Classic at Heart พาชม BMW คลาสสิครุ่นหายากที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี

ปีหน้าผมจะอายุ 35 ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่มักจะบอกว่ามันคือสถานีสุดท้ายก่อนเข้าวัยชรา แต่นั่นก็แปลว่ามันถึงวัยที่ผมจะสามารถนั่งเล่าเรื่องความหลังแล้วมีความสุขกับมันโดยไม่ต้องมีคนมาแซวว่าทำตัวเป็นคนแก่ได้แล้ว สำหรับคนบ้ารถอย่างผม เรื่องที่จะปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ความสุขในอดีตของผมมีความข้องเกี่ยวกับรถอยู่ไม่น้อย ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าอายุ 35 ปี สำหรับรถนั้นมันไม่ใช่วัยกลางคนระยะสุดท้าย แต่มันคือวัยเกษียณอายุและชราภาพจนการหาอะไหล่มาซ่อมเพื่อให้มันยังวิ่งได้อยู่เป็นเรื่องที่เลือดตาแทบกระเซ็น สิ่งที่คุณทำได้จึงมีเพียงใช้เงินเก็บในบัญชีของคุณไล่ซื้อโปรตั๋วเครื่องบินราคาถูก แล้วพาตัวเองไปยืนอยู่กลางพิพิธภัณฑ์ของผู้ผลิตที่มีรถรุ่นโปรดสภาพเช้งกระเด๊ะเก็บเอาไว้ จากนั้นก็ปล่อยให้สมองคุณรีรันภาพความทรงจำให้ไหลผ่านหัวของคุณไปแทน


BMW ดูเหมือนจะเข้าใจหัวอกคนบ้ารถในวัยกลางคนเป็นอย่างดี หนึ่งในโปรแกรมของโครงการ The Ultimate JOY Experience จึงจัดให้สมาชิกผู้ใช้รถ BMW ในประเทศไทยได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์รถคลาสสิคที่สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ BMW Group Classic ในเขต Milbertshofen เมืองมิวนิค ซึ่งก็คือสถานที่ตั้งของโรงงานผลิตแห่งแรกๆ ของ BMW ในสมัยก่อน ความพิเศษของโปรแกรมคือการพาเข้าไปในโซนที่อนุญาตให้กรุ๊ปทัวร์จำนวนไม่มากเข้าชม ซึ่งจากภาพคุณก็คงจะพอเข้าใจได้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะรถคลาสสิคที่จอดเรียงรายอยู่ในห้องนี้มีประวัติความเป็นมาที่โดดเด่นทุกคัน ตั้งแต่ BMW Isetta สามล้อคันจิ๋วที่ผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังไม่มีรถคันไหนเหมือน, BMW 328 โรดสเตอร์คันแรกของค่าย, BMW 507 โรดสเตอร์คันที่นักร้องชื่อดังอย่างเอลวิสเคยครอบครอง, BMW 2000 ในยุค Neue Klasse ที่ออกมากอบกู้บริษัทให้ผ่านพ้นวิกฤติ, BMW 2002 ต้นตระกูลซีรีส์ 3 ในปัจจุบันและสปอร์ตคูเป้ที่จุดกระแสฮิตไปทั่วโลก และ BMW 2002 Turbo ซึ่งจะเรียกว่ามันคือปู่ทวดของ BMW M2 ก็คงจะพอไหว ไปจนถึงรถสปอร์ตต้นกำเนิดตระกูล M ทั้งหลายอย่าง BMW M1 ทั้งเวอร์ชันถนนและตัวแข่ง Pro Car Series เรียกว่าแฟนใบพัดฟ้าขาวสายคลาสสิคตัวจริงต้องมีเข่าอ่อนกันบ้างล่ะ

วันนี้ Bimmer-th จะขอพาคุณไปชมไฮไลท์บางคันที่เราคิดว่าเป็นของเด็ดกันครับ

BMW M1

รถสปอร์ตรูปทรงลิ่มที่หน้าตาและการดีไซน์แหวกแนวไปจาก BMW ทั้งหมู่มวลตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มันถูกตั้งใจที่จะทำออกมาเป็นตัวแข่ง Group 5 ในปี 1977 เพื่อ BMW 3.0 CSL หรือ Batmobil ที่ใช้แข่งมาอย่างยาวนาน Jochen Neerspach ที่รับผิดชอบงานด้านรถแข่งของ BMW ในตอนนั้นจึงกลับไปเอาพิมพ์เขียวของ BMW Turbo concept ที่ Paul Bracq ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 1972 ออกมามาปัดฝุ่น แต่ในเมื่อโรงงานผลิตที่ BMW มีอยู่ในตอนนั้นไม่เพียงพอที่จะสร้างรถแข่งรุ่นนี้ตามกฎโฮโมโลเกชันให้ได้ครบ 400 คัน เขาจึงว่าจ้าง Lamborghini ให้เป็นคนช่วยลงมือผลิตให้ โดยเป้าหมายก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาผลิตมันได้ครบ 400 คัน ก็จะมีสิทธิลงแข่ง Group 4 และสิทธิในการขอผ่านกฎโฮโมโลเกชันสำหรับ Group 5 ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดได้ด้วย

ทุกอย่างดูสวยหรู เข้าล็อค และลงตัวดีจนกระทั่ง Lamborghini เกิดปัญหาวิกฤติการเงินจนล้มละลาย ทำให้ไลน์การผลิต BMW M1 ต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดการเดิมในปี 1977 BMW ต้องแจกจ่ายงานไปให้ผู้ผลิตสารพัดรายเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อ แชสซีส์เหล็กท่อ (Tube) ถูกผลิตโดยซัพพลายเออร์รายนึง ชิ้นส่วนตัวถังไฟเบอร์กลาสผลิตจากอีกแห่ง จากนั้นทั้งสองส่วนก็ถูกส่งไปรวมร่างกันที่สำนัก Ital Design ซึ่งจะประกอบภายในให้ด้วย แล้วค่อยส่งไปที่ Baur ในเยอรมันที่จะเป็นคนลงมือใส่เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ก่อนที่จะไปเก็บงานขั้นตอนสุดท้ายที่แผนก BMW Motorsport ในมิวนิค แต่กว่าที่ระบบห่วงโซ่การผลิตจะลงตัว รายการ Group 5 ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว รถรุ่นนี้จึงไม่เคยได้ลงแข่งในรายการที่พวกมันถูกตั้งใจสร้างมาตั้งแต่แรก ส่วนรถแข่ง BMW M1 ที่เห็นก็เป็นรถที่ทำมาสำหรับซีรีส์แบบ One Make Race ที่มีชื่อว่า Procar ซึ่ง BMW คิดค้นขึ้นมาเพื่อเร่งยอดผลิต BMW M1 ให้ครบ 400 คัน เร็วขึ้น

ท้ายที่สุดไลน์การผลิตอันยุ่งเหยิงของ BMW M1 ก็สิ้นสุดลงในปี 1980 พร้อมกับจำนวนผลิต 430 คัน และมีแค่ 40 คัน เท่านั้นที่เป็นรถแข่ง เรื่องน่าแปลกก็คือแม้ว่าทุกอย่างจะดูกระท่อนกระแท่น แต่สื่อทั้งหลายที่ได้ลองขับ BMW M1 ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันขับได้สุดยอด การที่มันไม่ได้วาดลวดลายในสนามแข่ง Group 5 อย่างที่ทีมพัฒนาตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้นจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สุดอย่างนึงในวงการรถยนต์และมอเตอร์สปอร์ต

BMW Z1

โปรเจคท์รถโรดสเตอร์แหวกแนวที่เกิดขึ้นในปี 1985 โดย BMW มีการตั้งทีมงานใหม่แยกออกมาเป็นเอกเทศน์เพื่อความสดใหม่ และเพื่อที่จะสืบสานตำนานโรดสเตอร์ของ BMW ที่ห่างหายไปตั้งแต่ BMW 328 และ BMW 507 เมื่อราวสามทศวรรษก่อน ผู้บริหารระดับสูงกำหนดให้ BMW Z1 เป็นรถโรดสเตอร์แบบ 2 ที่นั่ง ขนาดเล็ก เปิดประทุน และน้ำหนักเบา มันใช้อุปกรณ์ร่วมกับซีรีส์ 3 เพื่อไม่ให้งานวิศวกรรมต้องซับซ้อนเกินไป และใช้เปลือกตัวถังภายนอกพลาสติกซึ่งมาพร้อมฟีเจอร์พิเศษที่สามารถถอดเปลี่ยนสีรถทั้งคันได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง เหมือนหน้ากากโทรศัพท์โนเกียสมัยก่อน …แต่ก็ไม่ค่อยเห็นเจ้าของ BMW Z1 คนไหนทำสักเท่าไหร่

หน้าตาของมันอาจจะดูเชยแล้วในขณะที่เราเข้าสู่ศตวรรษ 21 มาได้เกือบยี่สิบปีอย่างตอนนี้ แต่ในปี 1987 ตอนที่มันเปิดตัวกลางงานแฟรงค์เฟิร์ทมอเตอร์โชว์ มันเหมือนกับหลุดมาจากอนาคต มันเป็นรถที่ดูเหมือนรถต้นแบบซึ่งไม่น่าจะผลิตขายจริง ซึ่งทำให้กระแสความนิยมของมันพุ่งกระฉูดในชั่วข้ามคืนขนาดที่สื่อมวลชนคนหนึ่งถึงกับเดินมาเสนอเงิน 150,000 ดอยช์มาร์ค (คิดเป็นเงินตอนนี้ประมาณเกือบแสนดอลลาร์ หรือสามล้านกว่าบาท) เพื่อขอเป็นเจ้าของ Z1 ก่อนคนอื่นเพราะกลัวว่ามันจะขายหมดเสียก่อน

BMW Z1 มีฟีเจอร์เด็ดคือบานประตูที่เปิดปิดด้วยระบบไฟฟ้าและมีวิธีการเปิดในแนวดิ่ง คือมันจะเลื่อนซ่อนลงไปเก็บในธรณีประตูด้านล่าง การเปิดปิดประตูจึงใช้การกดปุ่มให้ระบบไฟฟ้าทำงานแทนที่จะเป็นกล้ามเนื้อแขนและข้อมือของคุณ และการวางเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง 2.5 ลิตร 170 แรงม้า แบบ Front-midship ที่แนวของเครื่องยนต์อยู่หลังล้อหน้า (ทำให้มีลักษณะคล้ายรถเครื่องวางกลาง..ซึ่งส่วนใหญ่เครื่องจะอยู่หลังห้องโดยสารแต่อยู่หน้าแนวล้อหลัง) ซึ่งยกมาจาก 325i E30 บวกกับช่วงล่างหลัง Z-axle ดีไซน์ใหม่ ก็ทำให้มันเป็นโรดสเตอร์ที่ขับได้สนุกจนลืมความเครียดทั้งหลายในชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งแอลกอฮอล์

BMW 507 Elvis

ดูเหมือนว่า BMW ชอบจะทิ้งให้ประวัติศาสตร์โรดสเตอร์แต่ละรุ่นของค่ายห่างกันทีละหลายทศวรรษ เพราะในปี 1956 ที่พวกเขาเปิดตัว BMW 507 นั้น บรรพบุรุษของมันอย่าง BMW 328 ก็เลิกผลิตไปได้ราวยี่สิบปีแล้ว เรื่องที่แปลกยิ่งกว่านั้นก็คือ BMW ตั้งใจทำตลาด 507 ในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก และคนที่มาจุดประกายให้ BMW สำนักงานใหญ่ที่มิวนิคคิดที่จะสร้างรถรุ่นนี้ขึ้นมาก็คือ Maxx Hoffman เจ้าของดีลเลอร์รถนำเข้าในอเมริกาอีกด้วย Hoffman เล็งเห็นว่าตลาดมีช่องโหว่ในด้านช่วงราคาระหว่างรถโรดสเตอร์เครื่องเล็กราคาประหยัดอย่างพวก Triumph หรือ MG กับ Mercedes Benz 300SL และคิดว่าถ้า BMW ทำโรดสเตอร์หุ่นน่าเย้ายวนมาเสียบเข้าไปในช่วงราคากลางๆ มันน่าจะทำให้ BMW และเขารวยเละได้

ปัญหาก็คือ Hoffman คิดว่า BMW น่าจะทำราคาขาย 507 ได้แถวๆ $5,000 ต่อคัน แต่ BMW พบว่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้แค่ผลิต 507 ออกมาจอดในลานเก็บรถใหม่หลังโรงงานที่เยอรมันก็ใช้เงินไปมากถึงประมาณ $7,100 แล้ว พอรวมค่าขนส่งต่างๆ ก็ทำให้ราคาจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาสูงถึง $10,500 และต่อให้ BMW จะประสบความสำเร็จในการชักชวนดาราหรือคนดังอย่าง John Derek และ Elvis Presley มาเป็นลูกค้า (Elvis ซื้อเอาไว้ถึงสองคัน) แต่ยอดขายก็ไม่กระเตื้อง ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ทำตลาด BMW ผลิต 507 ออกมาได้เพียง 252 คัน ซึ่งนั่นก็รวมรถต้นแบบ 2 คัน ไปแล้วด้วย จากเป้าหมายที่สูงถึง 1,000 คันต่อปี

แต่พิพิธภัณฑ์ของ BMW Classic ไม่ได้โชว์แค่ BMW 507 ใดๆ เท่านั้น เพราะนี่คือรถคันจริงของ Elvis Presley ที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชนก่อนที่จะถูกบูรณะคืนกลับมาเป็นสภาพโรงงานอย่างที่เห็น Elvis ซื้อ 507 คันนี้ตอนที่เขาเป็นทหารเกณฑ์สังกัด US Army อยู่ในเมือง Bad Nauheim ที่เยอรมัน แต่เขาคงรำคาญที่ BMW 507 สีขาวของเขามักจะเปรอะไปด้วยรอยลิปสติกจากแฟนๆ ที่แอบมาทิ้งสัญญาณรักเอาไว้ตอนที่มันถูกจอดทิ้งเอาไว้หน้าบ้าน เขาเลยส่งมันไปเปลี่ยนเป็นสีแดงแทนเพื่อแก้เผ็ด หลังจากนั้นในปี 1960 มันก็ถูกขายต่อไปให้ Tommy Charles ดีเจแผ่นเสียงในอเมริกา ซึ่งจับเครื่อง Chevy V8 หย่อนลงไปแทนเครื่อง BMW V8 150 แรงม้าของเดิม

ในปี 2014 BMW Museum ซื้อรถคันนี้กลับมาจอดโชว์ที่พิพิธภัณฑ์เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนที่ BMW 507 จะถูกส่งไปเข้ากระบวนการฟื้นฟูเพื่อกลับสู่สภาพเดิมเหมือนตอนที่มันออกจากโรงงานเมื่อราว 60 ปีก่อน จากนั้นก็ส่งไปโชว์ที่พิพิธภัณฑ์ BMW Zentrum ในอเมริกา ก่อนที่จะกลับมาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในเยอรมันอย่างถาวร เรื่องที่ใครหลายคนอาจไม่ทราบก็คือ BMW 507 คือต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ BMW ตระกูล Z ทั้งหลาย โดยเฉพาะ BMW Z8 ที่ใช้กระจังหน้าแนวนอนในรูปแบบเดียวกับมัน

BMW 328

รถสปอร์ตและโรดสเตอร์คันแรกของ BMW ที่สร้างขึ้นในระหว่างปี 1936-1940 ซึ่ง BMW ยังคงเป็นผู้ผลิตหน้าใหม่ที่เข้าสู่วงการมาได้ราว 7 ปี เท่านั้น กระนั้นผู้บริหารก็ต้องการรถที่สามารถทำผลงานในสนามแข่งระดับนานาชาติได้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อต้องต่อกรกับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Alfa Romeo เครื่องเทอร์โบที่แรงจัดและเป็นเจ้าสนามในขณะนั้น ด้วยงบประมาณที่จำกัดในการพัฒนาเครื่องยนต์ทำให้วิศวกรต้องหาวิธีการแก้ปัญหาฝาสูบที่ออกแบบใหม่มาได้แค่ครึ่งทาง โดยการนำแท่ง Push rod มาต่อจากเพลาลูกเบี้ยวฝั่งวาล์วไอดีเพื่อควบคุมการเปิด-ปิดของวาล์วไอเสียต่ออีกทีนึง มันเป็นวิธีการที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่น่ารอด แต่กระนั้นพวกเขาก็ทำมันได้สำเร็จและทำให้เครื่องยนต์หกสูบเรียง 2.0 ลิตร สามารถผลิตแรงม้าออกมาได้ถึง 80 ตัว เมื่อมาเจอกับตัวถังอลูมิเนียมอันเพรียวบางที่หนักแค่ 830 กิโลกรัม BMW 328 จึงวิ่งได้ฉิวและทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง พามันขึ้นแท่นตำแหน่งรถสปอร์ตขนานแท้ในยุคนั้นได้อย่างไร้ข้อกังขา

BMW 328 สร้างผลงานเด่นได้ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นรถต้นแบบ โดย Ernst Herne นักแข่งมอเตอร์ไซค์เจ้าของสถิติโลกสามารถพามันคว้าแชมป์ที่ Eifelrennen ใน Nurburgring ได้ในปี 1936 เข้าเส้นชัยก่อน Alfa Romeo เทอร์โบถึงสองนาทีครึ่ง หลังจากนั้น BMW 328 ก็ทำหน้าที่คว้าเหรียญทองและเงินจากการแข่งขันอย่างไม่หยุดหย่อน BMW เคยสรุปเอาไว้ว่ารถ 328 ของทีมโรงงานได้เข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งไม่ต่ำกว่า 200 ครั้ง และได้เหรียญทองคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 100 เหรียญ แต่เรื่องที่ทำให้ BMW 328 โด่งดังที่สุดก็คือการได้แชมป์ในรายการ Mille Miglia สุดหฤโหดที่มีความยาวมากที่สุดในโลก โดยเส้นทางจะต้องผ่านไปในถนนสาธารณะที่ไม่ได้ปิดการจราจร ข้ามภูเขาเป็นลูกๆ วิ่งฝ่าเข้าไปในเมืองและหมู่บ้าน แต่ BMW 328 ก็สามารถทำความเร็วเฉลี่ยตลอดการแข่งได้สูงถึง 119.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเมื่อมาถึงเส้นชัย มันก็มีเพียงแต่ BMW 328 4 คันที่ลงแข่งเท่านั้น เพราะคู่แข่งที่เหลือทั้ง Aston Martin, Fiat และ Alfa Romeo ต่างก็พังกันไปหมดตั้งแต่กลางทางแล้ว

อย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ตอนต้นว่าเรื่องราวในอดีตมีแง่มุมสวยงามให้เราได้อิ่มใจได้เสมอ แต่การจะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเสมือนกับวันวานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และพูดก็พูดเถอะว่าจะมีคนไทยสักกี่คนที่เคยได้ใช้ชีวิตอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์รุ่นสุดโต่งและผลิตจำนวนจำกัดอย่าง 3-4 คันที่เล่ามานี่บ้าง? ถ้าจะพูดถึง BMW ที่ทำให้คนในยุคสมัยผมตัวร้อนผ่าวและตาลุกวาว มันก็คงจะต้องเป็นซีรีส์ 3 สมัย E30 มาจนถึง E46 ที่ดูยังไงก็สวยเซ็กซี่ไม่สร่าง และอาจจะทำให้ผมเหลียวมองได้มากกว่ารุ่นใหม่ๆ ด้วยซ้ำ หรืออย่างซีรีส์ 5 E39 ที่ใครก็ได้ช่วยฆ่าผมทีเถิด เพราะเห็นทีไรก็ยังทำหัวใจเต้นรัวได้ไม่ต่างกับตอนจับมือสาวครั้งแรก ผมไม่รู้เหมือนกันว่า BMW พวกนี้เรียกว่าคลาสสิคได้หรือยัง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มันขึ้นแท่น “BMW Classic” อย่างสมบูรณ์ บางที BMW ประเทศไทยอาจจะหันมาพิจารณาผลิตอะไหล่หรือเปิดโปรแกรมบูรณะบ้างก็ได้…สาธุ

ขอบคุณภาพจาก BMW Thailand

 

The following two tabs change content below.
มนุษย์เงินเดือนผู้คลั่งไคล้ในรถยนต์สมรรถนะยอดเยี่ยม นักแข่งรถสมัครเล่นที่มักจะพบเห็นวิ่งดมฝุ่นอยู่ท้ายสนาม คุณพ่อของลูกสาวที่น่ารัก และหนึ่งในทีมงาน Bimmer-th.com

Comments

comments