BMW Z4 โฉมล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปนั้นคือสัญญาณที่บ่งบอกให้โลกรู้ว่าค่ายใบพัดฟ้าขาวของเรายังไม่ยอมทิ้งตลาดโรดสเตอร์ไปง่ายๆ ทั้งๆที่จำนวนยอดขายรถประเภทนี้ รวมถึงรถคูเป้สองประตูทั้งหลายกำลังอยู่ในช่วงขาลง ถูกกลืนกินโดยความต้องการอย่างมหาศาลที่ผู้บริโภคมีต่อรถประเภท SUV หรือ Crossover
แต่ถามใจตัวคุณเองเถิด มีชาว BMW กี่คนกันที่จินตนาการถึง Best driving road ตามหุบเขาสวยๆ โค้งมันส์ๆ อากาศเย็นเป็นใจไร้สายฝน มีแค่คุณกับคนที่คุณอยากให้ไปร่วมทางด้วยอีกแค่คนเดียว …แล้วจากนั้นก็บวกรถ SUV คันโตๆโย่งๆ เครื่องยนต์ดีเซลหรือไฮบริดมีรูปลั๊กเข้าไปในฝันงามๆของพวกเขา? “โอ้ ซาร่าห์ เรามาเปิดกระจกฟังเสียงเครื่องยนต์ดีเซลสะท้อนก้องไปในหุบเขา ฟังสิซาร่าห์ นั่นคือเสียงดนตรีที่เพราะที่สุดในโลกสำหรับผม” ถ้าคุณคิดแบบนั้นจริงๆ ซาร่าห์ในฝันอาจจะเขกกบาลคุณสามทีซ้อนก่อนจะบอกว่า “ไม่ใช่ค่ะเดวิด สถานที่แบบนี้ อรรถรสแบบนี้ คุณต้องใช้โรดสเตอร์เปิดหลังคา และถ้าเป็นไปได้คุณต้องเลือกเครื่อง 6 สูบแบบที่ BMW เขาถนัด นั่นสิเว้ยถึงเรียกว่าอรรถรส”
และอรรถรสในการขับขี่นี่ล่ะคือสิ่งที่ทำให้หลายคนเป็นเจ้าของ BMW แต่ทว่าการสร้างโรดสเตอร์ออกมาขายสักคัน สำหรับพวกคุณ อาจจะมองว่าง่าย เงินหนา งบเยอะ วิศวกรมีก็ทำได้ แต่สำหรับ BMW นั้น มันคือสิ่งที่เคยฝากรอยแผลเป็นขนาดใหญ่เอาไว้ เมื่อพวกเขาสร้างตำนานโรดสเตอร์อย่าง BMW 507 ออกมาในปี 1955 รถคันนั้นมีความปราดเปรียวสวยงาม เป็นผลิตผลจากความต้องการของพ่อค้ารถยนต์อย่าง Max Hoffman ที่เก็งเอาไว้ว่า รถสวยอย่างนี้ ขายได้ 5,000 คันแน่นอน แต่พอถึงเวลาจริง กลับผลิตออกมาแค่ 252 คัน
และแม้จะผลิตออกมาแค่นั้น ก็ยังทำให้บริษัทขาดทุนไป 15 ล้านมาร์กเยอรมันในช่วงที่บริษัทกำลังใกล้เจ๊ง ทำให้ BMW ตกอยู่ในฐานะลำบากจนผู้ถือหุ้นและบอร์ดผู้บริหารพร้อมใจกันบอกว่าขายกิจการให้เบนซ์เถอะ
โชคดีที่พลังใจของคนงาน BMW ก่อให้เกิดกลุ่มผู้กล้า ขอเข้าพบกับนักธุรกิจผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งของ BMW อย่าง Herbert Quandt พร้อมขอร้องให้เขาช่วยรักษาบริษัทนี้เอาไว้ คุณ Herbert รับฟังและพยายามรวบรวมเงินจำนวนมากกับ Harald Quandt ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชาย พ่อเดียวกัน แต่คนละแม่ จนทำให้ตระกูล Quandt ถือหุ้นใน BMW มากกว่า 50% และมีอำนาจสั่งเปลี่ยนทิศทางบริษัทไปสร้างสปอร์ตซาลูนที่ราคาดี สามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้นจน BMW กลับมาตั้งตัวได้ และเป็นบริษัทรถยนต์รายหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลกที่ไม่มีใครอยู่เหนือหัว
ดังนั้น มันจึงกินเวลานานทีเดียวกว่าพวกเขาจะกล้าสร้างรถแบบโรดสเตอร์ออกมาอีกครั้ง ผ่านจากยุคสมัยของ BMW 507 โลกของเราได้ผ่านเหตุการณ์หลายอย่าง..คอมมิวนิสต์ VS ทุนนิยม, การขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์, สงครามเวียดนาม, การทลายกำแพงเบอร์ลิน และเสียงเพลง We are the world แล้วหลังจากนั้น ทีมโจรสลัดสังกัดลับของ BMW ก็สร้างโรดสเตอร์ขึ้นมาคันหนึ่ง
BMW Z1 (E30) 1988-1991
นี่คือสิ่งที่ได้จากการรอคอยนานกว่า 30 ปี และด้วยความที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงพลังทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทาง BMW จึงเลือกใช้ตัวอักษร Z เป็นชื่อรุ่น ซึ่ง Z นั้นย่อมาจากคำว่า Zukunft ที่เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า “อนาคต”
Z1 เป็นผลงานของฝ่าย BMW Technik ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1985 เพื่อค้นคว้าวิจัยแนวทางสำหรับการออกแบบรถรุ่นใหม่ๆ รวมถึงชิ้นส่วนประกอบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ฝ่ายนี้มีบอสใหญ่ชื่อ Dr. Ulrich Bez ซึ่งลาออกจาก Porsche มาทำงานกับ BMW ในปี 1982 (ก่อนจะกลับไปที่นั่นอีกครั้งในปี 1988) ส่วนฝีมือการออกแบบรถ นำโดย Harm Lagaay ชาวดัทช์ผู้ซึ่งเคยมีส่วนในการออกแบบ Porsche 911 และเป็นผู้ดีไซน์ 924 ส่วนพื้นฐานทางวิศวกรรมของตัวรถนั้น มาจากซีรีส์ 3 E30 ยกเว้นช่วงล่างหลังซึ่ง BMW พัฒนามาใหม่ ตั้งชื่อว่า “Z Axle” ซึ่งจะว่าไป มันก็คือช่วงล่างแบบมัลติลิงค์นั่นเอง โดย BMW เลือก Z1 เสมือนห้องทดลองบนถนนจริง ก่อนที่จะประสบผลสำเร็จและประยุกต์ไปใช้กับ BMW ยุค 90s ในเวลาต่อมา
ไม่มีอะไรแปลกถ้าคุณมองแค่ใต้ฝากระโปรง เพราะเครื่องยนต์ของมันก็คือ M20B25 จาก 325i E30 ซึ่งให้กำลัง 170 แรงม้า สร้างอัตราเร่งได้น่าพอใจแล้วถ้าวัดกันในมาตรฐานของรถสมัยนั้น ระบบส่งกำลังมีเพียงแค่เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แล้วไอ้ความ “อนาคต” ของรถ Z1 อยู่ตรงไหน? ก็อยู่ตรงที่แพลทฟอร์มใหม่ที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อโรดสเตอร์อย่าง Z1 โดยเฉพาะ บอดี้ของ Z1 นั้นจะมีผิวตัวถังภายนอกที่แยกออกเป็น 13 ชิ้น สามารถถอดออกได้ โดยประตูและแก้มข้าง ทำมาจาก ThermoPlastic ที่พัฒนาโดย General Electrics ส่วนฝากระโปรงหน้าหลังทำมาจาก GRP ซึ่งทุกส่วนจะถูกพ่นเคลือบด้วยแล็คเกอร์ชนิดพิเศษที่มีความยืดหยุ่นสูง เนื่องจากวัสดุพลาสติกจะบิดตัวไปมาได้มากกว่าเหล็ก ถ้าใช้แล็คเกอร์ปกติสำหรับรถตัวถังเหล็ก ชั้นแล็คเกอร์อาจจะร้าวได้
คนขายของ BMW เองยังเชียร์ให้ลูกค้าซื้อรถ 1 คัน แล้วซื้อ “เปลือก” ตัวถังภายนอกที่มีสีแตกต่างออกไปแล้วก็บอกลูกค้าว่า “คุณสามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนภายนอกของรถ เหมือนได้รถอีกสีนึงโดยไม่ต้องทำสี และใช้เวลาแค่ 60 นาทีก็ถอดเปลี่ยนได้หมด” แต่ในความเป็นจริงขั้นตอนดังกล่าว ต่อให้ใช้คนที่รู้งานช่างงานถอดประกอบ ก็กินเวลาราว 3 ชั่วโมง และถ้าเป็นตาสีตาสาทั่วไปก็อาจจะข้ามวัน
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นทางด้านการออกแบบของ Z1 ก็คือประตูที่เปิดแบบ Vertical Sliding ซึ่งหาดูได้ยากในรถทั่วไป เมื่อต้องการจะเข้าไปนั่งในรถ ก็กดปุ่มที่บริเวณข้างรถ จากนั้นทั้งบานกระจกและบานประตูจะเลื่อนไหลหายตุ๋มลงไปในธรณีประตู เวลาปิด ก็เลื่อนกลับเข้าที่เดิม ทั้งหมดนี้ทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แต่มีกลไกสำรองสำหรับเลื่อนประตูลงได้ในกรณีที่มอเตอร์ไฟฟ้าเสีย
หลายคนกล่าวว่า นี่ืคือจุดที่เด่นที่สุดในสายตาของลูกค้าตัวจริง เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำในรถเวอร์ชั่นขายจริงยี่ห้ออื่น เป็นของหาดูได้ยาก และยังเปิดโอกาสให้สายลมได้มีโอกาสเป่าตั้งแต่หัวไปจนเกือบถึงหัวนม เหมือนกับโรดสเตอร์จากในอดีตบางรุ่นที่ไม่มีประตู เป็นการสร้างอรรถรสแบบที่ชาวโรดสเตอร์เท่านั้นจะเข้าใจ
ด้วยเทคโนโลยีต่างๆของ Z1 บวกกับรูปทรงที่นับว่าทันสมัยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาในยุค 80s ทำให้กระแสตอบรับของมหาชนดีเกินคาด เมื่อ BMW เผยโฉมรถเวอร์ชั่นผลิตจริงที่อิตาลีในปี 1988 ถึงตอนนั้นยอดจองก็ปาเข้าไป 5,000 คันแล้ว แม้ว่าราคาที่ตั้งไว้จะสูงถึง 83,000 มาร์คเยอรมันซึ่งแพงเท่ากับซาลูนคันใหญ่ระดับหรู และแพงกว่า 325i Coupe แบบคนละเรื่อง แม้แต่ M3 E30 ที่ขายอยู่ในยุคนั้นราคาเริ่มต้นยังไม่ถึง 60,000 มาร์คด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ความแพงของมันนี่ล่ะทำให้กระแสความนิยมลดลงอย่างรวดเร็วในปี 1989 คนซื้อก็ได้แต่ฝัน ส่วน BMW ก็บอกว่าราคานี้ไม่ได้ฟันลูกค้าหรอก เพราะความซับซ้อนในการผลิตและต้นทุนที่เกิดจากตัวถังวัสดุพิศดารของมันนั่นล่ะทำให้แม้จะขายราคา 2 เท่าของซีรีส์ 3 แล้ว BMW ก็ยังขาดทุนอยู่ดี ดังนั้นในปี 1991 พวกเขาจึงตัดสินใจเลิกผลิต โดยเมื่อนับทั้งหมดแล้ว มี Z1 ถูกขายไปทั้งสิ้น 8,000 คัน ทั้งหมดเป็นรถพวงมาลัยซ้าย
BMW Z3 Roadster (E36/7) & Z3 Coupe (E36/8) 1995-2002
หลายคนอาจจดจำ Z3 ในฐานะรถโปรโมตคันเด่นของภาพยนตร์ James Bond ตอน Goldeneye ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกมากที่ตัวแทนแห่งความเป็นอังกฤษจ๋าอย่างสายลับ 007 จะมาขับรถเยอรมันอย่าง BMW ผมจำได้ว่าตอนนั้นโดดเรียนไปดู Goldeneye เพราะอยากเห็นรถ Z3 สีฟ้าในฉากแอ็คชั่นมันส์ๆ แต่แล้วก็ผิดหวังเพราะมันโผล่มาให้คู่พระคู่นางเอาก้นแปะขับไปบนถนนลูกรังแป๊บเดียว แล้วก็ให้ CIA อีกคนรับรถกลับไป..เข้าใจว่าถ้าเอามาทำฉากไล่ล่า ผู้กำกับคงปวดหัวเพราะลำพังกำลังแค่ 140 แรงม้าคงไล่รถของผู้ร้ายไม่ทัน
ฟังดูแล้วเหมือนมันไม่ใช่รถที่น่าสนใจเลย แต่ถ้าเราหยุดติดตาม Z3 ตั้งแต่ตอนนี้ เราจะพลาดของดีอีกหลายอย่างที่กำลังจะตามมา
ผู้บริหารระดับสูงของ BMW ไฟเขียวให้เริ่มสเก็ตช์โรดสเตอร์คันใหม่ที่จะมาแทน Z1 ตั้งแต่ปี 1989 แต่กว่าโครงการจะตั้งเป็นรูปเป็นร่างจริงก็ต้องรอถึงปี 1991 ซึ่งแน่นอนว่าแนวทางการออกแบบ ก็ยังยึดติดกับการเป็นรถ 2 ที่นั่งขับเคลื่อนล้อหลัง หน้ายาว ท้ายสั้นเหมือนเดิม แต่ทั้งนี้บรรดาผู้บัญชาการทั้งหลายก็บอกว่า “ทำรถที่มันขายได้ ในราคาที่ขายได้” เพราะถ้าเล่นเทคนิคล้ำยุคมากแบบ Z1 มันก็จะต้องขายในราคาของ Z1 แล้วก็จะขาดทุนอีกเหมือนเดิม
Burkhard Göschel รับหน้าที่หัวหน้าโครงการ เขายกหน้าที่การออกแบบภายนอกให้กับชาวญี่ปุ่นชื่อ Joji Nagashima เพราะสมัยนั้นนายคนนี้กำลังมาแรงในคอกดีไซน์ของ BMW เพราะมีส่วนช่วยคุณ Pinky Lai ออกแบบ E36 และงานออกแบบภายนอกของเขาสำหรับซีรีส์ 5 E39 ยังได้รับเลือกให้ไปอยู่ในรถคันจริงอีกด้วย เรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบของทีมงาน เพราะด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุน ทำให้ต้องใช้พื้นฐานทางวิศวกรรมร่วมกับซีรีส์ 3 E36 ซึ่ง Nagashima เคยผ่านมือและรู้ว่าอะไรคือข้อจำกัดในการออกแบบ
โครงสร้างด้านหน้าของรถร่วมถึงช่วงล่างของ Z3 ใช้ร่วมกันกับ E36 แต่ช่วงล่างหลัง แทนที่จะเป็น Z-axle แบบ E36 รุ่นอื่นๆ มันกลับไปใช้เซมิเทรลลิ่งอาร์มแบบเดียวกับ ซีรีส์ 3 Compact (E36/5) ซึ่งเป็นช่วงล่างแบบที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัย E30 จึงเป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยว่าทำไมในเมื่อ BMW อุตส่าห์คิดค้น Z-axle มาใช้ใน Z1 แล้วจึงย้อนกลับไปหาเทคโนโลยีแบบเก่าอีก บางคนว่าเป็นเรื่องการคุมต้นทุน บางคนก็เชื่อว่าเซมิเทรลลิ่งอาร์มกินพื้นที่น้อย และทำให้สามารถออกแบบทรวดทรงท้ายรถได้อย่างที่ Z3 เป็น
BMW เผยหน้าตา Z3 เวอร์ชั่นจริงออกสื่อ VDO Release ในเดือนมิถุนายน 1995 และสายการผลิตเริ่มขึ้นในวันที่ 20 กันยายนปีเดียวกันที่โรงงานในเขตเทศบาล Spartanburg รัฐ South Carolina สหรัฐอเมริกา มันจึงนับเป็น BMW รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ผลิตจากเยอรมนี
ในช่วงแรกที่เปิดตัว มีแค่รุ่นเครื่องยนต์ 4 สูบ M43 แคมชาฟท์เดี่ยว 1.8 ลิตร 8 วาล์ว 116 แรงม้า กับ M44 ทวินแคม 1.9 ลิตร 16 วาล์ว 140 แรงม้า ต้องรอจนถึงปี 1997 เครื่องแบบ “หกเรียงเสียงหวาน” M52B28 2.8 ลิตร 24 วาล์ว 192 แรงม้ามาให้เลือก
ในปีเดียวกันกับที่เครื่อง 2.8 ลิตรมาลงในบอดี้โรดสเตอร์ BMW ก็เผยโฉม Z3M Roadster และ M Coupe ซึ่งใช้เครื่องยนต์จาก M3 (S50B32) 3.2 ลิตร 6 สูบเรียง 24 วาล์ว 321 แรงม้า แต่รุ่นเกียร์ธรรมดาจะได้เกียร์แบบ 5 จังหวะ ZF S5-31 เท่านั้น ไม่ได้มีโอกาสใช้เกียร์ 6 จังหวะแบบ M3 E36 รุ่นอัปเดต ถึงกระนั้นนี่ก็เป็นสิ่งที่สาวกโรดสเตอร์เท้าหนักรอมาตลอด อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จบใน 5.4 วินาที ได้ตัวเลขเท่ากับ M3 3.2 ลิตร
แต่ถ้าเป็นตลาดอเมริกา..อันนี้จะซวยหน่อยเพราะได้ใช้เครื่องยนต์ S52 ซึ่งพูดก็พูดเถอะ มันคือเครื่อง M52 สเป็คอเมริกาเสื้อสูบเหล็กหล่อที่ขยายความจุกระบอกสูบจาก 2.8 เป็น 3.2 ลิตรและใช้แคมชาฟท์องศา/ระยะยกสูงขึ้นนิดหน่อย ทำให้ได้พลังแค่ 240 แรงม้า นี่ก็เป็นไปตามกรรมเดียวกับ M3 US Spec สมัยนั้นที่ต้องใช้เครื่องยนต์แบบ M ไม่เต็มบาตรเช่นเดียวกัน
เรายังไม่ได้กล่าวถึงความเป็นมาของบอดี้ Coupe? อันที่จริงก็อยากเรียกว่า Hatchback จะคุ้นต่อหูนักเลงรถชาวไทยมากกว่า Shootingbrake หรือคำสวยหรูอื่นๆ แต่เอาเถอะ บอดี้ E36/8 (Coupe) นี่จะมีทั้งเครื่อง M 3.2 ลิตรและเครื่องยนต์ M52 2.8 ลิตรให้เลือก (รุ่น 2.8 ตามมาทีหลัง) มันคือผลิตผลทางความคิดจากหัวหน้าโปรเจคท์ Burkhard Göschel ซึ่งอยู่ดีไม่ว่าดี ไปดักสะกิดผู้บริหารแล้วบอกว่า “ผมอยากลองทำดู..ถ้า Z3 ได้หลังคาแข็ง ทำตัวถังให้แข็งเหนียวขึ้น มันน่าจะขับสนุกมาก” ซึ่งในตอนแรกผู้บริหารแต่ละคนส่ายหน้า เพราะไม่รู้จะทำไปแข่งหาพระแสงกับ M3 ทำไม แต่ท้ายสุดก็อนุมัติ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเอาโครงการนี้ไปทำเป็นงานฝิ่นนอกเวลา และต้นทุนต่อคันต้องไม่มากไปกว่ารุ่นโรดสเตอร์ ต้องใช้ชิ้นส่วนร่วมกันให้ได้มากที่สุด
ผลที่ได้คือหน้าตาที่แปลกประหลาด ดีลเลอร์เห็นแล้วส่ายหน้า ไม่อยากขาย แต่นั่นก็ทำให้ทุกวันนี้ M Coupe E36/8 เป็นรถที่หายากยิ่ง จะสวยหรือไม่ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป โดยเฉพาะถ้าคุณนับแค่รถเครื่องยนต์ S50 พวงมาลัยขวาแท้ ทั้งโลกนี้จะมีอยู่แค่ 821 คันเท่านั้น
ในปี 1999 มีการไมเนอร์เชนจ์ โดยเปลี่ยนไฟท้ายเป็นทรง L เปลี่ยนไฟหน้าใหม่ และเปลี่ยนระบบควบคุมการทรงตัวจาก ASC เป็น DSC และมีเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง 2.2 ลิตร 170 แรงม้า และ 2.5 ลิตร 186 แรงม้ามาแทนเครื่อง 2.0 และ 2.3 ลิตรเดิมที่มาขายอุดช่องว่างระหว่าง 1.9 กับ 2.8 ในช่วงก่อนไมเนอร์เชนจ์ ส่วนรุ่น 2.8 M52 ก็เปลี่ยนเป็น 3.0 ลิตรบล็อค M54 และอัพม้าเพิ่มเป็น 231 แรงม้า เพียงพอต่อการอาละวาดเล็กๆโดยไม่ต้องพึ่งตัว M
แต่ถ้าต้องพึ่ง รุ่น Z3M Roadster/M Coupe ก็ได้รับการอัปเดต เขวี้ยงเครื่อง S50 ทิ้งเปลี่ยนเป็น S54B32 จาก M3 E46 ในปี 2001 แต่เพื่อไม่ให้ปีนเกลียวกับ M3 ก็เลยโดนตอนม้าเอาไว้ 325PS (M3 E46 343PS) และยังใช้เกียร์ลูก 5 สปีดเหมือนเดิม ฝั่งอเมริกาคราวนี้ชีวิตสดใสขึ้นเพราะได้เครื่อง S54 ไปใช้ด้วยกันแม้จะถูกตอนม้าลงเหลือ 315 ก็ตาม
ในท้ายที่สุด ไม่ว่าใครจะมองว่ารถรุ่นนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน BMW ก็ขาย Z3 ในบอดี้ Roadster ไปได้ 279,273 คัน และบอดี้ Coupe 17,815 คัน ทีนี้ ถ้าคุณคิดว่ารุ่น Coupe มีจำนวนน้อยมากบนโลกใบนี้และอยากได้มาสะสม ก็ขอให้โชคดี เพราะเท่าที่ทราบ ในประเทศเรานี้มีแค่ 2-3 คันเท่านั้น และยื่นเงินให้สิบล้านเจ้าของก็ส่ายหน้าไม่ขายท่าเดียว
BMW Z8 (E52) 2000-2003
เมื่อ Z3 เข้ามาเล่นเป็น “รถเอก” ของ GoldenEye เราผิดหวังที่ไม่ค่อยมีฉากบู๊ขับรถเท่าไหร่ ในภาคต่อซึ่งก็คือ Tomorrow never dies ตา 007 ของเราเลยจัดฉากบู๊อย่างอลังการโดยซุกอยู่บนเบาะหลังแล้วคุมรถผ่านโทรศัพท์มือถือ แล้วก็จบด้วยการปล่อยให้ 750iL คันงามวิ่งตกตึก อีกสองปีต่อมา ในภาค The world is not enough ทางบริษัทบร็อคโคลี่ก็ได้เป็นผู้ร่วมโปรโมต BMW Z8 รุ่นใหม่ก่อนจะขายจริง แถมยังมีฉากโชว์แสงยานุภาพของรถให้เห็นพองาม แต่ก็ด้วยความกวนส้นของคนเขียนบทหรือไงก็ไม่ทราบ Z8 คันงามโดนเฮลิคอปเตอร์ติดเลื่อยหั่นเป็นไข่ต้มเสียอย่างนั้น และนับเป็น BMW คันสุดท้ายที่ได้เล่นเป็นรถพระเอกของ 007
แม้ว่าเส้นทางบนโลกมายาจะไม่น่าจดจำ แต่บนโลกให้ความจริงนั้น แค่จุดเริ่มต้นของมันก็น่ากรี๊ดแล้ว โครงการของ Z8 นั้น เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1993 ใกล้เคียงกับเวลาที่ BMW จ้างชาวอเมริกันชื่อ Chris Bangle มาเป็นบอสคุมทีมออกแบบ แต่เนื่องจากยังถือเป็นน้องใหม่ก็เลยยังไม่ได้สาดไอเดียของตัวเองลงไปใน Z8 อย่างเต็มที่ อันที่จริง คนออกแบบภายนอกของ Z8 ก็คือ Henrik Fisker นักออกแบบชาวเดนมาร์กผู้ซึ่งในภายหลังได้ไปวาดเส้นสายให้กับ Aston Martin DB9, Vantage และไปทำรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Fisker นั่นเอง
ในใบสั่งงานของผู้บริหาร สรุปโจทย์ของการออกแบบได้สั้นๆว่า พวกเขาต้องการสร้างรถที่เปรียบได้กับการเอา BMW 507 จากยุค 50s กลับมาทำใหม่ให้มีดีไซน์ล้ำยุค มีสมรรถนะที่ร้ายกาจ และด้วยตำแหน่งทางการตลาดที่วางไว้สูง (ตัวเลข 8 บ่งบอกได้ถึงการเป็นรถระดับเรือธง) ทำให้ไม่ต้องซีเรียสกับต้นทุนการสร้างมากเท่ารถอย่าง Z3 โปรเจคท์นี้เกิดในช่วงที่ BMW เป็นบริษัทยักษ์ทุนหนา มั่นคงและมั่งคั่ง จึงไม่ต้องทำแบบหลบๆซ่อนๆอีกต่อไป
โครงสร้างหลักของรถ และเปลือกนอกของ Z8 ทำจากอะลูมิเนียมเกือบทั้งหมด มีบางจุดเท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้เหล็กกล้าด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ตัวถังเน้นสัดส่วนหน้ายาวท้ายสั้น วางเครื่องไว้หลังแนวแทร็คล้อคู่หน้า แม้แต่ขนาดตัวถังก็จงใจทำให้ใกล้เคียงกับ 507 มากที่สุด ตัวถังรถขึ้นรูปเป็นร่างที่โรงงาน Dingolfing จากนั้นจะติดตั้งเครื่องยนต์และส่งไปที่ Munich เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆให้เสร็จ Z8 เป็นรถที่ BMW กะจะวางขายในอเมริกาเป็นหลัก และตีราคาไว้ 120,000 ดอลลาร์บวกลบ ดังนั้นหลายส่วนของรถจะถูกประกอบด้วยมือช่างเทคนิค เรียกว่าเป็นรถแบบ Hand made ก็ยังได้
เนื่องจากมีเวลาในการพัฒนานานพอสมควร BMW จึงรอจังหวะที่ทาง M Division พัฒนาเครื่องยนต์ S62 (ซึ่งจะนำไปใช้กับ M5 E39) เสร็จสมบูรณ์ มันคือเครื่องยนต์ V8 บล็อคแรกของ BMW ที่มีระบบ VANOS ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย มีลิ้นคันเร่ง 8 ลิ้นควบคุมด้วยไฟฟ้า ความจุจริง 4,941 ซี.ซี. (อย่าถามว่าทำไมตีเป็น 5.0 ลิตร คนเขียนก็งง) สร้างแรงม้าได้ 400 PS และแรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร เป็นเครื่องยนต์ในสายการผลิตรถยนต์นั่งของ BMW ที่ทรงพลังที่สุดในยุคนั้น และเนื่องจากการที่ M5 E39 มีระบบส่งกำลังเพียงแบบเดียวคือเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะของ Getrag 420G ทำให้ Z8 ก็ต้องถูกบังคับให้ใช้เกียร์ลูกเดียวกัน ไม่มี Z8 รุ่นเกียร์อัตโนมัติออกจำหน่าย ยกเว้นก็แต่ Alpina V8 Roadster ที่เป็นรถพิเศษ สร้างขึ้นหลัง Z8 รุ่นปกติหยุดสายการผลิตแล้ว นี่คือรุ่นที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ
Z8 ถูกนำไปวิ่งทดสอบตั้งแต่ปี 1996 จากนั้นเมื่อใกล้ชัวร์ว่าผลิตขายได้ตามกำหนด BMW ก็แกล้งสร้างรถต้นแบบออกมาคันหนึ่ง เรียกว่ารุ่น Z07 แล้วนำออกโชว์โฉมในปี 1997 รถต้นแบบคันนี้หน้าตาเกือบเหมือน Z8 คันจริง เพียงแต่ว่ามันใช้หลังคาแข็งทรง Bubble ที่ดูแล้วสวยงาม หลายคนเห็นแล้วยังรู้สึกว่า Z8 น่าจะมีเวอร์ชั่น Coupe ทรงนี้ขายด้วย จากนั้นในปี 1999 เดือนพฤศจิกายน Z8 คันจริง ก็ไปปรากฏโฉมบนภาพยนตร์ James Bond และเริ่มเผยข้อมูลออกมาอย่างเป็นทางการ ส่วนการผลิตจริงนั้น เริ่มต้นในเดือนมีนาคมปี 2000
เมื่อนำไปลองวิ่งทดสอบ BMW เคลมว่า Z8 สามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายใน 4.7 วินาที 0-1 กิโลเมตร ภายใน 23.5 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดนั้นล็อคไว้ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถปลดเป็น 290 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้
ภายในของ Z8 เป็นการออกแบบเชิงสวนกระแส ทั้งในแง่การพยายามดึงแนวคิด Retro จาก BMW 507 มาใช้ กับเรื่องการควบคุม ในรถยุค 2000 ที่ยังไม่มีจอทัชสกรีนนั้น บริษัทรถยังพากันเน้นการสร้างรถให้ดูมีมาตรวัดมีปุ่มเยอะๆเพื่อให้ดูทันสมัย แต่ทีมออกแบบของ Z8 พยายามนึกถึงรถสมัย 50s ซึ่งไม่มีปุ่มอะไรให้เล่นมากนัก แล้วก็พยายามออกแบบแดชบอร์ดของ Z8 ให้ดูเรียบเหมือนไม่มีอะไรให้เล่น แต่แท้จริงพวกเขาซ่อนฟังก์ชั่นแบบรถหรูเอาไว้ครบ ยกตัวอย่างเช่นสวิตช์ปรับกระจกมองข้างกับสวิตช์กระจกไฟฟ้า สองอย่างนี้ถูกรวมเป็นสวิตช์เดียวกัน
จุดเด่นที่ไม่เหมือน BMW รุ่นอื่นอีกประการหนึ่งคือการวางชุดมาตรวัดเอาไว้ตรงกลางของแดชบอร์ด แล้วปรับให้หันเข้าหาคนขับ นี่ไม่ใช่ความต้องการจะ Retro แต่คนออกแบบอยากเคลียร์ทัศนวิสัยในการมองของผู้ขับ จะได้เห็นทางได้ง่าย และอีกอย่างหนึ่งคือกลัวก้านพวงมาลัยจะบังหน้าปัด ถ้าเอามาไว้ตรงกลาง จะปรับพวงมาลัยท่าไหนก็ไม่มีทางไปบังมาตรวัดต่างๆได้ เป็นไอเดียดี ที่พิสูจน์แล้วว่าพอไปถึงลูกค้าปลายทาง หลายคนจะไม่ชินและบางคนจะไม่ชอบ
BMW สร้าง Z8 ออกมาทั้งสิ้นเพียง 5,703 คัน แม้จะมีสีสันและการตกแต่งภายในต่างกันตามคำสั่งของลูกค้า แต่ทั้งหมดเป็นรถพวงมาลัยซ้ายเกียร์ธรรมดา ทำให้ไม่ถูกชะตากับเศรษฐีที่รักความสบาย แต่ BMW ก็ดูเหมือนไม่แคร์ และยังสั่งให้ทีมวิศวกรกับฝ่ายอะไหล่เตรียมสต็อคและเก็บรักษาเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตอะไหล่ Z8 ให้ยาวไปถึงปี 2050 เพื่อเป็นคำมั่น และการตอบแทนให้กับลูกค้าที่มอบศรัทธาให้กับรถอย่าง Z8
ความหายากของรถรุ่นนี้ ส่งผลให้ราคาในตลาดมือสองถีบตัวขึ้นสูงมาก ไม่ต้องถามถึงในไทยนะครับ เอาแค่ที่อังกฤษ ราคา Z8 ใหม่ซื้อขายกันที่โชว์รูมตกอยู่ 76,000-82,000 ปอนด์ แต่ราคาซื้อขาย ณ ต้นปี 2018 นั้น ได้ข่าวว่าอยู่ทีี่ 250,000 ปอนด์ครับ
BMW Z4 (E85)/ Z4 Coupe (E86) 2002-2008
ผลงานตามแนวคิดของ Chris Bangle ปรากฏให้เห็นชัดเจนบนตัวถังของ Z4 เจนเนอเรชั่นแรกนี้ และกล่าวกันว่านี่คือหนึ่งในผลงานที่มีเอกลักษณ์ติดตา เป็น Case study สำคัญในคลาสเรียนด้านการออกแบบมาโดยตลอด Bangle ยึดถือแนวทางหลักของโรดสเตอร์หน้ายาวสองที่นั่งเอาไว้ แต่เมื่อเทียบกับ Z8 แล้ว แทบจะไม่มีเอกลักษณ์อะไรที่สื่อถึงกันเลย แม้ว่างานออกแบบภายนอกจะมี Anders Warming เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ข้อกำหนดต่างๆและ Final design จะเป็นไปตามที่ Bangle วางแนวทางไว้
“พื้นผิวตัวถังรอบนอกแต่ละชิ้น เวลาถอดออกมาวางเป็นชิ้นเดี่ยวๆ ก็ต้องสวย และเวลานำไปประกอบรวมกันเป็นรถทั้งคันก็ต้องสวย ผมมองแบบนี้ เพราะส่วนประกอบเล็กๆของรถแต่ละชิ้นต้องมีความเด่นในตัวของมัน” Bangle คิดแบบนั้น เส้นสายของตัวรถที่มีสันคม มีเส้นที่ลากโค้งบ้างตรงบ้างและตัดกันบ้างนี้เรียกว่า Flame Surfacing ซึ่งคุณจะเห็นการออกแบบลักษณะนี้ได้ใน ซีรีส์ 7 E65 ซีรีส์ 5 E60 และซีรีส์ 3 E90 ด้วยเช่นกัน รถเกือบทุกคันที่ว่ามารวมถึง Z4 ก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างสุดขั้วในโลกของการออกแบบ บ้างก็สาปส่ง เผารูป Chris Bangle ประท้วง แต่คนที่ชอบก็จะเทิดทูนดุจอวตารเทพ ในขณะที่ฝ่ายผลิตชิ้นส่วนกับฝ่ายบัญชีต่างปวดหัว เพราะความซับซ้อนของทรวดทรงที่ทำให้งานแต่ละชิ้นผลิตยาก มีต้นทุนสูงขึ้น
Bangle มีความเหมือนกับน้องเป้ อารักษ์ตรงที่ เมื่อคุณไม่เข้าใจเขา เขาจะดูเหมือนขวางโลก แต่เมื่อเข้าใจแล้วก็จะทึ่ง ครั้งหนึ่งที่เขามาให้สัมภาษณ์ที่เมืองไทย รุ่นน้องของผมเคยถามว่า “ทำไมโลโก้ BMW ตรงแก้มข้างถึงต้องมีรอยบากเฉียงๆเป็นทางยาว” Bangle ตอบว่า “ผมต้องการให้มีตัว Z ซ่อนอยู่ในรถคันนี้มากกว่าแค่โลโก้ คุณดูเส้นตัดระหว่างกระจังหน้า ฝากระโปรงหน้า และไฟหน้า ถ้าเอียงถูกมุม ก็จะเห็นตัว Z เต็มไปหมด รอยบากเฉียงที่แก้มนั่นถ้าคุณลองมองจากหลายมุมและแสงเงา จะเห็นได้ว่ามันก็คือตัว Z แล้วเวลารถวิ่งไป เจอเงาหลายๆแบบ Z นี้จะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างไป แต่ก็ยังคงมองเป็น Z อยู่นั่นล่ะ นี่คือวิธีที่ผมจะสื่อว่า นี่คือ BMW Z และผสานเอาแก่นสารของความเป็นโรดสเตอร์เข้ากับความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง มีความเป็น Dynamic อยู่เสมอ”
ส่วนในเชิงเทคนิคนั้น Z4 รุ่นนี้ ใช้ตัวถังและส่วนประกอบหลักเป็นโลหะแบบรถปกติ แต่ด้วยความที่ขนาดตัวรถใหญ่กว่า Z3 มาก ทำให้น้ำหนักตัวรถเพิ่มขึ้น วิศวกรจึงต้องหาวิธีลดน้ำหนักโดยการใช้ฝากระโปรงและชิ้นส่วนช่วงล่างที่ทำมาจากอะลูมิเนียม ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ส่วนด้านหลัง เปลี่ยนจากเซมิเทรลลิ่งอาร์มใน Z3 เป็นแบบมัลติลิงค์เช่นเดียวกับ BMW ยุคใหม่รุ่นอื่นๆ ระบบบังคับเลี้ยวเปลี่ยนจากเพาเวอร์แบบไฮดรอลิก เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า
เครื่องยนต์ของ Z4 ใหม่ในช่วงเปิดตัวปีแรกๆ จะเป็นเครื่อง 6 สูบเรียงไร้เทอร์โบล้วนๆ เริ่มด้วย M54B30 3.0 ลิตร 231 แรงม้า ตามมาด้วย M54B25 2.5 ลิตร 190 แรงม้า (PS) จากนั้นในปี 2003 จึงมีรุ่น M54B22 2.2 ลิตร 170 แรงม้าตามออกมา ระบบส่งกำลังในเบื้องต้น มีเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ Getrag S5D250G ให้เลือกในรุ่น 2.2i และ 2.5i เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ZF GS6-37BZ มีในรุ่น 3.0i ส่วนเกียร์อัตโนมัติ ทั้งสามรุ่นใช้แบบเดียวกันคือ 5 จังหวะ ZF 5HP19
ในปี 2005 มีรุ่น 2.0i เครื่อง N46B20 4 สูบ 2.0 ลิตร 150 แรงม้าออกมาให้เลือก แต่จำหน่ายเฉพาะในตลาดยุโรป เพราะบางประเทศมีการจัดเก็บภาษีขั้นรุนแรงสำหรับรถที่ความจุเกิน 2,000 ซี.ซี.
ภายในของ Z4 E85 นั้น ดูเรียบง่ายเหมือนคนออกแบบภายนอกกับภายในของรถไม่ได้คุยกันก่อนร่าง อย่างไรก็ตามมันยังมีสเน่ห์แบบที่ BMW ยุคหลัง iDrive ครองเมืองไม่สามารถให้คุณได้ การวางตำแหน่งปุ่มต่างๆ ใช้ง่าย เข้าใจง่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาคู่มือ หน้าปัดแบบรถสปอร์ตแท้ที่เน้นความง่ายในการมองมากกว่าแสงสีแพรวพราว วัสดุตกแต่งในห้องโดยสารเปลี่ยนไปโดยเริ่มมีชิ้นงานพลาสติกสีเงินเข้ามา กินบริเวณยาวจากซ้ายจรดขวา โดยรวมคือ Simple, but attractive แม้ว่ารถรุ่นนี้จะเปิดตัวมาแล้ว 17 ปี ภายในของ Z4 E85 ก็ยังสวยงามอยู่เช่นเดิม
ปี 2006 คือปีที่มีการอัปเดตขนานใหญ่ LCI หรือภาษาคนไม่มี BMW ขับก็เรียกว่าไมเนอร์เชนจ์นั่นเอง ในรถรุ่น LCI นี้ จะได้ไฟหน้า, กันชนหน้า และไฟท้ายใหม่ที่ดูทันสมัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่มาเปิดตัวในช่วงต้นปีเช่นเดียวกัน ก็คือ Z4 Coupe เวอร์ชั่นหลังคาแข็ง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมาโชว์ตัวที่งาน Frankfurt ปี 2005 ในชื่อ Concept Coupe อันที่จริง เวอร์ชั่นหลังคาแข็งนี้เพิ่งได้รับอนุมัติในช่วงเดือนสิงหาคม 2004 และทีมของ Bangle ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนในการรังสรรค์บอดี้ของ E86 เสร็จทันฉลองคริสต์มาสในปีเดียวกัน
ในด้านวิศวกรรม Z4 ส่งจูบลาให้กับเครื่อง M54 อันเป็นเวอร์ชั่นท้ายสุดของเครื่องตระกูล M50 ที่รับใช้รถของ BMW มา 16 ปี แล้วไปคบกับเครื่องยนต์ใหม่รหัส N52 ซึ่งเป็น 6 สูบเรียงโลกใหม่ เสื้อสูบอัลลอยผสมแม็กนีเซียม มีระบบแปรผันระยะยกวาล์ว (Valvetronic) และใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้า รุ่น 2.5i และ 2.5si ใช้เครื่อง N52B25 ขนาด 2.5 ลิตร มีแรงม้า 177 และ 218 แรงม้าตามลำดับ แตกต่างกันที่ระบบท่อไอดีและการจูนเครื่อง จากนั้นจะข้ามไปเป็นรุ่น 3.0si N52B30 265 แรงม้า ส่วนรุ่น 3.0i นั้นจะเป็นสเป็คเฉพาะสำหรับตลาดอเมริกาเหนือที่ปรับกำลังเหลือแค่ 218 แรงม้า ส่วนเครื่อง N46B20 2.0 ลิตรก็ยังมีอยู่ต่อไป Z4 เวอร์ชั่น Roadster จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกหลายแบบในขณะที่รุ่น Coupe ถ้าไม่นับตระกูล M แล้ว ก็จะมีแค่รุ่น 3.0si เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังยกเลิกเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะออก ให้ทุกรุ่นได้เกียร์ 6 จังหวะเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน รุ่น 3.0si มีเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 จังหวะให้เลือก ในขณะที่รุ่น 2.5i กับ 3.0i ในบางตลาดจะมีรุ่นที่ใช้เกียร์ SMG II ซึ่งเป็นเกียร์ธรรมดา มีคลัตช์แห้งแผ่นเดียว แต่มีระบบไฟฟ้าคอยตัดต่อคลัตช์ให้และสามารถใส่เกียร์ D แล้วปล่อยให้ ECU คุมการเปลี่ยนเกียร์เองได้ เป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่อยู่ใน M3 E46 นั่นเอง
สำหรับเวอร์ชั่นแรง ก็เปิดตัวตามมาในช่วงเดือนเมษายน กับ Z4 M Roadster และ Z4 M Coupe ซึ่งใช้เครื่องยนต์ S54B32 เหมือนกับ M3 E46 และ Z3 M โฉมท้ายๆ แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นยุโรป เครื่องยนต์จะมีแรงม้าสูง 343 แรงม้า ลากเรดไลน์พลีชีพ 8,000 รอบได้เท่ากับในเครื่องเวอร์ชั่นปกติของ M3 แล้ว (ไม่โดนตอนพละกำลังแบบรุ่นก่อน) รถรุ่น M ทั้งสองแบบนี้จะยกชิ้นส่วนหลายอย่างมาจาก M3 E46 ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรก เฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป จุดยึดกันโคลงหลัง ซับเฟรมหลัง เป็นต้น ส่วนระบบบังคับเลี้ยวจะต่างจาก Z4 รุ่นปกติตรงที่ไม่ได้ใช้เพาเวอร์แบบไฟฟ้า แต่หันไปใช้แร็คไฮดรอลิกแทน เนื่องจากนักทดสอบฝรั่งตำหนิว่าแร็คไฟฟ้าของ Z4 รุ่นปกตินั้นไร้ชีวิตชีวาเกินไป
Z4 M Coupe มีพิษสงที่ร้ายกาจมาก ด้วยความที่ตัวรถเพรียว กินลมน้อย และจุดศูนย์ถ่วงต่ำ บวกกับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ (เป็นเกียร์คนละลูกกับของ M3 เนื่องจากเกียร์ M3 ติดตั้งในตัวถังของ Z4 แล้วที่ไม่พอ) ทำให้มันสามารถวิ่งรอบสนาม Nurburgring ได้ภายใน 8 นาที 15 วินาที ซึ่งเร็วกว่า M3 Coupe รุ่นปกติอยู่ 7 วินาทีเต็ม
ด้วยรูปทรงที่โฉบเฉี่ยวเตะตา (จะเตะแล้วโกรธหรือเตะแล้วรักก็แล้วแต่คนจะคิด) กับการมีหลากรุ่นหลายราคาให้คนทั่วไปสามารถเอื้อมถึง มีพละกำลังหลายแบบรองรับทุกระดับส้นเท้า ทำให้ Z4 เจนเนอเรชั่นนี้ ฟันยอดขายไปได้ 197,950 คัน แม้จะไม่เยอะเท่าสมัย Z3 แต่ยังทำให้มันเป็นรถที่พอหาซื้อได้โดยไม่ต้องกลัวว่าราคาจะแรง เว้นเสียแต่ว่าคุณกำลังมองหา “ของขลัง” อย่างตระกูล M เพราะ Z4 M Roadster มีอยู่ในโลกนี้แค่ราวห้า 5,400 คัน และ Z4 M Coupe มีแค่ประมาณ 4,500 คันเท่านั้น นี่คือนับรวมทั้งพวงมาลัยขวาและซ้ายหมดแล้ว ยิ่งถ้าเป็นรถพวงมาลัยขวา ยิ่งน้อยไปใหญ่เพราะ Z4 M Roadster พวงมาลัยขวามีแค่ 921 คัน และ Coupe พวงมาลัยขวามีแค่ 1,052 คันเท่านั้น ในไทยก็มีอยู่คันนึง เป็นของผู้บริหาร BMW ท่านหนึ่งที่กำลังอ่านบทความบรรทัดนี้อยู่ และเชื่อว่าท่านไม่คิดจะขายรถคันนี้แน่นอน
ดังนั้น คงไม่เป็นการโอเวอร์หรอก ถ้าจะบอกว่าในวันนี้ หากคุณไม่สามารถหารถสุดแสนพิเศษอย่าง Z8 มาครอบครองได้ Challenge ต่อไปที่น่าท้าตัวเองก็คือการพยายามหา Z4 E85/E86 ที่เป็นรุ่น M มาให้ได้สักคัน นี่คือที่สุดแห่งความลงตัวระหว่างเอกลักษณ์ของความเป็นโรดสเตอร์ + ดีไซน์ที่ไม่มีวันตายจาก Chris Bangle + เครื่อง 6 เรียงเสียงหวานที่แผดแปดพันรอบโดยไม่มีโข่งเทอร์โบมาขวางอรรถรสทางหู ทั้งหมดนี้อยู่ในรถคันเดียวกัน
และถ้าแตะ M ไม่ไหวจริงๆ..อะไรก็ได้ที่เป็น Z4 และเป็นหกสูบเรียง ก็ถือเป็นรางวัลชีวิตชั้นเลิศสำหรับการปิดแอร์ เปิดหูเปิดตาเปิดหลังคา ฟังเสียงหกสูบเรียงไร้เทอร์โบหวานๆในขณะที่คุณไล่เกียร์ตามความชันของขุนเขาเบื้องหน้า นี่คือบทเพลงอมตะที่ BMW เลิกทำไปแล้ว แต่คุณยังมีโอกาสสัมผัสได้
BMW Z4 (E89) 2009-2016
เมื่อ Z4 รุ่นแรกประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว BMW จึงมั่นใจที่จะส่งเจนเนอเรชั่นที่สองตามมาโดยไม่ต้องเปลี่ยนชื่อรุ่นให้ยาก แต่ภายใต้ทรวดทรงของรถที่เป็นโรดสเตอร์สองที่นั่งหน้ายาวคล้ายรุ่นเดิม มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในแนวคิดของการสร้าง BMW ทำการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ซื้อ Z4 E85 ไปใช้ และพบว่าลูกค้าตัวจริงส่วนมาก อยากให้ห้องโดยสารโตขึ้น พร้อมกับบอกว่ารถรุ่นเดิมนั่งแล้วรู้สึกไหล่เบียด และอยากได้ภายในที่หรูหราขึ้น
เพื่อทำรถให้ถูกใจลูกค้ามากกว่าเดิมบุคลิกของรถจึงถูกเปลี่ยนจากการเป็นโรดสเตอร์คันเล็ก กลายเป็นลูกผสมระหว่างโรดสเตอร์+รถ Grand Tourer ที่เน้นความสบายในการใช้งาน แม้ว่าระยะฐานล้อจะยาวเท่าเดิม แต่ตัวถังโดยรวมยาวขึ้น 148 มิลลิเมตร และกว้างขึ้น 9 มิลลิเมตร ปรับการใช้พื้นที่ภายในใหม่จนได้ความกว้างระนาบไหล่ในห้องโดยสารเพิ่มอีก 20 มิลลิเมตร
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือหลังคา แต่ไหนแต่ไร Z Car จะใช้หลังคาผ้าใบมาตลอด แต่พอมาเป็นรุ่น E89 นั้น ปัจจัยหลายประการทำให้วิศวกรและฝ่ายผู้บริหารตกลงร่วมกันว่าควรเปลี่ยนไปใช้หลังคาแข็งแบบพับเก็บได้ ซึ่งในระยะแรกมีเสียงคัดค้านเพราะหลังคาแบบดังกล่าวจะทำให้แนวทางของรถไปเดินรอยตาม SLK-Class ของ Mercedes-Benz แต่เมื่อมองถึงการตอบโจทย์ลูกค้าที่เรียกหาความสบายมากขึ้น หลังคาแข็งพับได้ทำให้เก็บเสียงรบกวนภายนอกได้ดีกว่า และถ้าหากทำหลังคาแข็งพับได้ออกมา BMW ก็ไม่ต้องทำ Z4 Coupe ออกมาให้เปลืองงบวิจัยและไลน์การผลิตตัวถังอีก อย่างหลังนี้ทำให้ผู้บริหารยอมเปลี่ยนแนวของรถในที่สุด
Z4 E89 เป็นรถคันแรกของ BMW ที่มีดีไซน์ทั้งภายในและภายนอกจากฝีมือของสุภาพสตรี โดย Juliane Blasi รับผิดชอบภายนอก และ Nadya Arnaout รับงานออกแบบสำหรับภายใน นับว่าเป็นรถที่พิสูจน์ให้เห็นได้อย่างดีเยี่ยมว่าฝีมือการออกแบบของผู้หญิงไม่ได้เป็นรองผู้ชายแม้แต่น้อย ในช่วงปี 2006 ที่ Chris Bangle ยังเป็นผอ.ฝ่ายออกแบบอยู่นั้น เขาจัดประกวดแข่งขันให้พนักงานในสังกัดดีไซน์ Z4 รุ่นใหม่ แต่ทั้ง Juliane และ Nadya ไม่ได้ส่งผลงานเข้าร่วม Chris Bangle จึงเรียกทั้งสองคนเข้าพบและมอบคำพูดปลุกใจให้ลองส่งงานเข้ามาสู้กับของพวกผู้ชายดู
งานของ Juliane นั้นมีจุดเด่นตรงที่รักษาแนวทางของ Z4 เดิมเอาไว้ได้มาก โดยเฉพาะเส้นสันแนวบ่าข้างของตัวรถที่เดินจากหน้าไปถึงซุ้มล้อหลังแล้วมีอีกเส้นตวัดขึ้นมารับ แต่ขจัดเอา “อักษร Z แฝงตามเส้นสาย” ที่ Bangle เคยทำเอาไว้ออกจนเกือบหมด แนวทางของ Juliane คือ “เมื่อคุณขับโรดสเตอร์เปิดหลังคา คุณก็ต้องอยากได้ความรู้สึกอิสระ ไม่ถูกปิดกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดูดีด้วย มันเหมือนกับคุณไปถามบางคนว่าทำไมคุณเล่น Extreme sport, Skateboard หรือปั่นจักรยานทั้งๆที่มันเหนื่อย เขาก็จะตอบว่าเพราะมันสนุก มันอิสระ และมันมอบความรู้สึกที่มีพลัง นั่นล่ะคือสิ่งที่ดิฉันใส่ลงไปในรถคันนี้” จุดเด่นอีกอย่างคือไฟหน้า ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคิ้วของผู้หญิงที่ดูเซ็กซี่
เมื่อมีคนถามว่าจุดไหนของรถที่ออกแบบยากที่สุด Juliane บอกว่า “หลังคาค่ะ เพราะออกแบบตามใจชอบไม่ได้ การเป็นรถหลังคาแข็งพับได้ทำให้มีข้อจำกัดในการออกแบบเยอะ..ประมาณ 100 ข้อเห็นจะได้ ทุกครั้งเวลาวาดแบบเสร็จก็ต้องเช็คกับฝ่ายวิศวกรรมว่าถ้าเดินเส้นแบบนี้จะไปแหกกฎข้อไหนเข้าหรือเปล่า เป็นส่วนที่กว่าจะสวยได้ก็หมดแรงไปเยอะ”
ส่วนภายในรถที่ออกแบบโดย Nadya นั้นดูทันสมัยขึ้นกว่าเดิมมาก Z4 E89 เป็นรถที่เกิดหลังการมาของ iDrive ดังนั้นจึงมีการออกแบบเผื่อที่ไว้สำหรับชุดสวิตช์ควบคุม คันเกียร์ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติก็จะเป็นรูปแบบที่เหมือนกับ BMW สมัยใหม่แล้ว เบรกมือเปลี่ยนเป็นแบบไฟฟ้า และมีจอกลางที่สามารถพับเก็บได้เพื่อไม่ให้บดบังทัศนะวิสัยในการขับขี่ มีความพยายามใช้วัสดุดำเงา หรือสีเงินตกแต่งตามจุดต่างๆเพื่อให้ดูมีความสวยงาม ลูกค้ายังสามารถสั่งวัสดุตกแต่งและสีสันได้หลายแบบตามความพอใจของตัวเองอีกด้วย
ในด้านเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ก็ใช้เครื่องยนต์ N52 6 สูบเรียงเป็นตัวยืนพื้น แต่ต้องผ่านการปรับจูนรายละเอียดหลายขนานเพื่อรับกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจากชุดกลไกหลังคาและขนาดรถที่โตกว่าเดิม แถมยังต้องผ่านมาตรฐานมลภาวะที่เข้มงวดขึ้น
ในปีแรกที่เปิดตัว มีให้เลือกในรุ่น sDrive23i เครื่องยนต์ N52B25 2.5 ลิตร 204 แรงม้า กับรุ่น sDrive30i เครื่องยนต์ N52B30 3.0 ลิตร 258 แรงม้า ซึ่งเครื่องยนต์สองรุ่นนี้จะเป็น Z Car รุ่นท้ายสุดแล้วที่ได้ใช้เครื่องยนต์แบบไม่มีเทอร์โบอัดอากาศ ส่วนรุ่นที่แรงสุดในช่วงเปิดตัว คือรุ่น sDrive35i ซึ่งใช้เครื่องยนต์ N54B30 อันเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่เพิ่งใช้ครั้งแรกใน 335i E90/E92 ปี 2006 และเป็นเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบรุ่นแรกในรอบ 20 ปีของค่าย
เครื่องยนต์ N54 นี้มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่สืบทอดจาก N52 มีปั๊มน้ำไฟฟ้า คันเร่งไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ใช้เสื้อสูบอัลลอยที่ไม่ได้ผสมแม็กนีเซียม ใช้เทอร์โบขนาดเล็ก 2 ลูก ตั้งแรงดันไว้เบาๆ แค่ 8.8PSI ทำให้มีแรงม้า 306 แรงม้า เพิ่มจาก sDrive30i 48 ตัว แต่ได้แรงบิด 400 นิวตันเมตร และมาให้ใช้ตั้งแต่ 1,300-5,000 รอบต่อนาที
พอเข้าปี 2010 BMW ก็ประกาศว่า จะไม่ทำ Z4 M ที่เป็น M Car แท้ๆอย่างสมัยก่อนออกมาอีกแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการใช้ชิ้นส่วนร่วมกับ M3 ทำได้ยากขึ้นเพราะ M3 E92 ทิ้งเครื่องหกสูบไปคบกับ V8 ซึ่งอาจยากต่อการนำมาวางในรถที่หน้ายาวแต่แคบอย่าง Z4 แต่กระนั้น BMW ก็ปลอบใจคนชอบความแรงด้วย Z4 รุ่น sDrive35is ซึ่งได้เครื่องยนต์ N54B30T0 ที่ยกมาจาก BMW 1 M Coupe ซึ่งมีพื้นฐานโดยรวมเหมือนกับ N54 3.0 ลิตรรุ่นปกติ แต่เพิ่มฟังก์ชั่น Overboost ให้ใช้ได้ในเกียร์ 3 หรือสูงกว่า sDrive35is นี้จะมีแรงม้า 340 ตัว และแรงบิด 450 นิวตันเมตร แต่เมื่อกระแทกคันเร่งจริง ECU จะยอมให้บูสท์ไหลเพิ่มจนได้แรงบิด 500 นิวตันเมตร
sDrive35is มีระบบส่งกำลังเพียงแบบเดียวคือเกียร์คลัตช์คู่ M-DCT 7 จังหวะ และมี Trim การตกแต่งแบบ M Sport เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ในปี 2011 เครื่องยนต์ N52 2.5 และ 3.0 ลิตร ถูกยกเลิกออกจากการผลิต แล้วแทนที่ด้วยเครื่อง N20 4 สูบเทอร์โบรุ่นใหม่ โดยมี 2 ระดับกำลังให้เลือกคือ sDrive20i 2.0 ลิตรเทอร์โบ 184 แรงม้า มาแทนรุ่น sDrive23i และรุ่น sDrive28i 2.0 ลิตรเทอร์โบ 245 แรงม้า มาแทนรุ่น sDrive30i นอกจากนี้ในช่วงปี 2013 เมื่อมีการอัปเดตหน้าตาและอุปกรณ์ (LCI) ก็ได้เพิ่มรุ่น sDrive18i 2.0 ลิตร 158 แรงม้า เอามาไว้สำหรับตลาดที่ไม่เน้นแรง หรือตลาดในประเทศที่คิดอัตราภาษีตามมลพิษที่ปล่อย
ถึงแม้จะพยายามออกแบบรถให้เอาใจลูกค้ามากขนาดไหน แต่ท้ายสุดแล้วยอดขายของ Z4 E89 นับตั้งแต่ปี 2009 จนรถคันสุดท้ายออกจากโรงงานในปี 2016 ก็ทำยอดได้แค่ราว 118,444 คัน ซึ่งน้อยกว่ารุ่น E85 อย่างเห็นได้ชัดทั้งๆที่วางจำหน่ายเป็นระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี
ไม่ใช่เพราะรถไม่ดี..เราทุกคนที่เคยขับ BMW จากรุ่นเก่ามาจนถึงรุ่นใหม่ย่อมทราบดีว่าค่ายนี้ไม่เคยหยุดพัฒนารถของตัวเอง พวกเขาสร้างรถที่เร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้น ประหยัดขึ้น นั่งสบายขึ้น แต่ยอดขายที่ลดลงนี้เป็นไปตามความนิยมที่แปรเปลี่ยนของลูกค้าทั้งโลกครับ กลุ่มคนเล่นรถสปอร์ตมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เพราะส่วนมากหันไปเล่นรถสไตล์ SUV (SAV หรือ SAC ถ้าเป็น BMW) กันหมด อย่าว่าแต่ตลาดรถสปอร์ตเลยครับ รถเก๋ง 4 ประตูหรือ 5 ประตูนั้นบางค่ายที่ระดับบิ๊กๆยังถอดใจจะเลิกทำ นี่อาจจะเป็นจุดสิ้นสุดของรถสปอร์ตแล้วหรือเปล่า?
ค่ายคู่แข่งอย่าง Mercedes-Benz ก็ออก SLC Final Edition มา พร้อมกับข่าวก่อนหน้านี้ที่บอกว่า SLC (หรือ SLK ในชื่อเดิม) รุ่นนี้ จะเป็นรุ่นสุดท้ายที่ผลิตขายแล้ว ส่วน BMW เองก็เกือบจะตัดโครงการนี้ทิ้งถ้าไม่ใช่ว่าได้ Toyota มาแชร์งบประมาณในการพัฒนาร่วมกัน หลายคนออกมาตำหนิการตัดสินใจดังกล่าวโดยหารู้ไม่ว่านั่นคือความพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้ Roadster พันธุ์ BMW ยังคงอยู่ในยุคที่ลูกค้าตัวจริงเขาเลิกเล่นรถแบบนี้กันหมดแล้ว และการที่บทสรุปออกมาว่าทั้ง Z4 และ Supra ใช้ขุมพลังขับเคลื่อนของ BMW ก็น่าจะเป็นข่าวดีเสียด้วยซ้ำ
จงใช้เวลานี้ เฉลิมฉลองกับ Z4 รุ่นปัจจุบัน ยกแก้วดื่มให้กับเวลาดีๆที่เหลืออีกน้อยนิด แต่ถ้าหากคุณไม่สามารถเก็บเงิน 4-5 ล้านซื้อ Z4 G29 รุ่นใหม่ทันแก่ แต่อยากได้ประสบการณ์ “JOY in your heart, wind in your hair, and engine’s song in your ear” แล้วล่ะก็
อย่าลืมว่า Z ที่ผมเขียนถึงตั้งหลายรุ่นข้างบนนี้ บางคัน คุณไม่ต้องตบตัวเองให้สลบแล้วฝัน ก็เป็นเจ้าของได้นะครับ
Pan Paitoonpong
Latest posts by Pan Paitoonpong (see all)
- BMW 2 Series Coupe ใหม่ รหัส G42 สนุกแบบขับหลังได้เช่นเดิม - July 9, 2021
- 6 Application ที่ห้ามพลาดสำหรับคนรักรถ - June 8, 2021
- BMW i4: เจาะรายละเอียด EV สปอร์ต Gran Coupe ที่มีโอกาสมาไทย - June 7, 2021