ประวัติ BMW 5 Series Gen.1 (E12)-จุดเริ่มของรถผู้บริหารหนุ่มสาวไฟแรง

BMW 525 - 1st generation (03/2010)

ในปี 1972 BMW เผยโฉม 5 Series เจนเนอเรชั่นแรก รถซาลูนที่จะมีบทบาทสำคัญเป็นเสาหลักของแบรนด์ใบพัด เป็นรถรุ่นที่เกิดในระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัท ท่ามกลางบรรยากาศที่ระคนระหว่างความสุข สนุก และความหฤโหดในการดำรงชีวิตของยุคที่คนเราเริ่มประดิษฐ์ของใหม่ๆมาใช้ แต่ยังเผชิญความลำบากในหลายด้านโดยไม่มีโอกาสบ่นด่าลง Social Media ใดๆ ไม่มีชีวิตติดจอในรถขับเคลื่อนอัตโนมัติที่แสนสบาย เป็นยุคที่การขับขี่คือการเอามือหมุนกระจกลงรับลมระหว่างเดินทาง ขับกล่อมด้วยเสียงเพลงอย่าง Rocket Man ของ Elton John หรือ Summer Breeze (Seals & Croft) ถ้าเผอิญโชคดีว่ารถคุณมีเครื่องเสียง

นี่คือช่วงเวลาที่การขับรถ เป็นสิ่งที่ต้องใช้แรงงานมากกว่าความผ่อนคลายจากวันอันแสนเหนื่อย แต่ถ้าอยากใช้แรงงานแล้วยังดูดีไปด้วย รถของ BMW ก็ตอบโจทย์ เพราะในยุค 60s หลังจากฟื้นสภาพจากบริษัทที่เกือบถูก Mercedes-Benz ซื้อกิจการ BMW ก็กลับมายืนได้อีกครั้งในฐานะผู้ผลิตรถที่มีภาพลักษณ์เป็นหนุ่มสาว อยู่ตรงกลางระหว่างความสปอร์ตกับการใช้งานด้วยรถจากตระกูล New Class ทั้ง 1500, 1800 หรือ 2000 Coupe

แต่ BMW ในยุค 60s ในสายตาของนักวิเคราะห์ธุรกิจ ยังเป็นบริษัทรถยนต์ขนาดเล็กที่เอาวิศวกรรมมานำทุกนโยบาย สร้างรถสวยขับสนุก แต่คุณภาพวัสดุและการประกอบยังตามหลังดาวสามแฉก การบริหารงานภายในองค์กรและด้านการเงินเละเทะจากการดำเนินนโยบายแบบกล้าลุยกล้าเสี่ยงแต่ไม่ค่อยมีแบบแผน Herbert Quandt เจ้าของบริษัทซึ่งอายุใกล้เข้าวัยแซยิด จึงพยายามจัดระเบียบบริษัทด้วยแนวคิดว่าถ้าจะทำรถขายคนหนุ่มสาว คนที่มีบทบาทในการกุมบังเหียนบริษัท ก็ควรเป็นวัยแบบที่เหมาะกับรถ BMW

เขาจึงแต่งตั้ง Eberhard von Kuenheim วัย 41 ปีเป็น CEO นายคนนี้เคยดูแลบริษัทเครื่องจักร/อาวุธ IWK ในเครือ Quandt Group และเก่งจนสามารถพลิกสภาพการเงินบริษัทจากขาดทุนเป็นกำไรได้ใน 2 ปี หลังจากที่เข้ามาทำงานได้ไม่นานและวิเคราะห์จุดอ่อน/จุดแข็งของบริษัท เขากล่าวว่า

“เราเป็นบริษัทขนาดเล็ก ลูกจ้างทั้งหมดมีแค่ 23,000 คน ขายรถแค่ปีละ 140,000 คันทั่วโลก ซึ่งถ้า BMW ยังทำตลาดในฐานะแบรนด์คนหนุ่มสาวแล้วตั้งราคาขายแข่งกับ Volkswagen เราจะไม่มีทางเติบโตในด้านธุรกิจเลยด้วยยอดขายเพียงเท่านี้ มันมีทางเดียวที่จะรอดก็คือ ต้องขายรถให้แพงขึ้น แต่จะแพงขึ้นแค่ราคาก็ไม่ได้ รถของเราต้องดีขึ้นด้วย”

แต่เดิมนั้นรถขนาดกลางและเล็กของ BMW จะมีภาพลักษณ์ในระดับตลาดกลาง ในขณะที่รถใหญ่กว่าอย่างตัวถัง E3 (บรรพบุรุษซีรีส์ 7) และ E9 (ปู่ของ 6 และ 8 Series) จะมีภาพลักษณ์แบบรถหรูคู่คนรวย นโยบายใหม่ของ von Kuenheim ก็คือ จากนี้ไป BMW ทั้งหมดจะเป็นรถระดับพรีเมียมอย่างแท้จริง..เพื่อที่จะได้ขายแพงขึ้นแล้วทำให้บริษัทอยู่รอดได้นั่นล่ะ

เริ่มต้นในการออกแบบ สมัยนั้น BMW จ้าง Marcello Gandini (ซึ่งสังกัดสำนัก Bertone และเป็นผู้ออกแบบ Lamborghini Miura) มาสร้างรถต้นแบบ 2000ti Garmisch เอาไว้แล้ว แต่ดีไซน์จาก Gandini ดูหลุดโลกมากและยากต่อการผลิต ประกอบกับการที่ BMW กำลังต้องการรถซีดาน 4 ประตูขนาดกลางที่รูปทรงทันสมัย ทำให้ต้องหาคนมา “ตบ” ดีไซน์ให้เข้าร่อง

ถ้าคุณอยากพิชิตคู่แข่งในเรื่องการออกแบบ คุณจะทำยังไง? วิธีที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ ไปเอาตัวนักออกแบบของมันมา และนั่นคือสิ่งที่ von Kuenheim ทำแทบจะในทันทีหลังรับตำแหน่ง โดยไปดึงตัวเอา Paul Bracq ดีไซน์เนอร์ชาวฝรั่งเศสที่ทำงานให้ Mercedes-Benz มาซะเลย ตาคนนี้แกก็ไม่ธรรมดา เพราะเป็นคนที่คุมการออกแบบรถอย่าง 230SL “Pagoda” กับรถเรือธงอย่างรุ่น 600 และยังเป็นผู้ออกแบบรุ่น W114/W115 ตาตั้ง (บรรพบุรุษของ E-Class) มาก่อน

Bracq ผ่านงานด้านการออกแบบมาเยอะกว่า Gandini แต่ด้วยวัยที่ห่างกันแค่ 5 ปีเลยคุยกันพอรู้เรื่อง สองคนนี้ช่วยกันแก้ไขดีไซน์จนถูกใจ CEO โดยเริ่มจากการทำรถต้นแบบให้มีทรงเข้าตาคนมากขึ้น Bracq นำดีไซน์จาก BMW ตัวถัง E3 (ในภาพด้านบน) ซึ่งเป็นรถคลาสสูงกว่าที่ขายตั้งแต่ปี 1968 มาผสมผสาน และปรับทรงกระจังหน้า ไฟหน้าใหม่ และปรับตัวรถให้แคบเรียวยาวเพราะกลุ่มเป้าหมายหลักวัยหนุ่มสาวไม่ต้องการรถที่ขับแล้วดูแก่ CEO von Kuenheim บอกทุกแผนกให้ทำงานเหมือนกำลังจะสร้างรถขวัญใจอันดับ 1 ของวัย 25-40 เสมอ ส่วนถ้าจะเอารถไปขายคนที่แก่กว่านั้น ให้เป็นรถของ Bob Lutz (ผู้บริหารฝ่ายขายและการตลาด ซึ่งเข้ามาทำงานในปี 1971) จัดการเอา

โครงสร้างของรถขนาดกลางรุ่นใหม่นี้ เป็นแบบโมโนค็อก (ไม่มีเฟรม) ใช้เครื่องยนต์วางด้านหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง ช่วงล่างอิสระ 4 ล้อ ขนาดตัวถังยาว 4.69 เมตร กว้าง 1.69 เมตร จุดเด่นอีกประการในด้านวิศวกรรมคือ เป็นรถรุ่นแรกของ BMW ที่ใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบส่วนรับแรงกระแทกในยามชน (Crumple zone) ทั้งด้านหน้าและหลัง และยังมีโครงสร้างหลังคาที่ออกแบบเผื่อการพลิกคว่ำอีกด้วยโดยที่น้ำหนักรวมของรถก็ต้องเบากว่าคู่แข่ง และปรับจูนพวงมาลัยให้ตอบสนองได้คมและไวกว่า ทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามนโยบายของ CEO ที่ต้องการให้คุณค่าของรถ อยู่ที่วิศวกรรมที่สร้างมันขึ้นมา

ซึ่งวิธีการบริหารแบบ เอาวิศวกรรมนำ+การตลาดคอยช่วย+มีเป้าหมายที่ยากโคตรแต่ก็โคตรชัดเจน von Kuenheim นั้น แกก็เอามาจาก Soichiro Honda นั่นเอง สองคนนี้ได้พบกันในปี 1971 และด้วยความที่ทั้ง Honda และ BMW ก็มีมอเตอร์ไซค์เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ทำให้คุยกันถูกคอมาก ถึงขนาดที่ von Kuenheim ตั้งเป็น idol และเคยพูดว่า ถ้า BMW ต้องควบกิจการกับค่ายอื่น เขาก็อยากให้เป็น Honda

เมื่อแรกเปิดตัวในปี 1972 ลูกค้าพบกับความประหลาดใจอย่างแรกเมื่อวิธีการเรียกชื่อรุ่นถูกเปลี่ยนไป จากเดิมจะเป็นตัวเลข 4 หลัก เช่น 1500 หรือ 2000 หรือใช้ตัวเลขความจุเช่น 3.0S หรือ 3.0Si คราวนี้ เป็นครั้งแรกที่ BMW ใช้ตัวเลข 3 หลักในการบอกชื่อรุ่น โดยตัวเลขหลักแรกแทนซีรีส์ ที่ใช้บอกรุ่น/พิกัดรถ และเลขสองตัวหลังระบุความจุเครื่องยนต์ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมตกทอดมาจนสิ้นศตวรรษ นอกจากนี้ 5 Series E12 ยังเป็น BMW รุ่นแรกที่ย้ายก้านไฟเลี้ยวจากด้านขวามาอยู่ด้านซ้ายอีกด้วย

รุ่น “520” ใช้เครื่องยนต์ M10 4 สูบเรียง แคมชาฟท์เดี่ยว 2 วาล์วต่อสูบ 2.0 ลิตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์ Stromberg 175CDET มีกำลัง 115 แรงม้า แรงบิด 165 Nm ส่วนรุ่น “520i” จะใช้หัวฉีด..แต่เป็นหัวฉีดยุคเก่าแบบ Kugelfischer PL04 ซึ่งเป็นปั๊มจ่ายฉีดเชื้อเพลิงเข้าท่อไอดีทำงานแปรผันตามรอบเครื่อง, คันเร่งและอุณหภูมิโดยใช้กลไก ทำให้มีกำลังเพิ่มเป็น 130 แรงม้า แรงบิดก็เพิ่มเป็น 178 Nm (ในปี 1975 ระบบจ่ายเชื้อเพลิงค่อยเปลี่ยนเป็นหัวฉีดกลไกฉีดต่อเนื่อง Bosch K-Jetronic)

แม้ว่าเครื่อง M10 จะเป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่น New Class และติดตั้งจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 1962 แต่ความที่เป็นเครื่องยนต์ซึ่งออกแบบมาล้ำยุค และเผื่อเอาไว้ให้ปรับแต่งต่อได้อีกเยอะ จึงไม่มีความจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องยนต์ใหม่

แต่หลังจากนั้น ก็มีเวอร์ชั่น 6 สูบเรียงมาให้เลือก โดยใช้เครื่องยนต์ M30 12 วาล์ว จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์ Zenith 35/40 INAT ซึ่งก็นำมาจากรถตัวถัง E3/E9 ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาใช้ ในปี 1973 มีรุ่น “525” ที่ใช้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร 145 แรงม้า แรงบิด 211 Nm และต่อมา ในปี 1974 ก็มีรุ่น “528” เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร 165 แรงม้า แรงบิด 234 Nm นับเป็นเรือธงหรูสุดแรงสุดของบอดี้ E12 ในฝั่งยุโรป

ในปีเดียวกับที่เปิดตัว 528 ทาง BMW ก็มีรุ่นเครื่องเล็กเพิ่มเข้ามา เป็นรุ่น “518” ใช้เครื่องยนต์ M10 1.8 ลิตร 8 วาล์ว คาร์บิวเรเตอร์ Solex ซึ่งยกมาจาก BMW 1800 ที่จำหน่ายมานานแล้ว

ส่วนทางอเมริกานั้น ด้วยมาตรฐานด้านวิศวกรรมที่กำหนดโดยรัฐบาลสหรัฐฯทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์แบบมลภาวะต่ำ แต่ต้องมีความจุเยอะเพราะอเมริกันเขาชอบอะไรใหญ่ๆ จึงได้ใช้รุ่น “530i” US Spec ซึ่งเอาเครื่องยนต์ M30B30 จาก BMW 3.0CSL/3.0Si มาปรับจูนใหม่ ลดอัตราส่วนกำลังอัด ตั้งตั้ง EGR-ระบบหมุนเวียนไอเสียกลับมาเผาไหม้ใหม่ และระบบ Thermal Reactor ที่ท่อไอเสีย (เนื่องจาก Catalytic Converter รุ่นแรกของโลกที่ผลิตจริงเพิ่งเกิดในปี 1973 และยังไม่ได้ทดสอบใช้กับรถของ BMW) ทั้งหมดนี้ทำให้แรงม้าหล่นจาก 200 มาอยู่ที่ 176 แรงบิด 251 Nm

นอกจากนี้ รถ US Spec ยังต้องทำตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัย ใส่กันชนแบบที่สามารถรับแรงปะทะความเร็ว 5 ไมล์/ชม. ได้โดยที่ตัวรถไม่เสียหาย จึงมีกันชนแบบบิ๊กบัมเปอร์ที่ส่งผลให้ขนาดตัวรถยาวขึ้นเป็น 4.89 เมตร และมีชุดไฟเลี้ยวขนาดใหญ่ที่ด้านข้างรถ

5 Series E12 จะมีระบบส่งกำลัง 3 แบบ คือเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และ 5 จังหวะจาก Getrag ส่วนเกียร์อัตโนมัติ จะมีแค่ 3 จังหวะ ทำโดย ZF

ในช่วงแรกๆ รถ 520, 520i และ 525 จะผลิตจากโรงงานในเมือง Munich แต่หลังจากที่ผลิตไปได้ประมาณ 13,000 คัน ในเดือนกันยายน ปี 1973 BMW ก็ย้ายไปประกอบที่โรงงานในเมือง Dingolfing ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงกว่า นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน ยังเปิดไลน์ประกอบนอกประเทศเยอรมนีแห่งแรกสำหรับ 5 Series ที่ Rosslyn แอฟริกาใต้ ก่อนจะตามมาด้วยโรงงานย่อยในประเทศอื่นๆ เช่นอินโดนีเซีย และประเทศไทย

ในบรรดารถพิเศษของ 5 Series E12 นี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “530 MLE” ซึ่งเป็นรถทำออกมาขายเพื่อให้เป็นไปตามกฏของการเข้าร่วมแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตในแอฟริกาใต้ เป็นหนึ่งในรถที่มีความขลังและหายากที่สุด รถรุ่นนี้เกิดจากความร่วมมือของ BMW Group SA (South Africa) ร่วมมือกับช่างเทคนิคจากเยอรมนีและ BMW Motorsport GmbH (ชื่อของ M Division ในสมัยนั้น) โดยใช้บอดี้ E12 มาทำการลดน้ำหนัก เจาะรูส่วนที่เจาะได้แม้กระทั่งแป้นเหยียบทั้งสาม เพื่อหวังผลในการลดน้ำหนัก ปรับแต่งช่วงล่าง เบรก ใส่ล้ออัลลอยกับยางหน้ากว้าง ส่วนเครื่องยนต์ ก็ใช้เครื่อง M30B30 จาก BMW 530 เวอร์ชั่นแอฟริกาใต้ ซึ่งเดิมจะมี 177 แรงม้า แต่ปรับแต่งเพิ่มเติมจนได้กำลัง 197 แรงม้า เท่ากับ BMW 3.0 Si E3

530 MLE ถูกส่งไปแข่ง 15 ครั้ง โดยเริ่มต้นในปี 1976 และคว้าแชมป์ทั้ง 15 ครั้ง ทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็น 5 Series ที่ประสบความสำเร็จในเชิงมอเตอร์สปอร์ตมากที่สุด มีการผลิตออกมาสองล็อต ล็อตแรก 110 คัน ล็อตที่สอง 117 คัน จำหน่ายจริง 218 คัน ทำให้เป็นรถที่ทั้งคลาสสิค มีตำนานด้านความแรง และหายากราคาแพงมากที่สุดในบรรดา 5 Series ของนักสะสม

นอกจากรถอย่าง 530 MLE แล้ว ทางฝั่งยุโรปก็มีของแรงเช่นเดียวกัน แม้ว่าในไลน์อัพปกติ ตัวที่แรงสุดจะเป็น 528 ในขณะที่ในอเมริกา ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้จะได้เครื่อง 3.0 ไปใช้ แต่สิ่งที่หลายคนไม่ทราบคือ BMW Motorsport GmbH ก็ซุ่มทำ “Motorsport Package” เอาไว้ด้วย โดยลูกค้าจะต้องสั่งซื้อรถรุ่น 6 สูบอย่าง 525 หรือ 528 ก่อน จากนั้นในใบสั่งซื้อจะมี Section อัพเกรดความแรง ก็จะมีให้เลือกการอัพเกรดตามตัณหาของลูกค้า โดยเริ่มจากปี 1974 จะมีแพ็คเกจเครื่องยนต์ให้เลือกดังนี้

  • Motorsport 530 – เครื่องยนต์ M30B30V 3.0 ลิตรจ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์ Zenith 35/40 ยกมาจาก BMW 3.0S E3 177 แรงม้า ซึ่งก็คือเครื่องเดียวกับ 530 South Africa นั่นเอง และใช้เฟืองท้ายทด 3.45:1
  • Motorsport 530i – เครื่องยนต์ M30B30 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Bosch D-Jetronic ยกมาจาก BMW 3.0Si E3 ให้กำลัง 197 แรงม้า เฟืองท้ายอัตราทด 3.25:1 มีท่อไอเสียออกตรงกลางรถแต่เป็นท่อคู่ในขณะที่ Motorsport 530 จะเป็นท่อเดียว
  • Motorsport 533i – มาในตอนท้ายของโฉมก่อนไมเนอร์เชนจ์ ใช้เครื่องยนต์ M30B32 หัวฉีด Boshe L-Jetronic ให้กำลัง 197 แรงม้า แต่แรงบิดเพิ่มจาก 272 เป็น 290Nm ซึ่งเครื่องยนต์ตัวนี้ก็ถูกนำไปวางใน BMW 633CSi E24 ในช่วงปลายปี 1975

รถตระกูล Motorsport เหล่านี้จะมาพร้อมล้ออัลลอย 14 นิ้วกว้าง 7 นิ้ว เฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปล็อค 25% ช่วงล่างอัพเกรดจาก Bilstein ดิสก์เบรกอัพเกรดขนาดโตขึ้น พวงมาลัยสปอร์ต 3 ก้านขนาด 380 มิลลิเมตร เบาะ Recaro และชุดแต่งภายนอกที่มีลิ้นหน้า สปอยเลอร์หลัง และสติกเกอร์คาดจาก BMW Motorsport จนทำให้รถเหล่านี้ดูเผินๆแล้วเหมือน 530 MLE มาก

อย่างไรก็ตามถ้าลูกค้าต้องการ ก็สามารถเลือกที่จะไม่เอาชุดแต่งภายนอกก็ได้ ทำให้รูปลักษณ์ภายนอกดูเหมือน 525 หรือ 528 ธรรมดา ลูกค้าจะสั่งให้ไม่ต้องแปะป้ายบอกชื่อรุ่นเลยก็ยังได้ นี่ก็ทำให้รถ 5 Series Motorsport Pack กลายเป็น Sleeper ปู่แสบแอบแซ่บรุ่นแรกๆของ BMW เลยทีเดียว แต่ค่าอัพเกรดไม่ได้ถูกนัก ประมาณ 2,000 มาร์ก ซื้อ Volkswagen Beetle ได้ครึ่งคัน

ในระหว่างที่ 5 Series ออกขาย ในบริษัทก็ง่วนกับการพัฒนารถหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น E21 3 Series ที่มาแทน 02 Series E23 7 Series ที่มาแทน E3 และ E24 6 Series ที่จะต้องมาทำตลาดแทน E9 ในระหว่างนี้ Bob Lutz ผู้บริหารฝ่ายการตลาด และ Paul Bracq ก็ดันลาออกไปในเวลาใกล้เคียงกันอีก von Kuenheim ก็ต้องหาคนมาเติมตำแหน่งที่ขาดไป เขาจ้างนักออกแบบชื่อ Claus Luthe ซึ่งเคยทำงานกับ Audi มาคุมฝ่ายออกแบบ และให้งบประมาณที่จำกัดมากในการสร้าง E12 เวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์

Luthe ไม่ได้ทำอะไรมากกับ E12 รุ่นอัพเกรดนี้ ทรวดทรงหลักของรถยังเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนฝากระโปรงหน้า ย้ายฝาถังน้ำมันจากด้านท้ายรถ ไปอยู่ที่ด้านข้าง เปลี่ยนรูปทรงดีไซน์ไฟท้ายให้มีความสอดคล้องกับพี่ใหญ่อย่าง E23 และ E24 แต่สำหรับภายในก็มีการเปลี่ยนทรงของแดชบอร์ดตรงช่องเป่าลมแอร์ใหม่

ในช่วงเวลานี้ การทำงานของแผนกดีไซน์จะค่อนข้างลำบาก เพราะในขณะนั้นท่าน Herbert Quandt ต้องการเป็นคนอนุมัติดีไซน์ของรถก่อนผลิตจริง ปัญหาคือ Quandt ในวัย 60 กลางๆ มีปัญหาสายตาจนทำให้มีสภาพไม่ต่างอะไรกับคนตาบอด อะไหล่ ชิ้นส่วน ที่เปลี่ยน ต้องส่งไปให้ท่าน Quandt เอามือคลำ ทรวดทรงของรถที่เปลี่ยนไป ก็ต้องทำโมเดลปั้นขนาดเล็กไปให้ท่านคลำก่อน ส่วน CEO von Kuenheim ก็ช่วยดูแลเรื่องการบริหารเงิน และตัดสินใจให้ Luthe ออกแบบ 5 Series เจนเนอเรชั่นใหม่เตรียมไว้ โดยใช้ดีไซน์หลักจาก E12 แต่เปลี่ยนดีไซน์จริงๆแค่ด้านหน้า ท้าย ภายใน และระบบทางวิศวกรรม ทั้งหมดนี้เพื่อเซฟเงินไว้ลงกับโปรเจคท์พลิกโฉมหน้าของ 3 Series E30 และ 7 Series E32

นอกจากนี้ von Kuenheim ยังให้วิศวกร ศึกษาการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในรถยนต์เพิ่มเติม เพราะเขาไปคุยกับหนึ่งในผู้บริหารของ Mercedes-Benz ในงานโชว์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ แล้วได้ยินคำพูดว่า “ผมไม่ใช่ของแบบนี้ในรถของผมแน่ล่ะ” von Kuenheim เลยคิดได้ว่า “งั้นเราต้องทำในสิ่งที่เขาไม่ทำ ต้องอาศัยจังหวะนี้ทำรถของ BMW ให้แตกต่าง ทันสมัยกว่า”

E12 เวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ จึงเปรียบเสมือนแท่นทดสอบเคลื่อนที่ ให้ BMW ลองหลายสิ่งหลายอย่างก่อนที่จะนำไปใส่ในรถรุ่นถัดๆมา เพียงแต่ว่าหลายอย่างยังไม่ได้นำมาติดตั้งจำหน่ายให้ลูกค้าจริงๆเท่านั้น

ในด้านเครื่องยนต์ 5 Series E12 ไมเนอร์เชนจ์ปี 1976 ก็มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน

  • 520 และ 520i ที่ใช้เครื่อง 4 สูบ ถูกยกเลิกไปในตลาดหลัก เหลือเพียงแค่บางประเทศเช่นแอฟริกาใต้ BMW นำเครื่องยนต์ 6 สูบเรียงบล็อคเล็ก 12 วาล์ว รหัส M20B20 ที่เพิ่งพัฒนามาใหม่ เปลี่ยนจากการใช้โซ่ขับแคมชาฟท์เป็นสายพาน ความจุ 2.0 ลิตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์ มีกำลัง 122 แรงม้า และแรงบิด 163 Nm
  • 525 เปลี่ยนคาร์บิวเรเตอร์คู่ของ Zenith ออก เป็นคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวของ Solex 4A1 DVG กำลังเพิ่มเป็น 150 แรงม้า แต่แรงบิดลดลงเล็กน้อยเหลือ 208 Nm
  • 528 เปลี่ยนคาร์บิวเรอเตอร์เช่นเดียวกัน ได้ม้าเพิ่ม 5 ตัว เป็น 170 แรงม้า แรงบิด 234Nm เท่าเดิม

แต่เพื่อให้ทันต่อยุคหัวฉีดนิยม ในปี 1977 528 คาร์บิวเรเตอร์ก็เลิกผลิต และเปลี่ยนเป็นรุ่น 528i จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Bosch L-Jetronic ได้แรงม้าเพิ่มเป็น 184 แรงม้า แรงบิด 235 Nm

ในปี 1978 รถ 530i ที่จำหน่ายในอเมริกาก็ถูกแทนที่ด้วย 528i ที่ใช้เครื่องยนต์เดียวกับเวอร์ชั่นยุโรป แต่ติดตั้งเครื่องกรองไอเสียแบบสามทาง และมีการติดตั้ง Oxygen Sensor ส่งค่ากลับไปกล่อง ECU เพื่อปรับการจ่ายน้ำมันให้ก่อมลพิษน้อยที่สุด แรงม้าจึงลดลงเหลือ 173 แรงม้า

ส่วนรถจากทาง BMW Motorsport GmbH ก็ได้แพ็คเกจใหม่เป็น Motorsport 535i ซึ่งใช้เครื่องยนต์เดียวกับ BMW 635CSi Phase 1 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ M90 (หลังจากปี 1982 ไปจึงจะเป็นเครื่อง M30B34) M90 ก็คือเครื่องยนต์ M88 ที่มาจาก BMW M1 ซูเปอร์คาร์คันแรกของค่าย แต่ถอดฝาสูบแบบ 24 วาล์วออก เปลี่ยนเป็นฝาสูบ SOHC 12 วาล์วจากเครื่องยนต์ M30 มีแรงม้าสูงสุด 218 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 Nm มีชุดแต่งรอบคันเช่นเดียวกับรถ Motorsport Package ที่มีมาก่อนหน้า และลูกค้ายังสามารถเลือกไม่ใส่ชุดแต่ง เพื่อรับความเป็น Sleeper ก็ได้เช่นกัน

ทว่า รถ E12 ที่ติดตั้ง Motorsport Package นั้น ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะนับตั้งแต่ปี 1974 จนถึง 1979 มีรถ 5 Series ที่โมดิฟายแบบนี้จำหน่ายไปเพียงไม่เกิน 250 คันเท่านั้น ทั้ง BMW และทาง BMW Motorsport GmbH จึงต้องกลับไปคิดวิธีการทำตลาดใหม่ ผลที่ได้ ก็คือเจ้าสิ่งนี้

เรียกได้ว่า ถ้าทำแบบเงียบๆอยู่ในโบรชัว์สงสัยจะไม่เกิด..เลยต้องเล่นชุดใหญ่ไฟกระพริบ เป็นที่มาของ BMW M535i “The M5 before M5” เป็นรุ่นพิเศษที่แสดงความเป็นมอเตอร์สปอร์ตเต็มขั้น ใช้เครื่องยนต์ M90 ตัวเดียวกับ Motorsport 535i และตกแต่งแบบสปอร์ตเช่นเดียวกัน ปรับเปลี่ยนเฟืองท้ายจาก 3.25 เป็น 3.07:1 เพิ่มเบาะสปอร์ตจาก Recaro มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ชุดมาตรวัดมาพร้อมกับเข็มความเร็วสุดที่ 240 กม./ชม. มีชุดเครื่องมือพร้อมฝาปิดติดอยู่ที่ฝากระโปรงท้ายมาให้ สมรรถนะอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จบภายใน 7.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 222 กม./ชม.

พูดง่ายๆก็คือ M535i ก็คือ Motorsport 535i นั่นแหละ แต่แทนที่จะเป็นแพ็คเกจลับๆที่น้อยคนจะรู้ ก็เอามาทำตลาดเป็นโมเดลพิเศษให้คนรู้กันทั่วโลกไปเลย และยังใช้เป็นเครื่องมือทดสอบการรับรู้ของตลาดสำหรับแผน Super Saloon ที่พวกเขาคิดว่าจะทำใน 5 Series เจนเนอเรชั่นถัดไป (ซึ่งก็คือ M5 E28) ผลที่ได้ก็คือ ปังมาก! เพราะแม้จะเพิ่งผลิตจำหน่ายในปี 1980 ซึ่งเป็นปีท้ายๆของตัวถัง E12 แล้ว M535i ก็ทำยอดขายในยุโรปได้มากถึง 1,410 คัน และมีรถที่ออกจากโรงงานแอฟริกาใต้เพื่อขายในท้องถิ่นอีก 240 คัน รวมเป็น 1,650 คัน!

BMW Motorsport GmbH ได้รู้แล้วว่า รถซาลูนพลังม้าสูงแบบนี้สามารถขายได้จริงถ้าได้รับการทำตลาดแบบที่คนรับรู้ทั่วถึง มันคือจุดสตาร์ทที่ทำให้เรามี M5 อยู่ในทุกวันนี้

BMW 5 Series E12 ยุติการทำตลาดในยุโรปเมื่อ E28 เข้ามาแทนในปี 1981 แต่โรงงาน Rosslyn ในแอฟริกาใต้ ยังรับชุดอะไหล่จากเยอรมนีมาประกอบขายต่อไปเรื่อยๆจนถึงปี 1984 ยอดผลิตในประเทศเยอรมนีจากโรงงาน Munich และ Dingolfing รวมได้ 699,000 คัน และยังมีรถจากโรงงาน Rosslyn อีก 23,100 คัน และอีกบางประเทศที่ไม่สามารถหาข้อมูลตัวเลขมายืนยันได้ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า E12 สามารถจำหน่ายไปได้มากกว่า 700,000 คัน

)

ฟังดูก็ไม่น่าจะตื่นเต้น ถ้าเทียบกับ Mercedes-Benz W114/W115 ตาตั้ง ที่ขายตัวโลกมากกว่า 1.7 ล้านคัน แต่เมื่อมองไปยังสถานะของบริษัท ณ วันที่รถเหล่านี้ถูกผลิต Mercedes-Benz เป็นบริษัทที่อยู่คงกระพันอย่างเกรียงไกรมาตลอด ในขณะที่ BMW เพิ่งจะรอดจากการถูก Mercedes-Benz งาบในปี 1959 และเพิ่งจะตั้งตัวได้ในปลายยุค 60s โดยที่การบริหารจัดการและปัจจัยหลายด้านไม่อำนวย แต่ความล้ำสมัยของ BMW ก็กระตุกค่ายดาวสามแฉกให้เกิดความระแวดระวังมากขึ้น คุณลองเอา W114/W115 มาเทียบรูปกับ E12 ก็ได้ แล้วจะไม่คิดเลยว่านั่นคือรถที่อายุโมเดลต่างกันแค่ 4 ปี สิ่งนี้ ทำให้ Mercedes-Benz ใช้งบประมาณมหาศาลในการพัฒนา W123 ออกมาให้ดูล้ำยุคไม่แพ้กัน

แต่ในสายตาลูกค้าผู้รักการขับขี่ โดยเฉพาะลูกค้าวัยหนุ่ม/สาว BMW 5 Series คือจุดเริ่มต้นของการนำวิศวกรรมนำหน้า ตามนโยบายที่ BMW ถนัด มารวมกับการบริหารแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์เข้าสู่ตลาดรถระดับพรีเมียมเกรดเดียวกับ Mercedes-Benz อย่างเต็มตัว ในขณะที่ยังพยายามโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการขับขี่และดีไซน์ทันสมัยไปด้วยกัน ทำให้ BMW 5 Series กลายเป็นรถยอดนิยม ที่บ่งบอกว่าเจ้าของรถคันนั้น คือผู้ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย รถของ BMW ไม่ใช่รถแบบที่ใครสักคนรอซื้อให้เป็นรางวัลชีวิตของตัวเองในวัยบั้นปลาย แต่เป็นรถของคนที่ Work Hard, Play Hard มีความทะเยอทะยาน เพื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ชั้นดีตั้งแต่อายุยังไม่ข้ามหลักสี่

และผมเชื่อว่าสิ่งที่ E12 ลงรากฝังไว้นับตั้งแต่ยุคนั้น ก็ยังส่งผลในด้านความเชื่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ ที่ 5 Series เปลี่ยนรหัสตัวถังเป็น G และใช้เพียงเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร ก็เพียงพอจะวิ่งไล่ไปกับ M535i ได้แล้ว

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments