BMW i4: เจาะรายละเอียด EV สปอร์ต Gran Coupe ที่มีโอกาสมาไทย

รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าไม่ใช่ของใหม่สำหรับ BMW รถอย่าง i3 นั้นอยู่บนโลกนี้มานาน และตัวมันเองก็เปรียบเสมือนห้องทดลองในชีวิตที่ช่วยให้การค้นคว้าวิจัยด้านรถยนต์พลังไฟฟ้าของ BMW รุดหน้าขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขายังขาดอยู่ก็คือรถ EV 100% ที่มีรูปทรงดูสวย ปราดเปรียว เห็นแล้วต้องรู้สึกอยากขึ้นไปนั่งหลังพวงมาลัยแล้วขยี้คันเร่งมากกว่าที่จะมานั่งนึกถึงภาพ CO2 ที่ลดลง ต้นไม้ที่เขียวขจี รถอย่าง i8 เป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้โลกเห็นว่าความสนุก สมรรถนะ และการลดมลภาวะสามารถไปด้วยกันได้ แต่มันก็ยังเป็นรถ Plug-in Hybrid ที่ต้องพึ่งพาเครื่องยนต์…แต่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน การรอคอยรถแบบดังกล่าวก็จบลง ด้วยการปรากฏตัวของ BMW i4

BMW i4 นี้ มีรหัสตัวถังอย่างเป็นทางการว่า G26 ซึ่งทั้งชื่อรหัส และรูปลักษณ์ก็ไม่ได้พยายามซ่อนว่ารูปแบบของรถนั้น ก็คือ BMW 4 Series ที่มาพร้อมตัวถังคูเป้ 4 ประตู “Gran Coupe” นั่นเอง แต่ลึกลงไปภายในรถ เกือบจะทุกส่วนคือองค์ประกอบของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ให้สามารถใช้พลังงานเท่าเดิมในการวิ่งได้ไกลขึ้น และยังมาพร้อมกับพลังที่พร้อมฉีกหน้ารถสันดาปภายในคา Drag Strip แค่รุ่นพื้นฐานก็พกมา 340 แรงม้า ส่วนรุ่นที่ทำมาเน้นแรงเป็นพิเศษ ก็ปาเข้าไปถึง 544 แรงม้า ซึ่งปลุกเสกสมรรถนะด้วยความช่วยเหลือจาก M Division นี่คือการบอกว่า รถไฟฟ้าสายพันธุ์เยอรมันที่ขับสนุกและไม่ต้องถอนเงินหมดธนาคารเพื่อซื้อ กำลังจะมาเยือนโชว์รูมใกล้บ้านคุณในเร็ววันนี้

Product Concept & Design

BMW ชัดเจนในตัวตนของ i4 ว่า นี่ไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้าที่ตัวสูงโย่งนั่งสบายดูแล้วรักโลก แต่เป็นรถที่พยายามคำนึงถึงรสนิยมของคนเจนเนอเรชั่นต่อไปในการเลือกซื้อรถ มันจะต้องไม่มีมลภาวะปลายท่อไอเสีย ต้องเป็นรถที่ดูเด่นกว่าใครบนถนน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเหลือโควต้าให้กับความสบายในการโดยสาร การบรรทุกสัมภาระขนาดกลางเมื่อจำเป็น และต้องเป็นรถแบบที่คุณอยากจะขับ ก็สามารถขับได้ทุกวัน

ตัวรถจึงออกแบบมาเป็น 4 ประตูคูเป้ มี 5 ที่นั่ง ในแบบที่เรารู้จักกันอยู่ในสไตล์ที่ BMW เรียกว่า Gran Coupe บวกกับสัดส่วนตัวถังที่ BMW ต้องการให้เป็นไปตามประเพณีทางค่าย ตัวถังยาวเรียวเมื่อมองจากด้านข้าง หน้ายาว โอเวอร์แฮงสั้น ท้ายได้สัดส่วน แต่มองจากด้านหน้าหรือท้ายตรง จะต้องมีความรู้สึกว่ารถบอดี้กว้างและแบน และแม้ว่ารถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องมีกระจังหน้าขนาดใหญ่ แต่นักออกแบบเลือกให้คงรูปลักษณ์ไตคู่เอาไว้ เพราะเป็นเอกลักษณ์ที่ BMW จะขาดไม่ได้เลย ส่วนขนาดมิติตัวถัง มีดังนี้

  • ยาว 4,785 มิลลิเมตร
  • กว้าง 1,852 มิลลิเมตร
  • สูง 1,448 มิลลิเมตร
  • ระยะฐานล้อ 2,856 มิลลิเมตร
  • ระยะแทร็คล้อคู่หน้า/คู่หลัง 1,ุ600 และ 1,630 มิลลิเมตร

เพื่อความอเนกประสงค์ จึงออกแบบให้มีเบาะหลังที่สามารถพับลง เพื่อเพิ่มเนื้อที่เก็บสัมภาระ จากเดิม 470 ลิตร (ซึ่งก็ถือว่าไม่เล็กแล้ว) ให้กลายเป็น 1,290 ลิตร นี่คือความพื้นที่การใช้งานในระดับที่ BMW มองว่าคนมุมไหนในโลกก็มีแนวโน้มจะรับได้กับรถขนาดนี้

การออกแบบตัวรถ เป็นไปตามหลักอากาศพลศาสตร์ สามารถทำตัวเลขค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานได้ต่ำเพียง Cd = 0.24 ส่วนหน้าของรถ แม้ว่ากระจังหน้าจะปิด และใช้เป็นที่ฝังเซนเซอร์และเรดาร์ตรวจจับ แต่ด้านล่างลงมา ยังมีช่องรับอากาศ Active Air Flap ซึ่งสามารถเปิด/ปิด ได้ 10 ระดับ ซึ่งช่องนี้จะไประบายความร้อนให้กับมอเตอร์ เบรก แบตเตอรี่ และระบบปรับอากาศ

EV Platform ใหม่หมด

แม้ว่าหน้าตาภายนอกจากเหมือน 4 Series ในทรง Gran Coupe แต่โครงสร้างตัวรถของ BMW i4 เป็นแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่หมดสำหรับรถ EV โดยเฉพาะ และเป็น EV Platform แบบที่สามารถนำไปดัดแปลงเพื่อให้เหมาะกับรถ EV ในตัวถังแบบอื่นได้ง่าย แต่สิ่งที่เหมือนกันหมดก็คือ การวางแบตเตอรี่เอาไว้ที่พื้นรถ นอกจากนี้ยังใช้แบตเตอรี่แบบใหม่ที่มีความบางเพียง 110 มิลลิเมตร ซึ่งการที่เคสแบตเตอรี่บางนี้ ก็ทำให้ไม่รุกล้ำพื้นที่การวางขาในแนวตั้ง ตำแหน่งการติดตั้งแบตเตอรี่ที่อยู่ต่ำ ก็ยังทำให้ i4 eDrive40 มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า 3 Series Saloon อยู่ 53 มิลลิเมตร (สำหรับรุ่น M50 ตัวเลขจะเปลี่ยนเป็น 34 มิลลิเมตร)

แต่ถึงจะบาง ชุดเคสแบตเตอรี่ก็มีความแข็งแกร่งมาก เพราะแทนที่จะออกแบบโครงรถขึ้นมา แล้วติดตั้งแบตเตอรี่เข้าไปทีหลัง BMW ใช้เทคนิคเซฟน้ำหนักด้วยการออกแบบตัวเคสแบตเตอรี่นั่นล่ะ ให้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างรถยนต์ในส่วนพื้น ชุดเคสแบตเตอรี่จะถูกยึดด้วยน็อตขนาดใหญ่ 22 ตัว และยังออกแบบให้มีจุดเชื่อมต่อกับซับเฟรมหน้า วิธีนี้นอกจากช่วยลดน้ำหนักแล้ว ความแข็งแรงต้านการบิดของตัวถังก็ไม่ได้ลดลง

แบตเตอรี่ของ i4 ใช้เซลล์ที่มี Energy Density สูงกว่าเซลล์ในแบตเตอรี่ของ i3 ถึง 40% เซลล์เหล่านี้ถูกจัดเรียงเข้าเป็น Module ซึ่งสำหรับ i4 นั้น รูปแบบของเคสแบตเตอรี่ทำให้ต้องแยกออกเป็น 7 Module โดยจะมี 4 Module ที่เป็นแบบบรรจุ 72 เซลล์/Module และอีก 3 Module ที่บรรจุ 12 เซลล์/Module ซึ่งทั้งหมดนี้ ให้ความจุพลังไฟรวม 83.9 kWh แต่จะถูกนำมาใช้จริง 80.7 kWh

เพื่อให้น้ำหนักเบา ฝากระโปรงหน้าและแก้มหน้าของ i4 จะทำมาจากอะลูมิเนียม มีระบบ Active Bonnet System เพื่อช่วยลดการบาดเจ็บในกรณีชนคนเดินถนน โครงสร้างส่วนห้องโดยสาร ทำมาจากเหล็กกล้าทนแรงดันสูงในส่วนหลัก โดยโครงสร้่างประกอบบางจุดจะเป็นอะลูมิเนียมในส่วนที่สามารถใช้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบด้านความปลอดภัย

ระบบบริหารจัดการอุณหภูมิ แบบ EV

แม้รถ EV จะไม่ต้องการหม้อน้ำขนาดใหญ่แบบรถยนต์สันดาปภายใน แต่ i4 ก็ยังมีช่องรับอากาศด้านหน้าสำหรับระบายความร้อนให้ระบบต่างๆ เพียงแค่ความร้อนที่เกิดขึ้นจะไม่สูงเท่ารถสันดาปภายใน ด้วยโครงสร้างและแหล่งกำเนิดความร้อนที่แตกต่าง รถ EV อย่าง i4 จึงต้องออกแบบแผนจัดการอุณหภูมิใหม่หมด ระบบ Heating/Cooling ในรถจะมี 3 วงจร ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการทำงานกันได้

เมื่อวิ่งบนถนนในหน้าหนาว รถสันดาปภายในจะใช้ความร้อนจากน้ำหม้อน้ำในการอุ่นฮีทเตอร์ สำหรับ i4 จะใช้ความร้อนจากการขับเคลื่อนของมอเตอร์ในการอุ่นแบตเตอรี่ ส่วนห้องโดยสาร จะทำความอุ่นด้วย Heat Pump แบบใหม่ที่ใช้พลังงานในการสร้่างความร้อนน้อยกว่า Heat Pump ของ i3 ถึง 75% โดยนำความร้อนนี้มาจากอุณหภูมิรอบตัวรถและระบบขับเคลื่อน และถ้า Heat Pump ยังไม่พอจะอุ่นห้องโดยสาร ก็จะมีฮีทเตอร์ไฟฟ้าแบบ 9kW อีก 1 คู่ไว้ช่วยสนับสนุน ที่ต้องแบ่งการทำความร้อนเป็น 2 Step แบบนี้ ก็เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เพราะ Heat Pump กินไฟน้อยกว่าฮีทเตอร์ 15% นั่นเอง แล้วพอเปิดฮีทเตอร์แบบอุ่นสุดขีด ระบบทำความร้อนของ i4 ก็ช่วยให้รถวิ่งในเมืองได้ระยะไกลขึ้น 31% เมื่อเทียบกับระบบเก่า

และเมื่อวิ่งในที่อากาศร้อนต้องใช้แอร์ ระบบปรับอากาศของ i4 จะมีคอมเพรสเซอรแอร์ไฟฟ้า 1 ตัว มี Evaporator 2 ตัว คอยล์ร้อน 1 ตัว ซึ่งปกติถ้าเป็นรถสันดาปภายในก็ใช้ลมปะทะหน้ารถกับพัดลมไฟฟ้าในการระบายความร้อน แต่ของ i4 จะใช้น้ำในการระบายความร้อนแทน ถ้าคุณกำลังกลัวว่ามันจะเย็นไม่พอ ทาง BMW เขาก็บอกว่า เวลาเขาทดสอบระบบแอร์ในรถ 430i อย่างไร i4 ก็ทดสอบโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน ถ้าที่ไหนที่แอร์ของ i4 สู้ไม่ไหว 430i ก็ไม่รอดครับ และอันที่จริงรถที่ใช้คอมเพรสเซอร์ไฟฟ้า สามารถควบคุมการทำงานอย่างอิสระในยุคใหม่ๆ น่าจะทำความเย็นได้เร็วกว่าคอมเพรสเซอร์แบบปั่นด้วยแรงเครื่องเสียด้วยซ้ำ

5th Generation eDrive

BMW i4 มาพร้อมสองทางเลือกในระดับขุมพลัง

BMW i4 eDrive40

รุ่นพื้นฐาน ที่ไม่มีส่วนไหนธรรมดา มอเตอร์วางด้านหลัง 1 ชุด ส่งกำลังไปขับเคลื่อนล้อหลัง 250kW หรือ 340 แรงม้า ตั้งแต่รอบหมุนมอเตอร์ 8,000-17,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 430Nm มาให้ใช้ทันทีที่ตอกคันเร่ง ส่งกำลังผ่านชุดเกียร์ Single Speed สามารถทำอัตราเร่ง 0-100kmh ได้ภายใน 5.7 วินาที ความเร็วสูงสุดล็อคไว้ที่ 190 kmh แบตเตอรี่ 83.9 kWh (ใช้จริง 80.7) เมื่อทดสอบตามมาตรฐาน WLTP แล้ว สามารถให้พิสัยการวิ่งไกล 590 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง น้ำหนักตัวรถตามมาตรฐาน EU 2,125 กิโลกรัม

BMW i4 M50

รุ่น High Performance ซึ่งนับเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของค่ายที่พัฒนาโดย M Division ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จากมอเตอร์แยกสองชุด มอเตอร์หน้าสามารถสร้างพลังได้ 258 แรงม้า ส่วนมอเตอร์หลัง 313 แรงม้า ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกันแล้ว สามารถสร้างพลังได้ 544 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 795 Nm ซึ่งตัวเลขระดับนี้ จะมีให้ใช้เมื่อผู้ขับเปิดโหมด Sport Boost Function แต่ถ้าไม่ได้เปิดใช้ หรือขับในโหมดปกติ i4 M50 จะมีพลัง 476 แรงม้า และ 730Nm

ถึงน้ำหนักตัวจะเพิ่มเป็น 2,290 กิโลกรัม (หนักกว่า eDrive40 175 กิโลกรัม) แต่เมื่อปล่อยแรงแบบ 100% i4 M50 สามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100kmh ได้ภายในเวลา 3.9 วินาที ความเร็วสูงสุดล็อคไว้ที่ 225 kmh และถึงแม้ว่า Sport Boost จะมีให้ใช้งานต่อเนื่องได้แค่ประมาณ 10-15 วินาที แต่เมื่อยกคันเร่งออกแล้วกดลงไปใหม่ หาก ECU ตรวจว่าแบตเตอรี่มีไฟพอและอุณหภูมิการทำงานอยู่ในระดับปกติ ก็จะยอมปล่อยให้คุณเรียกพลังเต็ม 544 แรงม้าได้อีกหลายครั้ง ซึ่งบนหน้าปัดจะมีเกจ์วัดบอกว่าคุณสามารถใช้พลังได้อีกกี่ครั้ง/กี่วินาที ส่วนแบตเตอรี่ เป็นลูกเดียวกันกับ i4 eDrive40 แต่ด้วยการที่ล้อและยางโตกว่า น้ำหนักเยอะกว่า และมีสองมอเตอร์ ทำให้พิสัยทำการลดลงเหลือ 510 กิโลเมตร

ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อของ i4 M50 นั้นมาพร้อมระบบแปรผันอัตราการส่งกำลังหน้า/หลังอย่างอิสระ ในสภาวะปกติ กดคันเร่งไม่มาก ถนนไม่ลื่น หรือขับด้วยความเร็วคงที่ ระบบจะปรับเป็นขับหลัง 100% เพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานผ่านเพลา แต่เมื่อถนนลื่นหรือมีการเติมคันเร่ง ก็สามารถทยอยส่งกำลังไปยังล้อหน้าได้ BMW แต่จะยังคงเซ็ตให้มีการส่งแรงบิดไปที่ล้อคู่หลังมากกว่าคู่หน้าในยามขับแบบดุดัน เพื่อเพิ่มแรงขับด้านท้ายซึ่งช่วยในการหันหน้ารถให้ไปตามโค้ง ทั้ง i4 eDrive40 และ M50 จะได้ระบบ Near-actuator wheel slip limitation ซึ่งช่วยลดอาการล้อหมุนฟรีโดยการควบคุมจากสมองกลมอเตอร์เอง ทำให้แม้แต่รุ่นขับหลัง ในยามที่บี้คันเร่งออกตัว รถก็จะเลือกอัตราการฟรีของล้อในแบบที่สามารถดีดรถออกไปได้ไวที่สุด และยังวิ่งได้ตรงไม่มีดราม่า

นอกจากนี้ BMW ยังบอกด้วยว่าการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่ฝังโมดูลของระบบ Traction Control ไว้ในส่วนเดียวกัน ทำให้ลดเวลาในการสื่อสารระหว่างระบบต่างๆ ส่งผลให้ระบบ DSC ทำงานได้เร็วกว่ารถสันดาปภายในของทางค่าย ยิ่งถ้าเป็นรุ่นขับสี่อย่าง i4 M50 นั้น การกำหนดแรงขับจากมอเตอร์โดยตรงทำให้ระบบสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ไวชนิดที่แม้แต่ระบบขับสี่ใน M4 หรือ M5 ก็ไม่สามารถทำได้ไวเท่า

ช่วงล่าง เป็น EV ก็ขับสนุกได้ ใช้งานได้

สำหรับช่วงล่าง แม้ว่ารูปแบบหน้าตาจะเป็น Double-joint Spring Strut เหมือน BMW ทั่วไป แต่ก็ได้รับการปรับจูนให้รับกับน้ำหนักของตัวรถ ในรุ่น i4 M50 จะเพิ่มบุชแบบให้ตัวได้ที่ใต้ซับเฟรมหน้าเพื่อลดอาการสั่นสะเทือนเมื่อมีการส่งแรงขับ ส่วนด้านหลัง ใช้ช่วงล่างมัลติลิงค์ ปีกนกหลักทำมาจากเหล็กปั๊ม คอม้าและลิงค์ประคองตัวบนทำมาจากอะลูมิเนียมเพื่อลดน้ำหนัก ซับเฟรมหลังมีบุชคานแบบให้ตัวได้ขนาดใหญ่ 1 คู่ โดยผนวกการยึดมอเตอร์และซับเฟรมเข้าเป็นชุดเดียวกัน

BMW i4 eDrive40 จะได้โช้คอัพแบบแปรผันความหนืดตามจังหวะการยุบ/ยืด โดยไม่ต้องพึ่งระบบไฟฟ้า หรือ Lift-Related Dampers ซึ่งเป็นเทคโนโลยีตกทอดมาจาก BMW 3 Series แต่ที่พิเศษสำหรับ i4 ทั้งสองรุ่นย่อยก็คือ ช่วงล่างหลังจะเป็นแบบ Air-suspension พร้อมระบบปรับความสูงรถชดเชยอัตโนมัติเมื่อบรรทุกของหนักด้านหลัง ส่วนระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าแบบ Electro-mechanical ที่สามารถปรับการตอบสนอง 2 แบบ คม ไว กับ เบาสบายคลายเครียด ซึ่งจะสั่งการผ่านสวิตช์ Driving Experience Control

สำหรับรุ่นที่เน้นสมรรถนะอย่าง i4 M50 จะได้ช่วงล่างปรับความหนืดอัตโนมัติแบบ M Adaptive ซึ่งควบคุมด้วยสมองกลและสามารถปรับความหนืดของโช้คอัพได้ละเอียดแยกจากกันในแต่ละตัว และยังมีเหล็กกันโคลงขนาดใหญ่ขึ้น ค้ำโช้คหน้า และพวงมาลัยอัตราทดแปรผัน Variable Sport Steering ซึ่งคนที่สั่งซื้อรุ่น eDrive40 ไป สามารถสั่งสองอย่างนี้เป็นออพชั่นเติมได้

ส่วนระบบเบรกนั้น นอกจากจะใช้ดิสก์เบรกที่มีประสิทธิภาพเหลือเฟือสำหรับรถหนัก 2 ตันแล้ว ในระบบขับเคลื่อนเอง ก็มีตัวหน่วงชาร์จกระแสไฟ (Energy Recuperation System) ซึ่งผู้ขับสามารถเลือกปรับอัตราการหน่วงของรถได้ ระบบเบรกที่มีทั้งกลไกและไฟฟ้า สามารถปรับการตอบสนอง ไวตื้น/ช้าลึกของแป้นได้โดยระบบ Integrated Braking System แบบที่ใช้ใน 8 Series แต่ประยุกให้ทำงานกับรถยนต์ไฟฟ้าแทน

สิ่งหนึ่งที่วิศวกรทราบดีจากการบ่นของลูกค้าคือการตอบสนองของแป้นเบรกในรถ Plug-in Hybrid ซึ่งบางทีเหยียบแป้นลึกเท่าเดิม แต่รถไม่หน่วงเท่าเดิม ไม่เสถียร ทีมพัฒนาระบบเบรกจึงให้ความสำคัญในการจูนประสานการทำงานของระบบเบรกแบบปกติ (คาลิเปอร์กับจานเบรก) และระบบหน่วงผ่าน Recuperation System ให้มีการตอบสนองแป้นที่เหยียบลงไปเท่าไหร่ ก็ต้องได้แรงหน่วงเท่าเดิมตลอด จะเปลี่ยนอาการ ก็ต่อเมื่อคนขับเปลี่ยนการตั้งค่าของ Integrated Braking System เท่านั้น

Adaptive Recuperation System

ระบบหน่วงความเร็วเพื่อชาร์จกลับ สามารถทำงานในแบบ Adaptive ตามสภาพการขับขี่ ความเร็ว และสภาพการจราจร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวิ่งไปบนมอเตอร์เวย์แล้วผู้ขับยกคันเร่ง โดยที่ไม่มีรถใดๆขวางอยู่ข้างหน้า ระบบจะปล่อยให้รถไหลได้ไกล ช่วยประหยัดพลังไฟฟ้าในการขับเคลื่อน แต่ถ้าเรดาร์หน้ารถพบว่ามีรถอยู่ข้างหน้า ก็จะปรับเพิ่มแรงหน่วงในยามถอนคันเร่ง ในกรณีที่เปิดใช้ระบบนำทาง รถก็จะนำข้อมูลเส้นทางวิ่งมาเป็นปัจจัยคำนวณแล้วเลือกวิธีการหน่วงความเร็วที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ

แต่ถ้าผู้ขับไม่ชอบ ก็สามารถเข้าเมนู iDrive แล้วเลือกระดับความหน่วงแบบตายตัวได้ 3 ระดับ นอกจากนี้ หากขับในเมืองแล้วเมื่อยเท้าก็แค่เลื่อนคันเกียร์จาก D ไป B ระบบจะสร้างแรงหน่วงสูงสุดตลอดเวลา ทำให้เมื่อยกคันเร่งออกแล้วรถจะสามารถชะลอจนหยุดได้ หรือก็คือการขับแบบ One-pedal นั่นเอง

ความสามารถในการหน่วงของรุ่น eDrive40 จะมีพลังในการหน่วงเทียบได้เท่ากับ 116kW ส่วนรุ่น M50 ซึ่งมีมอเตอร์สองตัว สามารถสร้างแรงหน่วงได้มากกว่าคือ 195kW

การชาร์จไฟกลับ

i4 สามารถรองรับรูปแบบการชาร์จได้หลากหลาย สำหรับการเสียบชาร์จไฟบ้าน ก็สามารถใช้ได้กับระบบไฟทั้งแบบกระแสสลับ 1 Phase และ 3 Phase โดยรองรับการชาร์จสูงสุด 11kW หรือใช้เวลา 8.5 ชั่วโมงในการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม ตามเงื่อนไขและพลังจ่ายไฟระดับนี้ ระบบ Flexible Fast Charger นี้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการติดตั้งอะไรเพิ่ม สามารถปลั๊กเข้ากับรูปลั๊กบ้าน หรือต่ออแดปเตอร์เสียบกับปลั๊กแบบ Industrial ได้ ส่วนใครก็ตามที่อยากได้แท่นชาร์จดีๆ ก็มี BMW Wallbox Charger เวอร์ชั่นบ้านที่รองรับการชาร์จ 11kW ให้เลือกเช่นกัน

ส่วนการชาร์จไฟแบบกระแสตรง ตามสถานีชาร์จขนาดใหญ่ ระบบของ i4 รองรับสูงสุด 200kW ทำให้เมื่อใช้การชาร์จเร็วแบบที่พบได้ตามเส้นทางหลักในยุโรป เมื่อเสียบปลั๊กไว้ 10 นาที i4 eDrive40 จะได้พลังไฟฟ้าพอสำหรับการวิ่ง 164 กิโลเมตร และ 140 กิโลเมตร สำหรับ i4 M50 ส่วนในด้านความสะดวกสบาย สำหรับลูกค้าในยุโรป เมื่อซื้อ i4 พร้อมกับลงทะเบียนในการ์ด หรือแอพพลิเคชั่น ทีเดียว ครั้งเดียว ก็สามารถเข้าใช้แท่นชาร์จกว่า 200,000 แห่งทั่วทวีป ซึ่งทาง BMW ได้ไปเจรจาทำสัญญาเอาไว้กับผู้ให้บริการ 500 รายที่ดูแลแท่นชาร์จเหล่านี้อยู่แล้ว และบางแห่ง ทาง BMW ก็ประสานกับทาง IONITY เพื่อจัดสร้างสถานีชาร์จแบบ Exclusive สำหรับ EV ของ BMW โดยเฉพาะ เพื่อลดปัญหาการรอคิวชาร์จลง

ภายใน มีกลิ่น BMW 4 Series ผสานดีไซน์แห่งยุค EV

แดชบอร์ดตอนล่าง และแผงประตู ดูก็รู้ว่าเป็นดีไซน์ปากกาด้ามเดียวกับ 3 Series และ 4 Series ที่มีจำหน่ายอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เหมือนกันเป๊ะก็คงไม่เหมาะสมกับการเป็นรถ EV ดังนั้น จุดเด่นที่เพิ่มเข้ามาก็คือจอยาว “BMW Curved Display” ซึ่งเชื่อมหน้าปัดส่วนที่เป็นมาตรวัดขนาด 12.3 นิ้ว กับจอกลางขนาดใหญ่ 14.9 นิ้ว รวมกันไว้เป็นชิ้นเดียว (เป็นอุปกรณ์มาตรฐานใน i4 ทุกคัน) ที่เก๋ก็คือจุดยึดของจอโค้งนี้ จะอยู่ด้านหลังและเมื่อมองจากตำแหน่งคนนั่งจะไม่เห็นจุดยึด ทำให้ได้ความรู้สึกเหมือนจอนี้กำลังลอยอยู่เหนือแดชบอร์ด โดยที่จอยังโค้งหันเข้าหาคนขับ เป็นการประยุกต์เอาเอกลักษณ์คอนโซลแบบ Driver-focused จาก BMW ยุคก่อนมาใช้ให้เข้ากับยุคไฟฟ้า

นอกจากการแสดงผลต่างๆผ่านจอ Curved Display แล้ว ก็ยังมี Head Up Display มาให้ ซึ่งสามารถเลือกค่าต่างๆที่จะแสดงได้โดยสวิตช์ที่ก้านพวงมาลัยด้านขวา

i4 ทุกคันจะได้พวงมาลัยสปอร์ตมัลติฟังก์ชั่น และเบาะแบบสปอร์ตหุ้มด้วยหนัง Vernasca และ Sensatec เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่เฉพาะรุ่น i4 M50 จะได้เบาะแบบปรับไฟฟ้าพร้อมระบบความจำ (รุ่น eDrive40 ต้องเสียเงินสั่งเพิ่ม) อุโมงค์เกียร์ยังสูงอยู่ แม้ว่าจะไม่มีเกียร์แล้วก็ตาม แต่เพราะต้องการให้นั่งแล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในรถสปอร์ต และยังออกแบบให้มีเส้นสายเชื่อมกับแผงประตู เสมือนห่อหุ้มตัวคนขับเอาไว้ ตำแหน่งปุ่มสตาร์ท และสวิตช์ควบคุมโหมดการขับขี่ต่างๆ ลอกแบบมาจาก BMW 4 Series เพราะต้องการให้คนที่ขับ BMW รุ่นปกติอยู่ สามารถเข้ามานั่งขับ i4 ได้โดยไม่ต้องปรับตัวมาก จะมีก็แต่คันเกียร์ที่เปลี่ยนทรง และแพทเทิร์นใหม่ให้เข้ากับความเป็นรถไฟฟ้า

ภายใน ตกแต่งด้วยวัสุดสีดำเงา และอะลูมิเนียม Rhombicle เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่ลูกค้าสามารถเลือกเปลี่ยนวัสดุเป็นลายไม้ หรือวัสดุแบบอื่นได้ตามใจชอบ เช่น จะเลือก M Sport Trim, M Sport Pro Package หรือเลือกทุกอย่างตามใจตัวเองไม่ให้เหมือนใครโดยผ่านโปรแกรม BMW Individual Customization ก็ได้ ส่วน Wireless Charger นั้น เป็นออพชั่นที่ต้องสั่งเพิ่ม แต่รถทุกคันจะมีช่องเสียบ USB สองตำแหน่งที่คอนโซลหน้า ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ 3-Zone เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งสามารถตั้งให้ทำงานประสานโดยอัตโนมัติกับระบบเป่าลม/ฮีทเตอร์ที่ตัวเบาะนั่งได้ เมื่ออากาศร้อน และคุณกำลังจะเดินไปที่รถ ก็สามารถสั่งให้รถเปิดแอร์ทำความเย็นรอคุณได้โดยผ่าน BMW Display Key หรือ My BMW App. รถ BMW i4 ยังมีกรองอากาศห้องโดยสารแบบ Nanofibre ซึ่งสามารถกรองฝุ่นที่เข้ามาในห้องโดยสาร ให้คุณหายใจได้สบายปอด

ฝาประโปรงท้าย เปิดได้กว้าง และยังมีระบบเปิดฝาท้ายด้วยไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกคัน แต่อยากได้ระบบแกว่งเท้าเพื่อเปิดใต้กันชน ก็จะมีในรถที่ติดตั้ง Comfort Access Package เท่านั้น

ส่วนระบบความปลอดภัยต่างๆนั้น ก็เป็นเทคโนโลยีที่ยกมาจาก BMW รุ่นปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น BMW Driving Assistant ที่เตือน เบรกอัตโนมัติ และปรับรถให้อยู่ในเลนได้ หรือระบบเบรกอัตโนมัติเมื่อมีรถวิ่งตัดด้านหลัง ระบบกล้องรอบคัน ระบบขับขี่แบบกึ่งอัตโนมัติ Level 2 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เพิ่มมาก็คือระบบ Active Cruise Control เจนเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งพัฒนามาและใช้ได้ผลแล้วที่เยอรมนี ระบบใหม่นี้ สามารถตรวจจับสัญญาณไฟเขียว/ไฟแดง และปรับการตอบสนองของรถโดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อมาถึงสี่แยกเป็นคันแรก แล้วไฟแดงขึ้น แม้จะไม่มีรถคันหน้าเป็นจุดอ้างอิง รถก็สามารถชะลอหยุดเองได้ และเคลื่อนตัวออกเองได้เมื่อไฟเขียว

ในกรณีที่แยกนั้นเป็นทางแยกร่วมขนาดใหญ่ที่มีสัญญาณไฟเยอะจนระบบสับสน วิธีแก้ของระบบ ก็คือขึ้นคำถามบนหน้าจอ แล้วให้ผู้ขับเลือกโดยการกดปุ่มว่าจะหยุด หรือไปต่อ ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิธีที่สบายที่สุด แต่ก็ดีกว่าการที่ผู้ขับต้องกดเบรก แล้วไปกดตั้ง Cruise Control ใหม่

Acoustic Pedestrian Protection & BMW IconicSounds Electric

ปัญหาของรถ EV อย่างหนึ่งก็คือเสียง ซึ่งความเงียบของมันอาจทำให้คนเดินตัดหน้าโดยไม่ได้ตั้งใจ BMW i4 จึงมีระบบ Acoustic Pedestrian Protection ซึ่งจะมีลำโพงส่งเสียงสังเคราะห์ให้คนภายนอกรถได้ยิน แต่เมื่อใช้ความเร็วเกิน 21kmh ขึ้นไปมันก็จะหยุดส่งเสียงเอง การเซ็ตโปรแกรมการทำงานของรถจำหน่ายในยุโรปกับอเมริกาจะต่างกัน ถ้าเป็นอย่างหลัง จะเพิ่มจุดปิดการทำงานของเสียงไปที่ 31 kmh

สิ่งที่คนกล่าวถึงกันเยอะ..อยู่ที่ภายใน ซึ่งระบบเสียงสังเคราะห์ของ BMW i4 นั้น ต้องใช้ทีมงานซึ่งประกอบด้วย Sound Engineer ที่ทำงานกับภาพยนตร์ระดับโลก นักแต่งเพลง และกำกับดูแลโดย Hans Zimmer นักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ระดับโลก ซึ่งเสียงนี้ จะมีตั้งแต่ตอนกดปุ่มสตาร์ท ไปจนถึงตลอดการขับขี่ และไม่ได้เปลี่ยนโทนเสียงแค่ตามความเร็วเท่านั้น แต่ยังเป็นไปตาม Load (ภาระของระบบขับเคลื่อน) การกดคันเร่ง และเมื่อกดปุ่ม Sport โทนเสียงก็จะดัง ดุดันขึ้น โดยที่ i4 รุ่น M50 ยังจะได้โทนเสียงที่แตกต่างเฉพาะตัวออกไป นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่น BMW IconicSounds Electric ซึ่งเมื่อทีม BMW กับ Hans Zimmer พัฒนาเสียงแบบใหม่ๆออกมา คุณก็จะสามารถอัพโหลดออนไลน์เข้าสู่รถคุณได้โดยผ่าน Remote Software Upgrade ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BMW Operating System เวอร์ชั่น 8.0 ซึ่งลูกค้าสามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มจนจบไม่เกิน 20 นาที หรือตั้งเวลาให้ Install อัตโนมัติระหว่างที่คุณหลับไหลอยู่ก็ได้

ขั้นตอนการผลิต ยากกว่าแต่ก่อน แต่ก็ต้องทำ

เพื่อให้การผลิต i4 ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทาง BMW จึงต้องเข้ามามีส่วนควบคุมในการผลิตหลายด้าน

  • เซลล์แบตเตอรี่ – ผลิตโดย Supplier ที่มีสัญญากับทาง BMW โดย BMW ได้บังคับให้ Supplier นั้น จะต้องทำการผลิตเซลล์แบตเตอรี่โดยใช้พลังงานที่สะอาด เช่น ไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานของ Supplier จะต้องมาจากโรงไฟฟ้าพลังธรรมชาติ
  • BMW เป็นผู้คัดเลือกแหล่งวัตถุดิบสำหรับการทำเซลล์แบตเตอรี่ โดยสำหรับ i4 จะใช้ลิเธียมที่ส่งจากออสเตรเลีย กระจายไปยังผู้ผลิตเซลล์ สาเหตุที่ต้องเข้ามาจัดการวัตถุดิบเอง เพราะต้องการคัดเลือกผู้ผลิตแร่ที่ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกฎหมายแรงงานเด็ก
  • เซลล์แบตเตอรี่จะถูกส่งมาประกอบเป็น Module ที่โรงงานของ BMW ใน Dingolfing และบรรจุลงในเคสแบตเตอรี่ ทำมาจากอะลูมิเนียม ผลิตขึ้นจาก Supplier ที่ใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ
  • โรงงานของ BMW ที่ Munich ก็ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากกระแสน้ำ (Hydro Electric) เท่านั้น ในการผลิตรถที่นั่น
  • BMW คำนวณผลกระทบที่เกิดต่อภาวะโลกร้อน และคาดคะเนเอาไว้ว่า เมื่อรวมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงวันที่รถวิ่งครบ 200,000 กิโลเมตร i4 จะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนน้อยกว่ารถเบนซินอย่าง 430i ประมาณ 47% ซึ่งในตัวเลขนี้ มีการคำนวณรวมมลภาวะที่เกิดจากโรงงานไฟฟ้า โดยใช้ตัวเลขเฉลี่ยการปล่อยมลภาวะของโรงงานไฟฟ้าใน EU (ไม่ใช่แค่นับเพียงโรงงานไฟฟ้าพลังสะอาดเพียงอย่างเดียว)

ค่าบำรุงรักษาที่ต่ำลง 30%

BMW คำนวณค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตามมาตรฐานยุโรป เทียบกับรถสันดาปภายในของทางค่ายเองที่มีพละกำลังและขนาดตัวใกล้เคียงกัน หลักการคำนวณของพวกเขา วัดจากมาตรฐานเฉลี่ยของยุโรป โดยมีการรวมค่าใช้จ่ายในด้าน การต่อภาษีประจำปี ประกันภัย และค่าชิ้นส่วนที่สึกหรอและต้องมีการเปลี่ยน

การเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ i4 ไม่ต้องมีจุดซ่อมบำรุงหลายจุดเหมือนรถสันดาปภายใน เช่น ไม่ต้องมีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ ไม่ต้องดูแลเทอร์โบชาร์จเจอร์ เปลี่ยนปะเก็นฝาสูบ ปะเก็นท่อไอเสีย และที่สำคัญคือระบบบำบัดไอเสียสำหรับรถสันดาปภายใน เช่นอุปกรณ์ DPF หรือเครื่องกรองไอเสีย ก็ไม่มี ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในจุดนี้ไปได้มาก นอกจากนี้ ในการใช้งานแบบปกติ ผ้าเบรกของ i4 จะสึกหรอช้ากว่าในรถเครื่องสันดาปภายใน เนื่องจากสามารถใช้ระบบหน่วง Energy Recuperation ในการช่วยลดความเร็วลงได้ ในบางครั้ง หากเปิดโหมดการขับแบบ One-Pedal และขับในเมืองระยะทางสั้นๆ อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ผ้าเบรกเลย

และทั้งหมดนี้ ก็คือเทคโนโลยีใหม่ ที่ BMW บรรจงใส่ลงในรถ i4 ซึ่งพยายามประยุกต์เทคโนโลยีการขับเคลื่อนของอนาคตที่ไร้มลภาวะปลายท่อ เข้ากับรูปทรงและการตอบสนองของช่วงล่างในแนวสปอร์ต ตามเอกลักษณ์ Ultimate Driving Machine ของ BMW ซึ่งแม้กระทั่งรุ่นพื้นฐาน ก็ยังทำอัตราเร่งได้ดีกว่ารุ่น 4 สูบเทอร์โบของทางค่ายเอง โดยที่ยังได้ทั้งความประหยัดเชื้อเพลิง..เพราะไม่ต้องใช้น้ำมันอีกต่อไป ได้ความเงียบจากพลังขับเคลื่อนไฟฟ้า เป็นทางเลือกใหม่สำหรับชาว BMW ที่กำลังต้องการรถยนต์คันใหม่ที่ช่วยพาพวกเขาก้าวเข้าสู่เจนเนอเรชั่นต่อไปของการขับเคลื่อน

BMW กำลังเตรียมพร้อมการผลิตในขั้นสุดท้าย และคาดว่า ภายในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ BMW i4 คันแรกจะถูกส่งถึงมือลูกค้า สำหรับเมืองไทย ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มา เพราะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระดับสูง มีการแข่งขันรุนแรงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา BMW ในประเทศไทยก็เป็นแบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแบบมีมอเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น Plug-in Hybrid หรือไฟฟ้า ถ้า i3 ยังเอาเข้ามาขายได้ ทำไมรถที่มีศักยภาพในการขาย สมรรถนะและหน้าตาดีๆอย่าง i4 จะมาไม่ได้ล่ะ?

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments