รีวิว BMW 320d M Sport (F30) ดาวป็อปสุดหล่อขวัญใจตลอดกาล

เดินทางเข้ามาถึงช่วงปลายอายุตลาดเข้าทุกทีแล้วครับ สำหรับ BMW 3 Series โฉม F30 ผมเชื่อว่าแฟนๆ Bimmer-th หลายท่านคงทราบข่าวกันดีว่า 3 Series โฉมใหม่ถูกเปิดตัวในเมืองนอกไปเป็นที่เรียบร้อยและใกล้เปิดตัวในไทยเข้าทุกที ทำให้เวลาของเจ้า 3 Series โฉมนี้ค่อยๆ เหลือน้อยลงเรื่อยๆ แต่คงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยครับว่า BMW 3 Series โฉม F30 ถึงแม้จะถูกดีไซน์และเปิดตัวผ่านเวลามามากกว่า 5 ปีแล้ว ก็ถือว่าเป็น BMW อีกหนึ่งรุ่นที่ยังสามารถดึงดูดสายตาคนบนถนนได้ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

3 Series คือหนึ่งในรถรุ่นสำคัญของ BMW ทั้งในไทยและในเมืองนอก มันคือหนึ่งในรถเลขอนุกรมที่เป็นตำนานของค่ายใบพัดฟ้าที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน ยอดขายกว่า 30% ของ BMW ทั่วโลกมาจาก 3 Series สำหรับตลาดเมืองไทยนั้น 3 Series โฉม F30 มีการปรับออพชั่น รุ่นย่อยเครื่องยนต์และราคาของรถอยู่ตลอดทุกปี (แม้แต่ตัวทีมงานเองยังต้องใช้ความพยายามมากในการไล่ตามให้ทันครับ) เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการตลาด แม้ว่า 3 Series F30 จะอยู่ในช่วงปลายอายุตลาดแล้วก็ตาม แต่ก็มีหลายต่อหลายท่านที่ยังสนใจและยอมรับเงื่อนไขกาลเวลาข้อนี้ได้อีกจำนวนไม่น้อย

วันนี้ผมจึงขออาสาพาทุกท่านมารู้จักกับ BMW 320d M Sport LCI Model ปี 2018 กันให้ลึกขึ้นอีกครั้งครับ

ผมได้มีโอกาสทดสอบ BMW 330e M Sport LCI ประกอบนอกไปเมื่อราว 2 ปีก่อน (สามารถคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี้ รีวิว BMW 330e M Sport เมื่อความมันส์และความประหยัด ไปด้วยกันอย่างสุดขีด!) อยู่ๆ วันหนึ่งความบังเอิญหรือโชคชะตาบางอย่างก็ได้ส่งรถคันสีเงินตรงหน้าเข้ามาให้ผมได้ลองกันแบบไม่ทันได้ตั้งตัวครับ

เมื่อมองจากภายนอกของ 320d M Sport สีเงินคันนี้ ทั้งด้านหน้าและหลังถูกตกแต่งเหมือนกันกับ 330e M Sport ที่เป็นรุ่นท็อปสุดเลยครับ ด้านหน้าของรถชุดกันชนหน้าตกแต่งแบบ M Sport พร้อมไฟ BMW LED ทั้งชุดไฟหน้าและไฟตัดหมอก หากเป็นรุ่น 330e M Sport จะได้อ็อพชั่นชุดไฟหน้า LED ที่มีระบบ Adaptive LED สามารถปรับทิศทางการส่องสว่างไฟหน้าตามองศาการหักพวงมาลัย และระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Highbeam Assist มาเพิ่มอีกด้วย แน่นอนครับ 320d M Sport คันนี้คือรุ่น LCI หรือรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ชุดไฟ Day time running light จะถูกปรับให้เป็นแบบเหลี่ยมแทนที่วงกลมแบบรุ่นก่อน LCI

ส่วนของท้ายรถ ชุดกันชนท้ายแบบ M Sport พร้อมท่อไอเสียปลายคู่ เสาอากาศวิทยุแบบ Shark Fin ไฟท้าย LED เส้นยาวที่ซ่อนไฟตัดหมอกหลังเอาไว้เหมือนกับ 330e M Sport ทุกส่วน

ด้านข้างของรถนั้นเพิ่มความหล่อให้กับตัวรถได้อย่างลงตัวด้วยชุด skirt แบบ M Sport พร้อมขอบกระจกตกแต่งด้วยวัสดุสีดำเงาหากเป็นรุ่น iconic จะถูกตกแต่งด้วยโครเมี่ยม

จุดสำคัญที่จะทำให้เราแยกออกว่ารถรุ่นนี้เป็น 320d M Sport หรือ 330e M sport หลักๆ เห็นทีจะอยู่ที่โลโก้ Emblem ที่เสา C ท้ายรถที่คำว่า eDrive หายไป กับชุดล้อแม็กที่หากคุณผู้อ่านมองแบบผิวเผินอาจจะเข้าใจว่าเป็นล้อ M Sport ลายเดียวกันที่มีสีต่างกันแต่ความจริงแล้วเป็นล้อคนละลายกันครับ

ชุดล้อแม็กขอบ 18 นิ้ว ลาย Star Spoke กว้าง 8 นิ้วในล้อหน้าและกว้าง 8.5 ในล้อหลัง (หากเป็นรุ่น 330e M Sport จะได้ล้อลาย Double-spoke สีเทา Ferric Grey ครับ) หุ้มมาด้วยยาง Pirelli Cinturato P7 แบบ Run Flat

เปิดประตูเข้ามาชมภายในกันบ้าง 

การเข้าออกตัวรถนั้นจำเป็นต้องเปิดล็อครถด้วยการกดปุ่มรีโมทที่กุญแจรถเท่านั้น เนื่องจาก 320d M Sport ถูกตัดระบบ Comfort Access ออกไป อาจสร้างความหงุดหงิดบ้างสำหรับบางท่านที่ใช้รถที่มีออพชัน Keyless entry มานานๆ ตัวบานประตูคู่หน้าเปิดออกได้กว้างขวาง การลุกเข้าออกนั้นต้องใช้แรงในการนั่งหรือลุกพอสมควร แต่นั้นคือสิ่งที่คุณต้องยอมแลกไปบ้างกับการได้ตำแหน่งการขับขี่ที่เตี้ยอารมณ์ Sport ครับ

ชุดเบาะคู่หน้าแบบ Sport สามารถปรับชุดรองน่องได้ด้วยมือ และสวิตช์ปรับตำแหน่งเบาะแบบไฟฟ้าอยู่ด้านข้างของตัวเบาะ นอกเหนือจากนี้ยังสามารถปรับปีกเบาะด้านข้างให้ซัพพอร์ตตัวผู้โดยสารเพิ่มได้อีกด้วย ในฝั่งที่นั่งของคนขับมี Memory ตำแหน่งเบาะมาให้ 2 ตำแหน่ง ตัวเบาะหุ้มด้วยนั่ง Dakota สีดำ (หรือแดงขึ้นอยู่กับสีภายนอกของรถ) หากเป็นรุ่น iconic จะได้ภายในสีน้ำตาลพร้อมชุดเบาะคู่หน้าแบบธรรมดาแทน และหากเป็น 330e M Sport (CKD) จะได้ชุดหลังคาซันรูฟเพิ่ม

สคัพเพลท M ที่บันไดข้างประตูรถบ่งบอกถึงการตกแต่ง M Sport อย่างชัดเจน

ส่วนของประตูหลังนั้นการเข้าออกทำได้ง่ายไม่มีปัญหา พื้นที่วางขาด้านหลังนั้นเหลือพอสำหรับคนสูง 170 นิดๆ แม้จะโดนชุดเพลาขับหลังกินพื้นที่ไปบ้าง ตำแหน่งเบาะหลังนั้นสูงกว่าเบาะหน้าไม่มากนัก ฟองน้ำตัวเบาะค่อนข้างแข็ง โดยรวมแล้วตัวเบาะซัพพอร์ตขาและแผ่นหลังได้ค่อนข้างดี

ตำแหน่งเบาะคนขับสามารถปรับสูงต่ำได้ทั้ง เตี้ยถูกใจวัยรุ่นหรือจะสูงขับสบายก็ทำได้ ชุดพวงมาลัย 3 ก้านแบบ M Sport หน้าตาคุ้นเคยเหมือนที่ใช้ใน BMW ที่เป็นชุดแต่ง M รหัสตัวถัง F ทั้งหลาย แม้ในเวลานี้จะเป็นดีไซน์พวงมาลัยที่ถูกใช้มานานแล้วแต่นี้คือหนึ่งในพวงมาลัยที่ผมชื่นชอบ ทั้งขนาดเส้นรอบวงของพวงมาลัยและความหนา ที่พอดีกับมือจนสามารถล็อกมือของคนขับได้กระชับพอดี แถมยังมีหนังหุ้มพวงมาลัยที่เนียมมือเสียจริงๆ

แม้ 320d M Sport คันนี้จะโดนตัดอ็อพชั่นออกไปบ้าง แต่อ็อพชั่นที่สำคัญสำหรับการขับขี่จำพวก Cruise Control&LIM กับสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัยก็ถูกติดตั้งมาให้อย่างครบถ้วน ส่วนของด้านหลังพวงมาลัยออพชั่นที่สำคัญสำหรับคนชอบขับรถอย่างแป้น Paddle Shift ก็มีมาให้ครบครัน

ชุดมาตรวัดเข็มแบบอนุรักษ์นิยมที่แม้จะดูเก่าในสายตาบางท่าน แต่นี่คือมาตรวัดที่สามารถใช้สายตาอ่านค่าต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย จอ Trip แสดงข้อมูลการขับขี่ขนาดเล็ก สามารถเลือกปรับข้อมูลเบื้องต้นได้โดยสั่งการผ่านปุ่ม BC ที่อยู่ตรงก้านไฟเลี้ยว

ชุดจอ iDrive กลางขนาด 6.5 นิ้ว เป็นจอเล็ก (หากเป็น 330e M Sport จะได้จอขนาดใหญ่กว่า มีขนาด 8.8 นิ้ว) รองรับ CD Bluetooth และช่องเสียบ USB แต่ไม่รองรับระบบนำทาง ชุดเครื่องเสียงเป็นแบบธรรมดายังไม่ใช่ลำโพง HiFi เหมือนใน 330e คุณภาพเสียงนั้นจัดอยู๋ในเกณฑ์ทั่วไป

ขยับสายตาลงมาด่านล่างอีกซักนิดจะพบกับที่อยู่ของชุดควบคุมแอร์ Auto แบบแยกอิสระ 2 Zone ที่ไม่สามารถกด Sync เวลาปรับอุณหภูมิได้เช่นเคย

หากมองจากไกลๆ หลายท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกใช้จอแสดงผลเวอรชันเล็กแบบนี้ กราฟฟิกของจอจะเป็นเช่นใด จากหลายวันที่ผมอยู่ในรถคันนี้มาผมสามารถยืนยันได้ครับว่า แม้ 320d M Sport คันนี้จะได้ชุดจอเล็ก แต่กราฟิคการแสดงผลข้างในสามารถทำได้สวยไม่แพ้รุ่นท็อปที่เป็นจอใหญ่ครับ เรียกว่าพอได้ใช้งานจริงก็ไม่ได้ดูน่าเกลียดอะไร

อีกอ็อพชันที่โดนตัดไปจาก 330e คือชุดกล้องมองหลัง แต่มีชุดเซ็นเซอร์ PDC ช่วยกะระยะทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งทำงานได้อย่างแม่นยำกราฟิคเข้าใจง่ายจึงช่วยให้ถอยหลังได้ไม่ลำบากมากนัก

ใต้แผงควบคุมแอร์ลงมาอีกนั้น เป็นที่อยู่ของชุดคันเกียร์ไฟฟ้า ที่มีหน้าตาและตำแหน่งของปุ่มกดที่หลายท่านคุ้นเคยกันดี ด้านขวามือคันเกียร์เป็นที่อยู่ของ สวิตช์เปิดปิดระบบ DSC DTC และปุ่มปรับโหมดการขับขี่ ซึ่งในรุ่นการตกแต่งแบบ M Sport จะสามารถปรับได้ถึงโหมดการขับขี่ได้ถึง Sport + เลยครับ ใต้ลงมาเป็นปุ่มเปิดปิดระบบ PDC

Engine and Drivetrain

ขุมพลังของ BMW 320d M Sport ที่เรานำมาทดสอบกันนั้นเป็นเครื่องยนต์ดีเซลรุ่น 20d (รหัสเครื่องยนต์ B47D20) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ เทคโนโลยี BMW TwinPower Turbo ขนาดความจุ 2.0 ลิตร ความจุจริง 1,995 ซี.ซี. ให้กำลังแรงม้าสูงสุดอยู่ที่ 192 แรงม้าที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ตั้งแต่ 1,750-2,500 รอบต่อนาที ปล่อย CO2 เฉลี่ย 99 กรัมต่อกิโลเมตร

จับคู่เข้ากับเกียร์อัตโนมัติแบบ Steptronic Sport ZF 8 Speed ส่งกำลังลงไปสู่ล้อคู่หลัง

Dr!ve 

ผมได้รับกุญแจรถจากพี่ชายใจดีท่านหนึ่งที่ยินดีให้เรายืมรถมาทดสอบกัน หากจะว่าไปแล้ว 3 Series คันนี้ไม่ใช่คัน​ 3 Series แรกที่ผมเคยขับ แต่ในสายวันนั้นผมยังมีอาการตื่นเต้นราวกับผมไม่เคยขับมาก่อน เมื่อผมเดินมาถึงรถผมไม่รอช้ากระโดดลงนั่งในตำแหน่งคนขับก่อนกด Start เครื่องยนต์ขึ้นพร้อมปรับตำแหน่งเบาะให้เรียบร้อย บรรยกาศที่คุ้นเคยสมัยขับ 3 Series F30 คันก่อนๆ ก็จึงเริ่มลอยเข้ามา

ช่วงล่างที่ถูกติดตั้งใน 320d M Sport LCI คันสีเงินนี้นั้นเป็นชุดช่วงล่างแบบ M Sport ซึ่งจะมีชุดโช๊คอัพที่หนืดและแข็งขึ้นกว่าใน 3 Series ที่เป็นรุ่นช่วงล่าง Standard ผลคือการขับขี่ที่มั่นใจมากขึ้น อาการของช่วงล่างนั้นความ อ่อน-แข็ง สามารถจัดเรียงลำดับได้โดยวัดจากความรู้สึกเทียบกับรุ่นอื่นๆ ให้เห็นภาพสุดได้ตามนี้ครับ

นิ่ม 320d (ช่วงล่าง Standard) -> 330e (ช่วงล่าง Standard) -> 320d (ช่วงล่าง M Sport) -> 330e (ช่วงล่าง M Sport) แข็ง

จะเห็นได้ว่า 320d M Sport คันสีเงินตรงนี้มีช่วงล่างที่ค่อนไปทางแข็ง แต่ยังไม่แข็งสุดเหมือน 330e M Sport ตัวประกอบไทย ที่รายนั้นมีอาการช่วงล่างที่แข็งตึงตังคล้ายรถซิ่งที่ใส่โช็คอัพแต่ง จนผู้ใหญ่บางท่านที่อยู่กับรถนุ่มๆ มานานอาจมีเสียงบ่นได้ แต่ความตึงตังของช่วงล่างชุดนั้นก็แลกมากับอาการของรถที่นิ่งสุดๆ เมื่อเข้าโค้งหรือเมื่อหักหลบเปลี่ยนเลนไวๆ แทบไม่มีอาการ Body roll ให้รู้สึก

หากเป็น 320d M Sport อาการตึงตังของชุดช่วงล่างตรงนั้นจะลดลง ราว 15-20% ทำให้การวิ่งผ่านรอยต่อถนนที่ไม่เรียบ สามารถเก็บอาการรถได้ดีและนุ่มขึ้นกว่า 330e M Sport แถมตัวรถยังมีน้ำหนักที่เบากว่า 330e อย่างชัดเจนเพราะไม่จำเป็นต้องแบกชุดแบตเตอรี่ไว้ท้ายรถ จึงทำให้การกระจายน้ำหนักของตัวรถดีกว่า 330e และมีอาการของตัวรถที่เป็นธรรมชาติมากกว่า การเข้าโค้งหนักๆ หรือมุดสลับเลนนั้นให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติและสนุกในแบบรถที่เบากว่าส่วนอาการ Body roll ของรถมีมากกว่า 330e M Sport อยู่เล็กน้อยจากโช๊คอัพที่ไม่แข็งเท่า

ในช่วงทางตรงผมสามารถพารถคันนี้ทำ Top Speed ได้โดยไม่เครียด อีกหนึ่งตัวช่วยของผมคือชุดพวงมาลัยของ 3 Series ที่สร้างความมั่นใจให้กับคนขับได้ดีไม่น้อย ตัวชุดพวงมาลัยมีอัตตราทดที่ ไวและคมมาก น้ำหนักพวงมาลัยใน Mode Comfort มีน้ำหนักที่กำลังดีในความเร็วต่ำและมั่นใจได้ในความเร็วสูงเมื่อวิ่งตรงๆ แต่หากท่านใดที่ชอบการเปลี่ยนเลนขณะใช้ความเร็วสูง การปรับ Mode Sport เพื่อเพิ่มน้ำหนักพวงมาลัยก็จะเพิ่มความมั่นใจได้ดียิ่งขึ้นครับเรื่องที่น่าแปลกใจคือ อาการดึงซ้ายขวาของพวงมาลัยเวลาผ่านรอยต่อถนนเหมือนที่ผมเคยเจอใน 330e นั้นหายไป มีความเป็นไปได้ว่ายางในรถสองคันนี้ต่างกัน โดย 320d สีเงินคันนี้ใช้ยางจำพวกนุ่มเงียบ และ 330e ที่ผมเคยขับเป็นอย่าง Sport ครับแก้มยางอาจจะส่งผลต่อความไวบนพื้นถนนตรงนั้น

*Tips วิธีการดูว่า 3 Series คันนี้นั้นได้ช่วงล่าง M Sport หรือไม่ ไม่สามารถดูได้จากชุดแต่ง M Sport เพียงอย่างเดียวครับ หากจะให้แม่นยำควรนำเลข Vin ตัวถังของรถเข้าไปเช็คใน Website ข้างนอกอย่างเว็บ M Decoder จึงจะสามารถรู้ได้ชัดว่ารถคันนี้ได้ออพชั่นช่วงล่างแบบไหนมา

กำลังของเครื่องยนต์นั้นเหลือเฟือสำหรับในชีวิตประจำวัน ตัวเลข 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น BMW เคลมไว้ที่ 7.2 วินาที และ Top Speed ที่ 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อคนขับกดคันเร่งลงอานิสงค์ของเครื่องยนต์ดีเซลที่มีแรงบิดสูงในรอบเครื่องยนต์ต่ำ ก็เริ่มแผลงฤิทธิ์ออกมาจนดึงตัวคนขับให้ติดเบาะได้ง่ายๆ ผมสามารถขับเจ้า 320d สีเงินคันนี้ลัดเลาะไปบนถนนกรุงเทพฯ ได้อย่างคล่องตัวสะดวกสบายเหมือนรถเล็กและในโหมดที่จำเป็นต้องใช้ความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างบนทางด่วนหรือการเร่งแซงรถบรรทุกในถนนต่างจังหวัด 320d สีเงินคันนี้ก็สามารถรับบทโหดได้ดีเช่นกัน

การทำงานของเกียร์นั้นเปรียบเทียบให้เห็นภาพโดยง่ายที่สุดคงต้องบอกว่า “หากเกียร์ลูกนี้เป็นผู้หญิงผมคงขอแต่งงานไปแล้ว” แต่ไหนแต่ไร BMW ไม่เคยทำให้ผิดหวังในเรื่องการเซ็ตสมองกลเกียร์ พวกเขาสามารถเซ็ตการทำงานของเกียร์ให้รู้ใจคนขับได้ดีเสมอและหากคุณตบเกียร์มาด้านซ้ายเพื่อเข้าโหมด D/S เกียร์ลูกนี้ก็พร้อมจะเปลี่ยนเกียร์แบบกระชากให้คุณได้สะใจคล้ายกำลังขับรถเกียร์ธรรมดาอยู่

การเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้นสามารถเก็บเสียงของเครื่องยนต์ดีเซลได้ค่อนข้างดี เสียงลมที่จะเข้ามาในห้องโดยสารได้นั้นจะเริ่มเข้ามาหลังความเร็ว 160-170 กิโลเมตรต่อ​ชั่วโมง​ขึ้นไป ซึ่งเป็นความเร็วที่ค่อนข้างสูง

บทส่งท้าย

ในปัจจุบัน ณ เวลาที่ผมกำลังเขียนรีวิวชิ้นนี้อยู่นั้น BMW Thailand ได้วางจำหน่าย BMW 3 Series โฉม F30 อยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 รุ่นย่อยด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็น รุ่นเครื่องยนต์ ดีเซล 320d กับรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน+มอเตอร์ไฟฟ้าหรือที่เรารู้จักกันในชื่อรถยนต์ Plug-in Hybrid รหัส 330e (อักษร d สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล , i สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน, e สำหรับรถ Plug-in Hybrid) ซึ่งทั้งสองเครื่องยนต์ จะถูกตกแต่งออกเป็น 2 Trim ด้วยกันได้แก่

เครื่องยนต์ดีเซล 20d

  • 320d Iconic (ราคา 2,259,000 บาท)
  • 320d M Sport (ราคา 2,459,000 บาท รุ่นที่นำมารีวิว)

เครื่องยนต์เบนซิน+มอเตอร์ไฟฟ้า eDrive 30e

  • 330e Sport (ราคา 2,359,000 บาท)
  • 330e M Sport (ราคา 2,759,000 บาท)

* ราคาข้างต้นรวมแพคเกจ BSI Standard ข้อมูล ณ วันที่ 25/12/2018

ในแต่ล่ะรุ่นเครื่องยนต์และการตกแต่ง ต่างก็มีความดีความด้อยที่แตกต่างกัน สำหรับ 330e นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ ที่คนขับสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ล้วนได้ถึง 30-40 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเสียบปลั๊กที่บ้านหนึ่งครั้ง​ แม้จะเป็นรถที่ดูออกแบบมาเพื่อความประหยัดและรักสิ่งแวดล้อม แต่พละกำลังของเครื่องยนต์เบนซินที่ถูกจับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้านั้นก็ทำให้รถขับสนุกและแรงเทียบเท่ารถ Sport หลายต่อหลายคันเลยทีเดียว สำหรับในรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลอย่าง 320d ที่แม้จะด้อยกว่าในเรื่องพละกำลังอัตราเร่งแต่เรื่องของความทนทานและความประหยัดน้ำมันเวลาเดินทางไกลออกต่างจังหวัด ก็เป็นสิ่งที่มีแฟนๆ Bimmer หลายต่อหลายท่านพิสูจน์มาแล้วว่าประหยัดจริง

320d อาจเหมาะกับคนที่ใช้งานรถวันหนึ่งวันเกิน 30 กิโลเมตรและมีแนวโน้มที่จะใช้รถเดินทางออกต่างจังหวัดบ่อยกว่าการอยู่ในกรุงเทพ แต่หากชีวิต​ประจำวันของคุณต้องใช้รถเดินทางในเมืองบ่อยๆ​ และนานๆ ครั้งถึงจะออกต่างจังหวัดตามเทศกาลบ้าง การเลือก 330e คงจะเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์กว่าไม่น้อย ท้ายที่สุดแล้วผมเชื่อว่าการตัดสินใจบางครั้งนอกจากเหตุผลแล้ว ก็มีอารมณ์นี้ล่ะครับที่จะให้คำตอบเราได้ดีที่สุดในบางครั้ง

ขอขอบคุณ 

พี่ชายใจดี ไม่ประสงค์ออกนาม
ที่เอื้อเฟื้อรถในการทดสอบ

บทความโดย
ธิติพัทธ์ หิรัญบวรทิพย์


สงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาถ้อยคำรูปภาพในบทความโดยผู้เขียนและเว็บไซต์ BIMMER-TH.com
กรุณาขออนุญาตก่อนนำไปใช้

The following two tabs change content below.

Thitipat Hiranbavorntip

Eat Sleep Drive // First Jobber ผู้ลุ่มหลงกับเสียงเครื่องยนต์และโค้งบนภูเขา

Comments

comments