วิวัฒนาการกระจังไตคู่: 87 ปีเอกลักษณ์หรูคู่ BMW

ถามว่า..สิ่งใดคือเอกลักษณ์สำคัญที่สุดของรถยนต์จาก BMW คำตอบที่ได้ก็คงหนีไม่พ้น “Kidney grille” หรือกระจังหน้าทรงไตคู่นั่นเอง แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า BMW เริ่มใช้กระจังหน้าแบบนี้ตั้งแต่ปี 1933 หรือประมาณ 6 ปีหลังจากพวกเขาเริ่มผลิตรถคันแรก จวบจนวันนี้ 87 ปีผ่านไป เอกลักษณ์นี้ก็ยังคงอยู่ ทว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความล้ำยุค ดึงดูดสายตาผู้คนทุกยุคทุกสมัย

ในวันนี้ Bimmer-TH จะชวนท่านผู้อ่าน มาไล่เรียงดูกระจังหน้าระดับตำนานของ BMW นับตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต เชิญติดตามชมได้เลย

BMW 303 ปฐมบทแห่งตำนานไตคู่ (1933)

ถ้าคุณคิดว่า 7 Series รุ่นล่าสุดคือรถ BMW ที่มีอัตราส่วนขนาดกระจังหน้าโตที่สุด..แค่คิดก็ผิดแล้ว เพราะต้นฉบับตำนานดูจะให้ความสำคัญกับพื้นที่กระจังหน้ามากกว่าเสียด้วยซ้ำไป นี่คือ BMW 303 ซึ่งมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของ BMW ในสองแง่ อย่างแรก มันคือรถ BMW รุ่นแรงที่ใช้เครื่องยนต์แบบหกสูบ แต่ที่สำคัญกว่านั้น 303 คือรถรุ่นแรกที่ได้รับกระจังหน้าแบบไตคู่

แม้ว่าลักษณะทางการออกแบบนี้จะไม่แปลกสำหรับยุคนั้น แต่ด้วยการขัดเกลาส่วนบนและล่างของกระจังหน้าให้มีความโค้งมน วางตำแหน่งโลโก้ BMW ไว้ด้านบน ทำให้ดีไซน์นี้เป็นที่จดจำของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว และนับจากรุ่น 303 ไปจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง กระจังไตคู่นี้จะมีขนาดเล็กแคบลง แต่ออกแบบให้ดูหรูขึ้น อย่างเช่นใน BMW 327/328 แต่ไม่ว่าจะปรับรูปลักษณ์อย่างไร ทรวดทรงหลักของกระจังหน้าจะดำเนินรอยตามแบบของ 303 ทุกรุ่น

BMW 503 กับสไตล์คลาสสิคที่ปราดเปรียว (1956)

หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงและ BMW ฟื้นตัวได้สำเร็จ พวกเขามุ่งหน้าผลิตยานยนต์ระดับหรูหราราคาแพงอย่าง BMW 501/502 ตามมาด้วย 503 อย่างที่เห็นในภาพนี้ 503 เป็นรถสไตล์สปอร์ต มีทั้งรุ่นหลังคาแข็งและเปิดประทุน ภาพลักษณ์ของรถรุ่นนี้ จำเป็นต้องดูมีความคล่องแคล่วปราดเปรียว ดีไซน์เนอร์ของ BMW จึงลดขนาดของกระจังหน้าลง แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องพื้นที่สำหรับการระบายความร้อน เพราะ BMW ใช้ลูกเล่นในการออกแบบ เสริมตะแกรงใต้ชุดไฟหน้าเข้าไปแทน ซึ่งเอกลักษณ์ใหม่นี้ก็ใช้มาตั้งแต่รุ่น 501/502 แล้ว

ในหกปีให้หลัง BMW ก็เอาดีไซน์กระจังหน้าเล็กบวกช่องลมขนาบข้างนี้ ไปประยุกต์ใช้กับ 2000CS และ 3200CS จนได้รถคูเป้ที่เมื่อมองจากด้านหน้าแล้วดูกว้างแบนแต่กำยำโดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์เดิม

BMW 507 เมื่อไตคู่ต้องอยู่ในรถสปอร์ต (1956)

แม้จะเปิดตัวในช่วงเวลาเดียวกันกับ 503 เจ้า 507 นี้ เป็นโรดสเตอร์ทรงเพรียวที่มีรูปทรงล้ำยุคกว่ามาก ซึ่งนอกเหนือจากสมรรถนะที่ได้จากเครื่องยนต์ V8 แล้ว ก็มีเรื่องของการออกแบบนี่เองที่ BMW พยายามพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าพวกเขาคือผู้สร้างรถสปอร์ตโรดสเตอร์ที่เหนือกว่าบริษัทอื่น อย่างไรก็ตาม ทีมออกแบบพบว่าเมื่อหน้ารถมีลักษณะแบนเตี้ย การใช้เอกลักษณ์ไตคู่ทรงแนวตั้งแบบใน 503 นั้น ทำให้ยากต่อการออกแบบรถให้ดูทันสมัย

ทางแก้ไขก็คือ ขยายขนาดไตคู่ให้กว้างเต็มกระจังหน้าแล้วเอาช่องระบายอากาศด้านข้างออกไปเลย ทำให้ 507 เป็น BMW รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้กระจังหน้าไตคู่แบบแนวนอน ซึ่งเป็นผลงานจากความคิดของ Count Albrecht von Goertz ผู้ให้กำเนิดรถคันนี้ 507 ถูกผลิตออกมาเพียง 252 คัน และหลังจากนั้นมา ก็ไม่มี BMW ที่ผลิตขายจริงรุ่นใดอีกเลยที่ใช้กระจังหน้าแนวนอนขนาดใหญ่จนถึงยุค 1990s

BMW Neue Klasse สู่ยุคกระจังล้อมไฟหน้า ทับด้วยไตคู่ (1961)

Neue Klasse หรือ “New Class” คือรถที่สร้างปรากฏการณ์ด้านยอดขาย พลิกฟื้น BMW จากสภาพขาดทุนเตรียมยุบบริษัทจนกลายมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีรายได้สูง นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นรถที่ช่วยกำหนดแนวทางการผลิตรถของ BMW ในยุคใหม่ ลดเพดานราคาจากเดิมที่มีแต่มหาเศรษฐีที่ซื้อได้ กลายเป็นว่าคนทั่วไปที่มีฐานะดีระดับหนึ่งก็สามารถซื้อหามาใช้ได้เช่นเดียวกัน สมรรถนะการขับขี่และความปลอดภัยก็สูงขึ้นกว่าเดิม เป็นลูกผสมระหว่างรถสี่ประตูสำหรับการใช้งานที่มีนิสัยแบบรถสปอร์ต สร้างความเป็น Ultimate Driving Machine ที่เป็นภาพลักษณ์จดจำของค่ายมาจนทุกวันนี้

รถตระกูล New Class ใช้พื้นฐานงานดีไซน์จาก 501/502 แต่เนื่องจากตัวรถที่มีขนาดเล็ก หากใช้การออกแบบในลักษณะเดียวกันเป๊ะ ตัวรถจะขาดความดุดัน วิธีแก้ของทีมออกแบบก็คือ ออกแบบกระจังหน้าใหม่ โตจนกินพื้นที่ล้อมไฟหน้า แล้วจึงออกแบบเฉพาะส่วนกลางให้เป็นไตคู่ ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์เรื่องหน้าตาที่ดูสปอร์ตแล้ว ยังให้ผลดีในการระบายความร้อนอีกด้วย ลักษณะการออกแบบกระจังหน้าแบบล้อมดวงไฟเช่นนี้ ได้ถูกนำไปใช้ในรถรุ่นอื่นๆที่ตามมา ทั้งตระกูล 02 Series ที่เป็นรถขนาดเล็ก 2500/2800 ที่เป็นซาลูนขนาดใหญ่ ไปจนถึงรถคูเป้อย่าง 3.0 CS/CSL

BMW M1 รถนั้น Exotic แต่จะทำกระจังหน้าอย่างไรให้ดู Exotic ตาม (1978)

M1 เป็นรถที่เกิดจากความต้องการที่จะลงแข่งขันในคลาส Group-5 Racing ของ Jochen Neerpasch ซึ่งเป็นผู้บริหาร BMW Motorsport Division ในขณะนั้น ในช่วงเริ่มต้นโครงการ BMW ได้จ้างวานให้ Lamborghini ช่วยพัฒนารถ แต่ในเวลาต่อมาค่ายกระทิงก็จำต้องทิ้งงานกลางคันเนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม M1 คือสิ่งที่ใกล้เคียงคำว่าซูเปอร์คาร์มากที่สุดที่ BMW สร้างในศตวรรษที่ 20

M1 เป็นรถเครื่องวางกลางลำ และอันที่จริงตั้งแต่เปิดบริษัทมา BMW เคยสร้างรถเครื่องวางกลางลำขายจริงแค่สองรุ่น คือ M1 และ i8 โดยธรรมชาติของรถแบบนี้มักมีส่วนหน้าที่เรียวแหลม ทำให้ทีมออกแบบต้องเลือกว่าจะจัดการอย่างไรกับกระจังหน้า ผลที่ได้ก็คือดีไซน์ไตคู่ขนาบข้างด้วยช่องระบายอากาศ แต่เพื่อความเพรียวลม ขนาดของไตคู่จึงถูกหดจนนับได้ว่าเล็กที่สุดเท่าที่ BMW เคยออกแบบมา แต่ผู้บริหารก็อนุมัติ และเมื่อรถเผยโฉมสู่สายตาประชาชน M1 ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน BMW ที่สวยที่สุดตลอดกาล

BMW 3 Series E36 ไตใหญ่ ทำยังไงให้สวยลงตัว (1990)

ก่อนหน้านี้รถของ BMW ส่วนมาก จะมีด้านหน้าของรถ (กระจังหน้าและไฟหน้า) ที่โน้มมาข้างหน้าเป็นฉลาม (E24 6 Series เป็นต้น) หรือไม่ก็ตั้งตรง (แบบ E30 กับ E34) อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้แอโรไดนามิกส์เข้ามามีส่วนสำคัญในการสร้างรถ ครั้นจะทำส่วนหน้าแบบเดิมๆก็จะไม่ลู่ลมดีพอ จมูกของ 3 Series เจนเนอเรชั่นที่สามนี้ จึงต้องลาดไปข้างหลัง ทำให้การใช้ไตคู่กับช่องรับอากาศในลักษณะเดิมเป็นเรื่องยาก ลองนึกภาพดูก็คงพอได้ว่ารถจะดูโบราณเกินไป

ดังนั้นทีมออกแบบจึงต้องเลือกกระจังหน้าดีไซน์ใหม่หมด เหลือเพียงไตคู่ที่เปลี่ยนจากแนวตั้งเป็นแนวนอน แผ่กว้างจนเกือบแตะไฟหน้า ซึ่งบัดนี้มีเลนส์พลาสติกครอบเพื่อความลู่ลมทันสมัย ดีไซน์กระจังหน้าแบบที่พบใน E36 จึงถือเป็นจุดแบ่งระหว่าง BMW ยุคคลาสสิคกับยุคใหม่ เพราะนับจากนั้นมา ทั้ง 7 Series, 5 Series, Z3 และอีกหลายรุ่นก็ประยุกต์เอาดีไซน์นี้ไปใช้จนข้ามเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ และยังดูไม่ล้าสมัยแม้เวลาจะผ่านไปถึง 30 ปี

BMW 3 Series F30 รถใหญ่ขึ้นแต่กระจังหน้า ทำให้รถดูเพรียวขึ้น (2011)

สามเจนเนอเรชั่นถัดมา 3 Series ก็ยังคงเป็นรถที่บุกเบิกแนวทางการออกแบบกระจังหน้าใหม่ๆให้กับรถรุ่นอื่นของ BMW สำหรับ F30 นี้ นับเป็นครั้งแรกที่ไฟหน้ากับกระจังไตคู่มาบรรจบกันในที่สุด และยังถูกนำไปใช้กับ BMW 7 Series ปี 2015 รวมถึง 5 Series โฉมปัจจุบัน

จุดประสงค์ที่ทางทีมออกแบบเลือกทำกระจังหน้าทรงนี้ เพราะต้องการทำให้ตัวรถดูแบนเตี้ย การใช้เส้นแนวนอนทำให้เป้าหมายนั้นบรรลุผล เมื่อมองจากด้านหน้า จะทำให้รู้สึกว่าตัวถังถูกแบ่งชัดเจนระหว่างท่อนบนและล่าง รวมถึงกระจังหน้าและไฟหน้าก็ดูเรียวและกว้างทั้งที่ความจริงขนาดของสองส่วนนี้ใหญ่กว่าสมัย E36 มาก

BMW i3 การไม่มีหม้อน้ำ ยิ่งทำให้จินตนาการกระจังหน้าได้แหวกแนว (2013)

ในเมื่อ BMW i3 ไม่มีเครื่องยนต์ ไม่ได้ต้องการอากาศเพื่อการระบายความร้อนด้านหน้าเหมือนรถรุ่นอื่นๆ ดังนั้นมันจึงถูกออกแบบให้ส่วนหน้าของรถเป็นชิ้นเดียวแบบไม่มีรูรับอากาศใดๆ การมีอยู่ของไตคู่ จึงมีเพียงหน้าที่เดียวคือทำให้คนรู้ว่านี่คือ BMW มีการเล่นสันมิติตามสไตล์รถสมัยใหม่ และเติมสีฟ้าบริเวณขอบกระจังหน้า เพื่อให้เห็นได้ชัดว่านี่คือรถจากตระกูล i ซึ่งสีฟ้า คือสีของพลังงานทางเลือก EV/Hybrid ที่แสดงถึงความรักโลกนั่นเอง

ดีไซน์กระจังหน้าแบบ i3 นั้น ถูกนำไปใช้ใน i8 และจะมีมาให้เห็นอีกกับรถยนต์ไฟฟ้า หลายรุ่นที่จะตามมาในอนาคต

BMW 8 Series/ BMW Z4 เพิ่มทั้งขนาด และดีไซน์ที่คมกริบ (2018)

ในรถสองรุ่นนี้ องค์ประกอบใหม่ที่ใส่เข้าไปในกระจังหน้าคือเส้นกรอบที่มีเหลี่ยมคมขึ้น กระจังหน้าของ 8 Series จะมีส่วนกลางที่เชื่อมต่อกัน แต่ Z4 นั้นไม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองรุ่นมีรูปทรงของไตคู่ที่แบนแต่แผ่กว้างเป็นลักษณะห้าเหลี่ยม และที่สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งคือ องศาของกระจังหน้าเมื่อมองที่ตะแกรงจากด้านข้าง จะเห็นได้ว่ามันงุ้มลงไปข้างหน้า คล้ายกับจะเป็นการดึงเอาเอกลักษณ์หน้าฉลามโหนกจากในอดีตมา “โปรย” ใส่เฉพาะตรงกระจังหน้า ซึ่งสิ่งนี้ ทำให้จมูกของ 8 Series และ Z4 ดูเตี้ยชิดถนน

นอกจากเรื่องของความสวยงามแล้ว กระจังหน้าของรถทั้งสองรุ่นนี้ยังเป็นแบบเปิด/ปิดซี่กระจังได้ เมื่อปิด รถจะมีความลู่ลม แต่เมื่อหม้อน้ำเริ่มมีอุณหภูมิสูงก็จะเปิดเพื่อช่วยระบายความร้อน นอกจากนี้ ตรงส่วนเชื่อมต่อตรงกลางระหว่างไตคู่ใน 8 Series ยังเป็นตำแหน่งที่ใช้เพื่อติดตั้งกล้องด้านหน้ารถอีกด้วย

BMW 3 Series G20 ไฟหน้าชิดกระจังขอบเหลี่ยมคม (2018)

ในช่วงเวลาเดียวกับกับ 8 Series และ Z4 ทาง BMW ก็ได้เผยโฉม 3 Series ใหม่ ซึ่งเมื่อพูดถึงส่วนหน้าของรถ เราจะเห็นการผสมผสานระหว่างเอกลักษณ์สืบทอดจาก 3 Series รุ่นก่อน อย่างเช่น ไฟหน้าที่เขยิบเข้ามาจนชิดกระจัง และเส้นสายแบบรถรุ่นใหม่อย่างเช่นกระจังหน้าที่บรรจบกันตรงกลางโดยไม่มีส่วนที่เป็นสีตัวถังมากั้น และรูปทรงขอบกระจังแบบห้าเหลี่ยม (Pentagon)

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบของรถ ส่วนบนของกระจังหน้าจะถูกปรับให้นูนกินบริเวณฝากระโปรงขึ้นมาจนสูงกว่าตำแหน่งไฟหน้า และตรงขอบส่วนบนนี้จะมีลักษณะหักมุมคมคล้ายใบมีดรับกับส่วนบนของไฟหน้าที่มีลักษณะหักมุมสัมพันธ์กัน สิ่งนี้คือเอกลักษณ์ของ BMW หลายรุ่นในปัจจุบัน นั่นก็คือการซ่อนเหลี่ยมหักคมๆเอาไว้ในมุมต่างๆที่มีมิติ เมื่อคุณลองส่องจากด้านซ้ายหรือขวาจึงจะเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ 3 Series ใหม่กับ Z4 ในเวอร์ชั่น M Performance ยังเปลี่ยนซี่กระจังจากตะแกรงแนวตั้ง มาเป็นอะลูมิเนียมลายตาราง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การออกแบบของ BMW

BMW X7 / BMW 7 Series LCI คำว่า “Dominate” อธิบายไตคู่นี้ได้ดีที่สุด (2019)

ในปัจจุบัน BMW พยายามออกแบบกระจังหน้าให้เหมาะกับรถแต่ละประเภท สร้างความแตกต่างที่ชัดเจน โดยใน X7 และ 7 Series นั้น กลุ่มลูกค้าที่ซื้อจะเป็นลูกค้ามีฐานะ ต้องการรถที่แสดงออกให้เห็นถึงความใหญ่โตอลังการที่แฝงความดุดันอย่างจริงจัง กระจังหน้าไตคู่ในรถทั้งสองรุ่นนี้จึงมีขนาดโตกว่าของ 3 Series เมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนกับขนาดของรถ สะกดสายตาคนทันทีที่รถวิ่งผ่าน และเป็นสัญญาณคล้ายจะบอกว่า “Get out of my way” เมื่อรถคันหน้าได้เห็นผ่านกระจกมองหลัง

บางคนมักพูดติดตลกว่ากระจังหน้าของ BMW ในอนาคตอาจจะใหญ่จนกินพื้นที่ด้านหน้ารถ 100% แต่อันที่จริง หากเราออกแบบกระจังหน้า 7 Series ให้เล็กลงครึ่งหนึ่ง มันก็จะดูไม่ต่างจาก 3 Series เมื่อมองจากด้านหน้า นี่คือความยากอย่างหนึ่งในโลกของการออกแบบซึ่งคำตอบที่ผิดในสายตาคนส่วนใหญ่ อาจจะถูกใจคนที่มีเงินซื้อจริง

BMW 4 Series Coupe กระจังใหญ่แบบรถเรือธงอยู่ในรถคูเป้ทรงสปอร์ต (2020)

พัฒนาการล่าสุดของกระจังหน้าไตคู่อยู่ในรถคันนี้ มันคือจุดที่รวมเอาดีไซน์จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของค่ายไว้ด้วยกัน สิ่งที่มาจากอดีต คือทรงของกระจังหน้าที่โน้มเอนมาข้างหน้า เหมือน BMW ยุค 80s และก่อนหน้า อีกทั้งยังมีกลิ่นอายของรถคลาสสิคอย่าง 328 Coupe จากยุค 1930s และ 3.0 CS จากยุค 1970s ปนอยู่ สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ก็คือ กระจังหน้าไตคู่ที่เชื่อมด้านซ้ายและขวาเข้าด้วยกันโดยติดตั้งกล้องไว้ตรงกลาง เหมือน 3 และ 8 Series ส่วนสิ่งที่มาจากอนาคต คือลวดลายซี่กระจังและลักษณะการออกแบบที่ยาวลงมาเกือบถึงล่างสุดของกันชน

สิ่งที่แตกต่างจาก 3 Series อย่างชัดเจนคือ ไฟหน้าของ 4 Series จะไม่แตะกับกระจัง แต่ทีมออกแบบเลือกใช้วิธีออกแบบส่วนบนเหนือไฟหน้าให้ยู่ลงราวคนกำลังขมวดคิ้วเวลาโกรธ แสงเงาที่เกิดขึ้นทำให้เมื่อดูด้วยตาเปล่า เกือบเหมือนว่าไฟหน้านั้นแตะกับชิ้นไตคู่จริงๆ นี่คือความหมายของการพยายามออกแบบกระจังหน้าให้เข้ากับรถแต่ละรุ่นอย่างแท้จริง อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ 3 Series กับ 4 Series หรือ 3 Series Saloon กับ Coupe ในอดีตนั้นไม่เคยมีหน้าตาที่แตกต่างกันขนาดนี้มาก่อน

BMW Vision iNEXT (2018), BMW Vision M NEXT (2019) อนาคตที่หมุนอยู่ในปัจจุบัน

รถทั้งสองรุ่นนี้ เปรียบได้กับคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “ในอนาคตรถของ BMW จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?” เมื่อรถในอนาคตขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ก็ไม่มีเครื่องยนต์ที่ต้องการลมระบายความร้อน รูปแบบของกระจังหน้า สามารถออกแบบเพื่อความลู่ลมและความสวยงามได้อย่างอิสระ Vision iNEXT มีกระจังหน้าที่เป็นวิวัฒนาการต่อยอดของ BMW i3 แต่เพิ่มการฉีกแนว โดยไม่ให้มีเส้นสายใดๆขั้นระหว่างไตคู่ทั้งสองด้าน และภายใต้กระจังหน้านั้นก็เต็มไปด้วยกล้อง เรดาร์ เลเซอร์และเทคโนโลยีมากมายสำหรับการขับเคลื่อนในอนาคต

ส่วนรถต้นแบบสปอร์ตไฮบริด Vision M NEXT นั้น ทีมออกแบบเลือกที่จะทำกระจังหน้าสไตล์ห้าเหลี่ยม แต่ใส่องค์ประกอบล้ำยุคตรงที่เคลือบกระจกใสเอาไว้ด้านหน้าและยังมีการสลักลายเป็นโลโก้ BMW อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งไฟส่องด้านในของกระจังหน้า เพื่อที่เวลาวิ่ง แสงเงาที่ตกกระทบกระจังหน้าจะก่อให้เกิดมิตินูนลึกตื้น มีความเป็นสามมิติที่ทำให้รถเหมือนกับมีชีวิตขึ้นมา

และทั้งหมดนี้ คือดีไซน์กระจังหน้าหลากหลาย ที่ยึดแนวทางของ Kidney Grilled มาเป็นเวลายาวนานเกือบ 90 ปี จะเห็นได้ว่า แม้ต้องการจะคงเอกลักษณ์ประจำตัวไว้เพียงไร เมื่อถึงเวลาจำเป็น วิศวกรและทีมออกแบบของ BMW จะช่วยกันปรับรูปแบบของกระจังไตคู่ จนกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนในแต่ละยุคสามารถจดจำได้เสมอ ถึงแม้จะไม่ใช่ทุกคนที่บอกว่ากระจังหน้าของ BMW ถูกใจพวกเขาไปเสียทุกรุ่น แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนยอมรับ นั่นก็คือการก้าวไปอย่างไม่หยุดนิ่งในการค้นหาดีไซน์ใหม่ๆ กล้าเสี่ยง กล้านำเสนอ ซึ่งเป็นวิสัยของ BMW ที่ส่งผลให้ค่ายใบพัดฟ้าขาวนี้ มีพัฒนาการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ราวกับหัวใจที่ไม่เคยหยุดเต้น

เครดิตแหล่งข้อมูล: BMW.com

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments