รีวิว BMW 745Le xDrive M Sport…เมื่อวิศวกร BMW ร่ายมนต์วิเศษใส่เรือธงสูงสุดของค่ายให้กลับมาท้อปฟอร์มอีกครั้ง

BMW Magic House… แต่ไหนแต่ไรมา BMW 7-Series หรือ ซีรีส์ 7 คือเรือธงรุ่นสูงสุดของผู้ผลิตรถยนต์จากแคว้นบาวาเรีย และมันเป็นผู้นำเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อนที่จะถูกถ่ายทอดลงไปตามลำดับชั้นของวงศ์ตระกูลสู่รถรุ่นอื่นๆ ของค่ายมาเสมอ เวลาผ่านไป 43 ปี นับตั้งแต่ ซีรีส์ 7 รุ่นแรกในรหัส E23 เปิดตัวในปี 1977 ช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่าง ซีรีส์ 7 รุ่นใหม่ๆ กับรถรุ่นอื่นๆ ของค่ายใบพัดฟ้าขาวที่ทำตลาดในช่วงเวลาเดียวกันค่อยๆ บีบแคบลงเรื่อยๆ แต่ BMW 745Le xDrive M Sport รุ่นล่าสุดก็ยืนยันถึงความพิเศษของ ซีรีส์ 7 อีกครั้งด้วยการอัดเทคโนโลยีล้ำสมัยมาเต็มเปี่ยม มันยังคงสืบสานประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษของมันไว้อย่างเหนียวแน่น และผมคิดว่ามันจะเป็นการไม่ให้เกียรติอย่างยิ่ง ถ้าเราจะเริ่มบทความนี้ด้วยการกระโดดไปหารถรุ่นใหม่ โดยที่ไม่ได้พูดถึงรถยนต์ในตำนานที่ออกมาก่อนมันเลยแม้แต่น้อย

BMW ซีรีส์ 7 รุ่นแรก (E23) ทำตลาดอยู่ 11 ปี ในช่วง 1977-1987 โดยมันมีเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกอย่างเช่น On-board computer, สัญญาณไฟแจ้งเตือนการเข้ารับบริการ, แผงตรวจสถานะของระบบต่างๆ ของรถ (Check Panel), และระบบปรับอากาศที่ซับซ้อนขึ้น รวมไปถึงเบรก ABS ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้ ซีรีส์ 7 รุ่นที่สอง (E32) ที่ทำตลาดในช่วง 1986-1994 ซึ่งเป็นรถรุ่นแรกจากโรงงาน BMWที่มีเครื่อง V8 กับ V12, ช่วงล่างปรับความหนืดด้วยไฟฟ้า (Electronic Damper Control), ไฟหน้าซีนอน, Traction control, และแอร์แบบแยกสองโซน รวมถึงมีรุ่นฐานล้อยาว (ลงท้ายด้วย iL) เป็นครั้งแรก

ซีรีส์ 7 รุ่นที่ 3 (E38) ทำตลาดในช่วง 1994-2001 ซึ่งเป็นรุ่นที่โด่งดังมาจากภาพยนตร์ James Bond ตอน Tomorrow Never Dies และเป็นหนึ่งในซีรีส์ 7 ที่คลาสสิคที่สุด มีการนำม่านถุงลมนิรภัยมาใช้เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับระบบนำทางและทีวีในรถ ซีรีส์ 7 รุ่นที่ 4 (E65, E66, E67, E68) ทำตลาดในช่วง 2001-2008 เป็นรุ่นแรกที่มีระบบ iDrive แสดงให้เห็นถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านของ BMW มาสู่ยุคดิจิตอลและอิเลกทรอนิกส์เต็มตัว ดีไซน์ตัวรถ “Flame surfacing” เป็นงานออกแบบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ BMW มีกุญแจ Smart Key และระบบ Night vision ให้มาเป็นครั้งแรก

ซีรีส์ 7 รุ่นที่ 5 (F01, F02, F03, F04) ทำตลาดในช่วง 2008-2015 เป็น ซีรีส์ 7 รุ่นบุกเบิกกับระบบไฮบริดในชื่อ ActiveHybrid 7 และยังเป็นซีรีส์ 7 รุ่นแรกที่ใช้เทอร์โบกับเครื่องยนต์ทั้งเบนซินและดีเซล รวมถึงระบบขับเคลื่อน xDrive

และเราก็มาถึงซีรีส์ 7 รุ่นที่ 6 (G11, G12) ที่กำลังเขียนบทความถึงอยู่นี้ที่การออกแบบในรุ่น LCI ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง แม้จะไม่เท่าสมัย Flame surfacing ใน E65 มันเป็นรถขนาดใหญ่ของค่ายรุ่นแรกที่ใช้โครงสร้างตัวถัง Carbon Core ซึ่งประยุกต์เทคโนโลยีมาจาก BMW i ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้

ผมคิดว่าหลายคนคงมีคำถามเรื่องภาษาการออกแบบใหม่ของ BMW เพราะในตอนที่ ซีรีส์ 7 LCI รุ่นนี้เปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม ปี 2019 คำว่า “ชอบ” ดูเหมือนจะกลายเป็นคำหยาบสำหรับชาวใบพัดฟ้าขาวไปอยู่ชั่วขณะ อันที่จริงตอนผมเห็นกระจังหน้าอันโตเท่าคฤหาสน์ของมันครั้งแรกจากรูปเปิดตัว ผมก็ไม่เคยคิดว่าวันนึงผมจะหันมาชอบดีไซน์ของ ซีรีส์ 7 ใหม่นี่ได้ ทว่าเวลาผ่านไปหนึ่งปีเศษกับรถคันจริงที่จอดอยู่ตรงหน้าในตอนนี้ ผมกลับมีความเห็นที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง ผมคิดว่ามันสง่างาม หรูหรา และสวยเอามากๆ ยิ่งมากับสีเทา Bernina Grey ก็ยิ่งเพิ่มความทันสมัยขึ้นไปอีก ส่วนนึงอาจจะต้องขอบคุณแผนกดีไซน์ของ BMW ที่ขยายขนาดของกระจังหน้าในรถที่ทะยอยคลอดตามมาทีหลังอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้ง BMW X7, BMW M3 และ BMW M4 ใหม่

กระนั้น ซีรีส์ 7 LCI รุ่นนี้ น่าจะเป็น BMW รุ่น LCI เพียงไม่กี่รุ่นในประวัติศาสตร์ที่มีการปรับปรุงดีไซน์ขนานใหญ่ระดับนี้ รูปลักษณ์ภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มตั้งแต่ไฟหน้าที่ออกแบบใหม่ให้มีขนาดเรียวเล็กลง และสำหรับรุ่น 745Le xDrive M Sport ก็จะได้ BMW Laserlight ที่ลำแสงส่องได้ไกลถึง 600 เมตร พร้อมฟังก์ชัน Selective Beam ที่ช่วยปรับลำแสงไม่ให้รบกวนรถคันหน้าหรือรถสวนโดยอัตโนมัติติดมาให้เป็นมาตรฐานด้วย กระจังหน้าไตมีคู่ขนาดใหญ่ขึ้นกว่ารุ่นเดิมถึง 40% และเปลี่ยนกรอบด้านนอกให้เป็นแบบเชื่อมติดกันเป็นชิ้นเดียว ฝากระโปรงหน้า กันชนหน้า และบังโคลนหน้าถูกปรับไปใช้ดีไซน์ใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ความสูงของหน้าตัดตัวรถเพิ่มขึ้นอีก 50 มิลลิเมตร

ด้านข้างมีช่อง Air Breather ที่ปรับจากแบบเดิมที่เอียงมาเป็นตั้งตรง 90 องศา พ่นสีดำเงารับกับคิ้วสีเดียวกันที่ขอบล่างของประตูทั้งบานหน้าและหลัง ดูในรูปตอนแรกอาจจะรู้สึกแปลกๆ และคิดว่าถ้าเป็นโครเมียมน่าจะดูเข้ากับบุคลิกรถมากกว่า แต่พอเห็นตัวจริงกลับคิดว่ามันลงตัวและเสริมบุคลิกของรถให้ดู Bossy กับน่าเกรงขามขึ้นจริงๆ แล้วมันก็เข้ากันดีกับล้ออัลลอยสีทูโทน M Star Spoke ขนาด 20 นิ้ว ลายใหม่เอามากเสียด้วย โคมไฟท้าย L-Shape ดีไซน์ใหม่แบบ LED สามมิติมีขนาดเพรียวลงกว่ารุ่นเดิม และมีแถบไฟ LED บางเฉียบแค่ 6 มิลลิเมตร คาดอยู่เหนือคิ้วโครเมียมตลอดความกว้างของฝากระโปรงท้าย เชื่อมเป็นเส้นเดียวกับขอบบนของไฟท้ายทั้งสองฝั่ง ส่วนกันชนหลังกับปลายท่อไอเสียก็เป็นดีไซน์ใหม่เช่นเดียวกัน

ไม่ต้องพูดอะไรมากก็คงจะบอกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ทำให้ BMW 745Le xDrive M Sport ดูโดดเด่นท่ามกลางท้องถนนมากขึ้น (อันที่จริงแค่กระจังหน้าอย่างเดียวก็เห็นชัดไปสามกิโลเมตรแล้ว) มันดูมีความเป็นผู้นำและเอาจริงเอาจังด้วยเส้นสายตั้งฉากทั้งหลายที่กระจายอยู่ทั่วตัวรถ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูกระฉับกระเฉงและมีมัดกล้ามขึ้นด้วย ถ้าคุณเคยเปรียบเรือธงรุ่นก่อนของค่ายเป็นช้างแมมอธหรือนางพญา 745Le xDrive M Sport ก็จะเป็นสิงโตเจ้าป่าที่ยืนอยู่บนชะง่อนหินบนเขาสูงร้อยเมตรพร้อมกับฉากหลังเป็นดวงอาทิตย์อัสดง มันเป็น ซีรีส์ 7 รุ่นแรกที่ผมรู้สึกอยากขับมากพอกับนั่งหลัง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องทำก็คงเหลือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือเปิดประตูเข้าไปด้านใน

ภายใน..เหมือนเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม

เวลาเขียนถึงรถรุ่น LCI ผมมักจะเริ่มต้นด้วยการโปรยว่าบรรยากาศของห้องโดยสารเป็นอะไรที่คุ้นเคย เพื่อให้คุณสามารถเชื่อมโยงไปถึงตอนที่รถรุ่นนี้เปิดตัวใหม่ได้ง่ายๆ และตอนที่ผมขึ้นไปนั่งใน 745Le xDrive M Sport วินาทีแรกผมก็ยังคิดแบบนั้น แต่พอกวาดสายตามองลงไปในรายละเอียด ก็พบว่ามี “สารพัด” อย่างที่ต่างจาก 740Le xDrive iPerformance Pure Excellence คันก่อนมาก เริ่มจากหนังสีน้ำตาลส้ม Cognac ที่ทำให้ห้องโดยสารดูมีคลาสและน่าสนใจขึ้นกว่าเดิมมาก ลายไม้บนแผงหน้าปัดสีดำ Fine-line Black ใหม่ พร้อมกรุขอบด้วยโลหะเคลือบเงาเพิ่มความหรูหรา อีกจุดที่เปลี่ยนอย่างชัดเจนก็คือมาตรวัดและจอกลางที่เป็นอัพเดทเป็น BMW Live Cockpit Professional ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการ BMW OS 7.0 เรียบร้อยแล้ว โดยจอกลางสามารถควบคุมได้ทั้งทางปุ่มโรตารี่ iDrive, การแตะไปที่หน้าจอ, การใช้การเคลื่อนไหวของมือ (Gesture control), และการสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งสามารถใช้คีย์เวิร์ด ‘Hey! BMW’ เรียกให้ผู้ช่วยดิจิตอลพร้อมใช้งานได้ แล้วมันก็ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ BMW ConnectedDrive ที่รองรับ Apple CarPlay ผ่านการเชื่อมต่อแบบบลูทูธอีกด้วย

แต่ไฮไลท์ที่สำคัญต้องรอจนกระทั่งคุณมองเลยหน้าจอกลางขึ้นไปจนพบกับลำโพงบนแดชบอร์ดที่มีคำว่า ‘Bowers & Wilkins’ ประทับอยู่ ซึ่งเป็นเพียงสมาชิกหนึ่งในทั้งหมด 16 ตัวของชุดลำโพง Bowers & Wilkins Diamond Surround System ที่ B&Wออกแบบมาเฉพาะสำหรับ ซีรีส์ 7 เท่านั้น ในอดีตเครื่องเสียงดูจะเป็นอย่างเดียวที่ทำให้การโดยสาร 740Le xDrive iPerformance Pure Excellence ไม่สุนทรีย์เท่ารถยนต์รุ่นเรือธงจากสวีเดนอย่าง Volvo S90 รุ่นล่าสุด ทั้งๆ ที่บรรยากาศห้องโดยสารที่เห็นผ่านสายตาและรับรู้ผ่านการสัมผัสนั้นอยู่ในระดับหัวแถว แต่วันนี้การรอคอยได้สิ้นสุดลงแล้วด้วยเสียงที่ขับกล่อมที่มีมิติราวกับยกวงดนตรีชั้นดีมาไว้ในรถ มันมีเวทีเสียงที่กว้างใหญ่แต่มีรายละเอียดเครื่องดนตรีครบทุกชิ้น และในตอนกลางคืนก็มีไฟเรืองแสงสวยงามออกมาจากลำโพงแทบทุกจุดในรถ ช่วยเพิ่มบรรยากาศความพรีเมียมได้อย่างดีเยี่ยม เรียกว่าสมค่าสมราคาและศักดิ์ศรีของรถทุกกระเบียดนิ้ว

ภายในของ ซีรีส์ 7 ยังคงใส่ใจรายละเอียดการออกแบบทุกจุดได้อย่างเหนือชั้นเหมือนเดิม อย่างสวิตช์ปรับความเย็น/ความร้อนของลมแอร์ที่เป่าออกจากช่องกลางนั่นก็เป็นหน้าจอที่สั่งการด้วยการสัมผัส ส่วนสวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศนั้นนอกจากปุ่มโรตารี่ที่ใช้ปรับตั้งอุณหภูมิแยกโซนซ้าย-ขวา (ด้านหลังจะเป็นอีกชุดนึงที่แยกซ้าย-ขวาเช่นกัน) กับสวิตช์ที่เหลือโดยรอบที่เป็นปุ่มแบบ Physical button แล้ว ปุ่มปรับระดับความแรงลมและระบายอากาศบนเบาะนั้นจะใช้การสัมผัสบนหน้าจอทั้งหมด แต่ทีมออกแบบก็ได้คิดมาอย่างรอบคอบแล้ว เพราะมีการผิวหน้าจอส่วนนี้ให้มีสันหรือร่องตามแต่ละปุ่มเอาไว้ให้ด้วย เวลาปรับแอร์จึงไม่จำเป็นต้องละสายตาจากถนนลงมาควานหาปุ่ม เพราะแค่เอามือรูดผ่านก็ทราบแล้วว่านิ้วคุณกำลังแตะปุ่มไหนอยู่

ความละเอียดแบบเดียวกันนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วทั้งคัน ไม่เว้นแม้แต่สวิตช์ปรับเบาะไฟฟ้าที่หลบอยู่ด้านข้างเบาะที่พอมือไปแตะ หน้าจอ iDrive ก็จะแสดงกราฟฟิครูปเบาะขึ้นมาทันทีว่าคุณกำลังแตะปุ่มไหน และเจ้าปุ่มนั้นมันจะปรับส่วนไหนของเบาะคุณบ้าง แถมยังแสดงรูปภาพของเบาะถูกฝั่งอีกด้วยว่าเป็นของคนขับหรือคนนั่งข้าง รายละเอียดพวกนี้ไม่ใส่มาให้ก็ไม่มีใครว่าและคงไม่มีผู้ใช้คนไหนเรียกร้อง แต่การที่มันถูกคิดเอาไว้อย่างรอบคอบและบรรจงใส่มาอย่างพิถีพิถันนั้นแสดงให้เห็นว่าวิศวกรและกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนารถคันนี้ “ทำเป็น” และนั่นก็ทำให้การนั่งโดยสารอยู่ในรถคันนี้เป็นช่วงเวลาและบรรยากาศที่พิเศษยิ่งขึ้น อ้อ..แล้วผมอยากจะบอกว่าพวกอุปกรณ์สีเงินในห้องโดยสารหลายจุดเป็นโลหะจริงไม่ใช่พลาสติกพ่นสีเงินนะครับ อย่างที่เปิดประตูนี่เย็นและร้อนตามอุณหภูมิในห้องโดยสาร ดังนั้นถ้าใครจอดรถทิ้งไว้กลางแดดตอนกลางวัน แล้วตอนขึ้นรถเผลอเอามือไปแตะเข้า ก็มีสะดุ้งกันบ้างล่ะ

ตรงหน้าคุณคือพวงมาลัย M Sport สามก้านรูปทรงล่าสุดของ BMW ที่มีแพดเดิลชิฟท์สีเงินอยู่ด้านหลัง ส่วนปุ่มควบคุม Multi functions ทั้งซ้ายและขวานั้นได้รับการจัดเรียงใหม่ เพราะ 745Le xDrive M Sport มีระบบช่วยเหลือการขับขี่รุ่นสูงสุดของ BMW อย่าง Driving Assistant Professional ให้มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งมีฟีเจอร์ทั้ง Steering & lane control assistant, Traffic Jam Assist, Lane Keeping Assistant, Active side collision protection, และ Active Cruise Control มันสามารถประคองรถให้วิ่งไปตามเส้นทางด้วยการตรวจจับของเรดาร์และกล้องรอบตัวรถ ช่วยหยุดและเคลื่อนรถตามคันหน้าอัตโนมัติเวลารถติด และปรับความเร็วอัตโนมัติตามคันหน้าได้เอง เรียกว่าเข้าใกล้การเป็นรถยนต์ขับอัตโนมัติเข้าไปทุกที ระบบทั้งหมดสามารถสั่งการ Activate ได้ด้วยการกดปุ่มด้านซ้ายบนพวงมาลัยเพียงคลิกเดียวไม่ยุ่งยาก ทำให้คุณรู้ทันทีว่าระบบเปิดหรือปิดอยู่และตอนนี้รถขับคุณหรือคุณขับรถอยู่อย่างไม่สับสน แต่ใน 30 นาทีแรก ผมขอเลือกแบบรถขับเราก่อนแล้วกัน เพราะฉะนั้นถ้าใครมาถามตอนนี้ว่า 745Le ใหม่ขับเป็นไงบ้าง คำตอบของผมคือ “ไม่ทราบครับ” เพราะ “รถ” ขับพาผมมา

ปุ่มเลือกโหมด Driving Experience Control มีการปรับปรุงจากแบบเดิมที่ไล่จาก Sport, Comfort, Eco Pro, Adaptive และแยกปุ่ม eDrive ออกไปไว้ต่างหาก ในขณะที่ของ 745Le จะถูกจัดเรียงใหม่เป็น Sport, Hybrid, Electric แล้วเพิ่มปุ่ม Battery Control ออกมาแทนเหมือนกับ BMW ปลั๊กอินไฮบริดยุคใหม่ทั้งหลาย ซึ่งเข้าใจง่ายและใช้งานสะดวกขึ้น โดยเฉพาะโหมด Battery Control ที่สามารถตั้งค่าการชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ได้ตามค่า Target ที่ตั้งไว้ได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากรุ่นเดิมที่เป็นเพียง Battery Saving ซึ่งจะเก็บประจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่รอไว้ใช้ทีหลังเฉยๆ

อย่างไรก็ตาม เรื่องระบบไฮบริดนี้มีอยู่เรื่องนึงที่อยากให้ปรับปรุงอยู่เหมือนกัน เพราะในโหมด Battery Control นั้น คุณจะไม่สามารถปรับโหมดเครื่องยนต์ เกียร์ และช่วงล่างได้ ผมเดาว่ารถน่าจะปรับเป็นโหมด Adaptive ให้ เพื่อให้มันสามารถบริหารจัดการพลังงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งก็เพื่อที่จะชาร์จไฟให้ถึง Target ได้อย่างรวดเร็วด้วยส่วนนึง กระนั้นมันก็ทำให้อรรถรสในการขับขาดหายไปพอควร เพราะโหมดที่เป็นพระเอกของ 745Le xDrive M Sport สำหรับผมนั้น คือ Sport Individual ที่เลือกช่วงล่างและพวงมาลัยเป็น Sport ในขณะที่เครื่องยนต์กับเกียร์เป็น Comfort ซึ่งขับสนุกแต่ไม่กระโชกโฮกฮากจนคนนั่งหลังไม่สบอารมณ์ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แค่เสียดายเพราะถ้าหากเลือกปรับเองได้มันคงจะเพอร์เฟกต์เลยทีเดียว

เบาะหลังของ ซีรีส์ 7 คือนิพพาน โดยเฉพาะหมอนพิงศีรษะหนังกลับที่นุ่มราวกำมะหยี่จนคุณอยากจะเอาศีรษะบี้ลงไปดื่มด่ำกับความรู้สึกโอบล้อมและนุ่มละมุนของมันตลอดเวลา ด้านหน้าของคุณจะมีหน้าจอสัมผัสขนาด 10 นิ้ว แขวนอยู่บนพนักพิงของเบาะหน้าที่ใช้งานได้แยกอิสระจากหน้าจอ iDrive ด้านหน้า และแยกอิสระจากของคนนั่งอีกฝั่งนึงด้วย มันรองรับการเล่น DVD และสามารถเชื่อมต่อหูฟังไร้สายแยกคนละฝั่งได้อย่างอิสระ โดยช่องใส่ DVD จะซ่อนตัวอยู่ในช่องที่มีฝาปิดถัดลงไปจากแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ และต่ำลงไปอีกก็จะเป็นช่อง Power outlet กับ USB-C อีก 2 ช่อง ไว้สำหรับเสียบชาร์จแท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่สามารถชาร์จไฟผ่านพอร์ตรุ่นใหม่นี้ได้

กลับมาที่ตัวหน้าจอ มันสามารถปรับมุมองศาให้เหมาะกับตำแหน่งการนั่งของเบาะหลังและตำแหน่งพนักพิงของเบาะหน้าได้ผ่านการกดบน Tablet ที่อยู่กลางที่วางแขน ซึ่งควบคุมการทำงานได้สารพัดอย่าง หลายฟังก์ชันนั้นซ้ำซ้อนกับการเอื้อมมือไปกดบนหน้าจอสัมผัสและปุ่มปรับเบาะที่อยู่ด้านข้างที่ท้าวแขน แต่นั่นก็เพื่อความสะดวกสูงสุดของผู้ใช้งาน ว่าในอารมณ์และห้วงเวลานั้นอยากจะสั่งการผ่านช่องทางไหน เพราะในรถระดับ ซีรีส์ 7 การมีของเกินจำเป็นไว้มากๆ ย่อมดีกว่าขาดสิ่งนึงสิ่งใดไป

บนแผงประตูหลงมีสวิตช์คุมเบาะหน้าฝั่งคนนั่งให้เลื่อนไปข้างหน้าได้ 90 มิลลิเมตร และพับพนักพิงศีรษะลงพร้อมกับกางที่วางเท้าออกมาได้ด้วย เมื่อทำเสร็จแล้วตำแหน่งการนั่งแทบจะเหมือนกับเคบินของเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาส ตัวเบาะหลังทั้งสองฝั่งสามารถปรับองศาพนักพิงแยกกันได้อีกเช่นกัน และมีระบบระบายอากาศอยู่ในตัวเบาะซึ่งเลือกได้ว่าจะให้เป่าลมเฉพาะส่วนรองนั่ง ส่วนรองนั่งและหลังส่วนล่าง หรือทั่วทั้งตัวได้ รวมถึงสั่งให้นวดได้สารพัดตำแหน่งและปรับระดับความหนักของการนวดได้ด้วย

…แต่จะนั่งท่านั้นได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับฝีมือคนขับรถของคุณด้วย อย่างผมกับพี่แพนนั้นนั่งได้แค่ไม่ถึง 5 นาที เบาะก็ถูกปรับตำแหน่งกลับสู่ที่เดิมอัตโนมัติ มันไม่ได้ผิดที่รถหรอกครับ แต่คนขับรถที่เราจัดหามา (ขอสงวนชื่อ แตงโม Thitipat Hiranbavorntip เอาไว้) เล่นใหญ่กับสมรรถนะของ 745Le xDrive M Sport จนรถมันก็คงคิดว่าอะไรก็น่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว ณ จุดนี้ ระบบ Active Safety จึงเตรียมการปรับเบาะทุกตำแหน่งให้ตั้งตรงและกระชับเข็มขัดนิรภัยให้ตัวพวกเราแนบสนิทอยู่กับเบาะไว้ล่วงหน้า กระนั้นถ้าจะให้ติสักเรื่องก็คงจะเป็นการเลื่อนเบาะของฟังก์ชัน Executive Seat ที่บังกระจกมองข้างทุกครั้ง และ BMW เองก็เหมือนจะรู้ เพราะหน้าจอกลางจะโชว์ข้อความแจ้งให้คนขับเช็คทัศนวิสัยของกระจกมองข้างเมื่อเลื่อนเบาะเสร็จ พร้อมกับบอกว่าให้เลื่อนกลับไปตำแหน่งเดิมถ้าบัง ผมยังหาวิธีจัดการที่ถูกต้องไม่ได้เลยต้องอาศัยการกดปุ่มเลื่อนเบาะกลับตำแหน่งปกติมาพักไว้แบบครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งหมอนรองศีรษะก็จะงัดขึ้นไปแตะกับเพดานรถ มันเป็นตำแหน่งที่ดูผิดที่ผิดทางมาก ถ้าใครทราบวิธีก็กรุณาบอกผมด้วยครับ แต่รถไฮเทคระดับนี้ น่าจะเซ็ทระบบให้เลื่อนเบาะไว้ในตำแหน่งที่ไม่บังกระจกมองข้างเอาไว้ตั้งแต่แรกเลยน่าจะดีกว่า

บนเสา B มีไฟเรืองแสงเพื่อสร้างบรรยากาศตอนกลางคืน ซึ่งสามารถเลือกเปิด/ปิดหรือปรับความสว่างได้จากสวิตช์ที่อยู่ตรงฐานหรือผ่าน Tablet ตอนกลางวันมันกลมกลืนไปกับเสาเพราะตัวโคมมีการรมดำมาเล็กน้อย ส่วนตอนกลางคืนก็สามารถเปิดเอาไว้ได้ตลอดโดยไม่รู้สึกแยงตา และจะรู้สึกดีมากขึ้นเมื่อเปิดแผ่นบังแดดด้านบนเพื่อมาเจอกับหลังคา Panoramic glass roof ที่มีลวดลายของหลอด LED 15,000 ดวง ผมคิดว่านี่คือลายเซ็นของ ซีรีส์ 7 โฉมนี้ และในขณะที่ม่านกระจกหน้าต่างและด้านหลังถูกเลื่อนปิดขึ้นด้วยระบบไฟฟ้าอย่างราบเรียบ เครื่องเสียง B&W บรรเลงเพลงเปียโนที่บรรเลงโดยศิลปิน Yiruma หน้าจอด้านหน้าแสดงข้อมูลพยากรณ์อากาศ และรถกำลังทะยานขึ้นเนินหลังผ่านด่านทางด่วนไปด้วยแรงดึง 600 นิวตันเมตร นั้น บรรยากาศมันแทบจะเหมือนกับสายการบินชั้นเฟิร์สคลาสที่กำลัง Take off ซะจริง เพียงแต่ว่าบนเครื่องบินคุณจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์เจ็ทกับเสียงยางบดถนนดังสนั่น แต่ใน 745Le xDrive M Sport นั้นมีเพียงเสียงเครื่องหกสูบหวานๆ ขับกล่อมอยู่ไกลออกไปที่ด้านหน้า เสียงท่อไอเสียทุ้มนุ่มทรงพลังบรรเลงอยู่ด้านหลัง และเสียงลมผ่านกระจกเบาอยู่ข้างตัวคุณเท่านั้น

Bimmer Drive

ถึงเวลาที่เราจะมาพูดกันเรื่องไฮไลท์หลักประจำ ซีรีส์ 7 LCI กันแล้ว ขุมพลังที่ประจำการอยู่หลังกระจังหน้าไตคู่อันเขื่องนั่นคือเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบเรียง BMW TwinPower Turbo ความจุ 3.0 ลิตร (ไม่ได้แปลว่าเทอร์โบสองตัว แต่เป็นเทอร์โบที่แบ่งช่องลมฝั่งกังหันไอเสียเป็นสองช่อง เพื่อให้เทอร์โบตอบสนองได้ฉับไวขึ้นและทำความเร็วรอบได้สูงขึ้น) มีแรงม้าสูงสุดอยู่ที่ 286 แรงม้า กับแรงบิด 450 นิวตันเมตร ประกบด้วยชุดมอเตอร์ไฟฟ้าพละกำลัง 113 แรงม้า กับแรงบิด 265 นิวตันเมตร ทำให้เมื่อรวมกันแล้ว ทั้งระบบจะมีแรงม้าสูงสุดอยู่ที่ 394 แรงม้า และแรงบิดสูงสุดที่ 600 นิวตันเมตร นี่คือที่มาของการปรับรหัสจาก 740 ในรุ่นเดิมซึ่งใช้เครื่องเบนซิน 4 สูบ BMW TwinPower Turbo ความจุ 2.0 ลิตร มาเป็น 745 เช่นเดียวกับกรณีที่ X5 รุ่นล่าสุดได้รับการอัพเกรดรหัสเป็น xDrive45e นั่นเอง

การใช้งานในโหมดไฟฟ้าล้วนหรือ Electric นั้น ผมไม่ได้มีโอกาสลองเป็นระยะทางยาวๆ เพราะไม่มีโอกาสเสียบปลั๊กชาร์จจนเต็ม แต่เท่าที่สัมผัสก็ไม่มีอะไรต่างไปจาก X5 xDrive45e ที่ผมเขียนถึงไปในบทความรีวิวก่อนหน้านี้ เพราะมอเตอร์และระบบไฮบริดนั้นเป็นเทคโนโลยีในเจนเนอเรชันเดียวกัน ความเจ๋งของมันนั้นอยู่ที่ด้านวิศวกรรมมากกว่าด้วยการที่สามารถออกแบบให้มอเตอร์ไฟฟ้ารวมเข้าไปอยู่ในชุดเกียร์ Steptronic 8 จังหวะ ซึ่งนอกจากจะทำให้ 745Le xDrive M Sport สามารถขับในโหมด Electric ได้เหมือนกับการใช้เครื่องยนต์ปกติไปจนถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้ว ขนาดของชุดเกียร์ก็ยังแทบไม่ต่างจากเกียร์แบบปกติที่อยู่ใน ซีรีส์ 7 รุ่นเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลด้วย เรื่องเดียวที่ต่างไปจาก X5 xDrive45e ก็คือระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งอยู่ที่ราว 50 กิโลเมตร ไม่ใช่ 80 กิโลเมตร เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเธียมอิออนของ 745Le xDrive M Sport มีความจุที่ 12.0 kWh ซึ่งเล็กกว่า X5 อยู่ครึ่งนึง

แต่ถ้าให้พูดถึงเรื่องอัตราเร่งล่ะก็ “หายห่วง” ครับ นี่คือรถยาว 5.2 เมตร น้ำหนักตัว 2 ตันเศษ ที่ทะยานออกจากจุดหยุดนิ่งและเร่งแซงขณะวิ่งลอยลำได้อย่างไม่เกรงใจรถสปอร์ตขนานแท้ มันพุ่งไปข้างหน้าราวกับคุณมีปุ่มสายด่วนเรียกพายุเฮอริเคนได้ตามสั่ง อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง หมูจดตัวเลขมาให้ว่าทำได้ 5.8-6.2 วินาที (แล้วแต่โหมด) ส่วนอัตราเร่งช่วง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้นอยู่ที่ 3.6-4.3 วินาที การทำงานของเกียร์อัตโนมัติ Steptronic 8 จังหวะ เป็นไปอย่างกระชับแต่นุ่มนวล แม้ว่าคุณจะตอกคันเร่งจนมันต้องชิฟท์ลงมา 2 เกียร์ในรวดเดียวก็ตาม ส่วนการเปลี่ยนละอองน้ำมันเบนซินและพลังงานไฟฟ้าให้กลายเป็นแรงหมุนของล้อและตัวเลขความเร็วบนหน้าปัดที่กระโดดขึ้นแบบพรวดพราดนั้นก็ทำได้เหมาะสมกับบุคลิกรถเป็นอย่างมาก คือเร็วแต่ไม่กระชาก จนผมอยากจะเรียกว่าสมบูรณ์แบบ

ส่วนเรื่องช่วงล่าง ผมใช้เวลาเกิน 80% หลังพวงมาลัย 745Le ในโหมด Sport โดยไม่มีใครบ่นถึงอาการกระด้างและสะเทือนให้ได้ยินแม้แต่คำเดียว ซึ่งก็คงบอกได้แล้วว่ามันเก็บอาการจากความไม่เพอร์เฟกต์ของผิวถนนเมืองไทยไว้ได้ดีขนาดไหน แต่อีกนัยน์นึงมันก็หมายความว่าโหมดอื่นๆ ที่เหลือนั้นจะยังมีบางจังหวะที่รู้สึกว่ามันนุ่มเกินไปหน่อยจนอาจจะทำให้คนนั่งที่เมารถง่ายเกิดอาการวิงเวียนได้อยู่บ้าง และแม้ว่าใช้โหมด Sport อาการของรถที่ความเร็วใกล้ท้อปสปีดก็ดูยังไม่มั่นใจ 100% เหมือนกับ BMW X7 M50d ที่รายนั้นนิ่งสนิทจนคิดว่าวิ่งอยู่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง  อย่างไรก็ตาม มันก็ดีขึ้นกว่า 740Le xDrive iPerformance อย่างมากมายมหาศาลแล้ว และผมเชื่อว่าในชีวิตจริงไม่มีใครจะได้ใช้ความเร็ว 200+ กันทุกวัน จนเรื่องนี้เป็นเหตุให้คุณต้องเปลี่ยนใจไปหารถคันอื่น แต่ถ้าหากเป็นเช่นนั้นผมคงแนะนำได้เพียงการเดินไปหาค่ายรถยนต์ที่ขึ้นต้นว่า P ดู หรือหากยังยึดมั่นว่าต้องเป็น ซีรีส์ 7 ก็อาจจะต้องกำเงินสัก 12 ล้าน ขยับไปหา BMW M760Li ที่จัดช่วงล่างมาเต็มพิกัด

แต่ถึงผมจะพูดอย่างนั้น การขับ 745Le xDrive M Sport ในบทที่เรียกม้าทุกตัวออกมารับใช้ พร้อมกับการมุดแทรกไปตามช่องว่างระหว่างคันรถบนถนนข้างหน้านั้น ก็ทำได้กระชับคล่องแคล่วอย่างสนุกสนาน มันไม่มีความรู้สึกเหมือนว่าคุณกำลังขับรถที่ขุมพลังกับตัวรถถูกสร้างขึ้นโดยวิศวกรสองทีมที่เป็นอริกัน และถูกแยกเก็บตัวเอาไว้คนละฝั่งของโรงงาน แต่มันเป็นความรู้สึกที่ทุกอย่างทำงานผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนนึงคงเป็นเพราะว่าโครงสร้างตัวถัง Carbon Core ของมันถูกสร้างขึ้นโดยมีโมเดลปลั๊กอินไฮบริดอยู่ในใจมาตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ โดยเฉพาะในบริบทที่ผมกำลังไล่ล่า 330e M Sport จอมซ่าที่เผลอตัดหน้าเราจนเกือบจะถูกกระจังไตคู่ดูดเข้ามาเก็บไว้ในห้องเครื่องยนต์ และพอรู้ตัวก็กดหนีสุดชีวิตนั้น มันก็ดูเหมือนว่าช่วงล่างจะมีระยะยุบตัวที่น้อยลงและกระชับขึ้นไปอีก ผมรู้สึกว่าขนาดของ 745Le xDrive M Sport หดลงเหลือเพียงรอบตัวจนลืมไปซะสนิทว่ารถที่ผมกำลังขับอยู่น่ะ มันยาวเกือบจะเท่ารถบรรทุก 6 ล้อที่แซงผ่านมาแล้ว นี่จึงไม่ใช่ ซีรีส์ 7 คันเดิมที่ผมเคยรู้จักในรหัส 740Le เมื่อสามปีก่อน และมันก็เหลือเชื่อมากว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงแค่รุ่น LCI ไม่ใช่ Model change

สรุป…ขับดีและสุนทรีย์ขึ้นมาก อุปกรณ์ล้ำสมัยยิ่งกว่าเดิม และราคาถูกลงราว 3 แสนบาท What else could you ask for?

เมื่อครั้งที่เราเอา BMW 630d GT M Sport มาทดสอบ ผมเคยบอกไว้ว่าถ้ามีเงิน 7 ล้านบาท และมีโอกาสที่ต้องขับรถเองอยู่บ่อยๆ คุณควรจะเลือก ซีรีส์ 6 แล้วเอาเก็บส่วนต่าง 2 ล้านบาทเอาไว้ไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า เพราะห้องโดยสารก็มีขนาดใหญ่โตเหลือเฟือน้องๆ ซีรีส์ 7 แล้ว และหลังคาด้านหลังที่ลาดลงในสไตล์รถ GT นั้นก็ทำให้ได้บรรยากาศความไปรเวทย์ได้โดยไม่ต้องพึ่งม่านหลัง แถมมันขับได้คล่องกว่า ซีรีส์ 7 แบบคนละเรื่อง แต่หลังจากใช้ชีวิตกับ 745Le xDrive M Sport มาหนึ่งวันเต็ม ถ้าให้เลือกใหม่ตอนนี้…ก็ไม่แน่ว่าผมอาจจะเลือก 745Le xDrive M Sport ก็ได้ เพราะเครื่องหกสูบทำให้ขับดีขึ้นมาก และเสียงก็เพราะมากด้วย ห้องโดยสารแม้จะขนาดต่างจาก 630d GT M Sport ไม่มาก แต่ด้านความหรูหรายังไงแล้ว ซีรีส์ 7 ก็กินขาด และภาพลักษณ์ภายนอกแบบ Luxury sedan ของ ซีรีส์ 7 ที่ดูมั่นใจ สง่างาม น่าเกรงขาม และเป็นการเป็นงานกว่า

ในโลกยุคที่รูปแบบรถยนต์หลากหลายขึ้นจนละลานตา จนคุณอาจเผลอคิดว่ารถบางประเภทมันสามารถทดแทนกันได้ 100% นั้น 745Le xDrive M Sport คือเครื่องย้ำเตือนใจคุณว่า เรือธงก็คือเรือธงอยู่วันยังค่ำ และมันคงยากที่จะมีรถคันไหนที่เหนือกว่าไปกว่านี้

Bimmer-th

The following two tabs change content below.
มนุษย์เงินเดือนผู้คลั่งไคล้ในรถยนต์สมรรถนะยอดเยี่ยม นักแข่งรถสมัครเล่นที่มักจะพบเห็นวิ่งดมฝุ่นอยู่ท้ายสนาม คุณพ่อของลูกสาวที่น่ารัก และหนึ่งในทีมงาน Bimmer-th.com

Comments

comments