รวมรหัสตัวถัง BMW ซีรีส์ 5

“5” ดูเหมือนจะเป็นหมายเลขนำโชคของผู้ผลิตรถยนต์แห่งแคว้นบาวาเรียอย่าง BMW เพราะทุกครั้งที่พวกเขานำเลข “5” มาใช้กับรถยนต์รุ่นใดก็ตาม รถยนต์รุ่นนั้นก็มักจะประสบความสำเร็จเสมอ

ย้อนกลับไปไกลถึงต้นทศวรรษ 1960 ในตอนที่ BMW เปิดตัวรถยนต์ตระกูล Neue Klasse (New Class) ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดใหม่เพื่อพาบริษัทให้รอดพ้นจากสภาวะวิกฤติทางการเงินในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 BMW Neue Klasse เป็นรถซีดานขนาดกลางที่มีบุคลิกสปอร์ต ทรงพลัง แต่เปี่ยมไปด้วยความหรูหราและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีเครื่องยนต์วางตามแนวยาวอยู่ด้านหน้า ขนาดความจุพอประมาณ และใช้ช่วงล่างที่จัดวางรูปแบบอย่างซับซ้อน ซึ่งเป็นยนตรกรรมที่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปบนท้องถนน ณ เวลานั้น โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าวิธีการทำรถแบบนี้จะกลายเป็นสูตรคลาสสิคของค่าย ซึ่งยังคงมีเสน่ห์น่าดึงดูดและใช้งานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในตอนนั้น BMW 1500 ซีดานขนาดคอมแพกต์เป็นผู้บุกเบิกตลาดให้กับตระกูล Neue Klasse จากนั้นก็ปล่อยรุ่นอื่นๆ ตามออกมาทั้ง BMW 1600, BMW 1800 และ BMW 2000 ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้หมายเลข “5” ในการเรียกชื่อรุ่นในปี 1972 และใช้งานอย่างนั้นเรื่อยมาจนปัจจุบัน นับตั้งแต่นั้นซีรีส์ 5 จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเลิศในการขับขี่แบบไร้ที่ติของรถยนต์ในเซกเมนต์นี้ และเป็นรถยนต์รุ่นสำคัญในการสืบสานสโลแกน Sheer Driving Pleasure แห่งค่ายใบพัดฟ้าขาว

E12 (1972 – 1981)

E12 คือซีรีส์ 5 รุ่นแรกที่รับไม้ต่อมาจาก BMW 2000 เก๋งซีดานรุ่นสุดท้ายในตระกูล Neue Klasse การที่มันได้หมายเลข “5” มาเป็นชื่อรุ่นก็เพราะว่าแพลตฟอร์มที่ทำขึ้นใหม่เป็นลำดับที่ห้าของตระกูล Neue Klasse พอดิบพอดี E12 ได้รับการออกแบบโดย Paul Bracq นักออกแบบชาวฝรั่งเศสผู้อยู่เบื้องหลังรถยนต์รุ่นดังหลายรุ่น เช่น 2002 Turbo, ซีรีส์ 3 E21, โปรโตไทพ์ BMW Turbo ต้นแบบของ BMW M1 และแม้แต่รถไฟ TGV ของฝรั่งเศส!

จุดเด่นของ E12 คือตัวถังทรงแบนและเพรียวยาว กระจกหน้าต่างบานกว้าง และแนวขอบหน้าต่างต่ำ ทำให้ทัศนวิสัยปลอดโปร่ง ดีไซน์ของตัวรถยังกลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่ BMW นำไปใช้กับรถรุ่นอื่นๆ ต่อจากนั้นอีกหลายปี E12 ยังมีจุดขายในเรื่องความปลอดภัยของห้องโดยสาร เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบโซนรับแรงกระแทกของโครงสร้างตัวถังอีกด้วย

E28 (1981 – 1988)

ความสำเร็จเป็นประวัติการณ์ของซีรีส์ 5 E12 ทำให้ BMW ตัดสินใจคงรูปลักษณ์ภายนอกส่วนใหญ่ของรถรุ่นเดิมเอาไว้เมื่อถึงเวลาที่ต้องส่ง E28 ออกมาทดแทน ด้านหน้ามีการปรับปรุงโคมไฟเล็กน้อยเพื่อความทันสมัย กันชนเป็นแผ่นยางหนาโอบล้อมมาถึงด้านข้าง ส่วนไฟท้ายถูกขยายขนาดมาเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแทนสี่เหลี่ยมจัตุรัสในรุ่นเดิม ช่วงล่างถูกพัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยด้านหน้าเป็นปีกนกแบบจุดยึดคู่และด้านหลังเป็น Semi-trailing arm นอกจากนี้ BMW ยังได้เอาระบบไฟฟ้าต่างๆ เช่น เบรค ABS, คอมพิวเตอร์ On-board และระบบควบคุมหัวฉีดอิเลกทรอนิกส์ใส่เข้ามาเป็นครั้งแรก ปี 1983 ออกรุ่น 524td วางเครื่องยนต์ดีเซลเป็นครั้งแรกเนื่องจากตลาดกำลังเป็นที่นิยมในตอนนั้น พอปี 1984 ก็ปล่อยของแรง M5 เครื่องหกสูบแถวเรียงรหัส S38 นันบเป็นรถตระกูล M จากโรงงานรุ่นแรกของซีรีส์ 5 อีกเช่นกัน

E34 (1988 – 1995)

ถ้าคุณคิดว่างานดีไซน์ของรถสัญชาติเยอรมันแบบ “ไส้กรอกสามขนาด” ที่รถแต่ละรุ่นในค่ายมีหน้าตาเหมือนกันหมดและต่างกันเพียงแค่ขนาดเป็นสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 เราต้องขอบอกว่า BMW นำเทรนด์นี้มาก่อนนานแล้ว E34 ซึ่งเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 1988 มีดีไซน์ภายนอกคล้ายคลึงกับซีรีส์ 7 E32 ที่เปิดตัวในปี 1986 ที่ถูกย่อส่วน แต่กระนั้นมันก็ทำให้เอกลักษณ์ของแบรนด์ BMW ชัดเจนขึ้น โครงสร้างตัวถังที่แข็งแกร่งขึ้นทำให้มันได้ตำแหน่งรถหรูที่ทนทานมากที่สุดจาก Intellichoice ในปี 1991 และยังขึ้นชื่อว่าเป็นรถที่มีความปลอดภัยมากที่สุดคันนึงแห่งยุค เนื่องจากมีการนำอุปกรณ์อย่างเช่น ถุงลมนิรภัย เบรค ABS 4 ล้อ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ASC) และระบบป้องกันการลื่นไถล (ASC+T) มาใช้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ E34 ยังเป็นซีรีส์ 5 รุ่นแรกที่มีตัวถังแบบทัวร์ริ่งให้เลือกหลังจากปี 1992 เป็นต้นไป

 

E39 (1995 – 2003)

ซีรีส์ 5 E39 เปิดตัวที่งานแฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ปี 1995 กับดีไซน์ที่พลิกโฉมการออกแบบไปจาก E34 ตัวรถมีบุคลิกความสปอร์ตและสง่ามากขึ้น จุดเด่นประจำรุ่นคือการจับเอาโคมไฟกลมคู่สองดวงไปอยู่หลังเลนส์พลาสติก และพอตอนออกรุ่น Facelift ในช่วงปี 2000 ก็มีการเปลี่ยนมาใช้ไฟหรี่แบบวงแหวนหรือที่เรียกกันว่า Angel Eyes เป็นครั้งแรกจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของ BMW มาถึงทุกวันนี้ ซีรีส์ 5 E39 ได้รับการขนานนามว่าเป็นซาลูนไฮเทคแห่งยุคจากระบบอิเลกทรอนิกส์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่อัดมาแน่นเอี้ยด ทั้งพวงมาลัยมัลติฟังก์ชัน ระบบนำทางดาวเทียม เบาะ Active Seats และ Dynamic Stability Control (DSC)

E39 ทำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยตัวเลข 1.47 ล้านคันทั่วโลก ก่อนที่จะยุติการผลิตไปในปี 2004 มันยังได้รับการขนานนามจากสื่อหลายแขนงว่าเป็น “ซีรีส์ 5 ที่ดีที่สุดเท่าที่ถูกสร้างมา” ด้วยดีไซน์ที่ได้รับการขัดเกลามาจนเกือบสมบูรณ์แบบ และเป็น BMW รุ่นสุดท้ายของยุคที่บุคลิกการขับขี่ยังคงรู้สึกได้ถึงการทำงานของกลไกและชิ้นส่วนต่างๆ ตามแบบฉบับที่สาวก BMW หลงรัก ก่อนที่ Chris Bangle กับระบบอิเลกทรอนิกส์จำนวนมากจะเข้ามามีอิทธิพลอย่างกว้างขวางใน BMW ยุคต่อมา

 

E60/61 (2004 – 2010)

ถ้าจะเรียก E60 ว่าเป็นซีรีส์ 5 รุ่นที่สร้างกระแสโต้เถียงกันในสังคมได้รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเลขอนุกรมนี้ก็คงจะไม่ผิด ผลงานออกแบบภายใต้ปลายปากกาของ Chris Bangle ที่ต้องการสร้างแนวทางใหม่สู่อนาคตให้กับ BMW พร้อมกับชูจุดเด่นเรื่องเทคโนโลยีการขึ้นรูปตัวถัง 3 มิติที่ทำให้สามารถพิมพ์ตัวถังส่วนที่มีความโค้งนูนหลายมิติขึ้นได้จากเหล็กแผ่นเดียว คือสาเหตุเบื้องหลังของการออกแบบที่แหวกแนวไปจากรถรุ่นเดิมจนสาวกหลายคนต้องกุมขมับ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปผลงานดีไซน์ของ Bangle ก็เป็นที่ประจักษ์และถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบรถต่อมาอีกหลายรุ่น

กระนั้น เมื่อเรามองข้ามดีไซน์ภายนอกที่เป็นที่ถกเถียงกันไป ซีรีส์ 5 E60 เป็นรถที่พา BMW ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริงด้วยการนำฟีเจอร์อย่าง iDrive ใส่มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่นย่อย นอกจากนี้ ยังมีการใส่ระบบความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกมากมายเข้ามาเป็นครั้งแรก เช่น ระบบกันโคลงแบบแอคทีฟ (ARS), ครูซคอนโทรลปรับความเร็วอัตโนมัติ (ACC), เซ็นเซอร์ช่วยจอด (PDC), Head-up Display, ระบบ BMW Night Vision, ระบบเตือนออกนอกเลน (LDW), ระบบ Stop & Go ฯลฯ E60 ยังเป็นซีรีส์ 5 รุ่นแรกและรุ่นเดียวจนถึงปัจจุบันที่แผงคอนโซลกลางไม่เอียงเข้าหาคนขับอีกด้วย

 

F10/F11/F07 (2011 – 2016)

ซีรีส์ 5 เจนเนอเรชันที่ 6 ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของซีรีส์ 7 F01 แต่ปรับปรุงช่วงล่างด้านหน้ามาเป็นแบบสี่จุดแทนแมคเฟอร์สันสตรัทที่ใช้มาอย่างยาวนานในขณะที่ด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ งานดีไซน์ตัวรถถูก “ลดโทน” ลงจากดีไซน์สุดโต่งของ Bangle มากและมีชวนให้นึกถึงเอกลักษณ์งานออกแบบจากยุคก่อนที่สาวก BMW ชื่นชอบ ทางด้านหน้ากระจังรูปไตคู่ถูกปรับองศาให้ตั้งชันและแยกห่างออกจากกันมากขึ้น ส่วนด้านท้ายถูกปรับให้โค้งมนกว่าเดิมและปราศจากแนวสะโพกหรือ Bangle Butt แบบที่ปรากฎใน E60 แต่ก็ยังมิวายโดนวิจารณ์ว่ามันจืดชืดและดูคล้ายกับซีรีส์ 3 E90 จนเกินไป

ในเจนเนอเรชันนี้ BMW มีการแตกไลน์มาทำซีรีส์ 5 Gran Turismo (GT) รหัสตัวถัง F07 ซึ่งเป็นรถตัวถังห้าประตูสไตล์ Fastback แบบเดียวกับ Porsche Panamera อีกด้วย ซีรีส์ 5 GT จะมีตัวรถที่สูงและยาวกว่าซีรีส์ 5 รุ่นปกติ ทำให้มันมีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่า แต่ก็แลกมากับห้องโดยสารที่สะดวกสบายกว่า ดีไซน์ด้านหน้าใช้กระจังหน้าไตคู่ขนาดใหญ่กว่าปกติรูปทรงคล้ายกับของซีรีส์ 7 F01 ในขณะที่ไฟหน้าและกันชนถูกดีไซน์มาใหม่จึงไม่สามารถใช้ร่วมกับซีรีส์ 5 รุ่นปกติได้ นอกจากนี้ F07 ยังเป็น BMW รุ่นแรกที่ได้ใช้เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะของ ZF พร้อมกับระบบชาร์จไฟกลับขณะเบรคอีกด้วย

G30/G31 (2016 – Present)

มาถึงเจนเนอเรชันที่ 7 กับการเปลี่ยนตัวอักษรนำหน้ารหัสตัวถังอีกครั้งเป็น “G” ซึ่งเราเองก็ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าทำไมรถในอนุกรม F ถึงมีอายุสั้นนัก (รถยนต์รุ่นแรกที่เปลี่ยนรหัสตัวถังจาก E ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1968 มาเป็น F คือ BMW ซีรีส์ 7 F01 เปิดตัวในปี 2008) BMW ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษกับการเปิดตัวซีรีส์ 5 ในครั้งนี้ จนถึงขนาดต้องไปจ้างทีมงานและดารานักแสดงภาพยนตร์สั้น “The Hire” ที่ BMW Films เคยถ่ายทำไว้เป็นซีรีส์ในช่วงปี 2002 กลับมาถ่ายทำตอนใหม่พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น “The Escape” เพื่อต้อนรับการมาถึงของ G30 กันโดยเฉพาะ (อ่านเรื่องราว “The Escape Ep.1: ภาพยนตร์สั้นตอนแรกจาก BMW Films”)

BMW ซีรีส์ 5 G30 ใช้ดีไซน์ตัวถังแบบ BMW ในยุคหลังปี 2015 เป็นต้นมา ทั้งไฟหน้า DRL ที่เปลี่ยนจากวงกลมให้มีเหลี่ยมสันมากขึ้น โคมไฟหน้าขยายไปจรดกับกระจังหน้าไตคู่ และมีช่องระบายอากาศ Air Breathers บนแก้มข้างที่บริเวณด้านหลังของล้อหน้า ส่วนจุดเด่นเรื่องดีไซน์ของซีรีส์ 5 G30 นั้น Karim Habib หัวหน้าแผนกดีไซน์ที่ BMW Automobiles บอกว่า มันคือแนวสันบริเวณสะโพกรถด้านข้างที่จะค่อยๆ ยกตัวสูงขึ้นไปเชื่อมต่อกับกรอบกระจก Hofmesiter Kink ของประตูบานหลังอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้แสงตกกระทบค่อยๆ เปลี่ยนจากมืดมาเป็นสว่างอย่างลื่นไหล

แต่สิ่งที่ทำให้ซีรีส์ 5 G30 โดดเด่นมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่อัดแน่นมายิ่งกว่าตอนเปลี่ยนจาก E39 มาเป็น E60 ซะอีก BMW พัฒนาศาสตร์การลดน้ำหนักไปไกลมาก อย่างบานประตูอลูมิเนียมที่ตัดขึ้นรูปด้วยเลเซอร์เมื่อรวมชุดบานพับแล้วยังหนักแค่ 6 กิโลกรัมเท่านั้น และการนำศาสตร์ความรู้แบบนี้มาใช้ทำให้รถทั้งคันเบากว่าซีรีส์ 5 F10 ถึง 100 กิโลกรัม กระจังหน้า Active Air Stream Grille มี Flap เปิดปิดซี่ตะแกรงเพื่อลดแรงเสียดทานกับอากาศจนค่า Cd เหลือแค่ 0.22 ไฟหน้าเป็น LED ตั้งแต่รุ่นล่าง ส่วนภายในห้องโดยสารมีการนำฟีเจอร์ Gesture control ที่คนขับสามารถควบคุมเสียงวิทยุหรือรับโทรศัพท์ได้ด้วยท่าทางมือมาใช้ หน้าจอ iDrive เป็นระบบสัมผัส กุญแจรีโมท Display Key ที่ตรวจเช็คสถานะหรือสั่งการรถได้จากระยะไกล นอกจากนี้ G30 ยังเป็นซีรีส์ 5 ที่มีเวอร์ชันปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกในชื่อ 530e ที่อาจจะมีระบบชาร์จไฟไร้สายมาให้อีกด้วย

ในต่างประเทศจะสามารถเลือกออพชันระบบช่วยเหลือแบบกึ่งขับอัตโนมัติใส่มาด้วยได้ โดยจะมีทั้งระบบช่วยประคองพวงมาลัยให้รถวิ่งอยู่ในเลนได้ถึงความเร็ว 210 กม./ชม. ระบบช่วยเหลือขณะเปลี่ยนเลนที่จะสั่นพวงมาลัยเตือนให้คุณรู้ตัวว่ามีรถอยู่ข้างๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ระบบป้องกันการชนกับรถด้านข้างหรือรถที่ออกมาจากทางแยก หรือแม้แต่แจ้งเตือนว่าคุณกำลังขับรถย้อนศร ฯลฯ โดยสามารถไฮไลท์ฟีเจอร์ใหม่ทั้งหมดของซีรีส์ 5 G30 ต่อได้จากบทความของคุณแพน ซีรีส์ 5 โมเดลเชนจ์-พร้อมภาพและรายละเอียด ตั้งแต่ 520d ถึง M550i!

และเช่นเคยที่บทความนี้จะยังไม่จบเท่านี้ครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่ซีรีส์ 5 โฉมใหม่เปิดตัวออกมา เราจะกลับมาพบกันที่คอลัมน์นี้ ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นบทความนี้ก็คงมีอายุ 7 ปีได้แล้วล่ะ..

บทความใกล้เคียง
รวมรหัสตัวถัง BMW ซีรีส์ 3 และซีรีส์ 4

The following two tabs change content below.
มนุษย์เงินเดือนผู้คลั่งไคล้ในรถยนต์สมรรถนะยอดเยี่ยม นักแข่งรถสมัครเล่นที่มักจะพบเห็นวิ่งดมฝุ่นอยู่ท้ายสนาม คุณพ่อของลูกสาวที่น่ารัก และหนึ่งในทีมงาน Bimmer-th.com

Comments

comments