“งานออกแบบชิ้นนี้ เป็นงานออกแบบที่เกิดจากบริบทของตัวรถทั้งหมด ทุกเส้นสายที่สร้างขึ้น ล้วนเกิดจากตัวรถ จะไม่มีเส้นสายไหนเลย ที่สามารถเกิดขึ้นมาแล้วไม่ยึดโยงกับตัวรถ มันคือเส้นสายที่ถูกสร้างโดยฟอร์มของรถ เพื่อให้เกิดรูปทรงใหม่ แต่ยังคงเป็น BMW Z4 คันเดิม” – ดวงฤทธิ์ บุนนาค
…
หากคุณได้คุยกับเพื่อนซึ่งเป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับวงการสถาปนิกและการออกแบบ มีโอกาสน้อยมากที่เขาจะไม่รู้จัก “พี่ด้วง” คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญแห่งโลกของการออกแบบอาคารสถานที่ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักกันในประเทศไทยเท่านั้น คุณดวงฤทธิ์ ยังเคยสร้างผลงานที่คว้ารางวัลระดับนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Building of the year จาก ARCASIA จนถึงรางวัล International Architecture Award จาก The Chicago Athenaeum Museum of Architecture and Design
หากคุณเคยพักที่ Costa Lanta จังหวัดกระบี่, The Naka Phuket หรือ โรงแรม So Sofitel หัวหิน..หรือเคยขับผ่านอาคาร H-1 ซอยทองหล่อ อาคาร The Helix ที่ศูนย์การค้า Emquartier หรืออาคารชุด Issara ลาดพร้าว ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดจากมันสมองของชายวัย 54 สวมแว่นตาหนาผู้นี้ล่ะครับ
เส้นทางชีวิตของคุณดวงฤทธิ์นั้น ฉายแววอัจฉริยะในการออกแบบตั้งแต่อายุยังน้อย โดยหลังจากที่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม ในค.ศ. 1989 ก็บินไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ ณ สถาบัน Architectural Association กรุง London กลับมาได้ไม่กี่ปี ก็เริ่มออกแบบอาคารหลายแห่งจนเป็นที่รู้จักในวงการอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี 1999 เขาก่อตั้ง หจก. ดวงฤทธ์ บุนนาค และเปลี่ยนเป็นบริษัทในหลายปีต่อมา
เสน่ห์ในการออกแบบอาคารสไตล์คุณดวงฤทธิ์ คือรูปทรงเหลี่ยมแบบโมเดิร์น แต่ในเส้นสายของตัวตึกที่เรียบง่ายจะซ่อนลูกเล่นทางรายละเอียดเอาไว้เพียบ คุณด้วงจะศึกษาจุดประสงค์การออกแบบของอาคารแต่ละแห่งและสภาพแวดล้อมรอบบริเวณอย่างละเอียด เพื่อให้งานที่ออกแบบมา มีความโดดเด่น แต่ทุกอย่างจะอยู่ในที่ที่มันควรอยู่ และกลมกลืนสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่รอบๆ
ดังนั้น เมื่อทาง BMW Thailand เชิญคุณดวงฤทธิ์มาร่วมสร้างผลงาน BMW Unbound World of Arts Series โดยให้โจทย์มาเป็น BMW Z4 ใหม่เอี่ยมหนึ่งคัน วิธีที่เขาเลือกในการปรุงแต่งรถคันนี้ย่อมไม่ธรรมดา..แต่มีเงื่อนไขของมันนะครับ ตามที่พี่ด้วงอธิบายว่า “งานของผม มันเป็นงานแบบที่คุณต้องดู 2 ที”
ในครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เห็นรถ Z4 ฝีมือพี่ด้วง ในใจก็คิดว่า “สงสัยพี่ด้วงจะได้แรงบันดาลใจมากจาก BMW Z1 คันสีแดง (Art Car No. 11 ของ A.R. Penck) แน่ๆ เพราะมันดูแดงๆ ตัดกับเส้นดำเหมือนกัน แต่ผมเดาผิดถนัด! เพราะในการสัมภาษณ์ของทีมงานเอเจนซี่ คุณดวงฤทธิ์เผยว่า รถที่เขา “TRIBUTE” ให้ทางดีไซน์ในครั้งนี้ คือ Art Car No. 2 ของ Frank Stella ต่างหาก แม้จะเกินที่ผู้เขียนคาดไปมาก แต่สามารถเข้าใจได้ เพราะรถ No. 2 นั้น มีจุดเด่นอยู่ที่การนำกระดาษกราฟสำหรับพิมพ์เขียว (Blueprint) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบอย่างจริงจังในงานวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม
และถ้าหากคุณสังเกตรถ No.2 ดีๆ จะพบว่ามันมีโทนสีหลักเพียงแค่สองสีเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากรถ Art Car คันอื่นๆที่เน้นศิลปะแบบ Pop art หลากสีสัน คุณดวงฤทธิ์จึงคิดที่จะใช้แนวทางสองสี แต่สร้างมุมมองใหม่ให้กับ Z4 โดยทำให้ตัวรถนั้นเหมือนถูกเสริมมัดกล้ามขึ้นมา
คุณดวงฤทธิ์ เลือกใช้วิธีการกำหนดแบบร่างบนตัวรถ แบ่งเป็นส่วนต่างๆ หลังจากนั้น ก็ใช้ปากกาสีดำ เขียนลงบนตัวรถ ซึ่งคุณดวงฤทธิ์บอกว่า “Z4 นั้น มันเป็นรถที่เท่อยู่แล้ว มันมีความทะมัดทะแมง ดังนั้น เราก็เริ่มจากโครงสร้างทางการออกแบบ ที่เรียกว่า Organizational Structure สร้าง Grid ไปปูบนตัวรถ”
จากนั้นเมื่อวาดเส้นสายลงไป เพื่อสื่อให้เห็นถึงมัดกล้าม จึงมีการใช้เส้นลักษณะที่เป็นตาข่าย ซึ่งเมื่ออยู่บนตัวรถ จะทำให้ดูเหมือนรถนั้นเป็นชายที่กำลังเบ่งกล้าม เส้นสายสีดำก็เหมือนเสื้อผ้าของรถที่รัดรูปอันทะมัดทะแมง เมื่อกล้ามพองโต มันก็จะเป่งตามออกมา การที่ใช้เส้นสายเหล่านี้ประหนึ่งเสื้อผ้า ก็ยังแปลความได้ว่า คุณดวงฤทธิ์ใช้ Form หรือรูปทรงของตัวรถ เป็นตัวกำหนดเส้นสาย ว่าจะวาดตรงไหนในลักษณะใด
และที่สำคัญคือ ศิลปะจะสวยได้เมื่อได้รับการขับเคลื่อน คุณดวงฤทธิ์ไม่ได้มองรถคันนี้เหมือนผ้าใบหรือกระดาษกราฟที่ใช้เพื่อรองรับงานศิลปะของเขา แต่ในทางตรงกันข้าม เขาใช้หลักเดียวกับการออกแบบตึก ซึ่งเส้นสายภายนอก มีไว้เพื่อส่งเสริมความงามจากแกนหลัก ซึ่งในที่นี้ก็คือตัวรถ Z4 ซึ่งนับเป็นงานศิลปะที่ดีชิ้นหนึ่งอยู่แล้ว
“และที่สำคัญคือ ผมอยากทำให้แน่ใจว่า คุณเห็นรถลายแบบนี้แล้วคุณก็ยังอยากขับมันไปบนถนน แล้วมันก็ยังมีความเท่อีกด้วย”
เรื่องรสนิยมอาจต้องแล้วแต่คนแล้วแต่ความคิด แต่สำหรับผู้เขียนนั้น เชื่อตามที่พี่ด้วงบอกเลยว่า งานของเขา เป็นงานที่ต้อง “ดูสองที” สารภาพก่อนว่า Z4 คันนี้ไม่ใช่รถคันแรกที่ผมวิ่งเข้าไปถ่ายภาพเมื่อครั้งมีงาน #BIMMERMEET4 แต่เมื่อเดินผ่านในช่วงเย็น และตัดสินใจหยุดดูรายละเอียดต่างๆ ก็เริ่มตั้งคำถามว่า “พี่เขารู้ได้ไงว่าเส้นนี้มันควรโค้งตรงนี้ หักมุมตรงนี้” เพราะถ้าคุณแค่เดินผ่านถ่ายรูปสามแช๊ะ มันจะดูเหมือนรถที่สไปเดอร์แมนควรมีไว้ใช้ แต่เมื่อฟังคำที่พี่ด้วงเล่า และมาพินิจพิจารณาดูดีๆ มันไม่ใช่ใยแมงมุมเลยสักนิด แต่เป็นคล้ายเสื้อลายตาข่ายสีดำ และเส้นที่พี่ด้วงวาดไปทุกเส้น ก็ล้วนช่วยขับเสริมรูปทรงที่นักออกแบบของ BMW ทำไว้เยี่ยมยอดแล้ว ให้ดูดีขึ้นไปอีกขั้น
สามคำประจำใจของคุณดวงฤทธิ์ในการทำงานคือ “คิด ทำ และ อดทน” (Source: จากการสัมภาษณ์โดยไทยรัฐออนไลน์) สิ่งนี้ เป็นคติที่ใช้ในการสอนนักเรียนสถาปัตย์รุ่นน้องตามมหาวิทยาลัยที่ไปสอน รวมถึงใช้ในทุกครั้งที่ต้องลงมือทำงาน ดังเช่นงานบนรถ BMW Z4 คันนี้ ซึ่งดูเหมือนจะง่าย แต่ถ้าได้เห็นขั้นตอนการทำงานที่ละเอียดยิบแล้วก็จะบรรลุว่า หลายคนในโลกนี้สามารถคิด มีคนจำนวนน้อยกว่าที่นำสิ่งที่คิดมาลงมือทำได้จริง และยิ่งน้อยลงถ้าเราจะมองหาคนที่อดทนทำงานใหญ่สักชิ้น จนสำเร็จได้ในที่สุด คำพูดของพี่ด้วงดูง่าย แต่ทำจริงแล้วรายละเอียดเยอะ เหมือนกับงานทุกชิ้นของเขานั่นล่ะครับ
และนี่ คือผลงาน BMW Unbound World of Arts โดย คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค หากมีโอกาส เราจะนำเสนอผลงานคันอื่นๆต่อไป
ท่านที่อยากชมคลิป Official จาก BMW Thailand ดูได้ที่นี่เลยครับ
สำหรับใครที่ชื่นชอบผลงานของคุณดวงฤทธิ์ ยังสามารถดาวน์โหลดสติกเกอร์ไลน์ที่คุณดวงฤทธิ์ จับมือกับบีเอ็มดับเบิลยูประเทศไทย สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อมอบรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายการเผยแพร่ให้กับ “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ)” ได้
สติกเกอร์ชุด “BMW Fight COVID-19” มีทั้งหมด 24 แบบ จำหน่ายในราคาชุดละ 60 บาท (100 Coins) สามารถใช้งานได้โดยไม่มีวันหมดอายุ ดาวน์โหลดได้ที่ https://line.me/S/sticker/11507632
นอกจากดาวน์โหลดสติกเกอร์เพื่อใช้งานเองแล้ว ยังสามารถส่งสติกเกอร์เป็นของขวัญให้เพื่อนได้ หรือร่วมสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา ได้โดยตรง ที่บัญชี “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ )” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 067-300487-3
Pan Paitoonpong
Latest posts by Pan Paitoonpong (see all)
- BMW 2 Series Coupe ใหม่ รหัส G42 สนุกแบบขับหลังได้เช่นเดิม - July 9, 2021
- 6 Application ที่ห้ามพลาดสำหรับคนรักรถ - June 8, 2021
- BMW i4: เจาะรายละเอียด EV สปอร์ต Gran Coupe ที่มีโอกาสมาไทย - June 7, 2021