BMW Art Cars ศิลปะขับเคลื่อนยานยนต์ (ตอนที่ 2)

ใน ฺBMW Art Cars ศิลปะขับเคลื่อนยานยนต์ ตอนที่ 1 นั้น เราได้พาท่านผู้อ่านไปชมรถยุคแรกของ Art Cars พร้อมทั้งจุดกำเนิดว่าเป็นมาอย่างไร จะเห็นได้ว่าศิลปะ คือสิ่งที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรา และไม่ว่าเครื่องจักรใดก็ตามที่มีรูปทรง มีการใช้งาน ย่อมต้องมีความเป็นศิลปะอยู่ในการออกแบบไม่มากก็น้อย ซึ่งใน Art Car ตอนที่ 1 เราจะพบว่าศิลปินบางท่าน ถ่ายทอดจินตนาการของตนเองลงบนรถ แต่บางท่านก็เลือกที่จะใช้ตัวรถเป็นแรงบันดาลใจ แล้วสร้างลวดลายที่ขับความเด่นของบอดี้รถออกมาให้เด่นขึ้น

.

สำหรับ BMW Art Cars ในตอนที่ 2 นี้ เราจะพาท่านไปชม BMW แห่งตำนานในยุค 80s และ 90s ซึ่งโชคดีสำหรับพวกเราที่เป็นชาว BMW เพราะไม่ใช่ว่าทุกรุ่นจะเป็นรถหายาก หรือหาได้แต่ราคาเกินเอื้อมต่อการเป็นเจ้าของ BMW ในยุคนี้ คือรถรุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงกลายเป็นรถคลาสสิค แต่ยังสามารถหาอะไหล่ซ่อมได้บ้าง บางที คุณผู้อ่านบางท่านอาจเริ่มเกิดไอเดียที่จะทำ BMW Art Car โดยฝีมือคนไทยขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องเสียเงินหลายล้านซื้อ BMW รุ่นแพงๆ หายาก เพราะสำหรับรถจากค่ายนี้ ทุกคันที่เห็น คือศิลปะเคลื่อนที่ เหลือแค่ใครบ้างที่สนใจจะมาลงสีสันให้เกิดความแตกต่าง หรือสร้างรถที่เป็นตำนาน เฉกเช่นเดียวกับที่ศิลปินเหล่านี้ได้สร้างไว้

Art Car No. 7 – BMW M3, 1989

“ผมให้รถคันนี้เปรียบเสมือนพื้นโลกในมุมมองที่เราเห็นจากเครื่องบิน ดังนั้นผมจึงใส่ทั้งน้ำ จิงโจ้ แม้กระทั่งตัวโอพอสซั่ม” – Michael Jagamara Nelson

ศิลปะ ไม่จำเป็นต้องมาจากชาวตะวันตกในสังคมชั้นสูงเสมอไป หากแต่สถิตย์อยู่ทุกที่ เกือบ 70 ปีก่อนหน้านี้ที่ดินแดนห่างไกลตอนเหนือของออสเตรเลีย เด็กชาวเผ่า Warlpiri คนนึงถือกำเนิดขึ้นในปี 1949 ในวัยยังแบเบาะ เขาได้พบเจอชาวผิวขาวเป็นครั้งแรก และตกใจมากจนต้องวิ่งไปซ่อนในพุ่มไม้ พ่อของเขาเป็นหมอยาประจำเผ่าซึ่งเป็นที่เคารพ และต้องการให้ลูกได้รับการศึกษาแบบตะวันตก จึงส่งเด็กชาย Michael Jagamarra Nelson (บางที่สะกดว่า Tjakamarra) ไปเรียนที่เมืองเล็กๆชื่อ Yuendumu

เมื่อโตขึ้นและเริ่มมีความสนใจในศิลปะ Michael ชอบการวาดรูปในสไตล์อะบอริจิ้น ที่คุณปู่เขาเคยสอนไว้ แม้กระทั่งเรียนจบมาแล้วยากจน ต้องไปทำอาชีพหาเลี้ยงตน ไม่ว่าจะเป็นการต้อนวัว ขับรถบรรทุก หรือไปเข้าเป็นทหารบก ในยามว่าง เขาจะสเก็ตช์ภาพศิลปะสไตล์ชนท้องถิ่นเล่นเสมอ จนต่อมาในปี 1976 เขาย้ายไปอยู่ที่เมืองเล็กๆ ชื่อ Papunya แต่งงาน มีภรรยา และศึกษาศิลปะไปในระหว่างทำงานที่ร้านของรัฐบาล จนปี 1983 ก็บรรลุความต้องการ และหันมาเอาจริงด้านศิลปะ เป็นนักวาดภาพมืออาชีพ

ภาพวาดสไตล์ Papunya ของเขา ปรากฏตามสถานที่สำคัญต่างๆในออสเตรเลีย ที่ Canberra หน้ารัฐสภา หรือแม้กระทั่งบนอาคาร Sydney Opera House

ซึ่งต่อมา ผู้บริหารจาก BMW ที่ออสเตรเลียได้ไปพบกับ Michael และเชิญให้นำศิลปะของเขามาวาดลงบนตัวถังของ BMW M3 E30 ที่เป็นรถแข่ง Michael ตอบตกลง และใช้เวลา 7 วันต่อเนื่อง วาดสีต่างๆลงบนตัวรถด้วยตัวเอง จาก BMW M3 สีดำ กลายเป็นผลงานที่เชิดชูเกียรติให้กับจิตรกรรม Papunya ที่เขารัก

แม้ว่าต่อหน้าสายตาของคนทั่วไปที่ไม่ได้ถนัดด้านศิลปะ จะมองภาพบนรถ M3 นี้เป็นแบบ Abstract แต่สำหรับคนที่เชี่ยวชาญงานศิลป์แล้ว ก็จะเห็นสัตว์ต่างๆ เช่นจิงโจ้ นกอีมู หรือโอพอสซั่ม ซึ่งเป็นสัตว์ท้องถิ่นของออสเตรเลีย ที่ดูยาก อาจเข้าใจได้ว่าจิตรกรรม Papunya นั้นวิวัฒนาการมาจากภาพวาดยุคโบราณของชนเผ่าอะบอริจิ้น ซึ่งแต่ก่อนต้องวาดโดยการสลัก กระเทาะ หรือนำยางไม้มาวาดลงบนหิน หรือกำแพงถ้ำ มีการแฝงความรู้สึกในเชิงจิตวิญญาณ และความเชื่อของชนเผ่าเข้าไปในลายเส้นต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมที่จะส่งต่อไปยังลูกหลานอะบอริจิ้นในอนาคต

รถของ Michael นั้น จัดหามาโดยแผนกมอเตอร์สปอร์ตของ BMW Australia ซึ่งในสมัยนั้นมีผู้จัดการประจำฝ่ายเป็นนักแข่งชื่อดังชื่อ Frank Gardner รถคันนี้เคยผ่านสมรภูมิแข่งมาหลายครั้งก่อนที่จะกลายมาเป็น Art Car โดยในปี 1987 นักแข่ง Tony Longhurst ขับเข้าเส้นชัยในรายการ Australian AMSCAR Championship ต่อมา ในปี 1988 ทีมแข่ง Mobil 1 ก็ซื้อรถคันนี้ไปใช้แข่งอีกหลายรายการ ขับโดยนักแข่งรุ่นลุงในตำนานอย่าง Peter Brock

The BMW M3 group A racing version

  • CEO Eberhard von Kuenheim คิดเล่นๆว่าอยากทำซีรีส์ 3 เป็นรถแข่งสนาม
  • Von Kuenheim เข้าไปคุยกับ Paul Rosche ผู้จัดการแผนกมอเตอร์สปอร์ตของ BMW ซึ่งเป็นวิศวกรเครื่องยนต์ฝีมือฉกาจ
  • Paul Rosche เอาเสื้อสูบจากเครื่องยนต์ M10 4 สูบมาปรับปรุง และใช้ฝาสูบจากเครื่อง S38 ที่ทำมาสำหรับ M6 มาหั่นเหลือ 4 สูบ
  • ทั้งหมดนี้ เขาทำเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และส่ง M3 เข้าสู่เวทีสนามแข่งโลกได้นับแต่นั้น
  • M3 ตามสเป็คมาตรฐานใช้เครื่องยนต์ 2.3 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว 197 แรงม้า
  • เวอร์ชั่น Group A คันที่มาเป็น Art Car No.7 ใช้เครื่องสเป็คแข่งที่เพิ่มพลังเป็น 300 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 281 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Art Car No.8 – BMW M3, 1989

“ผมวาดทั้งนกแก้ว..และปลานกแก้วลงไปบนรถคันนี้ สัตว์ทั้งสองชนิด ต่างก็มีความสวยงาม และเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว ผมอยากให้ BMW Art Car ของผมสื่อถึงความสวยและความเร็วเช่นกัน”- Ken Done

Ken Stephen Done เกิดที่ชานเมือง Sydney ประเทศออสเตรเลียในปี 1940 เมื่ออายุได้ 14 ไป เขาก็เข้าเรียนศิลปะที่ National Art School และเอาดีในทางด้านการวาดภาพมาโดยตลอด โดยย้ายไปศึกษาถึงที่ New York และ London รวมแล้วนานถึง 20 ปี ในเวลาต่อมา เขาจัดนิทรรศการแสดงงานศิลปะของตัวเองที่ Sydney ในปี 1980 และกลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียง เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการศิลปะออสเตรเลีย เช่นเดียวกับ Michael Jagamarra

แต่ทั้งสองต่างมีแนวทางที่แตกต่างกัน Michael เน้นศิลปะแบบ Papunya ที่มีเส้นสายแบบนามธรรมและความเป็นชนเผ่าท้องถิ่น งานของ Ken จะเน้นความสดใสด้วยสีสันที่เขาคิดว่าเป็นตัวแทนของชาติออสเตรเลีย แสงอาทิตย์ ทะเล ปะการัง ต้นไม้ และทะเลทราย สะท้อนให้เห็นในงานของเขา

ในปี 1988 Ken ได้รับการมอบหมายให้ดีไซน์อาคารใน Australia and the United Nations EXPO (1988 World Exposition) ในเมือง Brisbane อีกทั้งยังเป็นฑูตสัมพันธไมตรีขององค์การ UNICEF และได้รางวัลคุณพ่อดีเด่นแห่งปี 1989 ของออสเตรเลียอีกด้วย

ปัจจุบัน Ken เปิดบริษัท Done Art & Design ร่วมกับ Judy ผู้เป็นภรรยา พวกเขาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆที่อาศัยศิลปะเป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าแฟชั่น เสื้อผ้า ผ้ากันเปื้อน ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ใครที่ต้องการมีผลงานของ Ken Done ไว้ใช้ คุณสามารถไปที่ kendone.com.au หรือค้นหาชื่อ Done Art & Design หรือ Ken Done ใน EBay ซึ่งราคาไม่ได้แรงมาก (ในบางชิ้น)

เมื่อ Ken ได้เห็นรถคันนี้ เขารู้ทันทีว่าจะต้องใช้สีสันอย่างไร เขามักมีคำพูดติดปากเสมอว่า “สีสัน คือพลังยอดมนุษย์ของผม” ในด้านหนึ่ง เขาอยากให้รถคันนี้แสดงถึงความประทับใจที่เขามีต่อพลังทางวิศวกรรมใน M3 แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดอีกโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้ความเป็นออสเตรเลียออกไปสู่สายตาชาวโลกได้ชัดเจนที่สุด

Ken ตัดสินใจใช้โทนสีที่ฉูดฉาด ซึึ่งเป็นสีที่เราพบบนตัวของนกแก้ว และปลานกแก้ว ซึ่งเขาคิดว่ามันมีคาแร็คเตอร์ที่เหมือนกับ BMW M3 คันนี้ ซึ่งก็คือ ความสวยงาม และความเร็ว

รถ M3 E30 คันนี้ เป็นรถจากทางแผนกมอเตอร์สปอร์ตของ BMW Australia เช่นเดียวกับรถของ Michael Jagamarra โดยมี Frank Gardner เป็นผู้ประสานงานให้ ก่อนหน้าที่จะมาเป็น Art Car มันถูกใช้โดย JSP BMW Team ในปี 1987 ขับโดย Jim Richards ลงแข่งใน Group A ของ Australian Drivers’ Championship แต่ในปี 1988 มันถูกนำมาใช้ในสนามแข่งเพียงครั้งเดียวก่อนถูกปลดประจำการ

The BMW M3 group A racing version

  • M3 E30 เริ่มผลิตครั้งแรกในปี 1986 และผลิตจนถึงปี 1991
  • ตัวถังหลัก เอามาจาก E30 แต่มีบอดี้ภายนอก 12 ชิ้นที่ต่างจาก E30 Coupe
  • ช่วงล่างต่างจาก E30 Coupe ทั่วไป Control Arm และลูกหมากปรับมุมใหม่ และใช้น็อตล้อ 5 ตัว
  • รุ่นพิเศษอย่าง M3 Sport Evolution ใช้เครื่อง 2.5 ลิตร 238 แรงม้า
  • รถเวอร์ชั่นที่นำมาเป็น Art Car นี้ ใช้เครื่อง 2.3 ลิตร ปรับแต่งจนได้ 300 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 281 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Art Car No.9 – BMW 535i, 1990

“ผมเพิ่งมาเห็นความงามของเส้นสายใน BMW คันนี้ทั้งหมด ก็ตอนที่เสร็จสิ้นขั้นตอนการลงสีไปแล้ว” – Matazo Kayama

Matazo Kayama เกิดที่ Kyoto ประเทศญี่ปุ่น ปี 1927 และย้ายไปเรียนในระดับอุดมศึกษาที่กรุง Tokyo ในปี 1949 เมื่อเรียนจบจาก Tokyo University of Arts ก็จัดนิทรรศการโชว์งานของตัวเองครั้งแรก และเข้าร่วมกลุ่มกับ Shinseisaku Gakai ซึ่งเป็นสมาคมศิลปินวัยหนุ่มสาวฝีมือดีในสมัยนั้น

งานศิลปะที่เขาถนัด เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะใกล้เคียงของจริงแบบภาพถ่าย เข้ากับงานลายเส้นที่มีจินตนาการ และบ่อยครั้งจะเป็นงานแบบ Traditional Art แบบญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้พัฒนาฝีมือจนกลายเป็นศิลปินชั้นแนวหน้าของประเทศ ฝากผลงานไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวาดเพดานวัด Kuojoni ในญี่ปุ่น ใช้อัญมณีกับโลหะ เป็นส่วนของงานในการออกแบบภายในเครื่องบิน Boeing 747 และเรือสำราญระดับหรู ซึ่งงานแต่ละชิ้นแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างความงดงามในแบบที่ต่างกันอย่างมีเอกลักษณ์

เขาได้รับเชิญให้นำผลงานไปจัดแสดงยังหลายที่ ยกตัวอย่างเช่น State Hermitage Museum ที่ St. Petersburg และ Pushkin Museum ใน Moscow

แนวคิดในการสร้าง BMW Art Car ของ Matazo Kayama คือ การนำความรู้สึกที่เขามีต่อแบรนด์ BMW ในแง่การสร้างรถและเทคโนโลยี มารวมกับความหมายของ “สังคมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น”

เขาเลือกที่จะใช้ธีมศิลปะ “หิมะ พระจันทร์ และดอกไม้” ซึ่งเคยวาดมาก่อนในอดีต แต่ในครั้งนี้ เขาเลือกใช้เทคนิค Airbrush โดยเลือกรถ BMW 535i สีเงิน มาเป็นพื้นฐาน และใช้ฝีมือของเขา เลือกสีโทนน้ำเงินเป็นโทนหลักบนรถรอบคัน และใช้เทคนิคญี่ปุ่นแท้อย่าง Kirigane (การตัดเหล็ก) และ Arare (Foil print) ซึ่งต้องใช้เวลามาก เขาตัดชิ้นฟอยล์สีเงิน ทอง และอะลูมิเนียมออกมาและนำมันไปติดบนตัวรถ

รถ BMW 535i คันนี้ ไม่ได้ออกวิ่งที่ไหน เพราะ Kayama บอกไว้แต่แรกแล้วว่า เพราะการใช้เทคนิค Foil Print บนตัวรถ ทำให้ไม่ควรที่จะเอาไปวิ่งใช้งานจริง แต่กลายเป็นผลงานศิลปะจากฝีมือชาวญี่ปุ่นคนแรกที่มีโอกาสรังสรรค์งานให้กับ BMW Art Car

The BMW 535i

  • BMW 5 Series E34 ถูกผลิต ตั้งแต่ปี 1987-1996
  • 535i คือรุ่นที่ทรงพลังที่สุดของ E34 ในยุคที่ยังไม่ได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์มัลติวาล์ว 4 วาล์วต่อสูบ
  • เครื่องยนต์ M30B34 แม้ใช้ชื่อรุ่นว่า 535i แต่ความจุจริงคือ 3.4 ลิตร 211 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 227 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  • BMW ขาย E34 ไปทั้งสิ้น 1.33 ล้านคัน

Art Car No.10 – BMW 730i, 1990

“ผมอยากให้คนมองรถคันนี้แล้วรับความรู้สึก จินตนาการได้ถึงการโผบินไปอย่างอิสระเสรีโดยไม่มีอะไรมาต้านทาน” – César Manrique

ในมุมมองของ Manrique ที่มีต่อรถนั้น เขามองว่ามันคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา มีผลต่อทิวทิศน์ของเมือง มีส่วนเปลี่ยนหน้าตาของโลกในแต่ละยุค เมื่อออกแบบงานศิลป์ให้กับ BMW 730i คันนี้ Manrique ต้องการที่จะ “ผนวกความรู้สึกเกี่ยวกับความเร็ว และแอโร่ไดนามิกส์ กับแนวคิดเรื่องความสวยงาม ทั้งหมดนี้ รวมให้อยู่ภายในรถคันเดียว”

ดังนั้นเราจึงเห็นการใช้โทนสีที่ฉูดฉาด และเส้นที่โค้งไปมาบนตัวถัง แต่รับกับเส้นดั้งเดิมบนพื้นผิมของตัวรถ ทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับการโผบินอย่างมีอิสระ และการเคลื่อนไหวที่อ่อนช้อยงดงาม

César Manrique ถือสัญชาติสเปน เกิดในปี 1919 ที่เมือง Lanzerote ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะ Canary ห่างจากชายฝั่งแอฟริกาในมหาสมุทรแอตแลนติกไป 125 กิโลเมตร ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย เขาเข้าร่วมเป็นทหารพลปืนใหญ่ในกองรบของนายพล Franco ในสงครามกลางเมืองสเปน ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นก็ย้ายไปอยู่เมือง Madrid ในปี 1945 และได้รับทุนเรียนที่สถาบัน Art School of San Fernando

เขาเริ่มมีชื่อเสียงในยุค 60s จากภาพเขียนที่จัดแสดงที่ Venice ซึ่งผสานเอาความเป็นธรรมชาติและศิลปะแบบโรมันเข้าด้วยกัน ใช้โทนสีสดใสกับสีมืดเข้ากันได้อย่างลงตัว

หลังจากสร้างงาน BMW Art Car 730i ได้เพียง 2 ปี Manrique ก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เสียชีวิตลงในปี 1992 ด้วยวัย 72 ปี

รถ BMW 730i ของ Manrique นี้ มีไว้เพื่อการจัดแสดงเท่านั้น มันไม่เคยถูกนำออกวิ่งบนถนนแต่อย่างใด

The BMW 730i

  • BMW 7 Series E32 เป็น BMW รุ่นแรกที่ใช้ไฟท้ายแบบ L-Shape ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก
  • กระจังหน้าของ E32 มีสองขนาด ไตคู่เล็ก ใช้สำหรับรถ 6 สูบ ไตคู่ใหญ่ มีในรุ่น V8 และ V12 แต่ทั้งนี้ รถ V8 และ V12 สามารถสั่งออพชั่นขอไตคู่แบบเล็กได้
  • รถคันของ Manrique เป็นรุ่น 730i ซึ่งใช้เครื่องยนต์ที่มีพลังน้อยที่สุด
  • เครื่องยนต์แบบ M30B30 ความจุ 3.0 ลิตร 12 วาล์ว 188 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 222 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Art Car No. 11 – BMW Z1, 1991

“เป็นทั้งศิลปะบนงานศิลปะ และศิลปะบนเทคโนโลยีวิศวกรรม นั่นล่ะทำให้ผมสนใจ โดยเฉพาะเมื่อรถนั้นเป็นสิ่งที่แสดงศิลปะได้ในแบบ 3 มิติ” – A.R. Penck

A.R. Penck เกิดที่เมือง Dresden เยอรมนีในปี 1939 ชื่อตอนเกิดของเขาคือ Ralf Winkler ในช่วงวัยรุ่น เขาได้เรียนรู้วิชาการวาดภาพจาก Jurgen Bottcher และร่วมกันตั้งกลุ่มศิลปะแนวใหม่ชื่อ Erste Phalanx Nedserd (Nedserd คือชื่อเมือง Dresden สะกดกลับหลัง) ทว่าสมาชิกกลุ่มนี้มีชีวิตอยู่ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องการค้นหาศิลปะแบบ Extreme จึงไม่ยอมเข้าเรียนจากสถาบันใด และแย่ไปกว่านั้นคือ สมาคมศิลปินแห่งเยอรมันตะวันออกก็ไม่ยอมรับพวกเขาเช่นเดียวกัน

ในวัย 20 ต้นๆ A.R. Penck ต้องรับจ้างวาดภาพสื่อประชาสัมพันธ์ ส่งหนังสือพิมพ์ ทำอาชีพรับจ้างเพียงเพื่อเลี้ยงชีพให้รอดไปวันๆ เขาพยายามสอบเข้าสถาบันศิลปะในกรุง Berlin แต่ก็ไม่สำเร็จ บางช่วงเขาก็ไปรับจ้างเล่นหนังเป็นตัวประกอบ ในภาพยนตร์ที่ Jurgen Bottcher เป็นผู้กำกับ ในระหว่างนั้นเอง เขาก็มีความสนใจในงานของ Picasso, Rembrandt และศึกษารูปภาพวาดจากในถ้ำยุคโบราณไปด้วย

ต้องรอจนถึงปี 1980 เมื่อเขาตัดสินใจลี้ภัยในเยอรมันตะวันตก เนื่องจากมีกรณีพิพาทกับรัฐบาลเยอรมันตะวันออกและหมดหนทางต่อยอดให้ชีวิต แต่หลังจากย้ายมา ชีวิตของเขาก็รุ่งเรืองขึ้น งานของเขาได้รับการยอมรับ และได้รับรางวัลจากมูลนิธิ Goethe และที่อื่นๆอีกมาก เขายังใช้เวลาว่างทำงานด้านดนตรี เป็นมือกลองตัวยงของวง Jazz ชื่อ Triple Trip Touch

เมื่อตกลงรับงานลงสี BMW Z1 เขามองว่ารถคันนี้ มีความเป็นศิลปะอยู่บนตัวมันอยู่แล้ว มันสะท้อนทั้งความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของนักออกแบบและวิศวกร ยิ่งเขาศึกษา Z1 ลึกลงไป ก็รู้สึกหลงใหลมันมากขึ้น ดังนั้นเขาจึงพยายามปรับวิธีการลงสีของตัวเองให้เหมาะกับรถมากที่สุด แต่เป็นคำว่าเหมาะในเชิง “Extreme” ตามนิสัยของเขา

Z1 เป็นตัวแทนแห่งเทคโนโลยีงั้นหรือ? ได้เลย! เขานำเอาภาพวาดของมนุษย์ถ้ำยุคโบราณมาลงบนรถคันนี้ ซึ่งอาจฟังดูเหมือนง่าย แต่ที่จริง A.R. Penck แฝงความหมายของศิลปินเอาไว้ในทุกรูป ทุกตัวอักษรบน Z1 คันนี้ เปรียบเสมือนรหัสที่บางคนเท่านั้นจะแปลออก

เช่นเดียวกับรถ Art Car อีกหลายคัน Z1 ของ A.R. Penck เกิดมาเพื่อเหตุผลทางด้านศิลปะโดยเฉพาะ มันถูกนำไปจัดแสดงหลายที่ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ถูกนำมาวิ่งจริงบนท้องถนน

The BMW Z1

  • Z1 ใช้บอดี้ไฟเบอร์กลาสที่สามารถถอดเปลือกนอกรถเปลี่ยนชิ้นใหม่ได้ถ้าเจ้าของอยากเปลี่ยนสีรถเล่น
  • แต่ใช้เวลาหลายชั่วโมง เลยไม่ค่อยมีใครทำ
  • ประตูรถสามารถเลื่อนลงหายต๋อมไปในบอดี้ได้ กระจกเลื่อนตามลงโดยอัตโนมัติเมื่อเปิดประตู
  • โครงสร้างของรถและช่วงล่างหน้า รวมถึงเครื่องยนต์ นำมาจาก BMW 325i E30
  • ช่วงล่างหลังเป็นแบบ Z-link พัฒนาขึ้นมาสำหรับ Z1 เป็นกรณีพิเศษ และมีการประยุกต์ไปใช้ต่อใน E36
  • เครื่องยนต์ M20B25 ขนาด 2.5 ลิตร 170 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 225 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Art Car No.12 – BMW 525i, 1991

“ศิลปะแบบ Ndebele นั้นมีความสุภาพเป็นทางการ แต่ก็ดูมีพลัง ทั้งสองอย่างนี้ควบคู่ไปกับวิธีแสดงออกที่เป็นธรรมชาติ ดิฉันตัดสินใจเพิ่มความรู้สึกที่สื่อถึงการเคลื่อนไหว และสื่อสารโดยผ่านรถคันนี้”- Esther Mahlangu

Esther Nikwambi Mahlangu นับเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ได้รับเกียรติเชิญมาวาดงานลงบนรถ BMW Art Car เธอเกิดที่เมือง Middelburg ชุมชนกสิกรรม/อุตสาหกรรมในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1935 โดยเป็นสมาชิกของชนเผ่า Ndebele ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เธอได้เรียนรู้ศิลปะจากแม่และคุณยาย ผ่านการทาสีบ้าน เพราะในประเพณีของเผ่า Ndebele ตอนใต้นั้น ผู้หญิงจะต้องทาสีภายนอกของบ้านรวมถึงกำแพง และจากจุดนั้น เธอเริ่มศึกษาวิธีการวาดภาพแบบต่างๆตามที่แม่เป็นผู้สอนให้

Esther เป็นที่รู้จักในวงแคบๆ จนกระทั่งอายุ 46 ปี เธอไปทำงานที่พิพิธภัณฑ์ Botshabelo ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อนำเสนอศิลปะของชาว Ndebele ต่อชาวโลก ในปี 1989 งานของเธอจึงเริ่มเป็นที่สนใจในระดับสากล เมื่อได้มีโอกาสไปจัดแสดงที่งาน Magicians of The World ที่ยุโรป ผู้บริหาร BMW ได้เห็นวิธีการใช้ศิลปะชนเผ่า สีสันที่สวยงามบวกกับรูปทรงเรขาคณิต จึงสนใจและส่งตัวแทนไปทาบทามให้เธอมาแสดงฝีมือลงบนรถ BMW

Esther บอกว่า “ศิลปะของดิฉัน ปรับรูปแบบมาจากลวดลายที่ชนเผาของเราใช้เวลาตกแต่งภายนอกของบ้าน” แต่แน่นอนว่าเธอเองก็เหมือนศิลปินทุกคนที่พยายามใช้ศิลปะแนวที่ตนเองถนัดในการสะท้อนความคิดของท้องถิ่น และในขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์รถยนต์ของ BMW ในฐานะจ้าวแห่งเทคโนโลยียานยนต์

เพื่อให้ผลงานออกมาไร้ที่ติ Esther ทุ่มเทกับงานของเธอมาก เธอขอให้เจ้าหน้าที่ BMW ช่วยนำรถคันหนึ่งมาให้เธอลองวาดศิลปะ Ndebele ลงบนประตูเพื่อเป็นการซ้อม และพิสูจน์ว่าสิ่งที่เธอคิดไว้ในหัวนั้น จะต้องดูดีจริงเมื่อมาอยู่บนรถ หลังจากนั้น เธอก็ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์เต็มกับ BMW 525i คันนี้ และสิ่งที่ปรากฏชัดเมื่องานเสร็จ คือความสวยงามของศิลปะชนเผ่า ในฐานะตัวแทนแห่งสตรีชาวแอฟริกันผู้ยึดมั่นในการส่งเสริมความงามจากท้องถิ่นตนเอง ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก

แม้ว่า 525i คันนี้ จะไม่ใช่รถแข่ง แน่นอนว่าไม่ได้ถูกใช้วิ่งบนถนนหรือสนามไหน แต่ BMW ก็ช่วยสานต่อเจตนาของเธอในการเผยแพร่ศิลปะ Ndebele ดังนั้น BMW Art Car หมายเลข 12 จึงถูกนำไปจัดแสดงหลายต่อหลายที่ ทั้งที่ Nation Museum of Women of Arts ที่กรุง Washington D.C. รวมถึงที่ Britishi Museum ในกรุง London ต่อมาในปี 2016 ทาง BMW ขอให้เธอวาดลวดลายพิเศษลงในลายไม้ของ BMW 7 Series เพื่อไปแสดงที่งาน Frieze Art Fair

ปัจจุบัน Esther อายุ 84 ปี เธอได้เป็นแรงผลักดันสำคัญของศิลปะชนเผ่าแอฟริกัน ตั้งสถาบันสอนศิลปะ และช่วยงานการกุศล เช่นวาดรูปลงบนขวดว็อดก้า Belvedere Special Edition ซึ่งทางผู้ผลิตจะหักกำไร 50% มาบริจาคช่วยเหลือผู้ติด HIV ในแอฟริกา

The BMW 525i

  • BMW Art Car ของ Esther เป็นเวอร์ชั่นอัปเดตปี 1990
  • เครื่องยนต์ M20 SOHC ถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ใหม่แบบ M50 ซึ่งเป็นเครื่อง DOHC 4 วาล์วต่อสูบสมัยใหม่
  • ความจุใกล้เคียงเดิม 2.5 ลิตร แต่แรงม้าเพิ่มจาก 170 เป็น 192 แรงม้า
  • ในไทย ไม่มีการประกอบ 525i M20 ขาย (มีแต่ 520i, 520iS และ S5) ส่วน 525i เครื่อง M50 2.5 ลิตร จะมีตัวเลข 24V ติดท้ายรถ
  • ปี 1992 เดือนกันยายน BMW เพิ่มระบบแปรผันองศาเพลาลูกเบี้ยว VANOS

Art Car No.13- 3 Series Touring Racer, 1992

“ผมสร้างทั้งภาพและโลก ทุกอย่างบนรถคันนี้ถ้ามองใกล้ๆ จะเห็นเป็นใบหน้า ใบหน้าของโฟกัส..โฟกัสของชีวิตและโลกใบนี้” – Sandro Chia

Sandro Chia เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1946 ในเมือง Florence ประเทศอิตาลี การได้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและเงียบสงบ ก่อให้เกิดสมาธิและแรงใจที่ทำให้เขาสนใจเกี่ยวกับเรื่องศิลปะ เขาเข้าเรียนที่สถาบัน Istituto d’Arte di Firenze ตามมาด้วย Accademia di Belle Arti di Firenze จากนั้นก็ออกเดินทางไกลไปศึกษาศิลปะ จนถึงประเทศตุรกีและอินเดีย

ในยุค 70s ผลงานของเขา เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง มีการนำไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะสำคัญ Sandro กับพรรคพวกได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มศิลปะ Neo-expressionist แห่งอิตาลี ซึ่งมุ่งเน้นงานศิลปะแนว Transavanguardia และในหลายครั้ง ก็จะผสานเอาอิทธิพลทางความคิดที่ได้มาจากการศึกษางานของ Carra, de Chirico และ Picasso เข้าไปด้วย

Sandro Chia ให้สัมภาษณ์ว่า “ครั้งแรกที่ผมเห็นรถแข่งคันนี้น่ะ มันเหมือนมีเสียงเรียกร้องมาจากรถว่า วาดข้าสิ! มาบรรเลงฝีมือคุณบนตัวข้า!”

ดังนั้น เขาจึงตอบสนองต่อคำขอของรถโดยสีสีสันมากมายหลายแบบ ใช้รูปใบหน้าคนจำนวนมากมาผสมกัน วาดไปเรื่อยๆจนในที่สุดก็เต็มพื้นที่ “ในสังคมเรานั้น รถ คือสิ่งที่จุดไฟปรารถนาให้คนเป็นจำนวนมาก มันคือจุดรวมความสนใจ ผู้คนมองมัน และสายเส้นที่ผมวาดลงบนรถคันนี้ ก็คือการสะท้อนเงาของคนที่จ้องมองมันนั่นเอง”

BMW คันนี้ ไม่ใช่รถคันแรกที่เขาวาดรูปลงบนตัวถัง ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เขาเคยวาดภาพในลักษณะนี้ลงบนรถรุ่นเก่ามาแล้วหลายต่อหลายคัน

Prototype of a BMW 3 Series Touring racer

  • รถคันนี้ เป็นเวอร์ชั่นต้นแบบของรถแข่ง ที่ไม่ได้นำไปใช้ลงสนามจริง
  • เครื่องยนต์สเป็คพิเศษ จาก M3 รุ่นเก่า เป็นเครื่อง S14
  • ความจุ 2.5 ลิตร ไม่มีเทอร์โบ 370 แรงม้า
  • ความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Art Car No. 14 – BMW 850 CSi, 1995

“เส้นสายของตัวรถนั้นสวยงามอยู่แล้ว ผมก็วาดลวดลายตามเส้นเหล่านั้นไป” – David Hockney

David Hockney เกิดที่เมือง Bradford, West Yorkshire ประเทศอังกฤษในวันที่ 9 กรกฎาคม 1937 เป็นลูกคนที่สี่จากจำนวนทั้งหมดห้าคน เขาเข้าเรียนที่ Bradfor College of Art ซึ่งมีอาจารย์หลายท่านมีชื่อเสียง รวมถึง Frank Lisle หลังจากนั้น ก็ไปศึกษาศิลปะต่อที่สถาบัน Royal College of Art ที่ซึ่งเขาเริ่มจัดแสดงงานศิลปะแนว Pop-art ของตัวเอง และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นให้กับศิลปะแนวนี้ในประเทศอังกฤษ

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อใกล้เรียนจบ ทาง Royal College of Art ยื่นเงื่อนไขว่าเขาต้องทำการสอบวาดเขียน โดยการวาดรูปเหมือนจริงของผู้หญิง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำ David ประท้วงตามแนวทางของศิลปินด้วยการวาดภาพ “Life Painting for a diploma” (ภาพเสมือนวาดเพื่อเอาประกาศณียบัตร) ซึ่งเป็นภาพผู้ชายกล้ามโต แต่พื้นที่บริเวณอวัยวะเพศถูกเว้นเป็นช่องว่างไว้ ทาง Royal College of Art จึงบอกให้เขาไปเขียนเรียงความเพื่อให้เรียนจบ ซึ่ง David ก็ปฏิเสธ ไม่เอาประกาศณียบัตร พร้อมกับกล่าวว่า

“จะเอาประกาศณียบัตรไปทำไม..เวลาคนมาถามหาศิลปินเขาขอดูประกาศณียบัตรกันเหรอ ไม่หรอก เขาจะขอดูภาพเขียนต่างหาก”

“ทาง BMW เอารถโมเดลของรุ่นนี้มาให้ผม ซึ่งผมก็เอามาดูแล้วดูอีกว่าจะทำยังไงกับมันได้บ้าง แล้วผมก็คิดได้ ว่าน่าจะวาดในแบบที่เหมือนกับให้คนภายนอกสามารถมองเห็นได้ว่าข้างใต้เปลือกนอกของรถมันมีอะไรบ้าง” นั่นคือสิ่งที่ David บอก

เขาใช้สีสันและลายเส้นแบบที่ตนเองถนัดในการสร้างภาพให้ดูเหมือนรถทั้งคันถูก X-ray อย่างเช่นบนฝากระโปรง ก็จะวาดเป็นภาพท่อร่วมไอดีของเครื่อง V12 ส่วนฝั่งคนขับก็เห็นเป็นตัวคนขับบนประตู บนเบาะหลังก็มีสุนัข Dachshund ส่วนฝั่งคนนั่ง ก็จะเป็นถนน และภูมิประเทศ วาดในเชิงนามธรรม แทนประสบการณ์ดีๆที่ได้จากการขับรถคันนี้

ปัจจุบัน David ยังมีชีวิตอยู่ดี เช่นเดียวกับ BMW 850 CSi คันที่เขาวาด บางเรื่องที่บางคนอาจจะไม่ทราบก็คือ David เป็นคนที่มีอาการซินเนสทีเซีย (Synesthesia) ซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อบางส่วนของสมองที่ผิดพลาด ทำให้มีการแปลความการสื่อสารข้ามความหมายไปยังสิ่งที่ไม่เกี่ยวกัน เช่น เมื่อเห็นตัวอักษร “กขค” สีดำ คนทั่วไปจะเห็นเป็นสีดำ แต่ชาวซินเนสทีเซีย อาจเห็น ก. เป็นสีแดง ข. เป็นสีไข่ไก่ ค. เป็นสีดำ เป็นต้น เป็นอาการที่ผู้เขียนเองก็เพิ่งจะทราบว่ามีแบบนี้ด้วย

The BMW 850 CSi

  • ฺBMW 850 CSi คือเวอร์ชั่นพิเศษที่แรงที่สุดในบรรดา 8 Series ทั้งหมด
  • เครื่องยนต์ 12 สูบ ปรับจูนเพิ่มจากเครื่อง M70 ใน 850i เพิ่มความจุจาก 5.0 เป็น 5.6 ลิตร เพิ่มพลังจาก 300 เป็น 380 แรงม้า
  • นอกจากนั้นยังปรับอัตราทดพวงมาลัยไวขึ้น 15% ช่วงล่างเตี้ยลงและหนึบขึ้น
  • ความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่ากัน
  • ในโลกนี้ มี 850 CSi เพียง 1,510 คัน ทำให้เครื่องยนต์ S70B56 เป็นเครื่องยนต์ Production ของ BMW ที่มีการผลิตออกมาน้อยที่สุด

และนี่ก็คือเรื่องราวทั้งหมด สำหรับ BMW Art Car ในตอนที่ 2 นี้ สำหรับบทความในตอนต่อไป จะเป็นตอนสุดท้ายสำหรับซีรีส์ Art Car: ศิลปะขับเคลื่อนยานยนต์ เราจะพาไปดู BMW Art Car ในยุคหลังอีก 5 คัน โปรดคอยติดตามชมครับ

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments