รวมประวัติ BMW 7 Series- 42 ปีกับนวัตกรรมความหรูคู่อรรถรสการขับขี่

หากพูดถึงเลข 7 ในทางโหราศาสตร์บางแขนงเขามองกันว่าเป็นเลขแห่งความเหนื่อยปนวุ่น มีกิจกรรมต่างๆทำอยู่ตลอดเวลา เมื่อเลขนี้ไปปรากฏอยู่บนบ้าน หรือบนทะเบียนรถ ยิ่งมาก ยิ่งแปลว่าเหนื่อย ความหมายมิได้ไปในทางที่ดีสักเท่าไหร่ แม้ความเชื่อนี้อาจจะมีความเป็นจริงที่พิสูจน์ยาก แต่มันก็มากพอจะทำให้ผมเปลี่ยนป้ายทะเบียนรถตัวเองเพื่อกำจัดเลข 7 ไปสองตัว ผลหรือครับ? ชีวิตก็เหมือนเดิมนั่นล่ะ ไม่น่าเลยจริงๆ

.

ดังนั้นผมจึงเริ่มคิดใหม่กับเลข 7 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ 7 ที่ว่านี้ อยู่บนท้ายรถยนต์ BMW 7 Series เพราะนี่คือสิ่งที่ใกล้เคียงคำว่า “อัครยานยนต์” มากที่สุดเท่าที่ BMW สร้างมา ไม่ว่าเลข 7 ตัวไหนจะทำให้คุณเหนื่อยหรือท้อแท้มาก่อน 7 บนท้าย BMW จะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายไปกับเบาะนั่งที่ออกแบบมาอย่างดี วัสดุชั้นเยี่ยม เครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูง ขับสนุก จนบางครั้งเจ้านายบนเบาะหลังก็อยากเปลี่ยนบทบาทมาเป็นสารถีเสียเอง

ระยะเวลายาวนาน 42 ปีนับตั้งแต่ 7 Series ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนั้น เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชนิดหน้าเป็นหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบภายนอก/ภายใน ฟังก์ชั่นต่างๆที่รถมี มาตรฐานความปลอดภัย และขุมพลังขับเคลื่อน ในยุคที่ 7 Series รุ่นแรกเปิดตัว รถหรูๆ ยังใช้เกียร์ธรรมดา มีคลัตช์ให้เหยียบ มีกระจกที่เปิดโดยใช้มือหมุนควง คนในสมัยนั้นส่วนมากยังไม่รู้จักโทรศัพท์มือถือ โลกไซเบอร์ไม่มีตัวตน และการพ่นควันยาสูบในห้องทำงานที่บริษัทเป็นเรื่องปกติ

ในเวลานั้น หากคุณได้เป็นเจ้าของรถสักคันที่มีแรงม้าเกิน 170 ก็ถือว่าแรงมากแล้ว 730Ld G12 ของทุกวันนี้ เกินเลยมาตรฐานสมัยนั้นมาก รถหนักขึ้นกว่าครึ่งตัน ขนาดตัวยาว และใหญ่ อุดมด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้ามากมาย แต่เร่งได้เร็วกว่าเดิม ขับสนุกกว่าเดิม ประหยัดเชื้อเพลิงและปล่อยมลพิษน้อยลงกว่าเดิม

แต่ทั้งหมดนี้ มิใช้พัฒนาการที่เกิดขึ้นภายในเจนเนอเรชั่นเดียว กว่า 4 ทศวรรษ และ 6 เจนเนอเรชั่น กินแรงวิศวกร ทีมออกแบบนับพันกับชั่วโมงการทดสอบและระยะทางที่นับไม่ถ้วน ทั้งหมดนี้สั่งสมให้เกิดตำนานของรถหรูที่ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน ในบทความนี้ ผมจะพาคุณผู้อ่านไปดูแต่ละก้าวที่ผ่านมาของ BMW 7 Series

THE NEW SIX – E3 ต้นตระกูลก่อนเกิด 7 Series

ในยุค 50s BMW เป็นผู้ผลิตรถหรูหราราคาแพง เม็ดเงินจำนวนมากถูกใช้ไปกับต้นทุนการผลิตจนทำให้บริษัทเกือบเจ๊งและกำลังจะขายกิจการให้ Mercedes-Benz  แต่ Herbert Quandt ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และสมาชิกในตระกูล เลือกเข้าข้างคนงานและสหภาพแรงงาน กว้านซื้อหุ้นของ BMW จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีอำนาจปฏิเสธการเข้าถือครองของค่ายดาวสามแฉกได้ และอำนวยการให้ทีมวิศวกรสร้างรถขนาดกลาง “NEW CLASS” ที่มีราคาถูกลง มีบุคลิกสปอร์ตขึ้น เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย และช่วยให้ BMW สามารถฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว

แต่การมีแค่รถขนาดกลางขาย ก็ย่อมไม่พอที่จะสร้างภาพลักษณ์แบรนด์หรูให้ทางค่าย รถ NEW CLASS ตอบโจทย์ลูกค้าเยาว์วัยใจถึงที่มีฐานะระดับชนชั้นกลางไปแล้ว แต่พวกเขาจะทำอย่างไรกับกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีฐานะสูงกว่าและต้องการรถที่หรูหราและนั่งสบายขึ้น เพียงไม่กี่ปีหลังจาก Project NEW CLASS ได้ไฟเขียว Herbert Quandt ก็อนุมัติโครงการ “THE NEW SIX” ซึ่งหมายถึงรถขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบนั่นเอง

BMW ตัวถัง E3 จึงได้ถือกำเนิดขึ้น และลงขายจริงในปี 1968 ตัวถังรถ มีขนาดสอดอยู่ตรงกลางระหว่างรถขนาดกลางอย่าง W114/W115 และรถหรูขนาดใหญ่อย่าง W108/W109 S-Class ของ Mercedes-Benz รูปทรงของรถนั้นมีความก้าวล้ำทางการออกแบบที่เรียกได้ว่าเหมือนมาจากคนละยุคกับ S-Class ทั้งที่เปิดตัวให้หลังแค่ 3 ปีเท่านั้น รถ E3 นี้ มี Wilhelm Hoffmeister เป็นหัวหน้าคุมการออกแบบ เขาคือบิดาผู้ให้กำเนิดเส้นตวัดวกกลับหน้าที่กระจกหูช้างประตูหลังของ BMW อันเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่ในรถของ BMW มาจนทุกวันนี้

ขนาดของตัวรถที่เล็กและเตี้ยกว่าคู่แข่ง เป็นเรื่องที่พวกเขาตั้งใจเอาไว้แต่แรก มันถูกสร้างให้เป็นรถหรูประเภทเจ้าของขับเอง ความใส่ใจในการออกแบบภายใน ยกความเป็นใหญ่ให้กับผู้ขับ มีการปรับจูนช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวให้ว่องไวเหมือนกับรถขนาดเล็ก แต่มีความมั่นคงบนเอาโต้บาห์นเทียบชั้นได้กับรถใหญ่ ทั้งหมดนี้แลกกับพื้นที่ของเบาะหลังที่ไม่ได้โตนัก

E3 มีหลายรุ่นย่อย ปะตัวเลขท้ายรถที่บ่งบอกถึงระดับพลังที่ต่างกัน เช่น “2500” (150 แรงม้า) “2800” (170 แรงม้า) “3.0S” (180 แรงม้า) และ “3.0 Si” (200 แรงม้า) ทั้งหมดเป็นเครื่องยนต์แบบหกสูบเรียง ตัวแสบอย่าง 3.0 Si นั้น ในบางโหมดของการทดสอบสมรรถนะ ทำตัวเลขได้ดีกว่า BMW E9 3.0 Coupe ที่ตัวเล็กและมีมาดสปอร์ตกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ BMW ในสมัยนั้นคงไม่ค่อยอยากให้ใครทราบเรื่องนี้

E23 – ปฐมบทแห่ง “7” [1977-1987]

เกิดในช่วงที่ BMW จัดลำดับวิธีการเรียกชื่อแต่ละรุ่นใหม่ เอาตัวเลข 3, 5, 6 และ 7 ขึ้นต้นและตามด้วยตัวเลขที่บ่งบอกระดับพลังอีกสองหลัก E23 เป็นรถที่มีขนาดตัวโตขึ้นกว่า E3 อย่างเห็นได้ชัด ตามเทรนด์ของรถระดับหรูสมัยนั้นที่ล้วนแต่ขยายขนาดตัวสวนทางกับวิกฤติน้ำมัน E23 ยาวกว่า E3 ถึงครึ่งฟุต และกว้างกว่าอยู่ 2 นิ้ว ตัวถังของมันได้รับการออกแบบโดย Paul Bracq ซึ่งเป็นคนที่เคยออกแบบรถของ Mercedes-Benz มาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม BMW 7 Series เจนเนอเรชั่นแรก มีเอกลักษณ์ของค่ายอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ไฟหน้ากลมคู่ และกระจังหน้าแบบที่ฝรั่งเรียกว่าไตคู่ ส่วนคนไทยยุคลุง เรียกว่าฟันหนู เส้นสายด้านข้างมีความอ่อนช้อยดูคล่องแคล่ว เพราะถึงขนาดจะเปลี่ยน แต่แนวทางไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม BMW จะต้องเป็นรถที่ดูคล่องแคล่วที่สุดในเซกเมนต์ของมัน แต่เพื่อให้ดูหรู จึงจำเป็นต้องมีโครเมียมรอบคันในหลายส่วน

E23 ยังเป็นรถที่มีนวัตกรรมประเภท “ครั้งแรกของ BMW” หลายอย่าง มันคือรถรุ่นแรกที่มี On-board Computer เป็นแผงสี่เหลี่ยมข้างๆหน้าปัด มี Service Interval Indicator และไฟ Check Control บนหน้าปัด รวมถึงเป็น BMW รุ่นแรกที่ได้ใช้ระบบเบรก ABS และมีถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับมาให้เลือกเสียเงินเพิ่มตั้งแต่ปี 1985

เครื่องยนต์ของ  7 Series E23 ยังคงเป็นเครื่องยนต์แบบ 6 สูบเรียงทั้งหมด บางเครื่องยนต์ก็พัฒนาต่อมาจาก E3 โดยเมื่อเปิดตัวช่วงแรก มีเครื่องยนต์รหัส M30 ขนาด 2.5 ลิตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์ 148 แรงม้าในรุ่น 725 เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร คาร์บิวเรเตอร์ 168 แรงม้าใน 728 และ 3.0 ลิตร คาร์บิวเรเตอร์ 181 แรงม้าในรุ่น 730 ส่วนรุ่นที่แรงที่สุดในช่วงเปิดตัว คือ 733i 3.2 ลิตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Bosch L-Jetronic 194 แรงม้า

ในปี 1979 มีการอัปเดตเพิ่มเติม โดยมีการนำระบบหัวฉีด Bosch Motronic มาใช้ ทำให้เกิดรุ่น 728i 181 แรงม้า และ 733i ในยุโรป กลายเป็นรุ่น 732i ที่ใช้เครื่องความจุเท่าเดิม แรงม้าเท่าเดิม ทว่าประหยัดเชื้อเพลิงขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มรุ่นใหญ่สุด 735i ที่ยกเครื่อง M90 (ดัดแปลงมาจาก M88 ที่อยู่ในรถ M) ขนาดความจุ 3.4 ลิตร 215 แรงม้ามาใช้ หลังจากการไมเนอร์เชนจ์ในปี 1983 จึงเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ M30 ที่ขยายความจุเป็น 3.4 ลิตรแทน แต่แรงม้าเท่าเดิม

สิ่งหนึ่งที่ 7 Series ยังขาดอยู่ในสมัยนั้นคือรุ่นท้อปที่ทรงพลัง แม้ว่า 215 แรงม้าจะไม่มีใครบอกว่าน้อยแล้ว แต่ช่วงสิ้นทศวรรษ์ 70s Mercedes-Benz มี S-Class W126 กับรุ่นสูงสุดอย่าง 500SE/500SEL ที่มีพลัง 231 แรงม้า แต่มีแรงบิดดุกว่าเพราะใช้เครื่อง V8 5.0 ลิตร ในฐานะที่เป็นรถบุคลิกสปอร์ตสุดในเซกเมนต์จึงยอมไม่ได้ ทีมวิศวกรจึงนำเครื่องยนต์ M30 รุ่น 3.2 ไปโมดิฟายเพิ่มเติม ติดตั้งเทอร์โบชาร์จ บูสท์ 9 PSI กลายเป็นเครื่องยนต์รหัส M102 ที่มีแรงม้าถึง 252 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะของ ZF รุ่น 3HP22

ชื่อ 745i มาจากการประเมินพลังของเครื่องยนต์เทอร์โบ ซึ่งเมื่อวัดด้วยความจุเท่ากัน จะให้กำลังเทียบเท่าเครื่องขนาดโตกว่า เหมือนเอาความจุเครื่อง คูณด้วย 1.4 เมื่อนำเลข 3.2 ลิตรคูณ 1.4 ก็ได้เท่ากับ 45 นั่นเอง  อย่างไรก็ตาม 745i มีข้อจำกัดเรื่องเนื้อที่ภายในใต้ฝากระโปรง เพราะการติดตั้งเทอร์โบ ทำให้ผลิตได้แค่เวอร์ชั่นพวงมาลัยซ้ายเท่านั้น ซึ่งในเวลาต่อมา เมื่อ BMW South Africa พยายามสร้างรุ่นสมรรถนะสูงที่เป็นพวงมาลัยขวา พวกเขาจึงนำเครื่องยนต์ M88/3  จาก BMW M5 E28 และ M635CSi มาวางลงไป และกลายเป็น 7 Series ตัวถัง E23 ที่ทรงพลังที่สุดด้วยตัวเลขระดับ 286 แรงม้า เริ่มขายในปี 1984 ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้น 745i เทอร์โบเวอร์ชั่นพวงมาลัยซ้าย ก็ได้เครื่อง M106 ที่เพิ่มความจุเป็น 3.4 ลิตร เปลี่ยนหัวฉีดเป็น Motronic และเปลี่ยนไปใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ 4 จังหวะแทน

ตัวถัง E23 ได้รับการไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนทรงฟันหนูข้างหน้า และอัปเดตแดชบอร์ด มาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 1982 เช่นเดียวกับระบบส่งกำลังที่ทยอยปลดเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะออกแล้วแทนที่ด้วย 4 จังหวะแบบใหม่ พร้อมกับปรับรูปแบบช่วงล่างหลังใหม่

ในประเทศไทย โอกาสที่จะพบ E23 เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากรถรุ่นนี้เปิดตัวในช่วงที่รัฐบาลไทยกำลังชูนโยบายตั้งกำแพงภาษีรถนำเข้าระดับมหาโหดเพื่อส่งเสริมรถที่ประกอบในประเทศ ทำให้ราคาของมันสูงจนมีแต่มหาเศรษฐีตัวจริงเท่านั้นที่จะซื้อได้ และไม่คุ้มต่อการนำเข้ามาขายในจำนวนมาก แต่ที่มาเลย์สมัยนั้นมีวิ่งกันเยอะแยะครับ

E32 – FIRST BMW with V12 [1986-1995]

เอกลักษณ์ไฟหน้าสี่ดวงกลมและกระจังหน้าไตคู่ ถูกส่งทอดมาจาก E23 และแม้เส้นสายรอบคันจะมีกลิ่นอายของรถรุ่นเดิมอยู่มาก 7 Series E32 กลับดูแตกต่างเพราะสลัดองค์ประกอบที่เป็นโครเมียมทิ้งไปหลายส่วน เหลือไว้เฉพาะที่จะช่วยขับภาพลักษณ์ให้รถดูหรูแบบผู้ใหญ่ ดีไซน์ภายนอก ออกแบบโดย Ercole Spada ภายใต้ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ Claus Luthe ซึ่ง Spada นี่ก็เป็นคนเดียวกับที่ออกแบบ 5 Series E34 เราจึงเห็นความเกี่ยวดองทางการออกแบบระหว่างรถสองรุ่นนี้ได้หลายส่วน รวมถึงไฟท้าย ซึ่ง 7 Series E32 คือ BMW รุ่นแรกที่ใช้ไฟท้ายทรง “L” กว่า 30 ปีผ่านไป L นี้ก็ยังคงอยู่ แต่แฝงไปอยู่ในรูปของไฟส่องสว่างมากกว่าจะเป็นรูปทรงของไฟท้ายที่ชัดเจน

E32 ยังเป็นรถที่มีอุปกรณ์ล้ำสมัยหลายอย่างซึ่งใช้ใน BMW ครั้งแรก เราไม่ต้องนับการติดตั้งโทรศัพท์ และโทรสาร กับตู้แช่เย็นในรถ ก็ยังมี ช่วงล่างที่ปรับความแข็ง/อ่อนด้วยไฟฟ้า ระบบควบคุมการทรงตัวและการลื่นไถลของล้อเจนเนอเรชั่นแรกๆ (เรียกว่า ASC และยังควบคุมแค่ลิ้นคันเร่ง ไม่ได้มีอำนาจควบคุมระบบเบรกแบบในระบบของรถใหม่) และยังเป็นรถเวอร์ชั่นผลิตขายจริงรุ่นแรกของโลกที่ใช้ไฟหน้าแบบ Xenon ในไฟต่ำตั้งแต่ปี 1991 ความใส่ใจทางด้านการขับขี่ยังรวมถึงก้านปัดน้ำฝนแบบพิเศษที่มีกลไกเสริมช่วยสร้างแรงกดให้แนบกับกระจกหน้าเวลาวิ่งด้วยความเร็วสูง

ในช่วงเปิดตัว มีทางเลือกแค่ 4 รุ่น คือ 730i, 730iL, 735i และ 735iL โดยชื่อรุ่น iL หมายถึงบอดี้แบบฐานล้อยาว ซึ่งจะบวกความยาวตัวรถที่ซีกหลังเพิ่มอีก 119 มิลลิเมตร ทั้งสี่รุ่นใช้เครื่องยนต์ M30 ที่พัฒนาต่อเนื่องมานาน 730 จะใช้เครื่องยนต์ที่มีความจุ 3.0 ลิตร ให้พลัง 188 แรงม้า และ 735 ใช้เครื่องยนต์ขนาด 3.5 ลิตร 211 แรงม้า

ต่อมาในปี 1987 ไฮไลท์ของ E32 ก็มาถึง เมื่อ BMW เปิดตัว 750iL ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นแรกของ BMW ที่ใช้เครื่อง V12 รหัส M70 ซึ่งเป็นเครื่องที่อาศัยพื้นฐานดีไซน์จาก M20 6 สูบเรียงที่เอามาวางทำมุม 60 องศาระหว่างแถวสูบ ใช้เสื้อสูบอะลูมิเนียมเพื่อลดน้ำหนักเครื่องยนต์ เป็นเครื่อง SOHC 2 วาล์วต่อสูบ ความจุกระบอกสูบ 5.0 ลิตร ให้พลัง 300 แรงม้า กลายเป็น BMW เวอร์ชั่นวิ่งถนนที่แรงม้ามากที่สุดก่อนที่ M5 E34 จะเปิดตัว และยังเป็นรถคันแรกที่ BMW ต้องตั้งโปรแกรมล็อคความเร็วสูงสุดไม่ให้เกิน 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะถ้าปลดเมื่อไหร่ วิ่งทะลุได้แน่

°¯¯¯

BMW หมายมั่นให้ 750iL ทำหน้าที่ Flagship ที่เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์แบบครบครันที่สุด ในภายหลังจึงมีรุ่น 750iL Highline ซึ่งมีกระทั่งเบาะนั่งหลังปรับเอนได้ด้วยไฟฟ้า ระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศและเครื่องเสียงจากที่นั่งหลัง มีโต๊ะเขียนหนังสือพับติดเบาะขนาดเล็กทำจากไม้ ที่รองนั่งแบบพับได้และชุดม่านไฟฟ้าสำหรับเบาะหลัง ทั้งหมดนี้ทำให้ BMW ต้องเพิ่มไดชาร์จขนาดเล็กอีกลูกที่เครื่องยนต์ของ Highline เพื่อให้ปั่นไฟฟ้าได้อย่างพอเพียง

ถ้ามองจากภายนอก 750iL จะดูเหมือนกับ 730iL และ 735iL เกือบทั้งหมด ทว่าจุดสังเกตที่เด่นสุด ก็คือกระจังหน้า ซึ่งเฉพาะ 750iL เท่านั้นที่จะได้กระจังหน้าแบบไตคู่ทรงกว้าง (ที่เรามักเรียกซีรีส์ 5 รุ่น E34 ไมเนอร์เชนจ์ว่า Big Nose นั่นล่ะครับ) ส่วน 730 และ 735 จะได้ไตคู่ขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามหากลูกค้าต้องการ ก็สามารถสั่งเปลี่ยนกระจังหน้าและฝากระโปรงเป็นแบบจมูกเล็กได้

E32 มีการอัปเดตอีกครั้งในช่วงปลายปี 1992  เครื่องยนต์ M30 ที่โบราณเต็มทน ถูกปลดประจำการ เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ V8 เสื้อสูบอะลูมิเนียมรุ่นใหม่ที่ BMW ซุ่มพัฒนามา 8 ปี เครื่องยนต์ M60 นั้นเป็นเครื่อง Quad cam ที่ทันสมัย น้ำหนักเครื่องยนต์เบาแค่ประมาณ 200 กิโลกรัม มี 4 วาล์วต่อสูบ ใช้ระบบควบคุมเครื่อง Bosch Motronic 3.3 และคอยล์จุดระเบิดแบบแยกสูบ มีให้เลือกในรุ่น 730i/iL 3.0 ลิตร 218 แรงม้า ซึ่งทำตลาดแทน 730i เดิม และ 740i/iL 4.0 ลิตร 286 แรงม้า ทำตลาดแทน 735i/iL เดิม เครื่องยนต์ทั้งสองแบบจะจับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ ZF 5 จังหวะ

E38- THE MOVIE STAR 7 [1994-2001]

แม้ว่าจะผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ แฟนๆ BMW จำนวนมากก็ยังยกให้ E38 เป็น 7 Series ที่ดูสวยงามลงตัวที่สุด แม้ว่าตัวรถจะสูงขึ้นกว่าเก่า แต่การขยายบอดี้ทั้งความยาวและความกว้าง และการเปลี่ยนมาใช้ล้อขนาดใหญ่ มีส่วนในการทำให้ E38 เป็นรถที่ดูปราดเปรียวเวลาจอดอยู่เดี่ยวๆ นับเป็น 7 Series รุ่นสุดท้ายที่รักษาสัดส่วนตัวรถ ผอม แบน กว้าง เรียว เพราะหลังจากนี้ไป 7 Series รุ่นที่ตามมาจะเริ่มอ้วนเป็นเสี่ยมากขึ้น  E38 มีรูปทรงภายนอกที่ออกแบบโดย Boyke Boyer ภายใต้การดูแลของ Claus Luthe ซึ่งสละตำแหน่งบอสฝ่ายออกแบบ แล้วส่งต่อให้ Wolfgang Reitzle ในปี 1990

บางที ความงามของ E38 อาจเกิดจากความลงตัวระหว่างสัดส่วนตัวรถ และการผนวกองค์ประกอบที่แสดงถึงความทันสมัย กระจังหน้าขนาดกำลังสวย ไม่ใหญ่โตเหมือนรุ่นใหม่ๆ ไฟหน้ากลมสี่ดวงถูกครอบไว้ด้วยกรอบพลาสติกแข็งซึ่งทีมวิศวกรทดลองเอากระสุนลูกเหล็กยิงด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้วมีแค่รอย แต่ไม่แตก ทรงของประตูแต่ละบาน ถูกปรับให้เก็บรายละเอียดเรียบ กระจกหน้าและหลังมีความลาดมากกว่าเดิม และไฟท้าย เป็นทรงสี่เหลี่ยมคล้าย 3 Series E36 ไม่มีเอกลักษณ์ L ของรุ่นเดิมเหลืออยู่

ภายในของ E38 ก้าวหน้าไปไม่แพ้ภายนอก สิ่งที่เหลือเป็นเอกลักษณ์สืบทอดมาก็คือคอนโซลกลางที่หันเข้าหาผู้ขับ แต่ดีไซน์ต่างๆถูกขัดเกลาจนดูเรียบสวย E38 เป็นรถยุโรปรุ่นแรกที่มีระบบนำทางผ่านดาวเทียมเป็นอุปกรณ์ให้เลือกติดตั้ง นอกจากนี้ยังมีระบบเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยก 2 โซนระหว่างผู้โดยสารกับคนขับ พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่นที่สามารถควบคุมการรับโทรศัพท์และเครื่องเสียงได้ เบาะนั่งปรับไฟฟ้าพร้อมระบบบันทึกความจำ 3 ตำแหน่ง และพวงมาลัยที่สามารถปรับได้ด้วยไฟฟ้า

สำหรับเทคโนโลยีความปลอดภัยนั้น E38 ได้ระบบแทร็คชั่นคอนโทรล ASC+T ที่ปรับปรุงให้ทำงานได้ไวขึ้น และเพิ่มฟังก์ชั่นการควบคุมการหมุนของล้อด้วยเบรก มีระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้า ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ และในปี 1997 E38 (และ E39) กลายเป็นรถเวอร์ชั่นขายจริงรุ่นแรกของโลกที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างเพื่อการปกป้องระดับศีรษะ (Head Protection System) และในปี 1998 มีเบาะแบบ Active Comfort Seats ที่ปรับการดุนของเบาะรองนั่งเพื่อลดความเมื่อยล้าระหว่างการขับขี่โดยอัตโนมัติ ที่สำคัญ E38 ยังเป็นรถรุ่นแรกๆที่มีระบบ Adaptive Cruise Control ให้เลือกเป็นออพชั่น ทว่ามีให้เลือกแค่บางประเทศเท่านั้น

เมื่อเปิดตัวในปี 1994 E38 มีเครื่องยนต์เบนซิน 3 แบบ ซึ่งเป็นเครื่อง M60 ที่ยกมาจาก E32 ใส่ในรุ่น 730i/iL และ 740i/iL ส่วนในรุ่น 750iL นั้น จะใช้เครื่องยนต์ M70 ที่อัปเดตกลายเป็นเครื่องยนต์ M73 เพิ่มความจุจาก 5.0 เป็น 5.4 ลิตร แต่ยังคงใช้ฝาสูบ SOHC 2 วาล์วต่อสูบอยู่ เพิ่มพลังจาก 300 เป็น 326 แรงม้า (PS) ส่วนเครื่องยนต์อีกแบบ อยู่ในรุ่น 725tds ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของ 7 Series ที่ได้ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นเครื่อง 6 สูบเรียง 2.5 ลิตร เทอร์โบ มีพละกำลังแค่ 143 แรงม้า เพราะมาในยุคที่ยังเป็นดีเซลปั๊มไฟฟ้าที่ไม่ใช่คอมมอนเรลแบบรุ่นใหม่ๆ

ในปี 1996 BMW เปิดตัว 728i เป็น Entry level ราคาย่อมเยา ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบบล็อก M52 2.8 ลิตร มีระบบแปรผันแคมชาฟท์ VANOS ที่ฝั่งไอดี เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ร่วมกับ 328i และ 528i ส่วนรถรุ่นที่ใช้เครื่อง M60 ก็เปลี่ยนเป็น M62 รุ่น 730i/iL ถูกแทนที่ด้วย 735i/iL ความจุ 3.5 ลิตร 235 แรงม้า ส่วน 740i/iL ใช้ชื่อรุ่นเดิม เปลี่ยนเครื่องยนต์จาก 4.0 เป็น 4.4 ลิตร แรงม้าเท่าเดิม แรงบิดเพิ่มจาก 400 เป็น 420 นิวตันเมตร

E38 มีการไมเนอร์เชนจ์ (LCI) ในเดือนกันยายนปี 1998 โดยไฟหน้าของรถ LCI จะมีทรงไฟดวงกลมย้อยกินบริเวณด้านล่าง เปลี่ยนไฟท้ายใหม่ นอกจากนั้นแล้ว ก็มีการปรับปรุงทางด้านเทคนิค รถรุ่น 728i/iL เพิ่มระบบ VANOS ที่ฝั่งแคมชาฟท์ไอเสีย ส่วน 735i/iL และ 740i/iL มีระบบ VANOS ฝั่งไอดี (จากเดิมที่ไม่มีเลย) นอกจากนี้ยังเพิ่มทางเลือกรุ่นดีเซลอีก 2 รุ่นตามกระแสลด CO2 รุ่น 730d ใช้เครื่องยนต์ M57 3.0 ลิตร 6 สูบเรียงเทอร์โบ 193 แรงม้า และดีเซลพันธุ์แรง 740d ซึ่งใช้เครื่อง V8 4.0 ลิตรทวินเทอร์โบ 245 แรงม้า

ด้วยความที่ทรงสวย และเป็นรถใหญ่ที่มีรุ่นตกแต่งดูสปอร์ต มันจึงถูกนำไปใช้เป็นตัวประกอบในภาพยนตร์หลายเรื่อง เรื่องที่คุ้นตาพวกเรามากที่สุด ก็คือ James Bond 007: Tomorrow Never Dies ซึ่งทีมสร้างหนังเอา 740iL มาแปะป้าย 750iL แล้วทำเป็นรถที่สามารถบังคับด้วยรีโมทโทรศัพท์ ให้ Pierce Brosnan ไล่พิชิตเหล่าร้ายโดยนอนคุดคู้อยู่บนเบาะหลัง ก่อนจะตอบแทน 7 คันงามด้วยการเอานิ้วไสมือถือสั่งรถให้แล่นทะลุตึกไปตกฝั่งตรงข้าม ส่วนอีกเรื่องก็คือ Transporter ซึ่ง Jason Statham ขับ 750i ที่ดัดแปลงเป็นเกียร์ธรรมดาแต่ดันแปะป้าย 735i เพื่อหลอกคนอื่น ซึ่งไปตามถนนต่างๆอย่างที่รถใหญ่ไม่น่าจะทำได้

7 Series E38 ยังถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยทันช่วงก่อนฟองสบู่แตก ทำให้เป็นรถที่สามารถพบเห็นได้ง่าย และถูกซื้อไปเป็นรถประจำตำแหน่งนักการเมืองระดับสูงจำนวนมาก

E65/E66- SAD FACE, HIDDEN SUCCESS [2001-2008]

เมื่อมันเผยโฉมครั้งแรกในปี 2001 7 Series E65 (ตัวถังปกติ) และ E66 (รุ่นฐานล้อยาว) ก่อกระแสวิจารณ์ด้านลบอย่างรุนแรง มันไม่มีอะไรที่สืบทอดจาก 7 Series รุ่นที่แล้วมา และสำหรับคนส่วนมาก ประโยคนี้ไม่ได้ตามด้วยความรู้สึกที่ชื่นชม หลายคนด่า Chris Bangle ชาวอเมริกันที่มาเป็นบอสคุมฝ่ายออกแบบในขณะนั้นว่าทำไมออกแบบรถในลักษณะนี้ ทั้งที่ความจริงคนมีส่วนรับหน้าที่ออกแบบภายนอก คือ Adrian van Hooydonk ซึ่งในปัจจุบันก็กำลังนั่งเก้าอี้เดียวกับที่ Bangle เคยอยู่  แฟนๆ BMW ต้องการรถหรูมาดเฉี่ยวแบบเดียวกับที่ E38 เป็น แต่พวกเขากลับได้รถป้าตัวอวบอ้วน ไฟหน้าแทนตาที่ดูเศร้าเหมือนเพิ่งโดนสั่งพิทักษ์ทรัพย์

ที่ทำร้ายจิตใจคนรัก BMW มากที่สุดคือ ในขณะที่ 7 Series กลายเป็นรถที่ดูเทอะทะขาดความเฉียบคม Mercedes-Benz S-Class ในยุคนั้น กลับเผยโฉมด้วยรูปร่างเพรียวงาม หล่อเหลาชนิดที่พลิกดินเป็นฟ้าเมื่อเทียบกับตัวถังก่อนหน้า ถึงแม้มรสุมน้ำคำจากผู้คนที่โกรธแค้นจะมีมากเท่าไร แต่บอร์ดบริหารของ BMW ก็เชื่อว่า Bangle มาถูกทางแล้ว น่าเสียดายที่งานชิ้นนี้ของเขา ก็เหมือนงานอื่นๆ คือมันจะสวยจากมุมมองของคนที่เคยเรียนออกแบบรถ และมีคุณค่ามากขึ้นในวันที่ Bangle ออกจาก BMW ไปแล้ว..

7 Series เจนเนอเรชั่นที่ 4 นี้ มีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก รุ่น E65 ฐานล้อสั้นก็ยาวทะลุ 5 เมตรไปแล้ว และยังกว้างขึ้น 40 มิลลิเมตรและสูงขึ้น 57 มิลลิเมตร ทั้งหมดนี้ส่งผลให้สัดส่วนของ E65/E66 ดูไม่งาม แต่ก็ทำให้มีพื้นที่โดยสารในรถเพิ่มขึ้นผิดหูผิดตา และสิ่งที่ BMW ทำพลาดข้างนอก ก็ชดเชยด้วยภายในของรถ ซึ่งมีความล้ำยุคยิ่งขึ้น คอนโซลแบบหันเข้าหาคนขับหายไป แต่วัสดุที่ใช้ตกแต่งเกรดดีขึ้น ผิวสัมผัสนุ่มกว่าเดิม ใช้ไม้แท้เกรดดีในการประดับห้องโดยสาร แต่ยังมีความพิลึกตรงที่ย้ายสวิตช์ปรับเบาะจากด้านข้างตัวเบาะมาอยู่ที่คอนโซลกลาง นอกจากนี้ คันเกียร์ก็เปลี่ยนจากแบบกลไก เป็นไฟฟ้า และย้ายไปอยู่ที่คอพวงมาลัย เหลือที่ว่างสำหรับที่วางแก้ว 2 ใบ

ตามประเพณีของ 7 Series BMW จะนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใส่ให้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่างแบบ Active Roll Stabilization, ช่วงล่างถุงลมปรับระดับอัตโนมัติ, ไฟหน้าแบบ bi-Xenon/Adaptive Headlight ที่ปรับส่องซ้ายขวาตามการเลี้ยว และปรับองศาการฉายตามน้ำหนักบรรทุก และที่สำคัญก็คือ เป็น BMW รุ่นแรกที่ได้ใช้ระบบควบคุม iDrive ซึ่งนำเอาการควบคุมเครื่องปรับอากาศ ระบบนำทาง โทรศัพท์ และการตั้งค่าต่างๆมารวมไว้ที่ปุ่มเดียว ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในโลกยานยนต์ที่ทั้งล้ำยุค และสร้างความปวดหัวให้ผู้ใช้ไปพร้อมกัน จนต้องมีการอัปเดตเวอร์ชั่นหลังๆ ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ E65/E66 ยังเป็นรถผลิตขายจริงรุ่นแรกของโลกที่ใช้เบรกมือไฟฟ้า ใช้งานด้วยการกดปุ่ม และเป็นรถซาลูนรุ่นแรกที่ได้ใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ 6 จังหวะ

ในด้านวิศวกรรม เครื่องยนต์ M63 V8 และ M73 V12 ถูกปลดระวาง แทนที่ด้วยเครื่องยนต์ใหม่ N62 V8 ซึ่งใช้ระบบ Valvetronic ในการควบคุมพลังเครื่องยนต์ ลิ้นคันเร่งไฟฟ้าจะเปิดเต็ม 100% เกือบตลอดเวลาที่ขับ แต่หน้าที่ในการคุมแรงของเครื่องยนต์จะถูกกำกับด้วยระบบแปรผันระยะยกของวาล์วแทน แล้วยังมีระบบแปรผันความยาวท่อไอดีแบบต่อเนื่องมาให้เป็นเครื่องแรกของโลกอีกต่างหาก เครื่องยนต์ N62 ใน 735i/735Li มีขนาดความจุ 3.6 ลิตร กับพลัง 272 แรงม้า และ 745i/745Li ความจุ 4.4 ลิตร ให้พลัง 333 แรงม้า ซึ่งมากกว่าเครื่องยนต์ V12 ใน 750iL E38 เสียอีก

ในปี 2002 Flagship อย่าง 760i/760Li ก็ปรากฏตัวพร้อมเครื่องยนต์ใหม่ N73 V12 สูบ 6.0 ลิตร มาพร้อมเทคโนโลยี Valvetronic เหมือนรุ่น V8 และเปลี่ยนเป็นฝาสูบ Quad Cam 4 วาล์วต่อสูบเรียบร้อยแล้ว ทำให้พละกำลังกระโดดไปถึง 445 แรงม้า และในเวลาใกล้กันนั้น ก็มีรุ่น 730i ตัวประหยัด เครื่อง 6 สูบเรียง 3.0 ลิตร M54 231 แรงม้า รุ่น 730d 3.0 ลิตรดีเซลเทอร์โบ 218 แรงม้า และ 740d 3.9 ลิตร V8 ดีเซลทวินเทอร์โบ 258 แรงม้าให้เลือก

ในปี 2005 BMW ตัดสินใจพลิกโฉมแบบ Big minorchange ให้กับ E65/E66 โดยเปลี่ยนกันชนหน้า ไฟหน้า และฝากระโปรงหน้าแบบใหม่ ดึงหน้าจากที่ดูเศร้าหมองให้กลับมามีความสปอร์ตอย่างที่ควรเป็น ส่วนไฟท้ายก็เปลี่ยนทรงเป็นตัว L และปรับหน้าตาให้ดูอนุรักษ์นิยมขึ้น ในบางประเทศ เจ้าของ E65/E66 รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์สามารถขับเข้าศูนย์แล้วสั่งให้ปรับหน้าตาเป็นอย่างรุ่นไมเนอร์เชนจ์ได้

ส่วนเรื่องของขุมพลังนั้น รุ่น 730i/Li เปลี่ยนจากเครื่อง M54 เป็นเครื่อง N52 ได้พลังเพิ่มเป็น 258 แรงม้า รุ่น 735i/Li ถูกแทนที่ด้วย 740i/Li เครื่อง 4.0 ลิตร 306 แรงม้า และ 745i/Li เปลี่ยนเป็น 750i/Li ความจุเครื่อง 4.8 ลิตร ได้พลังเพิ่มเป็น 367 แรงม้า ในขณะที่รุ่นดีเซลอย่าง 730d ได้พลังเพิ่มเป็น 231 แรงม้า และ 740d ถูกแทนที่ด้วย 745d ที่เพิ่มความจุเป็น 4.4 ลิตร สร้างพลังได้ 329 แรงม้ากับแรงบิดมหาศาล 750 นิวตันเมตร

แม้ว่าจะมีข้อตำหนิมากมายในเรื่องการออกแบบ และมีฟังก์ชั่นหลายอย่างที่ทำให้ลูกค้าเหนื่อยกับการพยายามเรียนรู้ E65/E66 ก็ยังนับเป็น 7 Series ที่มีความก้าวกระโดดในทางวิศวกรรมอย่างชัดเจนมากกว่าสมัยที่เปลี่ยนจาก E32 เป็น E38 ด้วยซ้ำ หลายคนอาจไม่เชื่อถ้าผมจะบอกว่าท้ายที่สุด BMW ก็ขาย 7 Series ตัวถังนี้ได้มากกว่าสมัย E38 เสียอีก ..ถึงแม้จะได้ยอดต่างกันแค่ 2,830 คันก็เถอะ

F01/F02-BACK TO (GOOD) BASIC [2008-2016]

หลังจากที่ออกตัวแรงในเรื่องดีไซน์ในยุค E65/E66 BMW ดูเหมือนจะเข็ดขยาด และหันกลับมาสร้างรถในแบบที่เข้าตาคนส่วนใหญ่มากขึ้น รูปโฉมภายนอกของ F01/F02 จึงไม่มีเส้นสายที่ขัดตา แต่ก็ไม่ถึงกับอนุรักษ์นิยมจนจืดชืดเกินไป เป็นฝีมือสะบัดปากกาของชายชาวเลบานอนที่อาศัยอยู่ในแคนาดาอย่าง Karim Antoine Habib ภายใต้การควบคุมของบอส Chris Bangle ซึ่งลาออกจาก BMW 1 ปีหลัง F01/F02 เปิดตัว

BMW 760 Li, 07-2009

ด้านหน้าของรถ มีลักษณะคล้าย E65/E66 โฉม LCI ทว่าปรับทรงของไฟหน้าให้ดูเล็กและเพรียวลมขึ้น ด้านข้างรถดูคล้ายเดิม แต่เส้นสันที่วิ่งแนวด้านข้างตัดผ่านมือจับเปิดประตูกลับมาใหม่ และทำให้รถดูมีมิติมากขึ้น ส่วนด้านท้ายนั้น E65/E66 มีก้นที่ยกเป็นสันแปลกประหลาด ซึ่งแฟนพันธุ์แท้ BMW ส่วนใหญ่ไม่ชอบ บ้างก็ตั้งฉายาว่า Bangle’s Butt ดังนั้นคราวนี้ Bangle จึงให้ Habib ออกแบบให้ดูเรียบ แต่มีสไตล์ ผสานเอาทรงสี่เหลี่ยมของ E38 และบิดให้เป็นรูปตัว L ใหญ่ เสริมความอลังการด้วยหลอดไฟท้ายแถบ LED Tube ซึ่งยังเป็นของที่หาดูได้ยากในสมัยนั้น

แม้ว่าขนาดตัวรถจะกว้างเท่าเดิมและเตี้ยลง แต่ก็ยาวขึ้น และน้ำหนักรวมก็มากขึ้นถึง 100-200 กิโลกรัม (แล้วแต่รุ่น) กลายเป็น 7 Series ที่ตัวหนักที่สุดในประวัติศาสตร์

ส่วนภายในรถนั้น ก็ Back to good basics เช่นเดียวกับภายนอก คอนโซลหน้าตาทันสมัยแต่อวบอูมใน E65/E66 ถูกแทนที่ด้วยแดชบอร์ดเวอร์ชั่นใหม่ หรูเรียบระเบียบจัด หันเข้าหาคนขับเพียงเล็กน้อยเหมือนแค่ให้ได้ชื่อว่า Driver-focus แต่เวลาขับจริงไม่ได้รู้สึกว่า Focus ขนาดนั้น สวิตช์ปรับเบาะย้ายกลับไปอยู่ที่ริมตัวเบาะอย่างที่ควรเป็น และคันเกียร์ก็ย้ายจากที่คอพวงมาลัยกลับไปอยู่ที่คอนโซลกลาง รูปแบบนี้เป็นที่ชื่นชอบของบรรดานักขับมากกว่า

หลังจากเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่จัตุรัสแดงกลางเมือง Moscow และตามมาด้วยงาน Paris Motor Show ในเดือนตุลาคม 2008 BMW ก็สามารถเรียกศรัทธาจากสาวกคืนมาได้ เหมือนกับแฟนที่เคยนอกใจแล้วได้รับการให้อภัยอย่างจริงใจ นอกจากรูปทรงจะกลับมาถูกใจชาวบ้านมากขึ้น ก็ยังมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดเช่นเดิม

F01/F02 เป็น BMW รุ่นแรกที่มีระบบ Integral Active Steering (ระบบเลี้ยวล้อหลัง) ระบบ Night Vision ช่วยส่องทัศนะวิสัยข้างหน้าในยามค่ำคืน ซึ่งภายหลังเพิ่มระบบไฮไลท์คนเดินถนนและมอเตอร์ไซค์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีกล้องที่สามารถฉายภาพรอบตัวรถเสมือนมองจากเบื้องบน ให้สามารถเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวรถได้ชัดเจน ระบบ Adaptive Cruise Control ซึ่งแต่เดิมปรับความเร็วตามรถคันหน้าได้ ตอนนี้ ก็เพิ่มฟังก์ชั่นที่สามารถตามรถคันหน้าและหยุดนิ่ง/ออกตัวอีกครั้งได้ (Active Cruise Control with Stop and Go) ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ที่พัฒนามาจาก SAV อย่าง X5 ก็มีให้เลือกสั่งได้ นับเป็นครั้งแรกของ 7 Series

ในด้านขุมพลังขับเคลื่อน เนื่องจาก F01/F02 เกิดในยุคที่เทรนด์เทอร์โบกำลังมาแรง มันจึงนับเป็น 7 Series รุ่นสุดท้ายที่ยังมีเครื่องยนต์หายใจเองให้เลือก ในรุ่น 730i/Li ซึ่งใช้เครื่องยนต์ N52 3.0 ลิตร 258 แรงม้า นอกจากรุ่นนี้แล้วล้วนเป็นเครื่องเทอร์โบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น 740i/Li ซึ่งใช้เครื่อง N54 3.0 ลิตร เทอร์โบ 326 แรงม้า และ 750i/Li เครื่องยนต์ N63 V8 ทวินเทอร์โบ 4.4 ลิตร 408 แรงม้า ตามมาด้วย Flagship พลังขั้นสูงสุด กับ 760i/Li เครื่องยนต์ V12 6.0 ลิตรพ่วงเทอร์โบคู่ พละกำลังทะลุไปถึง 544 แรงม้ากับแรงบิด 750 นิวตันเมตร

7 Series เจนเนอเรชั่นที่ 5 นี้ ยังเป็นโฉมแรกที่มีขุมพลังไฮบริดให้เลือก ซึ่งก็คือรุ่น ActiveHybrid7 และ ActiveHybrid7L ซึ่งนำเอาเครื่องยนต์ N63 ของ 750i/Li มาบวกกับมอเตอร์ไฟฟ้าลูกเล็ก พลังแค่ 20 แรงม้าแต่มีแรงบิด 210 นิวตัน พลังรวมที่ได้ เท่ากับ 461 แรงม้า/700 นิวตันเมตร รถ ActiveHybrid ทั้งหลายจะมีรหัสตัวถังว่า F04 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไฮบริดที่ยังไม่พัฒนาเต็มขั้น ทำให้ ActiveHybrid7 รุ่นแรกมีอัตราสิ้นเปลืองดีกว่า 750i/Li ไม่มากนัก แต่ราคารถสูงกว่ามาก

ส่วนรุ่นดีเซล มี 730d/Ld เครื่องยนต์ N57 3.0 ลิตร 245 แรงม้า 740d/Ld ที่ใช้เครื่องเดียวกันแต่อัพพลังเป็น 306 แรงม้า ยกเลิกการทำตลาดเครื่องยนต์ดีเซล V8

ในปี 2012 BMW เปิดตัว F01/F02/F04 เวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ (LCI) เปลี่ยนไฟหน้าเป็นแบบ Full LED เปลี่ยนกระจังหน้าและกันชนหน้า ช่องรับอากาศด้านล่างมีขนาดโตขึ้น มีเส้นโครเมียมประดับรอบและมีเส้นผ่ากลาง หน้าปัดในรุ่นเดิมจะเป็นจอสี แต่มีเข็มจริง และกรอบจริง แต่รุ่น LCI จะเป็นจอ LCD แบบ Full Black Panel ที่เป็นจอสีทั้งดุ้น และยังเพิ่มระบบ Park Assistant ที่สามารถถอยรถเข้าจอดเองโดยอัตโนมัติ

เครื่องยนต์ของ 7 Series LCI ก็มีการอัปเดต 740i/Li เปลี่ยนจากเครื่อง N54 เป็น N55 ซึ่งใช้เทอร์โบเดี่ยว Twin Scroll มีแรงม้าน้อยลง 6 ตัว เหลือ 320 แต่ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น แรงบิดรอบต่ำดีขึ้น ส่วน 750i/Li ใช้เครื่องเดิม จูนเพิ่มพลังจาก 408 เป็น 449 แรงม้า ที่เปลี่ยนเยอะสุด คือ ActiveHybrid7/7L ซึ่งเลิกคบกับเครื่อง V8 แล้วหันไปใช้เครื่องยนต์ N55 ของ 740i/Li แทน แต่มีชุดมอเตอร์กับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ปรับปรุงใหม่ พลังจากมอเตอร์เพิ่มเป็น 56 แรงม้า พลังรวมเครื่อง+มอเตอร์ลดลงจาก 461 เหลือ 354 แรงม้า แต่แลกกับอัตราสิ้นเปลืองที่ดีขึ้นมาก

สำหรับขุมพลังดีเซล เพิ่มทางเลือกกับรุ่น 750d/Ld ซึ่งใช้เครื่อง N57S บวกเทอร์โบสามตัวต่อแบบ Sequential เพิ่มพลังบูสท์หนักหน่วงจนทำให้มีแรงม้ามากถึง 381 แรงม้า อัตราส่วนแรงม้าต่อลิตรดุกว่าเครื่องเบนซินเทอร์โบหลายตัว และแรงบิดสูง 740 นิวตัน เป็นหนึ่งในรถเก๋งดีเซลที่มีแรงม้ามากที่สุด ในขณะที่รุ่น 740d/Ld ก็ได้รับการจูนกล่องใหม่ ได้ 313 แรงม้า

และไม่ว่าจะเป็นเบนซินหรือดีเซล นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา 7 Series เหลือระบบส่งกำลังเพียงแบบเดียวคือเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ

F01/F02 นับเป็นการตั้งต้นใหม่อีกครั้งของ 7 Series ที่หวนกลับสู่ความเป็นรถหรูคู่บารมีผู้บริหารที่จะนั่งหลังหรือนั่งบนเบาะคนขับก็มีความสุขไม่แพ้กันด้วยพวงมาลัยที่คมเกินขนาดของรถ พลังจากเครื่องยนต์เทอร์โบหลากหลายพิกัดและอุปกรณ์ติดรถที่ล้ำยุค ในประเทศไทยก็ได้รับความนิยม มีการประกอบภายในประเทศที่โรงงานจังหวัดระยอง และยังมีการสร้างรุ่น 730Li เครื่อง 6 สูบฐานล้อยาวเป็นพิเศษเพื่อเอาใจลูกค้าเฉพาะตลาดเอเชียและจีน

G11/G12- THE LEGEND CONTINUES [2015-ปัจจุบัน]

จากที่ F01/F02 สร้างรากฐานทางการออกแบบไว้ดีแล้ว G11/G12 ยิ่งออกแบบมาให้ดูทะมัดแทมงขึ้นด้วยไฟหน้าที่ยาวจรดกระจังหน้า..ซึ่งมีขนาดใหญ่จนกลายเป็นองค์ประกอบหลักของส่วนหน้ารถ (และยิ่งใหญ่ขึ้นอีกในโฉม LCI)ไฟท้ายเปลี่ยนจากทรง L อ้วน เป็นทรงเหลี่ยม แต่เอาเอกลักษณ์ความเป็น L ไปซ่อนไว้ในหลอดไฟแทน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ปฏิวัติเทคโนโลยีของรถคันนี้ อยู่ภายใต้เปลือกนอก มันคือโครงสร้าง CLAR-Cluster Architecture ซึ่งมีการนำวัสดุ Carbon Fibre Reinforce Polymer มาเป็นส่วนประกอบของโครงสร้าง ซึ่งนอกจากจะมีความแข็งแรงทนต่อแรงกระทำจากการเลี้ยวมากขึ้น ในแง่ของความปลอดภัยก็ช่วยให้สามารถออกแบบจุดตั้งรับ/จุดซับแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้ตัวโครงสร้างรถนั้นมีน้ำหนักโดยรวมเบาลง แม้ว่าในท้ายสุด เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปแล้วน้ำหนักจริงของ G11/G12 จะเบาลงเพียง 40 กิโลกรัมเมื่อเทียบกับพวก F-Car ก็ตาม น้ำหนักที่เบาลง บวกกับการปรับจูนระบบบังคับเลี้ยว (มีระบบเลี้ยวสี่ล้อให้เลือกเช่นเคย) และการทำงานของช่วงล่าง Adaptive Dampers ที่สามารถเลือกปรับโหมดการทำงานแบบอัตโนมัติ หรือจะเลือกปรับ Comfort Pro/Comfort/Sport/Sport Plus ได้แล้วแต่อารมณ์ของผู้ขับ ทำให้ 7 Series เจนเนอเรชั่นนี้มีความคล่องแคล่วเกือบเหมือนกับขับ 5 Series ทั้งที่มันคือรถยักษ์ยาว 5.2 เมตร และมีน้ำหนักตั้งแต่ 1.75-2.3 ตัน

ภายในของรถ ออกแบบมาได้แตกต่างจาก F01/F02 โดยมีการหันแดชบอร์ดเข้าหาคนขับอย่างชัดเจน กลับไปเหมือนสมัย E38 เริ่มมีการตกแต่งวัสดุที่ผสานระหว่างวัสดุผิวนุ่ม หนังชั้นดี ลายไม้และแถบซาตินโครเมียมตามสวิตช์ต่างๆ ทำให้ดูน่าตื่นตาขึ้นกว่าเดิม จอกลางขนาดใหญ่ ถูกเลื่อนเข้ามาให้อยู่ในระยะมือเอื้อมถึง เพราะที่ผ่านมา BMW โดนบ่นเรื่องการใช้งานระบบ iDrive ปุ่มหมุนที่ยุ่งยาก แม้ว่าจะปรับให้ดีขึ้นหลายยกแล้ว แต่ท้ายสุดเพื่อตัดปัญหา BMW จึงใช้จอแบบทัชสกรีนที่สามารถทิ่มนิ้วเลือกฟังก์ชั่นได้โดยตรง และยังเป็น BMW รุ่นแรกที่มีระบบ Gesture Control ใช้การทำท่าทางของมือเพื่อสั่งการฟังก์ชั่นง่ายๆ เช่นเพิ่ม/ลดเสียงวิทยุ รับสายโทรศัพท์ หรือกดตัดสาย

ระบบ Adaptive Cruise Control ก็ถูกปรับให้มีความสามารถเป็นระบบช่วยขับแบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถนำข้อมูลจากระบบนำทางผ่านดาวเทียมมาช่วยในการคำนวณและปรับความเร็วให้เหมาะกับสภาพถนนในบริเวณนั้น (มีใช้ได้ในบางประเทศ) ตรวจจับเส้นแบ่งเลนบนถนนและช่วยประคองพวงมาลัยได้

ในด้านขุมพลัง ก็มีการพัฒนาไปในสามด้าน ประหยัดเชื้อเพลิง ความแรง และระบบไฮบริด ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ 7 Series ที่มีการนำเครื่องยนต์ 4 สูบมาใช้ ใน 730i/Li ใช้เครื่องยนต์ B48 2.0 ลิตรเทอร์โบเดี่ยว Twin-scroll 258 แรงม้า ซึ่ง BMW ไม่กลัวที่จะนำมาใช้เพราะพลังที่ได้ก็เท่ากับเครื่อง 3.0 ลิตรไร้เทอร์โบสมัยก่อนแถมยังแรงบิดสูงกว่า ส่วนรุ่น 6 สูบ มี 740i/Li เครื่องยนต์ B58 3.0 ลิตร 326 แรงม้า จากนั้นก็ข้ามไปเป็น V8 กับ 750i/Li เครื่อง N63 4.4 ลิตร 449 แรงม้า และ M760Li Flagship V12 (ซึ่งจะเป็น BMW 12 สูบรุ่นสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะผลิต) ใช้เครื่อง 6.6 ลิตรเทอร์โบรหัส N74 มีพลังถึง 610 แรงม้า เทียบได้กับรถระดับโหดตระกูล M อย่าง M5 Competition

เครื่องยนต์ดีเซล มีให้เลือกกับรุ่น 725d/725Ld (จำหน่ายในบางประเทศ) ใช้เครื่องยนต์ B47 4 สูบ 2.0 ลิตร ปรับจูนแรงม้าจนได้ 231 ตัว ตามมาด้วย 730d/Ld เครื่อง 3.0 ลิตรเทอร์โบเดี่ยว 265 แรงม้า 740d/Ld 3.0 ลิตร เทอร์โบ Dual-stage คู่ 315 แรงม้า และตบท้ายด้วยดีเซลตัวโหดสุดอย่าง 750d/Ld ที่ใช้เครื่อง B57 3.0 ลิตรเหมือนกัน แต่ติดตั้งเทอร์โบชาร์จ 4 ตัว ให้แรงม้าสูงสุดถึง 400 ม้า

โมเดลไฮบริด เลิกใช้ชื่อการทำตลาดว่า ActiveHybrid แล้วไปตั้งเป็น Sub-brand ว่า BMW iPerformance แทน พัฒนาระบบไฮบริดให้เป็นระบบ Plug-in ที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จได้ กลายเป็นรุ่น 740e/Le ซึ่งใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 4 สูบ B48 ของ 730i/Li บวกกับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้พลังรวม 326 แรงม้า และสามารถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนได้ไกล 30-40 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับสภาพการขับขี่

เวอร์ชั่น LCI (ไมเนอร์เชนจ์) เผยโฉมในวันที่ 16 มกราคม 2019 มีการปรับเปลี่ยนทรงของไฟหน้าให้ดูคมขึ้น แต่ที่เด่นและเป็นที่กล่าวขานกันร้อยเจ็ดเมืองคือขนาดของกระจังหน้าที่ถูกขยายขึ้นจากเดิมถึง 40% ซึ่งไม่แน่ใจว่าบังเอิญหรือเปล่า แต่ยอดขายของ 7 Series 40% บนโลกก็มาจากประเทศจีน และแม้จะไม่พูดออกมาตรงๆ แต่ Adrian van Hooydonk ซึ่งนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการสูงสุดฝ่ายออกแบบก็บ่งชี้ว่ากระจังหน้าที่ใหญ่ขึ้นเป็นผลมาจากความนิยมของลูกค้าในประเทศจีนนั่นเอง

ระบบช่วยขับอัตโนมัติ ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมฟังก์ชั่น Extended Traffic Jam Assistant ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้ขับเปิดระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติและปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ตลอดตราบใดที่ความเร็วไม่เกิน 56 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนภายในมีการเปลี่ยนหน้าปัดจากเดิมเป็นดิจิตอลธีมต้นแบบของ 5 Series G30 ก็เปลี่ยนกราฟฟิคเป็น BMW Live Cockpit Professional บวกับ iDrive เวอร์ชั่น 7.0

ในด้านวิศวกรรม เครื่องยนต์ B58 ใน 740i/Li เพิ่มพลังจาก 326 เป็น 340 แรงม้า ส่วน 750i/Li ใช้เครื่อง N63 เวอร์ชั่นเดียวกับ M850i Coupe ที่ได้พลังเพิ่มมาเป็น 530 แรงม้า ส่วน M760Li ลดพลังลงจาก 610 เหลือ 585 แรงม้า แต่แรงบิดเพิ่มขึ้นจาก 800 เป็น 850 นิวตันเมตร รุ่น 740e/Le เปลี่ยนขุมพลังหลักจากเดิม 2.0 ลิตร 4 สูบ เป็น 3.0 ลิตร 6 สูบ เมื่อรวมกับพลังจากมอเตอร์ทำให้ได้แรงม้ารวมทั้งสิ้น 394 แรงม้า ซึ่งก็เป็นชุดขับเคลื่อนแบบเดียวกับ BMW X5 xDrive45e รุ่นใหม่

และนี่คือประวัติศาสตร์ 42 ปี ของ BMW 7 Series นับตั้งแต่เผยโฉมครั้งแรกในปี 1977…

จะเห็นได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา 7 Series มีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว เมื่อปี 2009 ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติยังเป็นแค่ความฝัน แต่ในปัจจุบัน เป็นความจริงที่ทุกคน (ที่มีเงินพอ) สามารถซื้อได้ ในปี 1995 การมีรถหรู 326 แรงม้าอย่าง 750iL ไว้ในครอบครอง เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะสำหรับมหาเศรษฐี แต่ในปี 2017 เมื่อ 740Le เปิดตัว พลังของมันก็มี 326 แรงม้าเหมือนกัน แต่สามารถวิ่งได้ 30 กิโลเมตรโดยไม่ต้องง้อน้ำมันแม้แต่หยดเดียว หรือเมื่อจำเป็นต้องใช้น้ำมัน ก็ยังประหยัดกว่า 750iL E38 มาก และแม้น้ำหนักตัวมากและขนาดจะโตขึ้น 7 Series ก็ยังเป็นลิมูซีนหรูยาวห้าเมตรที่เจ้าของสามารถเลือกพักผ่อนอยู่บนเบาะหลัง หรือขับเองแล้ว JOY ไปกับการตอบสนองของเครื่องยนต์และช่วงล่างสไตล์ BMW ก็ได้

นี่คือเอกลักษณ์ที่ยังคงอยู่ และแม้เราจะยังไม่ทราบว่า 7 Series ตัวถังต่อไปจะพัฒนาไปในแนวทางไหน เครื่องยนต์ V12 คงจะลาจากเราในไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจจะไม่มีเครื่องยนต์ดีเซลให้เลือก หรือดีไซน์ของกระจังหน้าอาจจะใหญ่จนต้องเอาไฟหน้าไปซ่อนอยู่หลังกระจังหน้า ไม่ว่าทิศทางของโลกอนาคตจะพา BMW ไปทางใด 7 Series จะยังคงเป็นรถหรูระดับ Elite Class ที่นำหน้าด้วยนวัตกรรมใหม่ ทรงพลังในยามขับเคลื่อน ผ่อนคลายในยามที่คุณเหนื่อยล้า และเป็นเพื่อนร่วมทางคันงามที่สามารถปกป้องคุณได้ตลอดการเดินทาง

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments