มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามจะเชื่อมโยงแบรนด์รถยนต์เข้ากับบุคลิกของเจ้าของรถ เช่น เจ้าของ Saab มักจะเป็นคนที่จบการศึกษาระดับสูงและห่วงใยสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ เจ้าของ Mercedes Benz มีรสนิยมที่ชอบความหรูหราประณีตและความสะดวกสบาย เจ้าของ Audi เป็นคนอัธยาศัยดีและมักจะเห็นเปิดกระจกทักทายเจ้าของ Audi คนอื่นๆ ดุจเครือญาติ (แต่ทั้งชีวิตผมก็ยังไม่เคยเห็นคนขับ Audi ทำแบบนั้นเลยสักคน) แน่นอนว่างานวิจัยเหล่านั้นไม่ได้ทำขึ้นในประเทศไทย และผลวิจัยก็มักจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศและกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มมาตอบคำถาม แต่สำหรับ BMW นั้นคำตอบที่ได้มักจะคล้ายๆ กัน คนขับ BMW เป็นคนที่หลงใหลสมรรถนะและชื่นชอบความเร็ว นั่นอาจเป็นเพราะรถยนต์ BMW ทุกคันมีบุคลิกที่โดดเด่นชัดเจนกันตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก หรือแม้กระทั่งสโลแกนเดิมของบริษัทอย่าง Ultimate Driving Machine หรือสโลแกนใหม่อย่าง Sheer Driving Pleasure ก็พูดถึงความสุดยอดในเรื่องการขับขี่ด้วยกันทั้งนั้น และวันนี้ BMW ได้นำการฝึกอบรมการขับรถมาจัดให้กับลูกค้าของ BMW ในประเทศไทย เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าถึงแก่นแท้ของสมรรถนะและซึมซาบสโลแกนของ BMW กันได้อย่างเต็มอิ่ม โปรแกรมที่ว่ามานั้นคือ BMW Driving Experience ความยาวหนึ่งวันเต็ม ซึ่ง BMW จัดขึ้นทั่วโลกมาต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 40 ปีแล้ว และผมจะบอกคุณผู้อ่านกันตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า ถ้าคุณมี BMW อยู่ในครอบครอง นี่คือโปรแกรมที่คุณต้องลางาน เคลียร์ตารางนัด เลื่อนกินข้าวกับแฟน เพื่อปลีกตัวมาเข้าร่วมให้ได้เท่านั้นครับ

จุดเริ่มต้นของโปรแกรม BMW Driving Experience นั้น ต้องเท้าความกลับไปถึงจุดกำเนิดของแบรนด์ M ซึ่งในขณะนั้นยังเรียกกันในนาม BMW Motorsport ตามชื่อบริษัทที่ BMW ก่อตั้งขึ้นในปี 1972 เพื่อลุยงานด้านการแข่งขันอย่างจริงจัง แต่ช่วงเวลาที่ให้คำนิยามแบรนด์ M อย่างแท้จริงนั้น คือตอนที่ Ham J. Stuck นักขับชาวเยอรมัน ขับรถยนต์ BMW 3.0 CSL “Batmobile” กระโดดลอยข้ามเนินในรายการ Nürburgring 6 ชั่วโมง ในปี 1973 และคว้าแชมป์ในรายการนั้น แต่ความพิเศษคือไม่ใช่แค่เขาเพียงคนเดียวที่ประสบความสำเร็จในรายการนั้น เพราะ BMW 3.0 CSL อีกสองคันที่ขับโดย Dieter Quester/Toine Hezemans/Harald Menzel และ Niki Lauda/Hans-Peter Joisten ก็ตามเข้าเส้นชัยมาในอันดับ 2 และ 3 ด้วย สรุปคือ BMW ยึดทุกโพเดียมของรายการนั้น
ในตอนนั้นเองที่ชาว BMW Motorsport GmbH ค้นพบว่าความรู้ความเชี่ยวชาญด้านมอเตอร์สปอร์ตที่ทีมได้สั่งสมมาเริ่มผลิดอกออกผล และค้นพบอีกว่าการขับรถแข่งในสนามให้ได้เร็วกับการขับรถให้ปลอดภัยบนถนนนั้น แท้จริงแล้วมันมีรากฐานมาจากทักษะประเภทเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นแล้วทำไมถึงไม่นำความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีมาฝึกฝนให้ลูกค้า BMW ล่ะ? คนที่เลือกซื้อ BMW ย่อมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสมรรถนะและชื่นชอบการขับรถอยู่แล้ว ถ้าพวกเขาได้รับการฝึกฝนก็จะทำให้สามารถเข้าถึงสมรรถนะของรถได้เต็มที่มากขึ้นและปลอดภัยมากขึ้นเวลาอยู่ในสถานการณ์คับขันบนท้องถนนด้วย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโปรแกรม BMW Driving Experience ที่ปัจจุบันแตกแขนงออกไปอีกมากมาย เช่น BMW Snow and Ice Experience, BMW Tour Experience หรือแม้แต่โปรแกรมขับรถตัวแรงตระกูล M อย่าง BMW M Experience ฯลฯ

ใครจะคิดอย่างไรผมไม่แน่ใจ แต่ตัวผมเองขณะนั่งฟังคุณบีเวอร์ เศรษฐิพงศ์ อนุตรโสตถิ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย บรรยายพร้อมกับเปิดคลิปวีดิโอโปรแกรม BMW Driving Experience ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นภาพเก่าๆ ตั้งแต่สมัย BMW ซีรีส์ 3 E21 ยังถูกนำมาใช้เป็นรถฝึกในสนามมาจนถึงปัจจุบันที่ BMW 330e M Sport F30 มารับหน้าที่ต่อ ผมรู้สึกถึงพลังที่ภาพเหล่านั้นสื่อสารออกมาอย่างบอกไม่ถูก BMW บอกว่าเวลาที่คุณอยู่ในโปรแกรมนั้น คุณไม่ต้องกลัวว่าจะทำพลาด ทำผิด หรืออะไรทั้งนั้น เพราะนี่คือสถานที่และเวลาที่จะคุณสามารถผิดพลาดได้โดยไม่มีผลกระทบร้ายแรงตามมา และที่สำคัญทีม Instructor ของ BMW ซึ่งเป็นนักแข่งมืออาชีพทุกคน ก็พร้อมช่วยเหลือคุณอยู่เสมอ “We’ve Got Your Back” เพื่อที่ว่าเวลาคุณออกไปอยู่บนถนนและเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด คุณจะได้รู้สึกมั่นใจและสามารถนำสิ่งที่ฝึกมาจากโปรแกรมเพื่อเอาตัวรอดได้
ในโลกนี้มีผู้ผลิตรถยนต์กี่รายที่คิดเผื่อและห่วงลูกค้าของพวกเขาแบบนี้ผมไม่ทราบ แต่ผมรู้สึกดีกว่าถ้าหากรถยนต์แบรนด์ที่ผมเลือกนั้นรักในชีวิตและสวัสดิภาพของลูกค้าของพวกเขา ไม่ใช่เพียงแค่เงินตราตามมูลค่าของรถและค่าอะไหล่จากบริการหลังการขาย BMW Driving Experience จึงไม่ใช่โปรแกรมที่คุณจะมาฝึกเพื่อกลับออกไปซิ่งบนถนนสาธารณะเวลาโดน AMG ท้าดวล แต่เพื่อความปลอดภัยของคุณและคนที่โดยสารไปใน BMW คันโปรดของคุณ ตามสโลแกนของโปรแกรมที่เขียนไว้ว่า SAFETY FIRST หรือความปลอดภัยมาเป็นที่หนึ่ง
ก่อนที่จะไปเจาะลึกในแต่ละสถานีที่ทาง BMW เตรียมไว้ให้ ผมขอพาคุณผู้อ่านไปเจอกับทีม Instructor กันก่อนดีกว่าครับ แต่ละคนเป็นกันเองมากจนผมเกรงใจ ทั้งๆ ที่ทุกท่านล้วนมีดีกรีระดับแชมป์หรือไม่ก็ว่าที่แชมป์ประเทศไทยกันทั้งนั้น
จากนั้น พวกเราทุกคนก็ได้รับเชิญลงมาประจำรถหมายเลขที่มอบหมายเอาไว้ แต่ก่อนที่จะเราจะขับออกไปก็ต้องเรียนรู้การปรับท่านั่งที่ถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ กันก่อน เพราะการนั่งในท่าที่ถูกต้องจะช่วยให้เรารับรู้ถึงอาการของรถได้เร็วขึ้น และควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขั้นตอนถ้าจะให้จำกันง่ายๆ ทำตามนี้ครับ
- ความสูง จนกำปั้นมือที่วางอยู่บนศีรษะเราเริ่มแตะเพดานรถ
- ระยะห่างจากแป้นเหยียบ เมื่อเหยียบเบรกสุดเต็มแรงแล้วขายังต้องงออยู่เล็กน้อย เรื่องนี้สำคัญมากเพราะนอกจากจะทำให้คุณสามารถเหยียบเบรกได้ลึกพอให้ตัวช่วยต่างๆ ทำงานแล้ว หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็จะป้องกันกระดูกหักอีกด้วย
- พนังพิงหลัง นั่งพิงพนักเต็มหลัง เหยียดแขนตรงออกไปตรง 12 นาฬิกา ข้อมือทั้งสองข้างต้องวางอยู่บนวงพวงมาลัยพอดี โดยพยายามนั่งให้หลังตรงที่สุด ถ้าตรงแล้วยังไม่พอดีกับพวงมาลัย ไปข้อสี่กันต่อครับ
- พวงมาลัย ปรับความสูงให้เราสามารถเห็นมาตรวัดได้เต็มจอ และปรับระยะห่างเข้าออกให้สามารถวางข้อมือบนวงพวงมาลัยได้ ต่อเนื่องจากข้อสาม
- ปรับพนักพิงศีรษะให้อยู่กึ่งกลางพอดี เรื่องนี้ก็สำคัญมากอีกเช่นกัน เพราะมันจะเป็นตัวช่วยลดแรงกระแทกบริเวณต้นคอและช่วยชีวิตเราได้
เมื่อได้ตำแหน่งแล้ว ก็สตาร์ทรถไปกันเลย!
สถานีที่ 1 Emergency Braking
เริ่มวันกันอย่างเบาๆ ครับ สถานีนี้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับระยะเบรก โดยวิธีคือให้ขับรถมาด้วยความเร็วที่กำหนด 30 กม./ชม. เมื่อหน้ารถมาถึงไพล่อนคู่แรก ก็ให้กระแทกเบรกลงไปจนสุดแล้วคาเอาไว้จนกระทั่งรถหยุดสนิท เราได้ลองกันคนละหลายรอบมากจนผมลืมนับ โดยรอบสุดท้ายนี่เราขับกันที่ 60 กม./ชม.
ระยะเบรกของรถนั้นจะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ระยะเวลาการตอบสนอง (Response Time) และระยะเบรกที่แท้จริงของรถ (Braking Distance) โดยตอนบรรยายได้มีการยกตัวอย่างเอาไว้แล้วว่า ในกรณีที่รถวิ่งด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. ระยะเบรกจนหยุดสนิทของ BMW 330e M Sport จะอยู่ที่ประมาณ 12 เมตร แต่พอเจาะดูรายละเอียดแล้วน่าตกใจ เพราะระยะเบรกของรถที่แท้จริงอยู่แค่ 3 เมตร เท่านั้น ส่วน 9 เมตร แรกหมดไปกับเวลาในการตอบสนอง ซึ่งคือเวลาตั้งแต่ที่สายตาเรามองเห็น สมองสั่งการ จนถึงเท้าสลับจากคันเร่งมากดแป้นเบรก และเมื่อความเร็วเพิ่มขึ้นก็จะต้องใช้ระยะทางมากขึ้นเป็นทวีคูณจนกว่ารถจะหยุดสนิท ตัวอย่างสุดท้ายของสถานีนี้คือการเพิ่มความเร็วเป็น 60 กม./ชม. ซึ่งทำให้ระยะเบรกรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 30 เมตร แบ่งเป็นระยะเวลาในการตอบสนอง 18 เมตร และระยะเบรกที่แท้จริงของรถ 12 เมตร ยาวขึ้นถึง 2.5 เท่า
BMW บอกว่าวงการรถยนต์มีความพยายามที่จะทำให้ระยะเบรกสั้นลงมาโดยตลอด ซึ่งมีข้อจำกัดคือสามารถพัฒนาได้เฉพาะระยะเบรกที่แท้จริงเท่านั้น แต่ BMW ต้องการลดระยะส่วน Response Time ด้วยจึงใส่ระบบ Standby Brake เข้ามา โดยเมื่อคนขับถอนเท้าออกจากคันเร่ง ระบบจะสั่งให้คาลิปเปอร์นำผ้าเบรกมาประชิดจานรอไว้ก่อน (ยังไม่ออกแรงกด) เพื่อที่พอตอนคนขับกดเบรก รถก็จะตอบสนองได้ทันที ปัจจุบัน BMW ทุกรุ่นที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีระบบนี้ติดตั้งมาให้จากโรงงานครับ
สถานีที่ 2 Avoiding without Braking
สถานีนี้เป็นการจำลองสถานการณ์ว่ามีรถตัดหน้าออกมาในระยะกระชั้นชิด ทำให้เราต้องหักหลบโดยที่ไม่มีเวลาและระยะทางพอให้เบรกก่อน จะว่าไปก็คล้ายๆ กับ Moose Test หักหลบกวางมูสที่เราได้พบเห็นจากต่างประเทศครับ
พี่จูนบอกให้พวกเราขับรถมาด้วยความเร็วตั้งแต่ 40 กม./ชม. ไล่ขึ้นไปแต่ละรอบเป็น 50, 60 และ 70 กม./ชม. เมื่อวิ่งเข้ามาในซองไพล่อนแล้วจะถูกบังคับให้หักหลบอุปสรรคออกไปทางซ้าย โดยที่ไม่ต้องเหยียบเบรก อาจจะฟังดูเหมือนง่าย แต่ใน 5 รอบ ที่ขับ มีสองรอบที่ผมเอาล้อหลังด้านซ้ายไปสะกิดกรวยยางเข้า นั่นแปลว่าผมหักเลี้ยวเร็วเกินไปจนอาจจะเฉี่ยวกับรถอีกคันที่วิ่งอยู่ในเลนซ้ายได้นั่นเอง อาการของ BMW 330e M Sport มีความเป็นกลางและควบคุมได้ง่ายมาก แม้ว่าความเร็วจะสูงถึง 60-70 กม./ชม. และช่องที่ให้หักหลบก็มีขนาดพอๆ กับความยาวและความกว้างของตัวรถเท่านั้น รถไม่มีอาการเซหรือสะบัดจนเสียการควบคุม และน้ำหนักพวงมาลัยก็เสถียรไปตลอดทาง ไม่ได้มีจังหวะวูบวาบหนักบ้างเบาบ้างให้คนขับได้เสียวเล่นเลยครับ
สถานีที่ 3 Braking and Avoiding
รอบนี้ยังคงใช้สถานที่เดียวกับสถานีที่สองครับ แต่เพิ่มการกดเบรกลงไปจนรถหยุดสนิทด้วย เปรียบได้กับการนำทักษะที่เราฝึกฝนในสถานีที่ 1 กับ 2 มารวมกัน วิธีการทุกอย่างจึงยังเหมือนเดิม แต่เมื่อเริ่มหักหลบก็ให้กดเบรกลงไปจนสุดด้วย เราได้ลองกันหลายรอบเช่นเคยเริ่มจากความเร็ว 60 กม./ชม. แต่ปรากฏว่าระยะเบรกของ BMW 330e M Sport นั้นสั้นมาก พอกระแทกเบรกลงไปแล้วหักหลบ รถเฉียงไปได้แค่ 45 องศา ยังไม่ทันเข้าเลนซ้ายเต็มคันก็หยุดสนิทแล้ว (จะเบรกดีไปไหน?) เราเลยได้รับคำสั่งให้เพิ่มความเร็วเป็น 70 กม./ชม. เพื่อให้อย่างน้อยรถวิ่งเข้าไปตั้งตรงเต็มคันอยู่ในเลนซ้าย และได้ใช้ทักษะการหมุนพวงมาลัยหักหลบ ซ้าย-ขวา-ตรง แบบที่ฝึกมาในตอนเช้ากันสักหน่อย
อันที่จริงแล้ว สถานีนี้ง่ายกว่า 1 กับ 2 ครับ เพราะรถไม่มีจังหวะให้เสียอาการอะไรเลย พอเริ่มเบรกความเร็วรถก็หล่นวูบลงมาแล้ว ทำให้การหักหลบเร็วๆ นั้นตัวรถเป็นกลางและนิ่งมากๆ แต่ส่วนผมออกจะสนุกกับสถานีนี้ก็เพราะได้ยืนฟังคนอื่นๆ กระแทกคันเร่งออกจากจุดสตาร์ทแล้วลากรอบเพื่อไปถึง 70 กม./ชม. ก่อนถึงไพล่อนแรกนี่ล่ะครับ (ระยะทางกะด้วยสายตาน่าจะราว 70-80 เมตร…สั้นมากนะ) เสียงเครื่องเบนซินสี่สูบ TwinPower Turbo กับมอเตอร์ไฟฟ้ารวม 252 แรงม้า มันประสานกันออกมาเป็นโทนทุ้มอูมๆ และมีเนื้อเสียงที่ละเอียดหวานหูใช้ได้ บุคลิกของเสียงกระเดียดไปทาง V6 ด้วยซ้ำ ผมไม่ทราบว่า BMW ทำออกมาได้ยังไง แต่ถ้าเครื่องสี่สูบเสียงแบบนี้ ผมว่าไม่เสียชื่อความเป็น BMW ครับ อ้อ…แล้วสถานีนี้ผมเลิกชนกรวยได้สำเร็จแล้ว!
สถานีที่ 4 Understeering, Oversteering, DTC และ DSC
ทีม Instructor บอกกับเราว่านี่คือสถานีที่ทุกคนรอคอย เพราะหลังจากขับๆ หยุดๆ กันมาทั้งวันก็ถึงเวลาที่จะได้เดินคันเร่งกันยาวๆ เสียที สถานีนี้เราจะได้เรียนรู้การควบคุมรถบนถนนลื่นในโค้ง ทั้งอาการ Understeer หรือหน้าดื้อโค้ง Oversteer หรือท้ายปัด และได้เรียนรู้การทำงานของระบบ DTC ผ่านการดริฟท์!
ผมกดปุ่ม Traction Control OFF ที่ด้านขวาของคันเกียร์แช่เอาไว้เป็นเวลา 5 วินาที จนหน้าปัดแสดงสัญลักษณ์ว่าระบบช่วยเหลือทุกอย่างปิดการทำงานพร้อมกับข้อความ DSC Off สีส้ม เมื่อเรียบร้อยก็ใส่เกียร์ D แล้วขับรถขึ้นไปบนลาน Skid Pad ของสนาม BMW Area 51 (Secret Test Facility) ซึ่งถูกพรมน้ำไว้จนชุ่ม จากนั้นวนรถเป็นวงกลมบนพื้นคอนกรีตด้วยความเร็ว 40 กม./ชม. พี่เบี๊ยดพูดผ่านวิทยุเข้ามาบอกให้ผมกดคันเร่งโดยไม่ต้องแต่งพวงมาลัยเพิ่ม หน้ารถ BMW 330e M Sport เริ่มบานออกแสดงให้เห็นถึงอาการ Understeer รถยังคงรักษาเส้นทางวิ่งเป็นวงกลมอยู่แต่รัศมีกว้างขึ้น จากนั้นถอนคันเร่งให้ความเร็วกลับลงมาที่ 40 กม./ชม. ตามเดิม รถก็ร่นรัศมีกลับเข้ามาวิ่งเป็นวงกลมเล็กเท่ากับตอนแรก
รอบต่อไปเป็นของแรงครับ พี่เบี๊ยดส่งข้อความผ่านวิทยุสื่อสารเข้ามาอีกครั้งให้ผมขับรถขึ้นไปบนวงกลมชั้นในสุด ซึ่งเป็นลานหินแม่น้ำที่จัดเรียงด้วยมือซึ่งมีความลื่นมาก ความเร็ว 20 กม./ชม. แล้วจุ่มคันเร่งลงไปจนคิกดาวน์ ผล? จะเหลืออะไรล่ะครับ ล้อหลังหมุนฟรีและดันท้ายรถขวางออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป (แต่เร็วมาก) ผมยกเท้าออกจากคันเร่งตามคำแนะนำผ่านวิทยุสื่อสาร พร้อมกับเคาน์เตอร์พวงมาลัยกลับไปจนสุดเพื่อแก้อาการ แต่ไม่ทันแล้ว รถหมุนจนครบ 360 องศา เบรกถูกกดลงจนสุดเพื่อหยุดไม่ให้รถไหลถอยหลังอันจะทำให้เกิดความเสียหายกับระบบเกียร์ได้ ผมลองทำใหม่อีกสองสามรอบ คราวนี้ตบคันเร่งด้วยความละเมียดละไมขึ้น และความรู้สึกตรงสะโพกที่รถส่งขึ้นมาผ่านเบาะเพื่อคอยจับอาการท้ายรถ จะได้ตอบสนองได้ไวขึ้น ซึ่งก็สำเร็จผ่านมาได้ด้วยดี
ถัดมาเป็นการทดลองระบบช่วยเหลือ Dynamic Traction Control (DTC) ที่ BMW ใส่เข้ามาให้ขับในหิมะได้สะดวกขึ้น เพราะระบบจะยอมปล่อยให้ล้อหมุนฟรีได้เล็กน้อย ซึ่งทำให้สามารถควบคุมรถได้ง่ายกว่าเมื่ออยู่บนพื้นผิวที่ลื่นมากๆ อย่างเช่นน้ำแข็ง แต่เราสามารถเอามาใช้ในเวลาที่เราต้องการขับ BMW ให้สนุกขึ้นได้…แบบตอนนี้ วิธีเข้าโหมดจาก DSC Off ก็ให้กดที่ปุ่มเดิมติดกัน 2 ครั้ง หน้าจอจะยังขึ้นสัญลักษณ์ปิดระบบช่วยเหลืออยู่ แต่แสดงข้อความ Traction Control แทน DSC Off จากนั้นก็จุ่มคันเร่งกันได้ตามสะดวก ท้ายของ BMW 330e M Sport ถูกเตะออกไป ผมหมุนพวงมาลัยเคาน์เตอร์โดยที่คันเร่งยังแช่จมมิดอยู่อย่างนั้น แค่แต่งพวงมาลัยแก้อาการเล็กน้อยก็สามารถดริฟท์สวยๆ ได้จนครบรอบราวกับมือโปรแล้ว นี่ก็ว่าจะซื้อมาไว้ลงแข่งดริฟท์ #ผิด
สุดท้ายเป็นการเปิดระบบช่วยเหลือขึ้นมาตามปกติ กดปุ่มเดิมซ้ำอีกครั้งจนไฟเตือนทุกอย่างดับทั้งหมด คราวนี้รถวิ่งเกาะหนึบเป็นวงกลมโดยมีอาการยื้อนิดๆ รับรู้ได้เลยว่า ระบบช่วยเหลือทุกอย่างพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะดึงรถให้วิ่งเป็นวงกลมตามทิศทางของพวงมาลัยให้ได้ น่าทึ่งครับ เพราะก่อนหน้านี้เราก็เพิ่งได้ลองกันมาว่าพื้นตรงนี้มันลื่นมากๆ
สถานีที่ 5 Slalom Time Trial
คนอื่นๆ อาจจะรอคอยสถานีที่แล้ว แต่ตัวผมเองรอสถานีนี้ครับ เราจะได้แข่งสลาลอมจับเวลากัน โดยได้ขับคนละ 4 รอบ และเลือกเอาเวลาจากรอบสุดท้ายมาใช้หาคนที่ขับได้เร็วที่สุด ไม่จำกัดความเร็ว ไม่จำกัดสไตล์ในการขับ ไม่จำกัดโหมดที่ใช้ ขออย่าเดียวคือห้ามเบรกมือตอนกลับรถ และตอนเบรกจอดสนิทต้องอยู่ในซองทั้งคัน หน้า-ท้ายไม่ยื่นเลยแนวไพล่อน
สามรอบแรกเป็นการให้ลองอาการของรถในโหมดต่างๆ ทั้ง Comfort, Sport และ Sport Plus ซึ่งผมทดลองด้วยตัวเองแล้วก็พบว่าโหมด Sport ทำเวลาได้ดีกว่า Comfort อยู่ราว 1-1.5 วินาที พร้อมกับฟีลลิ่งที่มั่นใจมากขึ้นจากพวงมาลัยที่หนืดขึ้น ส่วน Sport Plus นั้นพา “เทพเจ้าแห่งการชนกรวย” กลับมาเข้าสิงห์ผมอีกครั้ง ตอกคันเร่งออกตัวจากจุดสตาร์ทแล้วกระชากเลี้ยวเข้าทางขวาของไพล่อนแรก หักซ้ายต่อไพล่อนที่สอง หักขวาเข้าไพล่อนที่สาม หักซ้าย…“ปั้ก” เสียงสีข้างของ BMW 330e M Sport ตบกรวยยางลงไปนอนกับพื้น ในใจคิดว่าไม่เป็นไรต้องไปต่อให้จบอย่างมากก็บวกแค่ 2 วิ! แต่พอสุดทางกลับรถมาแล้วแทบหงายหลัง เพราะกรวยเจ้ากรรมดันนอนแตกแถวกระเด็นห่างจากจุดเดิมออกไปอีกสักสองฟุต แล้วผมต้องขับอ้อมให้ได้ไม่งั้นน่าจะโดนปรับเวลาเรื่องวิ่งผิดไลน์ซึ่งหนักยิ่งกว่า ผ่านไพล่อนสุดท้ายกลับเข้าจอดในซองมาได้ในสภาพสุนัขหงอย หมดอารมณ์จะแคร์เวลา
แต่สิ่งที่ผมชื่นชมมากกว่าเวลาที่เร็วที่สุดของตัวเอง ก็คืออาการตอบสนองของรถ พลังเครื่องยนต์และมอเตอร์ทั้ง 252 แรงม้า สามารถพา BMW 330e M Sport ออกตัวไปได้อย่างไม่รีรอ ออกตัวมีล้อเล็กน้อย ส่วนจังหวะการโยนซ้ายขวาเพื่อลัดเลาะไปตามไพล่อนแต่ละแท่งนั้น ตัวรถมีความเป็นกลางสูงและคุมง่ายมาก การถ่ายน้ำหนักจากซ้ายไปขวาและกลับกันเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนลืมไปว่ารถคันนี้แบกแบตเตอรี่และมอเตอร์มาด้วย ผลพวงจากความพยายามของวิศวกร BMW ที่ทำรถออกมาให้มีการกระจายน้ำหนักสมดุล 50:50 ทุกคันมันดีแบบนี้ น้ำหนักพวงมาลัยยังคงที่และสื่อสารอาการของล้อหน้ากลับมาหาคนขับได้ชัดเจน และแม้จะใช้เพียงเกียร์ D ในโหมดสปอร์ต แต่เกียร์ก็แสนรู้และคารอบไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่มีอาการเปลี่ยนขึ้นเปลี่ยนลงจนเสียจังหวะให้เห็นตลอดทั้งสี่รอบที่ผมขับเองและสี่รอบที่ผมเป็นคนนั่งให้พี่ต่อพันธุ์แห่ง BMW Car Magazine ขับให้เห็นเลยสักครั้ง
โบนัสส่งท้าย Hot Lap
ปิดงานด้วย Hot Lap โดยฝีมือว่าที่แชมป์ทั้งสามท่าน ที่จะพาพวกเราทีละ 3 คนนั่ง BMW 330e M Sport ในโหมด Sport Plus ไร้ตัวช่วย วิ่งตามติดไล่บี้กันในสนามทดสอบแคบๆ ของ BMW Area 51 (Secret Test Facility) เพื่อจำลองบรรยากาศในการแข่งขันจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มันส์มากๆ ขนาดที่ว่าผมเคยขับรถลงแข่งในรายการประเภท Track Day มาบ้างแล้ว ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ชมการทำงานของนักแข่งที่อยู่ระดับแนวหน้าและเป็นมืออาชีพแบบใกล้ชิดขนาดนี้ ผมเลือกนั่งคันที่พี่ปุ๊ก นักขับหญิงเพียงคนเดียวของเราเป็นคนขับ และอยากจะขอเอ่ยปากชื่นชมกันตรงนี้ครับ (ถ้าพี่ปุ๊กได้อ่าน) ว่าพี่ปุ๊กขับได้เนียนและนิ่งมาก ตัวผมเคยแต่อ่านเรื่องราวของนักแข่ง F1 อย่าง Sebastien Vettel ที่ให้สัมภาษณ์ว่าตอนซิ่งในสนาม เขามีเวลาเหลือหันไปมองสิ่งที่เกิดขึ้นบนป้ายคะแนน สแตนด์ และรอบๆ ข้างได้สบาย และสามารถโต้ตอบวิทยุกับทางพิทได้แม้แต่เรื่องสัพเพเหระ วันนั้นเพิ่งได้เห็นเองกับตาที่พี่ปุ๊กสามารถพูดคุยกับทุกคนในรถได้เหมือนกำลังขับไปชอปปิ้งที่ Central World ด้วยน้ำเสียงเรียบสบาย ปรบมือและขอเป็นกำลังใจให้ครับ
บทความนี้อาจจะยาว แต่มันสามารถเล่าได้เพียงไม่ถึงครึ่งของสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโปรแกรม BMW Driving Experience ซะด้วยซ้ำ และถ้าคุณมี BMW อยู่ในครอบครอง ผมขอแนะนำให้คุณไปสมัครโปรแกรม The Ultimate JOY Experience แล้วสมัครเข้าคอร์สโดยพลัน… เพราะนอกจากมันจะทำให้คุณมั่นใจกับสมรรถนะของ BMW ของคุณมากขึ้นแล้ว มันยังช่วยให้คุณปลอดภัยขึ้นด้วย แล้วจะปฏิเสธทำไมเล่า?
ขอให้มีความสุขกับ BMW ทุกวันครับ
ขอขอบคุณ
BMW Thailand และทีมงาน BMW Driving Experience

