเนื่องอย่างไม่หยุดนิ่งอย่างหนึ่งก็คือความปลอดภัยของตัวรถ นอกเหนือจากนวัตกรรมอย่างเข็มขัดนิรภัย อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือถุงลมนิรภัย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยชีวิตผู้คนมากมาย โดยในทางสถิติที่เก็บโดยอเมริกาและยุโรป ยืนยันได้ว่าถุงลมนิรภัยให้ผลดีในภาพรวมมากกว่าผลร้าย อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทำงานของมันมีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายครั้งเมื่อมองภาพรถที่เกิดอุบัติเหตุบน Facebook หลายคนเห็นซากรถ แต่ไม่เห็นถุงลมนิรภัยพองตัวก็มักจะตั้งแง่โจมตีไว้ก่อนว่าถุงลมมีปัญหา ไม่ทำงาน ทั้งที่ความจริง ปัจจัยที่ส่งผลให้ถุงลมทำงานหรือไม่นั้น มีมากกว่าแค่การที่รถหน้ายุบ

จุดประสงค์ในการเขียนบทความนี้ คือการเผยแพร่ความเข้าใจในหน้าที่ของถุงลมนิรภัย และวิธีการทำงานของระบบประมวลผลและสั่งการ รวมถึงข้อจำกัดต่างๆของถุงลมนิรภัย ซึ่งผมอยากให้มองว่ามันคือองค์ประกอบหนึ่งของระบบความปลอดภัยหลังการปะทะ (Passive Safety) ของรถแต่ละคัน มิใช่สิ่งที่มีไว้เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องคาดเข็มขัด หรือมองข้ามลักษณะการทำงานจนขาดความระมัดระวังในการใช้รถ การโดยสารรถผิดลักษณะ ซึ่งจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้

ในช่วงที่ถุงลมนิรภัยยังเป็นของแปลกใหม่ หลายคนเข้าใจว่ามันคือถุงนุ่มๆที่ช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดการชน บางคนถึงขั้นเชื่อว่า “ถ้ามีถุงลมนิรภัยแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องคาดเข็มขัด” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะถุงลมนิรภัยของรถยุคใหม่ มิได้ออกแบบมาเพื่อทดแทน แต่มีไว้เพื่อทำงานประสานกับเข็มขัดนิรภัยและระบบความปลอดภัยอื่นๆของรถ โดยหน้าที่หลักของมันคือช่วยลดแรงกระแทกที่เกิดกับลำตัวช่วงบน ด้านข้าง หรือหัวเข่า ตามแต่ตำแหน่งที่มันถูกติดตั้งไว้ ลองดูภาพคลิปการทำงานของถุงลมนิรภัยในเคสจริงด้านล่างนี้ครับ

จะเห็นได้ว่า แม้ได้ชื่อว่า “ถุงลม” แต่ด้วยความที่มันพองตัวไวมาก จากจุดที่เริ่มกางไปจนถึงช่วงที่พองเต็มนั้น เทียบเป็นระยะก็ประมาณ 2 ฟุต และพองด้วยความเร็ว 0.04 วินาที ลองนึกภาพว่าถ้าแฟนคุณเอาหมอนข้างมาทุบอกคุณ คุณก็คงบอกว่าเฉยๆ จักกะจี้นิดๆ แต่ถ้าแฟนคุณสามารถเหวี่ยงหมอนข้างให้เร็วเท่ากับการทำงานของถุงลมนิรภัย ก็คงมีจุกชนิดที่อีโนหรือแอนตาซิลไม่สามารถช่วยได้

0.04 วินาทีไวขนาดไหน? เอาเป็นว่าคุณจ้องตาแฟน (จ้องดีๆ อย่าจ้องแบบหาเรื่อง) แล้วดูตอนเขากระพริบตา การกระพริบตาแต่ละครั้งนั่นล่ะครับ ใช้เวลามากกว่าการพองตัวของถุงลม 3 เท่า

แล้วถ้ามันอันตรายขนาดนั้น ทำไมยังติดตั้งมาให้อยู่? ทำไมนานาประเทศถึงบังคับให้รถที่ผลิตขายจำนวนมากต้องมีถุงลมนิรภัยติดตั้งมาให้ นั่นก็เพราะว่าสถิติจากการเก็บข้อมูลของหน่วยงานรัฐในหลายประเทศตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ให้ผลชี้ไปในทางเดียวกันว่าอัตราการบาดเจ็บขั้นรุนแรงของผู้ประสบภัยทางรถยนต์ลดน้อยลงเมื่อถุงลมนิรภัยเริ่มถูกทยอยติดตั้งในรถยนต์รุ่นต่างๆ

ข้อมูลอ้างอิงจากเอกสารของ BMW ที่นำเสนอการเก็บสถิติความรุนแรงของอาการบาดเจ็บจากการทดสอบชน ให้ผลบ่งชี้ค่อนข้างชัดเจนว่าถุงลมนิรภัยมีส่วนช่วยลดอาการบาดเจ็บ จากในกราฟแท่งสองภาพข้างบน ดัชนี AIS นั้นไม่ใช่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ แต่ย่อมาจาก Abbreviated Injury Score ซึ่ง AIS0 = ไม่มีอาการบาดเจ็บ หรือมีน้อยมาก AIS1=บาดเจ็บน้อยหรือแผลถลอก AIS2=กระดูกซี่โครงร้าว AIS3=กระดูกต้นแขนหักและมีแผลเปิด AIS4=หลอดลมแตก ส่วน AIS6 คือเส้นเลือดแดงใหญ่แตก (โอกาสเสียชีวิตเท่ากับ 100%)

ท่านผู้อ่านที่ช่างสังเกตอาจมองกราฟแล้วงงว่า ทำไมการชนที่ 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจึงสร้างอาการบาดเจ็บได้หนักกว่าช่วง 50-55 นั่นอาจเป็นผลมาจากความพอดี (ที่ไม่ค่อยดี) ในลักษณะของแรงปะทะและการดึงของเข็มขัดนิรภัย แต่ทั้งหมดนี้อาจเกิดจากค่าความเบี่ยงเบนจากจำนวนการทดสอบ (เงื่อนไขเดียวกันแต่ให้ผลไม่เหมือนกัน) ซึ่งนี่คือผลจากการเก็บข้อมูลหลายร้อยครั้ง โดยใช้หุ่น Dummy สำหรับทดสอบการชน ซึ่ง BMW มีอยู่มากกว่า 60 ตัว ขนาดไซส์มีตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้ใหญ่เต็มวัย แต่ละตัวฝังเซ็นเซอร์วัดแรงกระแทกและอุณหภูมิเอาไว้ 200 จุด และมีราคา 100,000-250,000 ยูโรต่อตัว

แต่ในภาพรวม จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการชนที่ความเร็วสูงขึ้น โดยผู้ขับกับผู้โดยสารหน้าคาดเข็มขัด แต่ไม่มีถุงลมนิรภัย โอกาสเสียชีวิตจะมีมากขึ้น ตามตัวอย่างในกราฟ หากชนด้วยความเร็ว 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โอกาสในการเสียชีวิตมีมากถึง 15% ในขณะที่การทดสอบกับรถที่มีถุงลมนิรภัย ไม่พบการบาดเจ็บที่ดัชนี AIS เกิน 3 หรือพูดง่ายๆคืออย่างมากก็บาดเจ็บสาหัส

อนึ่ง การทดสอบชนที่ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น มีเหตุผลจากพื้นฐานการสำรวจว่า 99% ของการปะทะด้านหน้าส่วนใหญ่จะมีความรุนแรงเทียบได้กับความเร็วไม่เกินนี้ พูดแบบตามความจริงแต่แอบโหดร้ายก็คือถ้าคุณชนด้วยความเร็วระดับ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตรงๆ ถุงลมก็คงไม่ช่วยอะไร

หลักการทำงานของถุงลมนิรภัย-ต้องทำงานเมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น

จากที่ผมเขียนในย่อหน้าข้างต้น หลายท่านอาจจะเริ่มมีความคิดว่าถ้าถุงลมนิรภัยทำงาน ยังไงก็บาดเจ็บน้อยกว่าถุงลมไม่ทำงาน ถ้าเช่นนั้น ทำไมไม่สั่งให้มันทำงานไวๆง่ายๆ ชนปุ๊บถุงลมระเบิดไปเลย ไม่ต้องคิดมาก จะได้ลดการบาดเจ็บลง?

ความจริงก็คือถุงลมนิรภัยสามารถทำให้คุณบาดเจ็บได้ตั้งแต่ระดับแสบๆคันๆไปจนถึงเลือดสาด จมูกหักปากแตก หรือบาดเจ็บสาหัสในกรณีที่ผู้ขับนั่งในท่าที่ผิด อยู่ใกล้พวงมาลัยเกิน หรือปรับพวงมาลัยส่องไปในองศาเสยหน้า แต่การโดนถุงลมกระแทก ก็ยังมีโอกาสรอดมากกว่าการถูกพวงมาลัยหรือชิ้นส่วนแดชบอร์ดอัดเข้ากับร่างกายโดยตรง ดังนั้นวิศวกรจึงต้องวิจัยระดับความรุนแรงของการชนว่าต้องชนแรงขนาดไหน มีแรงปะทะในรูปแบบใด ถุงลมจึงควรจะทำงาน อย่างเช่นบางครั้ง รถชนที่ความเร็วต่ำแค่ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชนยังไงพวงมาลัยหรือแดชบอร์ดก็ไม่มีทางกระแทกนมคนขับ แล้วจะให้แอร์แบกพองออกมาต่อยหน้าคนขับให้เจ็บเล่นๆแถมยังต้องเสียเงินเปลี่ยนถุงลมลูกละหลายพันหลายหมื่นบาทเพื่ออะไร

แล้วรถเอาอะไรมาเป็นตัวแปรในการคำนวณว่าถุงลมนิรภัยควรจะพองตัวหรือควรจะเงียบปากอยู่เฉยๆ? ก็มีหลายปัจจัย แต่สิ่งที่รถยนต์ซึ่งติดตั้งถุงลมนิรภัยมีเหมือนกันทุกคันก็คือ เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัย ซึ่งมีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ ภายในจะติดตั้งลูกบอลที่ยึดกับสปริงเอาไว้ เมื่อมีการกระแทกอย่างแรงที่ด้านหน้าของเซ็นเซอร์ ลูกบอลนี้ก็จะเลื่อนไปแตะกับขั้วไฟฟ้าด้านหน้า เมื่อมันแตะกัน ก็จะส่งสัญญาณไฟฟ้าออกไปยังชุดควบคุมถุงลมนิรภัย

ดังนั้น เข้าใจไว้เลยว่าเซ็นเซอร์จะสั่งให้พองลมหรือเปล่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าแรงที่มาชน มากพอที่จะให้ลูกบอลนั้นเลื่อนไปแตะหน้า Contact ได้หรือไม่ มิใช่ว่าตัวเซ็นเซอร์ถูกไฟหน้าหรือกันชนเบียดเข้ามาแล้วถุงลมจะต้องทำงานเสมอไป อย่างในภาพข้างบนจากเอกสารของ BMW เอง เทียบให้เห็นรถสองคัน คันสีแดงนั้นถุงลมนิรภัยทำงาน ส่วนคันสีดำ ถุงลมมิได้ทำงาน แม้ดูทรงแล้วน่าจะชนจนแตะถึงเซ็นเซอร์ถุงลม แต่ถ้าความแรงในการปะทะไม่มากพอ ระบบก็จะไม่ทำงาน

ลองดูคลิปการทำงานของเซ็นเซอร์ถุงลมได้ครับ

ซึ่งเซ็นเซอร์นี่ มักจะถูกติดตั้งเอาไว้ตามส่วนต่างๆของรถ เช่น ถ้าเป็นถุงลมนิรภัยด้านหน้า เซ็นเซอร์ของมันก็มักจะถูกติดเอาไว้ยังส่วนหน้ารถ อาจเป็นที่บริเวณคานกันชนหน้า หรือช่วงคานเล็กๆที่อยู่หลังไฟหน้าของรถ ส่วนถุงลมนิรภัยด้านข้าง ก็จะมีเซ็นเซอร์ฝังอยู่ที่เสาหรือประตูของรถ

แผนผังอธิบายวิธีการทำงานของถุงลมนิรภัย

ต่อจากนั้น เมื่อเซ็นเซอร์ส่งสัญญาณบอกว่ามีแรงกระแทกมา สัญญาณไฟฟ้านี้จะถูกส่งไปที่กล่องควบคุมถุงลมนิรภัย หรือกล่องควบคุมระบบความปลอดภัยของรถ ซึ่งจะทำหน้าที่ตัดสินใจว่าจะให้ถุงลมนิรภัยทำงานหรือไม่

ในรถที่ใช้ถุงลมนิรภัยยุคแรกๆ จนมาถึงช่วงต้นยุค 90s นั้น ส่วนใหญ่จะมีการทำงานที่ไม่ซับซ้อน โดยสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจให้ถุงลมกาง/ไม่กางนั้น เรียกได้ว่ามันก็มาจากเซ็นเซอร์ถุงลมนั่นเอง ถ้ารถชนแรงพอที่จะกระตุ้นการทำงานของเซ็นเซอร์หน้าซ้าย/หน้าขวาได้พร้อมกัน ถุงลมก็มักจะกางในทันที เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสมองกลยุคแรกๆ ยังไม่สามารถประมวลผลได้เร็ว รับและส่งข้อมูลจำนวนมากไม่ได้ (ลองนึกภาพเล่นๆครับว่ายุค 80-90s คอมพิวเตอร์เครื่องโตทำอะไรได้บ้างเทียบกับสมาร์ทโฟนในยุคนี้) เมื่อไม่สามารถเอาข้อมูลอะไรมาประมวลผลได้มาก ก็เลยต้องสั่งกางไว้ก่อน

นอกจากนี้ในรถบางรุ่น กล่องควบคุมระบบความปลอดภัยอาจสามารถสั่งให้ระบบตรึงกระชับสายเข็มขัดนิรภัย (Belt Pre-tensioner) รัดตัวคนขับไว้กับเบาะให้พอดีกับจังหวะที่ถุงลมนิรภัยทำงาน

หลังจากนั้น เมื่อมีผลวิจัยจากสถาบันการคมนาคมในหลายประเทศบ่งชี้ถึงอันตรายจากการทำงานของถุงลมนิรภัย บริษัทรถยนต์จึงจำเป็นต้องปรับให้ถุงลมสามารถพองตัวด้วยความแรงที่แตกต่างกันและเหมาะกับสถานการณ์ เรียกว่า Multi-stage airbag หรือ Smart airbag ซึ่งมีสมองกลที่สามารถสั่งการได้ว่าจะให้ถุงลมพองแบบเบาหรือแบบแรง

โดยการที่สมองกลระบบความปลอดภัยจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกอย่างไหนนั้น ก็อาศัยข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้มาจากความเร็วของรถ ซึ่งเป็นสิ่งที่กล่อง ECU ควบคุมเครื่องยนต์รู้ และสามารถแชร์ข้อมูลต่อไปยังสมองกลระบบความปลอดภัยได้ ซึ่งทำให้รถมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ นอกเหนือไปจากแรงปะทะที่มากระทำกับตัวเซ็นเซอร์ถุงลม ทำให้เลือกลักษณะการพองตัวได้เหมาะกับระดับความเร็วที่ใช้โดยประมวลผลควบคู่ไปกับข้อมูลขณะชน จากเซ็นเซอร์

นอกจากนี้รถยุโรประดับสูงหลายรุ่น จะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์เอาไว้ที่เบาะ โดยถ้าหากไม่มีน้ำหนักกดทับบนเบาะเลย แปลว่าอาจไม่มีผู้โดยสารนั่งอยู่ขณะนั้น ดังนั้นถุงลมนิรภัยก็ไม่จำเป็นต้องพองออกมา สำหรับบางรุ่นที่พัฒนาเซ็นเซอร์ในขั้นก้าวหน้า สามารถระบุได้ว่าน้ำหนักที่กดทับเบาะนั้นหนักกี่กิโลกรัม ซึ่งจะสามารถใช้ในการคาดคะเนขนาดตัวของผู้โดยสารและส่งข้อมูลไปยังกล่องควบคุมส่วนกลางเพื่อช่วยในการประมวลผลและตัดสินใจเลือกระดับความแรงในการพองของถุงลม

ในปัจจุบัน และอนาคต รถสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะคิดคำนึงถึงหลายสิ่งก่อนสั่งให้ถุงลมนิรภัยทำงานมากกว่าแต่ก่อน เพราะสมองกลและเซ็นเซอร์ต่างๆทันสมัยและสามารถรับ/ส่งข้อมูลต่างๆได้มากและเร็วกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วอยู่โข ดังนั้นในขณะที่รถยุคเก่าต้องรอให้ชนก่อนแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะให้ถุงลมทำงาน รถยุคใหม่สามารถนำเอาข้อมูลส่วนอื่นมาใช้ประกอบได้ ยกตัวอย่างเช่นรถที่มีระบบเรดาร์ เลเซอร์ หรือระบบตรวจจับวัตถุที่วิ่งขวางหน้า (เช่นพวกรถที่มีระบบเบรกให้เองเมื่อโดนตัดหน้า) เมื่อมีการตรวจพบวัตถุขนาดใหญ่กำลังวิ่งเข้ามาขวางทาง และระบบนำข้อมูลนี้ไปเทียบกับความเร็วของรถเราที่กำลังวิ่งแล้วมันเห็นว่า “ยังไงก็หลบไม่พ้น” มันก็จะสามารถสั่งให้ถุงลมนิรภัยเตรียมตัวพลีชีพไว้ได้เลย พอเซ็นเซอร์ได้รับแรงปะทะ ก็พองถุงลมทันที เป็นการร่นระยะเวลาที่เอาไปใช้ในการคิดคำนวณของระบบ

นอกจากนี้สมองกลระบบความปลอดภัยยังสามารถรับข้อมูลจากส่วนอื่นของรถมาใช้เพื่อปรับความแรงในการพองตัวของถุงลมได้ดีขึ้น เช่นลักษณะการปรับเบาะ บางคนชอบปรับเบาะเอาไว้ชิดพวงมาลัยเกินไป ระบบก็จะรู้และสั่งเตรียมเอาไว้ว่าให้ถุงลมพองแบบเบาเพื่อลดอาการบาดเจ็บช่วงอกลงไป หรือถ้าเราขับรถไปบนถนนลื่นแล้วพลาด ระบบควบคุมการทรงตัวทำงาน สมองกลของระบบความปลอดภัยก็จะทราบและเตรียมถุงลมให้พร้อมทำงานได้เร็วขึ้น

ตัวจุดระเบิดถุงลม

ในการที่จะสร้างลมที่เติมถุงขนาด 50 ลิตรได้ภายใน 0.04 วินาทีนั้น หากจะใช้ปั๊มลมก็คงไม่ทัน วิศวกรที่สร้างถุงลมนิรภัยจึงเลือกใช้วิธีการจุดระเบิดกระเปาะบรรจุก๊าซ เจ้ากระเปาะที่ว่านี้ฝรั่งเขาเรียกว่า Inflator ซึ่งในการที่จะระเบิดก๊าซไนโตรเจนออกมาให้ได้จำนวนมากนั้น จะต้องใช้สารที่มีคุณสมบัติกึ่งวัตถุระเบิดในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ถุงลมสามารถพองตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในยุคแรกๆ จะใช้สาร Sodium Azide ซึ่งมีความเสถียร ไม่อ่อนไหวต่ออุณหภูมิหรือความชื้นง่าย แต่มีข้อเสียคือมันเป็นสารพิษ แม้ว่าจะไม่มีใครตายเพราะสูดดมหรือกินสารนี้เข้าไปขณะถุงลมทำงาน แต่วงการรถยนต์ก็หันไปใช้สาร Tetrazole ซึ่งมีความเสถียรแต่เป็นพิษน้อยกว่าแทน

ในศตวรรษที่แล้ว ถุงลมนิรภัยเป็นของที่มีราคาแพง แต่ด้วยความที่กลายเป็นของที่คนถามหาเมื่อซื้อรถ บริษัทซัพพลายเออร์ถุงลมก็เลยคิดหาสารจุดระเบิดใหม่ที่ต้นทุนถูกลงมาใช้ นั่นก็คือ Ammonium Nitrate ซึ่งทำงานได้เหมือน Tetrazole ทุกอย่างแถมราคาถูกกว่า แต่ข้อเสียคือพอร้อนไปก็บึ้ม พอชื้นไป คุณสมบัติก็เพี้ยน เลยต้องเก็บรักษาอย่างดีก่อนนำมาบรรจุใส่กระเปาะจุดระเบิด

หลายปีก่อน โรงงานในเม็กซิโกของ Takata Corporation ละเลยเรื่องการตรวจสอบความชื้นและคุณภาพในการกักเก็บสาร Ammonium Nitrate ทำให้เมื่อนำไปบรรจุ คุณสมบัติของตัวสารก็เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีอุบัติเหตุ Inflator จะระเบิดแรงจนฉีกเอาชิ้นส่วนโลหะพุ่งออกมาเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสาร มีผู้บาดเจ็บจากสาเหตุนี้นับร้อย รวมถึงมีการเสียชีวิต 13 ราย ส่งผลให้ต้องมีการเรียกรถกลับมาเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยทั้งสิ้น 40 ล้านคันจากบรรดารถ 12 ค่าย ซึ่ง BMW ก็ได้รับผลกระทบและเป็นเจ้าแรกๆที่รีบประกาศให้เจ้าของนำรถเข้าไปเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัย

หลังจากที่ Inflator ดันถุงลมจนพองออกมาแล้ว มันจะไม่พองค้างอยู่อย่างนั้น ที่ตัวถุงลมเองก็จะมีรูระบายก๊าซอยู่ตามขอบหรือด้านหลัง มันก็จะค่อยๆหดตัวลีบลง เพื่อให้คนที่นั่งอยู่ในรถสามารถออกจากรถได้ง่าย หรือได้รับการช่วยเหลือจากภายนอกได้ง่ายขึ้น ส่วนอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากถุงลมนิรภัยโดยส่วนใหญ่จะไม่มากนัก ในรถรุ่นเก่าที่ใช้ Sodium Azide เป็นตัวจุดระเบิด เมื่อถุงลมพองและฟีบลงแล้วอาจจะมีผงฝุ่นโซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งเป็นพิษ และอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่หน้า แขน ขา รวมถึงมีอาการผิดปกติกับระบบทางเดินหายใจ แต่ในปัจจุบันเราเลิกใช้สารพิษไปแล้ว สิ่งที่เป็นผงฝุ่นในรถรุ่นใหม่หลังถุงลมระเบิด เป็นแป้งที่เขาทาไว้เพื่อหล่อลื่นให้ถุงลมพองออกมาได้สะดวก

นอกจากนั้นไปก็จะเป็นการบาดเจ็บจากการกระแทกหรือเสียดสีอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะเกิดจากวัสดุที่ใช้ทำถุงลมบวกกับความเร็วในการพอง ผมก็โดนถุงลมพองใส่ครับ และแม้ไขมันหน้าท้องกับหน้าอกจะช่วยลดแรงกระแทกไปได้มาก แต่เนื่องจากจังหวะถุงลมพอง ผมกำลังยกแขนอยู่พอดีก็เลยโดนหมัดตัวเองนี่ล่ะอัดจมูก และถุงลมก็สีแขนเสียจนเลือดออกซิบๆ แต่โดยรวม ผมปลอดภัย ออกมาเดินกวนส้นชาวบ้านได้อีกครั้ง

ส่วนที่เขาว่าถุงลมเวลาพองออกมาจะร้อนจนลวกคนนั่งได้นั้น เอาเข้าจริงในถุงลมนิรภัยสมัยใหม่ช่วงสิบปีหลังมานี้ส่วนที่จะร้อนมากขนาดนั้นก็คือบริเวณรอบๆตัวจุดระเบิด ซึ่งแทบจะไม่มีโอกาสแตะโดนตัวเราในระหว่างที่มันทำงาน

และสำหรับรายที่รุนแรงมากก็อาจมีรายการหัวแตก จมูกหัก ปากแตก ไปจนถึงกระดูกซี่โครงร้าวได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของการนั่งและการปรับองศาพวงมาลัย

ข้อจำกัดของถุงลมนิรภัย

ประการแรกคือ เมื่อถุงลมนิรภัยพองแล้ว ถือว่าทำหน้าที่จบ ไม่สามารถพองตัวซ้ำสองได้อีก ซึ่งในกรณีที่มีการชนแบบซ้ำสอง หรือชนกันหลายๆคันกระแทกเข้าจุดเดิมหลายครั้ง ถุงลมก็จะไม่สามารถปกป้องผู้โดยสารได้อีก

ประการที่สอง ลักษณะการชนของรถมีผลต่อการทำงานของถุงลม ตัวอย่างเช่นในภาพข้างบน องศาที่รถถูกชนจะมีผลต่อการ “รับรู้แรงปะทะ” ของเซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัย หากเป็นการปะทะแบบหน้าตรง แรงกระแทกจะกระทำในลักษณะย้อนสวนทางรถวิ่งแบบตรงๆ ในลักษณะนี้ถุงลมก็จะทำงาน แต่เมื่อเป็นการปะทะแบบทแยงมุม จะสังเกตได้ว่านอกจากมีแรงกระแทกในแนวตรง (ศรสีแดง) ก็ยังมีแรงกระชากไปด้านข้าง (ศรสีเหลือง) ถ้าเป็นอย่างในภาพสุดท้าย เมื่อชนแล้วหน้ารถก็อาจจะยู่ราวกับวิ่งชนแบบตรงๆ แต่แรงกระทำที่มีต่อตัวรถ กลับจะเหวี่ยงรถคันที่ถูกชนไปด้านข้างเสียมากกว่า หากเป็นในกรณีแบบภาพที่สามนั้น ถุงลมนิรภัยก็อาจไม่จำเป็นต้องทำงาน

มาถึงวรรคนี้ นึกสิ่งที่ผมพูดไปก่อนหน้าออกกันใช่ไหมครับว่า ถุงลมนั้นไม่ใช่จะเอะอะอะไรก็ทำงาน เพราะเมื่อมันพอง ก็มีความเสี่ยงจากความบาดเจ็บได้ ถุงลมจึงถูกออกแบบให้พองก็ต่อเมื่อ..ถ้าไม่พองแล้วคนในรถจะเจ็บหนักกว่า เท่านั้น

ประการที่สาม ในกรณีที่รถของเรามุดเข้าไปใต้ท้องรถบรรทุก ส่วนที่จะรับแรงปะทะ คือส่วนบนของฝากระโปรงกับเสาหน้า (A pillar) ซึ่งส่งผลต่อความเบี่ยงเบนในการตัดสินใจของระบบความปลอดภัย ทำให้ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานเพราะแรงปะทะที่เซ็นเซอร์ไม่มากพอทั้งที่ความจริงควรจะทำงาน สิ่งนี้เป็นข้อจำกัดที่แก้ไขได้ยากเพราะไม่มีใครติดเซ็นเซอร์ถุงลมในตำแหน่งดังกล่าวของรถ ถึงติดไว้ที่เสา พอเกิดการชน กว่าถุงลมจะพองก็ไม่ทันการ วิธีเดียวที่แก้ไขปัญหานี้ในอนาคตได้คือเรดาร์เซ็นเซอร์หรือระบบตรวจจับวัตถุหน้ารถ แต่กระนั้นก็ยังมีความกังวลในกรณีที่เซ็นเซอร์หรือเรดาร์ทำงานบกพร่อง แล้วไปสั่งถุงลมให้ทำงานทั้งๆที่ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมโดยไม่จำเป็น จึงยังไม่มีใครกล้าใช้เรดาร์หรือระบบตรวจจับวัตถุเป็นตัวแปรเพียงหนึ่งเดียวในการตัดสินใจพองถุงลม

ประการที่สี่ ถุงลมนิรภัยและระบบความปลอดภัยต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงาน หากมีการผิดพลาดกับระบบไฟฟ้า ถุงลมอาจไม่ทำงาน นอกจากนี้ค่ายรถหลายค่ายยังตัดการทำงานของถุงลมนิรภัยทั้งระบบเมื่อบิดกุญแจดับเครื่อง (หรือกดปุ่มดับเครื่อง) เพื่อให้สะดวกและปลอดภัยเวลาจอดซ่อมแซม แต่บางครั้งปัญหาก็เกิดขึ้นได้ อย่างกรณีของ General Motors ที่ค้นพบเมื่อปี 2014 เมื่อสวิตช์คอกุญแจที่ควบคุมระบบไฟฟ้าในรถชำรุด ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าทั้งหมดดับในขณะรถวิ่ง และเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถุงลมก็ไม่ทำงาน เป็นเหตุให้มีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น

ข้อควรระวังสำหรับการใช้งานรถที่มีถุงลมนิรภัย

  • ปรับตำแหน่งเก้าอี้นั่งให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่พาหน้าอกไปชิดพวงมาลัยจนเกินไป ให้ลองเหยียบคันเร่งมิด (ตอนที่ไม่ได้สตาร์ทเครื่อง) หรือสตาร์ทเครื่องแล้วลองกดเบรกให้สุด ถ้าไม่สามารถกดได้สุด แปลว่าคุณนั่งห่างเกินไป (ซึ่งก็อันตรายในการควบคุมรถเช่นกัน) แต่ถ้ากดได้สุดแล้วขายังงออยู่มากก็ให้ลองเลื่อนเบาะถอยหลังไปอีก ส่วนความสูงของเบาะที่เหมาะสม คือจุดที่เมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยแล้ว สายเข็มขัดพาดผ่านหัวไหล่ ไม่ใช่คอ
  • เมื่อปรับเบาะแล้วก็จัดท่านั่งของตัวเองให้ถูก หลายคนปรับเบาะมาดีแต่นั่งไถลตัวมาข้างหน้ามากเกินไป ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่ ก็ลองขึ้นรถแล้วนั่งตามสบายไปสักพัก จากนั้นลองเอาเท้าซ้ายเหยียบพื้นรถแล้วออกแรงถีบให้สุด ถ้าถีบแล้วก้นคุณเลื่อนถอยหลังไปได้ไกล..นั่นล่ะครับคือนั่งผิดท่า ท่านั่งของจริงหลังต้องชิดเบาะเพื่อล็อคตำแหน่งให้กระชับที่สุด
  • รถ BMW สมัยนี้สามารถปรับพวงมาลัยได้ 4 ทิศทาง ทั้งสูง/ต่ำและเลื่อนชิด/ห่างจากตัวผู้ขับ ตำแหน่งที่เหมาะที่สุดในแง่ของความปลอดภัยคือ เลื่อนต่ำ เล็งศูนย์กลางของพวงมาลัยให้พุ่งไปที่กลางลำตัว ไม่ใช่ที่คาง เว้นเสียแต่ว่าอยากทดลองการถูกต่อยเสยคางด้วยหมัดเร็ว 0.04 วินาทีก็ว่าไป..ส่วนความห่างของพวงมาลัยที่เหมาะ ก็ให้ปรับเบาะให้เสร็จ นั่งให้กระชับ แล้วลองปรับพวงมาลัย พอปรับเสร็จ ให้ยื่นข้อมือไปวางที่ส่วนบนของวงพวงมาลัย ตำแหน่ง 12 นาฬิกาโดยที่หลังของคุณต้องพิงติดเบาะ ถ้ายื่นข้อมือไปแล้วเลยวงพวงมาลัย แปลว่าคุณปรับพวงมาลัยไว้ใกล้หน้าอกเกินไปครับ
  • อย่าจับพวงมาลัยในท่าพิศดาร ผมเห็นบางคนชอบเอามือขวาไปจับด้านซ้ายของวงพวงมาลัยเวลาเตรียมจะเลี้ยวรถ ส่วนอีกมือก็กุมหัวเกียร์ไม่ก็หัวแฟน ในจังหวะแบบนั้นถ้าเกิดถุงลมทำงาน ดีไม่ดีแขนหักได้ครับ
  • อย่านำลูกหลานมานั่งตักเล่น ไม่ว่าคุณจะเป็นคนขับหรือคนนั่งก็ตาม เพราะระบบเซ็นเซอร์น้ำหนักที่เบาะ ไม่สามารถแยกออกได้ว่านั่นคือน้ำหนักของสุภาพสตรีตัวผอมกับทารก หรือน้ำหนักของสุภาพสตรีไซส์อวบอิ่มนิ่มเวลากอด ยิ่งน้ำหนักบนเบาะมาก ระบบยิ่งสั่งให้ถุงลมพองแรงและเร็วสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวคนนั่ง แล้วลองคิดดูว่าลูกน้อยของคุณนั่งอยู่ตรงนั้นจะเกิดอะไรขึ้น อย่าเอาความงอแงของเด็กเป็นข้ออ้างครับ เด็กที่ร้องไห้ยังไงก็ไม่ทำให้คุณเศร้าเท่าเด็กที่ไม่มีลมหายใจ สำหรับลูกน้อยแบเบาะถ้าติดแม่มาก ให้จัดให้ใส่ Car Seat บนเบาะหลัง แล้วก็อัปเปหิมนุษย์แม่นั่นล่ะครับไปนั่งข้างๆลูกบนเบาะหลัง
  • อย่ากระทำการใดๆที่ไปกีดขวางการทำงานของถุงลม เช่นเอารถที่มีถุงลมที่เบาะ ไปหุ้มหนัง ไปหุ้มผ้าลายลูกไม้ เอาพรมกันร้อนไปแปะทับแดชบอร์ดตรงฝาเปิดของถุงลมนิรภัย บางคนเอาเครื่องลาง ของประดับไปติดกาวไว้บนฝานั่นเลยเสียด้วยซ้ำ เวลาถุงลมมันระเบิด ไอ้สิ่งเหล่านี้แหละครับจะพุ่งมาต่อยหน้าคุณก่อนถุงลม

บทสรุปของถุงลมนิรภัย มี ดีกว่าไม่มี แต่ต้องปรับตัวให้ใช้อย่างถูกวิธี

จากสถิติทางด้านความปลอดภัยของประเทศที่มีการเก็บตัวอย่างอุบัติเหตุ รวมถึงการทดสอบชนเก็บข้อมูลโดยบริษัทรถชั้นนำ ต่างบ่งชี้ว่าเมื่อใช้ถุงลมนิรภัยร่วมกับการคาดเข็มขัด มีส่วนในการลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่ผู้ใช้รถจะต้องพึงระวังก็คือการปรับตำแหน่งการนั่งและพวงมาลัยให้ถูกต้อง ไม่นำสิ่งของต่างๆไปกีดขวางการทำงานของถุงลมนิรภัย และจัดให้เด็กนั่งเบาะหลัง (ในกรณีเด็กโต) หรือจัดให้นั่ง Car seat พร้อมรัดตรึงเบาะอย่างถูกวิธี (สำหรับเด็กเล็ก)

นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้คนในโลกโซเชียลควรมีความเข้าใจถึงหลักการทำงานของถุงลมนิรภัย ว่าไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะต้องพองออกมาในทุกกรณีที่เกิดการชน เพราะในการทำงานของถุงลมก็มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ วิศวกรด้านความปลอดภัยจึงพยายามคิดหาวิธีที่จะทำให้ถุงลมไม่ระเบิดออกมาในยามที่ไม่จำเป็น เช่นเมื่อแรงกระแทกไม่เพียงพอที่จะสร้างอาการบาดเจ็บได้เท่ากับการระเบิดของถุงลมเป็นต้น องศาของการปะทะก็มีส่วนส่งผลต่อลักษณะของแรงกระแทก ซึ่งทิศทางการชนจะมีส่วนในการตัดสินใจของระบบความปลอดภัย ว่าจะให้ถุงลมทำงานหรือไม่

ที่สำคัญ เมื่อได้ทราบถึงเหตุผลและวิธีการในการทำงานของถุงลมแล้ว ก็ควรจะเข้าใจและไม่รีบด่วนสรุปว่าเมื่อรถชนแล้วถุงลมไม่ทำงาน แปลว่าเป็นความผิดของรถยนต์ และลำพังการดูรูปซากรถเพียงอย่างเดียวมิอาจใช้ฟันธงเพื่อบอกว่าถุงลมควรต้องทำงานในกรณีนั้นหรือไม่ นั่นคือสาเหตุที่เราต้องมีหน่วยพิสูจน์หลักฐาน และพิจารณาจากองค์ประกอบมากกว่าแค่เพียงรูปถ่าย

การ comment ไปโดยขาดความเข้าใจ อาจไม่ทำให้ใครตายหรอกครับ แต่เราไม่จำเป็นต้องพูดทุกเรื่องที่เรารู้ นับประสาอะไรกับเรื่องที่เราไม่รู้ ให้คนที่เขาต้องทำงานตรงสายตรงเรื่องเป็นคนจัดการดีกว่าครับ

 

 

 

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments