BMW Art Cars ศิลปะขับเคลื่อนยานยนต์ (ตอนที่ 1)

แต่ไหนแต่ไรมา รถยนต์ คือสิ่งที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างความเป็นตรรกะ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และอารมณ์ ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใดที่จะประสบความสำเร็จได้ด้วยการยึดถือเพียงด้านใดด้านหนึ่ง นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไม BMW ถึงเป็นรถยนต์ที่ได้รับคำชมเสมอมา มิใช่เพียงด้วยพื้นฐานทางวิศวกรรมที่ล้ำยุค แต่รถทุกคันที่กำเนิดมา มีดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อความผูกพันที่มีต่อรถยนต์ เป็นมากกว่าแค่ยานพาหนะ ก็ย่อมมีคนที่คิดอยากแสดงความเป็นศิลปะออกมาในแนวทางที่แตกต่าง ด้วยเหตุนี้ Hervé Poulain นักแข่งรถชาวฝรั่งเศสที่มีความหลงใหลทั้งความเร็ว และการสะสมรถหายาก จึงอยากนำศิลปะในเชิงวาดเขียน ลงมาอยู่ในรถของตัวเอง Poulain มีเพื่อนเป็นประติมากรผู้มีชื่อเสียง นามว่า Alexander Calder วัย 76 ปี ซึ่งในวันนั้น เขาเป็นตำนานของวงการศิลปะที่ได้สร้างผลงาน Mobile, รูปปั้น และอนุเสาวรีย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสไตล์ที่แสดงถึงพลังงานและการเคลื่อนไหวที่อ่อนช้อย

Alexander ไม่ใช่นักวาดโดยงานหลัก แต่เมื่อ Poulain อธิบายแนวคิดถึงสิ่งที่เขาต้องการสร้าง ทั้งสองก็ตกลงใจร่วมมือกันสร้างสิ่งที่จะกลายเป็นตำนานต่อมาอีกเกือบครึ่งศตวรรษ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ BMW Art Car รถยนต์ที่เปรียบเสมือนผืนผ้าใบ รองรับการถ่ายทอดอารมณ์ความคิดของศิลปิน แล้วแปลออกมาเป็นภาษาแห่งสีสันที่จะไม่มีวันตาย

ในวาระพิเศษที่ทาง BMW Thailand ร่วมกับทาง BMWCar Magazine เตรียมจัดฉลองงาน Bimmermeet ครั้งที่ 4 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และจะมีการนำรถ BMW Art Car ตัวจริงมาจัดแสดงในงานด้วย ทาง Bimmer-TH ของเราจึงขอนำเสนอประวัติโดยสังเขปของ Art Car ทั้ง 19 คัน โดยจะแบ่งนำเสนอเป็น 3 ตอน ตามยุคสมัยของรถ

ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อได้อ่านจบแล้ว คงมีน้อยคนที่จะสามารถตัดสินใจได้ว่าคันไหนสวยที่สุด เพราะแต่ละคันล้วนมีเอกลักษณ์ชวนมองทั้งสิ้น…เชิญติดตามชมได้เลยครับ

Art Car No.1 – BMW 3.0 CSL, 1975

“หากทุกอย่างมันสมบูรณ์แบบไปหมด ก็ไม่มีอะไรเหลือให้เราทำ มันก็ไม่สนุกสิ” – Alexander Calder

BMW 3.0 CSL จัดเป็นหนึ่งในงานชิ้นสุดท้ายของ Alexander ก่อนที่เขาจะหมดลมหายใจ โดยปกติเขาจะชอบทำงานประติมากรรม รูปปั้น หรือโมบาย (โลหะหรือสลิงดัดและตกแต่งด้วยชิ้นส่วนต่างๆออกมาเป็นงานศิลป์) เมื่อ Poulain ติดต่อมาขอให้เขาสร้างงานศิลปะลงบนรถแข่ง 3.0 CSL เขาก็ตอบตกลง แต่เนื่องจากไม่สามารถเอางานปูนปั้น สลิง หรือเหล็กไปติดตั้งบนรถได้ Alexander จึงมองไปที่งานประติมากรรมแบบที่เขาสร้างมาตลอดชีวิต จากนั้นจึงประยุกต์เอาเส้นสายต่างๆ มาเป็นภาพวาดลงบนตัวรถ

สิ่งที่เป็นจุดเด่นของรถคันนี้คือ คุณจะพบแต่โทนสีหลัก (แม่สี) แดง เหลือง น้ำเงิน ขาว ดำ ซึ่งนำมาลงสีวาดเส้นเป็นแนวโค้งมากน้อยสลับกันไปรอบคัน สร้างความรู้สึกให้เหมือนกับรถกำลังวิ่งแหวกสายลมแห่งสีสัน ทั้งๆที่ความจริงมันอาจจอดอยู่นิ่งๆ เช่นเดียวกับงานประติมากรรมทั้งหลายที่ Calder รังสรรค์มาตลอดชีวิต เช่น Troi Disques ที่แคนาดา หรือ Calders’ La Grande ที่รัฐ Michigan

สำหรับประวัติของ Alexander Calder (คนซ้าย) นั้น เขาเกิดที่เมือง Philadelphia ในปี 1898 และอาชิีพแรกในชีวิตของเขาคือวิศวกร แต่ทำไปได้สักพักก็เปลี่ยนแนว หันไปสนใจด้านศิลปะ เป็นการเจริญรอยตามพ่อและปู่ของเขา ซึ่งท่านทั้งสองก็ล้วนแต่เป็นประติมากรงานปั้นฝีมือเลิศ

แต่การที่เกิดในยุคที่อุตสาหกรรมและเครื่องจักรเจริญก้าวหน้า Alexander จึงมีลักษณะของงานที่ผสานการเคลื่อนไหวของจักรกลและยานพาหนะเข้าไปอยู่ในงานปั้นของเขาด้วย แม้ว่าจะสร้างงานชิ้นใหญ่เท่าอนุเสาวรีย์ แต่ผลงานของเขานั้น กลับให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวาในการเคลื่อนไหว จนทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็นประติมากรที่มีชื่อเสียงที่สุดในด้านการคิดค้นศิลปะแนวใหม่ของศตวรรษที่ 20 หลังจากเสกลายศิลป์ลงบนรถ CSL ของ Poulain และสร้างงานชิ้นอื่นอีกเพียงไม่นาน Alexander Calder ก็สิ้นลมอย่างสงบที่ New York ในปี 1976 ด้วยวัย 78 ปี

Poulain นำรถ 3.0 CSL คันนี้ เข้าร่วมแข่งรายการ Le Mans 24 ชั่วโมง โดยมีนักขับ 3 คน คือ Sam Posey จากอเมริกา Jean Guichet จากฝรั่งเศส และตัวเขาเอง ทว่าน่าเสียดายที่รถ 3.0 CSL ประสบปัญหาเพลาขับ ทำให้ต้องออกจากการแข่งขันหลังจากเริ่มต้นไปได้เพียง 7 ชั่วโมง นับเป็นการแข่งครั้งแรก และครั้งสุดท้ายของรถคันนี้

แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในฐานะรถแข่ง แต่เป็นที่จดจำในฐานะศิลปะ เป็น BMW Art Car คันแรกที่นำร่องแนวทางให้กับรถอีก 18 คันที่ตามมา

The BMW 3.0 CSL

  • เป็นรถ BMW E9 รุ่นพิเศษที่เสริมเขี้ยวเล็บเพื่อ Homologate สำหรับการแข่ง European Touring Car
  • สร้างขึ้นมา 1,265 คัน 1 ในนั้นถูกใช้เป็น Art Car คันที่เห็นนี้
  • เครื่องยนต์เดิมเป็นแบบ 6 สูบเรียง 4 วาล์วต่อสูบ 3.2 ลิตร 206 แรงม้า
  • รถแข่งของ Poulain คันนี้ ใช้เครื่องสเป็คแข่งที่ปรับแรงม้าเพิ่มเป็น 480 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 291 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Art Car No.2 – BMW 3.0 CSL, 1976

“ดีไซน์ของผม คือการเอาแบบพิมพ์เขียวมาลงเป็นลายบนตัวรถ” – Frank Stella

Frank Phillip Stella เกิดที่เมือง Malden รัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกาในปี 1936 มีพ่อเป็นสูตินรีแพทย์ และมีแม่เป็นศิลปินซึ่งเรียนจบจากสถาบันแฟชั่นและชื่นชอบการวาดภาพวิว พออายุได้ 14 ปี Frank ก็ไปเรียนที่ Phillips Academy ที่เมือง Andover จากนั้นก็ไปเรียนเอกประวัติศาสตร์ที่ Princeton University ก่อนที่จะพบว่าตัวเองก็ชอบงานศิลปะมากว่า จากนั้นจึงได้มาตั้งสตูดิโอใน New York

เขามีความสนใจในด้าน Transitional Painting และ Black Painting จนกระทั่งเมื่ออายุ 23 ก็จัดนิทรรศการแสดงงานของตัวเองที่ Museum of Modern Art ใน New York ถัดมา ในยุค 60s Frank สนใจงานแบบ Pop Art Colour และสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงหลายชิ้น ซึ่งถูกนำไปจัดแสดงยังสถานที่ต่างๆทั่วโลก

ไม่ว่าจะเคยชอบศิลปะแนวไหนมาบ้าง แต่ในปี 1976 เมื่อเขาได้รับข้อเสนอให้วาดรูปลงบนตัวถังของ 3.0 CSL Frank เล่าว่าเขา “เอาศิลปะแบบที่เคยทำออกจากหัวไปหมด” แล้วก็นั่งพินิจพิจารณาเจ้า 3.0 CSL อยู่นาน เพื่อเป็นการ “คุยกับรถ” แล้วให้สิ่งที่รถบอกเขานั่นล่ะ ที่จะสร้างความรู้สึกด้านบวก บันดาลเป็นอารมณ์ศิลปินโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดความเป็นเลิศทางวิศวกรรมของ BMW คันนี้

เมื่อพูดถึงวิศวกรรมในยุคนั้น แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของจักรกล คือพิมพ์เขียว (Blueprint) เขาจึงวาดเป็นตารางสี่เหลี่ยมขาว/ดำเหมือนกระดาษกราฟขนาดยักษ์ ซึ่งห่อหุ้มตัวรถเอาไว้ทั้งคัน แต่มีเส้นที่ตัดผ่านตามจุดต่างๆเพื่อช่วยไฮไลท์ส่วนเว้าส่วนโค้งของรถให้ดูเด่นขึ้น ผลงานที่ออกมา ก่อให้เกิดกระแสใหม่ในวงการศิลปะขึ้น คือการวาดแบบ 3 มิตินั่นเอง

เมื่อลงสีเสร็จ รถแข่ง 3.0 CSL คันนี้ก็ได้ร่วมในรายการ Le Mans 24 ชั่วโมง ถือเป็นการเปิดตัวรถแข่งมิติใหม่ที่มีสีสันสไตล์แหวกแนวไปจากอดีต ทว่าน่าเสียดายเหลือเกินที่รถแข่ง 3.0 CSL บวกกับงาน Art ทีไร ไปไม่รอดในสนามเสียทุกครั้ง เช่นเดียวกับครั้งนี้ และการแข่ง 500 กิโลเมตรที่ Dijon ในเดือนกันยายน 1976

ส่วน Frank นั้น ปัจจุบันอายุ 83 ปีแล้ว อาศัยอยู่ในแถบ Greenwhich ที่ Manhattan ตอนล่าง และขับรถไปทำงานที่สตูดิโอใน New York ทุกวันจันทร์-ศุกร์

The BMW 3.0 CSL

  • พื้นฐานตัวรถคือ BMW E9 3.0 CSL เหมือน Art Car No. 1
  • ใช้เครื่องยนต์สเป็คแข่ง 3.2 ลิตร 6 สูบเรียง 24 วาล์วเหมือนกัน แต่ปรับแต่งจนมีแรงม้าเพิ่มเป็น 750 แรงม้า
  • ความเร็วสูงสุด 341 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Art Car No. 3 – BMW 320i, 1977

“ผมใช้ความคิดและลงแรงไปกับรถคันนี้ มากสุดเท่าที่ชีวิตผมจะให้ได้” – Roy Lichtenstein

“ความหมายของงานศิลปะบนรถคันนี้ก็คือ..ถนน..มันคือถนนที่รถคันนี้จะวิ่งไป” นี่คือสิ่งที่ Roy Fox Lichtenstein เผยเกี่ยวกับรถคันนี้ “คุณจะเห็นชนบทสองข้างทาง รวมถึงสิ่งต่างๆที่รถคันนี้ต้องวิ่งผ่าน” นอกจากนี้ เอกลักษณ์งานสไตล์ Comic ที่ใช้จุดขนาดใหญ่ (Benday Dots) ก็คือจุดเด่นของ Roy ชนิดที่ใครเห็นปุ๊บ ก็ทราบได้ทันทีว่าเขาเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา

Roy Lichtenstein เกิดที่ New York ในปี 1923 ในวัยเด็กเขามักใช้เวลาไปกับการวัดรูปภาพนักดนตรี Jazz จากนั้นก็เข้ากลุ่ม “Art Students League” และเข้าเรียนสถาบันศิลปะในรัฐ Ohio จนกระทั่งในยุค 50s เขาก็เริ่มสนใจการวาดการ์ตูนแบบเส้นสายสไตล์อเมริกัน และการวาดภาพเพื่อโฆษณา สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาเริ่มหันเข้าหาศิลปะแบบ Pop Art มากขึ้น

ปัญหาทางสุขภาพ เนื่องจากมีโรคภูมิแพ้ตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เขาไม่สามารถทนต่ออากาศหนาวได้ จึงต้องย้ายกลับมา New York เขาสมรสสองครั้ง สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงอย่างภาพ “Whaam!” (ซึ่งเป็นภาพ ไม่ใช่ดูโอ้ยุค 80s) “Look Mickey” และ “Drowning Girl”

หลังจากสร้างเสร็จ รถ Art Car No. 3 ก็ถูกนำไปจัดแสดงที่นิทรรศการ ณ Centre Pompidou ใน Paris ที่สำคัญคือหลังจากนั้น BMW ก็นำไปลงแข่งที่รายการ Le Mans 24 ชั่วโมงในคลาส Group 5 เดือนมิถุนายน 1977 โดยมี Hervé Poulain และ Marcel Mignot จากฝรั่งเศส เป็นผู้ขับ และคราวนี้ รถแข่งหมายเลข 50 สามารถแข่งได้จนจบรายการ คว้าอันดับที่ 9 ใน Overall Rating และจัดเป็นอันดับที่ 1 ภายในคลาสแข่งเดียวกัน

ส่วน Roy Lichtenstein นั้น สร้างผลงานศิลปะ และได้รับรางวัล ปริญญาดุษดีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน ใช้ชีวิตอยู่ใน New York และเดินทางไปทำงานยัง Southampton อยู่บ่อยครั้ง ในช่วงปี 1997 เขาล้มป่วยลงด้วยโรคนิวโมเนีย และเสียชีวิตที่สถาบันการแพทย์ มหาวิทยาลัย New York

The BMW 320i group 5 racing version

  • มีชื่อเล่นในวงการว่า Flying Brick “อิฐถลาลม”
  • ถูกสร้างขึ้นโดยใช้เวลาจากจุดเริ่มต้นเพียงแค่ 12 สัปดาห์ เพื่อให้ทันการแข่ง โดยใช้ 3 Series E21 เป็นพื้นฐาน
  • เครื่องยนต์จากรถแข่ง Formula 2 แบบ 4 สูบเรียง 16 วาล์ว 2.0 ลิตร เทอร์โบ 300 แรงม้า
  • ความเร็วสูงสุด 257 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Art Car No. 4 – BMW M1 Group 4, 1979

“ผมรักรถคันนั้นมาก เมื่องานของผมจบลง มันออกมาแล้วดูเป็นสิ่งที่เหนือกว่าคำว่างานศิลปะเสียอีก” – Andy Warhol

คนที่สามารถทำกระป๋องซุปธรรมดาให้กลายเป็นงานศิลปะ หรือสั่งปิดห้างทั้งห้างเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้อนุชนรุ่นหลังเป็นคนแบบไหน? ก็อาจจะเป็นคนที่มองว่าเทคโนโลยีกับความคิดสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะ เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก และบุคคลผู้นี้ก็คือ Andy Warhol หรือชื่อเดิมตอนกำเนิดคือ Andrew Warhola

เขาเป็นคนที่จริงจังกับงานมาก อย่างในกรณีของ Art Car หลายคันที่ผ่านมา ศิลปินจะเป็นผู้สร้างลวดลายลงบนรถโมเดล แล้วมีผู้ช่วยเหลือในการลงสีบนตัวรถจริง แต่กับ Andy เขาเลือกที่จะลงสีเองบนรถคันจริงทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนจบ

Andy ให้สัมภาษณ์ว่า “ลวดลายที่ผมเลือกนั้น จะสื่อให้เห็นถึงความเร็ว และถ้ารถคันนี้วิ่งผ่านคุณไปเร็วๆ ภาพทั้งหมดบนตัวรถจะเบลอทั้งคัน”

Andy Warhol เกิดในปี 1928 ที่เมือง Pittsburgh สหรัฐอเมริกา เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเรียน ก็เข้ารับการศึกษาจาก Carnegie Institute of Technology ซึ่งทำให้เขาค้นพบเสน่ห์ของการออกแบบและวาดภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้และโฆษณา ภายในปี 1952 เพียง 3 ปีหลังเรียนจบ Andy เก่งกาจเป็นที่ยอมรับจนสามารถจัดนิทรรศการของตัวเองได้

ในปี 1956 เขาได้รับรางวัล Art Director’s Club Award และต่อมา ในปี 1962 ก็สร้างแนวทางใหม่ในการวาดภาพเชิง Pop Art ซึ่งขัดกับแนวทางศิลปะแบบที่เคยมีมาก่อน นอกจากการวาดภาพให้ดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียง ผลงานจิตรกรรมของเขาเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว แม้แต่บนสิ่งที่บางคนอาจจะไม่รู้ เช่น สีสันบนกระป๋องซุป Campbell ในยุค 60s

ทีมแข่งของ BMW ในสมัยนั้น ได้นำรถ M1 Group 4 Art Car ลงแข่งจริงเพียงครั้งเดียวในรายการ Le Mans ปี 1979 รถหมายเลข 76 ของทีม มี Manfred Winkelhock จากเยอรมนี และนักขับหน้าเก่าอย่าง Hervé Poulain และ Marcel Mignot

ในครั้งนี้ รถ M1 Group 4 สามารถแข่งจนจบ ได้คะแนนอยู่อันดับที่ 6 แบบ Overall และได้อันดับที่สองในคลาส

ส่วน Andy Warhol นั้น ในช่วงยุค 70s เป็นช่วงที่ประสบปัญหาด้านการเงิน แต่ไม่กี่ปีต่อมา ความที่สร้างสัมพันธ์อันดีไว้กับศิลปินรุ่นลูกหลายจำนวนมาก พวกเขาจึงให้ความช่วยเหลือในการหางาน Andy ถูกรับเชิญให้วาดภาพให้กับคนดังอีกหลายคน เช่นนักร้องเสียงกระเส่าทรวงอย่าง PRINCE และ Billy Idol แต่ยังไม่ทันไร เขาก็เข้าผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี และเกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติระหว่างพักฟื้น เสียชีวิตในปี 1987 เมื่ออายุแค่ 58 ปี

The BMW M1 group 4 racing version

  • บอดี้รถเป็นไฟเบอร์กลาส สร้างที่อิตาลีโดย Italina Resina ในเมือง Modena
  • โครงสร้างหลักของรถ สร้างขึ้นโดยบริษัท Marchesi ที่เมืองเดียวกัน
  • ประกอบขึ้นโครงขั้นแรกที่เมือง Turin ก่อนส่งไปเก็บงานขั้นสุดท้ายที่เยอรมนี
  • รุ่นแข่ง ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง M88 6 ลิ้น 24 วาล์ว 3.5 ลิตร 470 แรงม้า
  • ความเร็วสูงสุด 307 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Art Car No.5 – BMW 635 CSi, 1982

“ผมไม่ได้ต้องการทำให้รถมันสวยขึ้น เพราะมันมีความงามด้วยความเป็นตัวของมันเอง” – Ernst Fuchs

BMW 635 CSi คันนี้ คือรถ BMW Art Car คันแรกที่ใช้รถแบบธรรมดาสำหรับจำหน่ายคนทั่วไป ไม่ใช่รถแข่ง เพราะ Ernst Fuchs มีจุดประสงค์ใช้รถคันนี้เพื่องานศิลปะเพียงอย่างเดียว เขาถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นคำได้ว่า “ผมเรียกรถคันนี้..เป็นจิ้งจอกไฟนักล่า ที่กำลังไล่ล่ากระต่าย ..คุณนึกภาพตามว่าไอ้กระต่ายตัวนี้ ห้อเต็มเหยียดผ่านเอาโต้บาห์นและรถที่กำลังลุกไหม้”

“แน่นอนว่าในภาพที่คุณเห็น มันคือการถ่ายทอดทั้งความกลัว และความกล้า ไปพร้อมๆกัน มันแฝงอยู่ในทุกเส้นสาย สีสันที่ตัดกัน กระต่ายน้อยกำลังกลัว แต่เพราะมันกล้ากระโดดข้ามไฟ นั่นก็ต้องอาศัยความกล้า ไฟตรงนั้น ที่จริงก็คือเปลวไฟแห่งความรัก ขจัดปัดเป่าความกลัวได้ทุกครั้ง”

Ernst Fuchs อาจจะดู “อิน” กับงานศิลปะมากกว่าศิลปะคนอื่น ก็อย่าแปลกใจ เพราะนี่คือคนที่เกิดในปี 1930 แล้วพออายุ 16 ปี ก็ร่วมกับเพื่อนศิลปินเยาวชนคนอื่นๆ ก่อตั้งโรงเรียน “Vienna School of Fantastic Realism” และยังมีความเป็นอัจฉริยะด้านศิลปะรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน วาด ปั้น สลัก ทำได้หมด เขาชอบแต่งเพลง และยังสามารถร้องเพลงได้ไพเราะ ซึ่งตั้งแต่ปี 1974 เป็นต้นมา เขาทุ่มเทแรงไปกับการสร้างละครเพลง โดยออกแบบฉากและเครื่องแต่งกายนักแสดงเองทั้งหมด

ยิ่ง Ernst ดำดิ่งลงไปในโลกแห่งดนตรีและการแสดงมากเท่าไหร่ งานศิลปะวาดเขียนของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ เริ่มใช้โทนสีที่สด ฉูดฉาดขึ้น ดังที่เห็นได้จากหมาป่าไฟและกระต่ายกระโดดข้ามกองเพลิงในรถคันนี้

Ernst Fuchs อยู่ต่อมาอีกจนถึงปี 2015 ซึ่งเขาเสียชีวิตลงตามวัย 85 ปี ส่วนรถ Art Car คันนี้ ยังอยู่รอดปลอดภัย เพราะทางทีมดูแลรักษารถ เลือกทำตามเจตนารมย์ที่เขาวางไว้ 635 CSi คันนี้จึงไม่เคยถูกนำออกวิ่งบนถนนหลวงหรือสนามแข่งที่ใดเลยแม้แต่น้อย

The BMW 635 CSi (E24)

  • เป็นรถคูเป้ GT ที่ผลิตมาเพื่อแทน BMW E9 ตั้งแต่ปี 1976
  • ผู้ออกแบบเคยเสนอให้ทำหลังคาสูงเพื่อให้เข้า/ออกง่าย แต่ Bob Lutz ผู้บริหารขณะนั้นไม่รับข้อเสนอนี้
  • เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง M30B34 3.4 ลิตร 12 วาล์ว 218 แรงม้า
  • ความเร็วสูงสุด 229 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Art Car No. 6 – BMW 635 CSi, 1986

“ผมฝันว่า..ถ้าเรามีพิพิธภัณฑ์ที่มันเคลื่อนที่ได้ ก็เป็นไอเดียที่ดี และรถคันนี้ คือสิ่งที่ทำให้ผมบรรลุจุดมุ่งหมาย” – Robert Rauschenberg

งานของ Robert Rauschenberg มีจุดต่างจาก Art Car คันอื่นๆตรงที่ เขานำงานของศิลปินท่านอื่นมาเป็นส่วนประกอบ โดยการถ่ายรูปงานชิ้นนั้นลงฟิล์มสไลด์แล้วฉายผ่านโปรเจคเตอร์ลงไปบนตัวรถ จากนั้นจึงวาดเส้นลงสีตามลงไป แล้วเสริมด้วยภาพวาดหรือเส้นสายส่วนอื่นที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “ศิลปะ และชีวิต” เทคนิคนี้ รวมแล้วเรียกว่า Combine Painting ซึ่งเป็นงานประเภทที่ Robert มีชื่อเสียงมากที่สุด

ตัวอย่างเช่นที่ด้านซ้ายรถ จะมีภาพที่ชื่อ “Portrait of a Young Man” ที่วาดโดย Agnolo Bronzino ศิลปินชาวอิตาลีจากศตวรรษที่ 16 และด้านขวา มีภาพวาดของ Jean Auguste Dominique Ingres ศิลปินแขนง Neo-classic จากศตวรรษที่ 19

นอกจากนี้ Rauschenberg ยังใส่ความเป็นตัวของตัวเองโดยมุ่งไปที่เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและรถยนต์ สื่อโดยใช้ต้นไม้ใบหญ้าริมบึง ดุมล้อที่เห็น ก็ใช้เทคนิคถ่ายภาพฉายสไลด์แล้ววาด โดยเป็นภาพถ่ายของจานกระเบื้องโบราณ ทั้งหมดนี้คือวิธีการเล่าเรื่องระหว่างศิลปะ รถยนต์ และสิ่งแวดล้อม โดยภาษาของเขาเอง

Robert Rauschenberg มีชื่อเต็มว่า Milton Ernest Rauschenberg เขาเกิดที่เมือง Port Arthur รัฐ Texas สหรัฐอเมริกาในปี 1925 พ่อมีเชื้อสายเยอรมัน แม่มีเชื้อสายอังกฤษ เมื่อเกิดมาใหม่ๆ หนูน้อย Robert เป็นโรคที่เรียกว่า Dyslexic (เป็นคนปกติทุกอย่าง แต่มีปัญหาในการอ่านหรือสะกดคำ) แต่ก็สามารถเข้าเรียนได้ และเมื่ออายุเพียง 16 ปี ก็สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย Texas เรียนสาขาเภสัชกรรม ก่อนไปรับใช้ชาติเป็นทหารประจำกองจิตแพทย์ที่ California

ชีวิตของเขาเริ่มเข้าสู่ทางศิลปะ เมื่อได้ตัดสินใจไปเรียนที่ Black Mountain College ที่รัฐ North Carolina ที่ซึ่งเขาได้พบกับ Josef Albers บิดาผู้ก่อตั้งสถาบันศิลปะ Bauhaus ซึ่งมีศักดิ์เป็นทั้งพี่เลี้ยงและครูของเขา แต่นานวันไป Robert ก็พบว่าแนวทางการทำศิลปะของเขาต่างจากอาจารย์โดยสิ้นเชิง อาจารย์สอนอะไรมา เขาก็พบว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามกับปรัชญาของอาจารย์นั้นน่าสนใจกว่า เขาจึงย้ายไปเรียนสถาบันอื่นและพบกับ John Cage ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานเพลงและการละคร ดังนั้นเมื่ออายุมากเข้า Robert มีจุดที่เหมือน Ernst Fuchs อยู่ชัดเจนคือ เป็นศิลปินที่ทำได้หมดทั้งงานวาด งานปั้น งานละครเพลง และยังสามารถออกแบบฉากละครเวทีและเครื่องแต่งกายได้เหมือนกันอีกด้วย

Robert เสียชีวิตในปี 2008 ที่หมู่เกาะนอกชายฝั่งรัฐ Florida เขามีอาการผิดปกติทางหัวใจและตัดสินใจขอให้แพทย์ปลดเครื่องช่วยหายใจออกเพื่อสิ้นใจอย่างสงบ

และเช่นเดียวกันกับรถของ Ernst Fuchs รถ Art Car ของ Robert ทำมาเพื่อโชว์อย่างเดียว ไม่เคยเข้าร่วมการแข่งขันหรือวิ่งบนถนน

The BMW 635 CSi

  • หัวหน้าทีมออกแบบ 6 Series คือ Paul Bracq เคยออกแบบ Mercedes-Benz ดังๆหลายรุ่นในยุค 60s-70s
  • BMW ใช้ตัวถัง E24 ทำตลาดอยู่นาน 14 ปี ก่อนให้ 8 Series มาทำหน้าที่แทน
  • เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง M30B34 3.4 ลิตร 12 วาล์ว แรงม้าลดลงจากคันของ Ernst Fuchs เหลือ 211 แรงม้า ความเร็วสูงสุดเหลือ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สำหรับบทความตอนที่ 1 นี้ เราได้พาคุณไปรู้จัก BMW Art Car ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ไปจนถึงยุคคลาสสิคที่มาถึงตัวถัง E24 ในตอนที่ 2 ที่จะตามมาไม่นานหลังจากนี้ เราจะไปชม Art Car ที่เหลือจากยุค 80s และ 90s ไม่ว่าจะเป็น E30, E34 หรือโรดสเตอร์ Z1 ใครก็ตามที่ชื่นชอบหรือเป็นเจ้าของรถรุ่นนี้ ติดตามอ่านกันได้ครับ

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments