รีวิว BMW 330e M Sport เมื่อความมันส์และความประหยัด ไปด้วยกันอย่างสุดขีด!

คุณเคยต้องเลือกอะไรสักอย่างที่มีบุคลิกต่างกันมั้ยครับ?

แตกต่างกันในแบบที่ แต่ละสิ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในแต่ละด้าน

หากผมจะเปรียบนักฟุตบอลไซส์กลางเป็นบุคลิกเครื่องยนต์ ระหว่างชายคนหนึ่งที่วิ่งเร็วแต่เตะลูกบอลไม่ค่อยหนักกับชายอีกคนที่วิ่งไม่เร็วมากแต่เตะลูกบอลหนัก มันก็คงจะคล้ายกับ “นายเบนซิน” และ “นายดีเซล”

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้วราวๆ ปี 2006 รถเก๋งเครื่องยนต์ดีเซลยังคงเป็นของแปลกใหม่ที่กำลังเริ่มแพร่หลายมากขึ้นสำหรับตลาดรถยนต์บ้านเรา และมักมีเสน่ห์ชวนหลงใหลในพลังแรงบิดตามแบบฉบับเครื่องยนต์ดีเซลยุคใหม่ เมื่อได้ลองขับก็มักมีอาการเจ็บช้ำจากการโดนแรง G ถีบตัวให้ชิดเบาะคล้ายมีคนดึงตัวจากด้านหลังแรงๆ

จนต้องร้อง “โอ้ว มันถีบ!“

แต่ช้าก่อนครับ! BMW คันนี้ ที่เรากำลังจะพูดถึงไม่ใช่ขุมพลังดีเซลแต่อย่างใด แต่มันคือ
ขุมพลังไฟฟ้า + เครื่องยนต์เบนซินสันดาปภายในต่างหาก!

330e-p0

BMW ซีรีส์ 3 รหัสตัวถัง F30 LCI พระเอกที่เรามาพูดถึงในวันนี้ ไม่ใช่รุ่นย่อย 320i หรือ 320d ปกติทั่วไป แต่คือ BMW 330e M Sport หนึ่งในตระกูล BMW iPerformance Plug-in Hybrid ที่สืบทอดเชื้อสายความรักษ์โลก + ความสนุกในการขับขี่ที่ไม่ละทิ้งเอกลักษณ์ของความเป็น BMW โดยมีพี่ใหญ่สุดหล่อมาจากตระกูล i หรือ BMW i8 นั่นเอง

ภายนอกของ BMW 330e M Sport นั้น แน่นอนครับถูกตกแต่งด้วยชุดพาร์ท M Sport กรอบกระจกดำเงา ไฟหน้าและไฟตัดหมอกนั้นเป็นแบบ LED ส่วน Daytime running light นั้น ถ้าท่านใดตั้งใจจับผิดซักหน่อยจะพบว่ามีความเป็นเหลี่ยมมากขึ้นกว่ารุ่นก่อน LCI ที่เกือบจะกลม นอกจากนั้นแล้ว ไฟหน้ารถก็เปิดและปิดด้วยระบบ Auto ตามระเบียบออพชั่นปกติที่พึงมีของรถยุค 2016

330e-p1

ล้อ M Sport ลาย Double-spoke สี Ferric Grey ขนาดกำลังเหมาะ 18 นิ้ว เมื่อตั้งใจมองซักครู่จะพบว่าล้อสีเทาลายนี้ดูเข้ากับรถสีที่เรานำมาทดสอบมากๆ

 

330e-p4
ล้อ M sport ลาย Double-spoke สีเทา Ferric Grey ในคู่หน้านั้น กว้าง 8นิ้ว และคู่หลังกว้าง 8.5นิ้ว คันที่เราทดสอบรัดมาด้วยยาง Bridgestone Potenza S001 แบบ Runflat ผลิตในประเทศโปแลนด์

นอกจากชุดพาร์ท M Sport แล้วภายนอกของ BMW 330e M Sport นั้นก็ไม่ต่างไปจากซีรีส์ 3 F30 LCI สเป็กในบ้านเราทั่วๆ ไปนัก การจะแยกความแตกต่างของ 330e M Sport คันนี้ออกจากพี่น้องท้องเดียวกันทั่วๆ ไปนั้น ต้องตั้งใจสังเกตเป็นพิเศษจาก Emblem โลโก้ eDrive บนเสา C หรือตรงบริเวณช่องเสียบชาร์จไฟที่หน้าตาคล้ายฝาถังน้ำมัน แต่ดันมาอยู่หน้ารถข้างๆ ห้องเครื่อง เป็นแค่สองจุดหลักที่แตกต่างกันจริงๆ

330e-p-edrive

เส้นสายด้านข้างตัวรถนั้นอาจจะดูไม่เพรียวหวือวาตามสมัยนิยมเหมือนรถเยอรมันคู่แข่งช่วงนี้ แต่ต้องอย่าลืมว่าซีรีส์ 3 ตัวถัง F30 ที่นับเวลาจนถึงปัจจุบันที่เขียนอยู่นี้ (ปี 2016) ได้ถูกออกแบบและเปิดตัวสู่ตลาดโลกมาตั้งแต่ปี 2012 หรือราว 4 ปีแล้ว ส่วนตัวผมมองว่าแม้เส้นสายอาจจะดูจืดไปสักนิดถ้าเทียบกับคู่แข่งเยอรมันด้วยกัน แต่ซีรีส์ 3 F30 เองก็ยังมีความเป็นเอกลักษณ์และยังน่าดึงดูดเป็นจุดสนใจบนท้องถนน มองไม่แล้วตกยุคง่ายแม้จะเริ่มมีอายุขึ้น

330e-p3

ไฟท้ายด้านหลังของ F30 LCI นั้น เป็นแบบ LED ยาวกว่า F30 ตัวเดิมก่อน LCI เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยนิยม พร้อมไฟตัดหมอกหลังเล็กๆสองข้างมาให้ และเสาอากาศวิทยุแบบครีบฉลาม (Shark fin)

ไฮไลท์ด้านนอกของรถอีกจุดหนึ่งอยู่ที่ฝากระโปรงท้ายที่สามารถเตะเพื่อเปิดได้ โดยรถจะมีเซ็นเซอร์ซ่อนอยู่ใต้กันชนหลัง ณ จุดกึ่งกลางกันชน ซึ่งทำงานร่วมกับระบบกุญแจ Comfort access เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ๆ พร้อมพกกุญแจรถไว้กับตัว แล้วนำเท้าสอดเข้าไปใต้กันชน คล้ายๆ กับจะเขี่ยของออกมา

(แต่อย่าเผลอไปเตะหรือถีบตัวรถเข้านะครับ ฮ่า!) ฝากระโปรงท้ายจะเปิดขึ้นโดยที่เราไม่ต้องแตะตัวรถหรือกดกุญแจใดๆ ทั้งสิ้น มีประโยชน์มากเวลาที่พ่อบ้านหรือแม่บ้านต้องหอบบรรดาของหรือถุงมาเต็มไม้เต็มมือและไม่สามารถวางของเหล่านั้นลงได้

330e-p5

หลังจากเตะเปิดฝาท้ายขึ้นมาแล้ว จะพบกับที่เก็บสัมภาระท้ายรถขนาด 380 ลิตร ที่แอบซุกซ่อนแบตเตอรี่ Lithium-ion ไว้ข้างใต้อย่างมิดชิด แต่ถึงแม้จะต้องเจียดพื้นที่ให้แบตเตอรี่ไปบ้าง จนที่เก็บของท้ายรถของ BMW 330e M Sport นั้นมีขนาดเล็กกว่าพี่น้องร่วมท้องเดียวกันอย่าง 320i, 320d หรือ 330i เครื่องยนต์ปกติที่มีที่เก็บของท้ายรถอยู่ 480 ลิตร อยู่ราว 100 ลิตร ก็ยังเพียงพอต่อการใส่ของเดินทางทริปวันหยุดทั่วไปอย่างสบายๆ ถ้านึกไม่ออกว่า 380 ลิตร ขนาดประมาณไหน ให้นึกถึงขนาดท้ายรถ Honda Civic FB ซึ่งรายนั้นจุได้ประมาณ 350 ลิตร ก็ยังขนของกันสบายแล้ว

330e-p6

และเมื่อเปิดช่องใต้พรมที่เก็บของขึ้นมาเล็กน้อย จะพบกับชุด First aid kit อันเป็นมาตรฐานทั่วไปของรถยุโรป ถัดไปด้านข้างเล็กน้อยจะพบช่องพลาสติกคล้ายกล่องหลุมลึก ซึ่งเป็นที่อยู่ของชุดสมุดคู่มือเซอร์วิสต่างๆของตัวรถกับชุด Adapter ชาร์จไฟ

330e-p7

การชาร์จไฟนั้นสามารถทำได้ง่ายคล้ายการเสียบชาร์จไฟของคอมพิวเตอร์ Notebook  

ชุด Adapter ชาร์จไฟอันเป็นอุปกรณ์ติดรถหลักของ BMW ตระกูล iPerformance Plug-in Hybrid ทุกรุ่น จะมีหน้าตาลักษณะคล้ายๆ Adapter คอมพิวเตอร์ Notebook แต่มีขนาดใหญ่กว่ากันมาก สามารถเสียบชาร์จไฟจากปลั๊กปกติของบ้านได้เลย คล้ายการเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นปกติทั่วๆ ไป

330e-p8
แค่เปลี่ยนเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดชิ้นใหญ่และมีราคาใกล้เคียงกับบ้านมากขึ้น…

เมื่อแบตเตอรี่เต็มวงกลมบอกสถานะจะขึ้นไฟสีเขียว หากกำลังชาร์จจะขึ้นสีฟ้า และไม่ต้องกลัวจะมีใครมาถอดหัวจ่ายไฟออก เพราะเมื่อล็อกรถหัวเสียบไฟกับตัวรถจะไม่สามารถดึงออกจากกันได้ ต้องปลดล็อกประตูรถก่อนเท่านั้นจึงจะสามารถเอาออกได้

ระยะเวลาชาร์จไฟสำหรับชุด Adapter เสียบปลั๊กไฟบ้านที่ให้มานั้นจะอยู่ราว 3 ชั่วโมง 15 นาที และอาจลดลงกว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณคงเหลือของแบตเตอรี่ในระบบ หรือหาก 3 ชั่วโมง มันยาวนานไป ทาง BMW ก็ยังมีตู้ BMW i WALLBOX ที่สามารถสั่งมาติดไว้ประจำบ้านหรือบริษัทก็ได้ ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จไฟเหลือ 2 ชั่วโมง15 นาที (ลดลงราว 1 ชั่วโมง)

330e-p9

ขณะชาร์จหน้าปัดรถจะแสดงเวลาที่แบตเตอรี่จะเต็มและระยะทางประมาณที่สามารถวิ่งได้ของแบตเตอรี่
ขณะชาร์จหน้าปัดรถจะแสดงเวลาที่แบตเตอรี่จะเต็มและระยะทางประมาณที่สามารถวิ่งได้ของแบตเตอรี่

เมื่อเปิดประตูเข้ามาในรถ

330e-p10

จะพบกับชุดพวงมาลัย 3 ก้านทรงผอมเพรียวแบบ M Sport หุ้มด้วยหนังแท้เนียนนุ่มมือ หนากว่าปกติเล็กน้อย พร้อมระบบ Cruise control และ Speed limiter ในข้างซ้าย ส่วนปุ่มควบคุมเครื่องเสียงจะอยู่ในข้างขวามือแทน หลังพวงมาลัยนั้น.. แน่นอนครับ M Sport ทั้งทีจะขาดแป้น Paddle Shift ไปก็คงไม่ได้

330e-p10-5

คอนโซลกลางถูกตกแต่งด้วยแผงอะลูมิเนียม ลาย Hexagon ตัดด้วยแถบสีดำ Piano Black แอร์ Auto แบบอิสระแยก 2 โซนซ้ายกับขวา ซึ่งมันอิสระมากจริงๆ ครับ มากจนไม่สามารถตั้งให้ทำงานรวมกันเวลาบิดอุณหภูมิฝั่งใดฝั่งหนึ่งให้เท่ากันทั้งคู่ได้ หรือผมไม่ทราบวิธีตั้งให้เท่ากัน ก็ไม่แน่ใจ เพราะผมเองก็ลองหาทุกวิธีจนยอมปล่อยไป หมุนทั้งสองฝั่งเองก็ได้ (วะ)!

เครื่องเสียงลำโพงแบบ Hi-Fi คุณภาพเสียงนั้นอยู่ในเกณฑ์ธรรมดา เพียงพอสำหรับคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้หูทองมากนัก โดยส่วนตัวคิดว่าเสียงเครื่องดนตรีบางชนิดที่ออกมาจากลำโพงยังไม่ใสแน่นพอเก็บทุกรายละเอียดสักเท่าไร แต่ก็ไม่ได้แย่ขนาดต้องเปลี่ยนลำโพง

330e-p11

คันเกียร์ไฟฟ้าที่ดูไปดูมาให้อารมณ์คล้ายคันโยกตู้เกมหยอดเหรียญสมัยก่อน ข้างๆ กันเป็นปุ่มเปิดปิดระบบควบคุมเสถียรภาพของรถหรือ DSC ใต้ลงมานั้นเป็นปุ่มปรับโหมดการขับขี่ที่สามารถเลือกได้ตั้งแต่โหมด SPORT+, SPORT, COMFORT และ ECO PRO ถัดลงมาเป็นปุ่มที่มีสัญลักษณ์รูปกรวยของระบบ PDC หรือ Park Distance Control ที่เรียกง่ายๆ ว่า เซนเซอร์ถอยหลังของ BMW นั้นเอง

330e-p-pdc
หน้าจอ PDC ขณะทำงาน มีเซนเซอร์อยู่ด้านหน้าและหลังเรียกว่าไม่จำเป็นต้องมีกล้องมองหลังก็ย่อมได้

ไฮไลท์สำคัญคือปุ่มเล็กๆ (ซึ่งเล็กจริงๆ จนกดยาก) ที่ใต้คันโยกเกียร์ตู้เกมส์ของเรา มันคือปุ่มปรับเปลี่ยนโหมด eDrive หรือระบบการทำงานของ Plug-in Hybrid ซึ่งมีอยู่ 3 โหมด ได้แก่ AUTO eDrive, MAX eDrive และ SAVE Battery

ปุ่มกลมๆ ตรงกลางคือชุดควบคุมจอ iDrive Touch Controller

และท้ายสุด! คือเบรกมือแบบดั้งเดิมที่ยังเป็นเบรกมือจริงๆ ไม่ใช่สวิทช์ไฟฟ้ากระดกขึ้นเล็กๆ เหมือนที่เริ่มฮิตกันในสมัยนี้ บางคนอาจจะไม่ชอบแต่ส่วนตัวผมชอบ เพราะความดีของมันจะมีในเวลาที่คุณอยากซนเอารถลงขับ Gymkhana ขำๆ ในลานปิดขึ้นมา การมีเบรกมือแบบนี้ย่อมสามารถกระตุกเบรกมือเพื่อให้อาการรถออกได้ และทำองศาม้วนยูเทิร์นอ้อมกรวยได้! ซึ่งเป็นสิ่งที่รถเบรกมือไฟฟ้าไม่สามารถทำได้แล้ว แต่ข้อเสียคือต้องแลกมากับการไม่มีออพชั่น Auto brake hold ที่ช่วยลดความเมื่อยขายามรถติด

330e-p11-5

หน้าจอของระบบ iDrive นั้นกว้าง 8.8 นิ้ว มาพร้อมกับระบบ Navigation system แบบ Professional ที่สามารถแสดงผลการจราจรแบบ Real-time ได้

พิเศษกว่านั้นหากคุณตั้งค่ารถอยู่ในโหมด ECO PRO และป้อนจุดหมายปลายทางที่คุณต้องการจะไปเข้าไป แผนที่ของรถจะแสดงเส้นทางต่างๆ ขึ้นมาให้เลือก ตั้งแต่เส้นทางปัจจุบัน เส้นทางทางเลือก และเส้นทางประหยัดพลังงาน เหมาะสำหรับคนที่ยังคิดไม่ออกว่าจะเลือกเดินทางไหนดี (อื้มมม…)

330e-navi-330e-p1

330e-navi-330e-p2

ไม่เพียงแค่แสดงเส้นทางลูกศรในจอ iDrive อย่างเดียว แต่ยังแสดงในพื้นหลังของจอหน้าปัดอีกด้วย
ไม่เพียงแค่แสดงเส้นทางลูกศรในจอ iDrive อย่างเดียว แต่ยังแสดงในพื้นหลังของจอหน้าปัดอีกด้วย

ตัวเบาะคนขับและผู้โดยสารคู่หน้าเป็นแบบ Sport หุ้มด้วยหนังแท้ Dakota สีแดง ปรับไฟฟ้าทั้งคู่ ยกเว้นส่วนรอง Support ช่วงขาและเข่าที่ต้องใช้มือดึงคันโยกเล็กน้อย ปีกเบาะรับช่วงตัวนั้นก็สามารถปรับให้โอบมากน้อยให้พอดีขนาดตัวแต่ล่ะบุคคลได้ เหมาะกับทั้งวันที่มีบทบู๊เหวี่ยงโค้งหนักๆ หรือวันที่ต้องเดินทางไกลที่สามารถปรับขยายออกมาได้เช่นกัน มีหน่วยความจำมาให้ 2 ตำแหน่งเฉพาะฝั่งคนขับ

สีของเบาะนั้นขึ้นอยู่กับสีภายนอกของตัวรถ
สีของเบาะนั้นขึ้นอยู่กับสีภายนอกของตัวรถ

330e-p13

เบาะนั่งด้านหลังนั้นสามารถเข้าออกได้ง่าย มีพื้นที่วางขาเหลือกำลังดี ตัวเบาะยาว Support หัวเข่าได้มากกว่าคู่แข่งเยอรมันอีกค่ายอย่างชัดเจน มีเข็มขัดนิรภัยแบบสามจุดมาให้ครบทุกตำแหน่ง มีช่องแอร์ด้านหลัง พร้อมม่านลดแสงด้านหลังแบบไฟฟ้า

330e-p14

330e-p15

Engine and Drivetrain

330e-p16

ขุมพลังที่ประจำการอยู่ใต้ฝากระโปรงของ BMW 330e M Sport คันนี้นั้น มีขนาด 2.0 ลิตร เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกันกับใน BMW 320i ตัวปกติ ซึ่งมีแรงม้า 184 ตัว จับคู่เข้ากับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ แต่มีอัตราทดเกียร์และเฟืองท้ายต่างจากตัว 320i สิ่งที่ต่างกันอีกเรื่องคือแรงบิด หากเป็นตัว 320i นั้นจะมีช่วงของแรงบิดที่กว้างครอบคลุมกว่าที่ 270 นิวตันเมตร  แต่ถ้าเป็น BMW 330e M Sport เครื่องยนต์จะมีแรงบิดมากกว่ากันที่ 290 นิวตันเมตร แต่ช่วงแรงบิดนั้นไม่กว้างเท่า 320i (เปรียบเทียบเฉพาะตัวเครื่องยนต์เบนซินด้วยกัน)

330e-p18

ระบบมอเตอร์ไฟฟ้านั้นมีเรี่ยวแรงถึง 88 แรงม้า และแรงบิดที่รอตั้งแต่กดคันเร่ง 250 นิวตันเมตร เมื่อรวมเรี่ยวแรงของระบบมอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์สันดาปแล้ว BMW 330e M Sport จะมีพละกำลังอยู่ที่ 252 แรงม้า และแรงบิดสูงใช่เล่นที่ 420 นิวตันเมตร

ทั้งหมดนั้นมาในแทบทุกช่วงรอบเครื่องยนต์

แรงม้า 252 ตัวของทั้งระบบนั้น เท่ากับตัว BMW 330i ตัวLCi ปกติที่เลิกจำหน่ายไปแล้ว แต่ 330i จะมีแรงบิดน้อยกว่าจากการที่ไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยเหมือน 330e นั่นเอง
แรงม้า 252 ตัวของทั้งระบบนั้นเท่ากับตัว BMW 330i LCi ที่เลิกจำหน่ายไปแล้ว แต่ 330i จะมีแรงบิดน้อยกว่าจากการที่ไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยเหมือน 330e นั่นเอง

DRiVE

กดปุ่ม Start แล้วออกไปขับกันเถอะ!

330e-p20

ช่วงล่างของ BMW 330e M Sport ยังเป็นช่วงล่างแบบธรรมดาที่ไม่สามารถปรับความหนืดได้แบบ Adaptive M Suspension ใน BMW X5 xDrive40e M Sport คันที่เรานำมารีวิวครั้งก่อน

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าเกลียดอะไร เพราะ 330e M Sport คันนี้มีช่วงล่างที่เฟิร์มลงตัวระหว่างการใช้งานในเมืองและบนทางด่วนเดินทางไกล อาจจะมีอาการตึงตังเล็กน้อยมากๆ เวลาผ่านหลุมบ่อจากขนาดของล้อ 18 นิ้ว พร้อมยางแก้มเตี้ย เป็นการตึงตังในลักษณะที่พอเป็นพิธี ผู้ใหญ่นั่งได้ไม่บ่น ส่วนวัยรุ่นบางคนที่ผ่านรถช่วงล่างแต่งมาก่อนอาจจะคิดว่ามันนุ่มไปสักหน่อย

การเปลี่ยนสลับเลนโยกไวๆ นั้นสามารถทำได้แต่ต้องมีการเผื่อน้ำหนักของรถไว้เล็กน้อย เพราะ 330e M Sport มีแบตเตอรี่ขนอยู่ที่ท้ายรถ ทำให้น้ำหนักของตัวรถหนักกว่าเพื่อนๆ ในตระกูลซีรีส์ 3 F30 อยู่ราว 100 กิโลกรัม

อาการของรถในโค้งนั้นยังแอบไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ โดยส่วนตัวอยากได้ช่วงล่างที่แข็งกว่านี้อีกซักนิด แต่เมื่อมองถึงการใช้งานของคนส่วนใหญ่หรือการใช้งานทุกวันช่วงล่างของ BMW 330e M Sport ก็นับว่าเหลือเพียงพอแล้ว มากพอที่ให้ความมั่นใจได้ถึงระดับ Top speed

ฟีลลิ่งของแป้นเบรกนั้นแอบสู้เท้าแข็งเล็กๆ หากท่านใดขับรถแป้นเบรกเบาๆ มาก่อน อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวเล็กน้อย แต่เมื่อคุ้นชินกับรถแล้วและอยู่ในตำแหน่งท่านั่งที่สามารถวางแขนและขาได้อย่างถูกต้องก็จะไม่มีปัญหาอะไรกับแป้นเบรกนัก มันสามารถหน่วงความเร็วของตัวรถจากระดับ 200 กม./ชม. ลงสู่ 100 กม./ชม. ได้อยู่หมัด

330e-p-drive-330e-1

BMW 330e M Sport ยังสามารถเลือกโหมดการขับขี่ ได้ 4 โหมดด้วยเช่นกัน แต่ละโหมดนั้นทำให้บุคลิกของตัวรถแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย ได้แก่

โหมด COMFORT

เป็นโหมดการขับขี่มาตรฐานตั้งแต่เริ่มสตาร์ท รถจะอยู่ในโหมด COMFORT คันเร่งและการตอบสนองเกียร์จะไม่ไวเกินไปแต่ไม่ช้าจนอืดอาด พวงมาลัยมีน้ำหนักกำลังดี อัตราทดพวงมาลัยนั้นไม่ได้เป็นแบบแปรผัน การมุดหรือหักเปลี่ยนเลนไวๆ ต้องตั้งใจถือพวงมาลัยดีๆ เพราะพวงมาลัยค่อนข้างไวแต่ไม่ได้คมมากอย่างที่คิด การประคองพวงมาลัยในความเร็วสูงนั้นสามารถไว้ใจได้สบาย มีแค่ต้องระวังช่วงรอยต่อถนนที่ไม่เท่ากันเล็กน้อยเท่านั้น

โหมด ECO PRO

การตอบสนองของคันเร่งจะช้าลงหน่วงมากขึ้น การเปลี่ยนเกียร์นั้นจะถี่มากขึ้นเพื่อให้รอบเครื่องยนต์ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ การทำงานของแอร์จะลดลง แต่สามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ลดการทำงานของแอร์หรือไม่ และยังสามารถตั้งเตือนความเร็วที่ต้องการกำหนด ป้องกันการกดคันเร่งเพลินๆ จนเกินความเร็วที่ตั้งใจจะวิ่งไว้ในตอนแรกได้เช่นกัน

330-e-p-drive-mode-3

330e-p-drive-mode-4

โหมด SPORT และ SPORT PLUS +

โหมด SPORT ธรรมดา พวงมาลัยจะมีน้ำหนักมากขึ้นเล็กน้อยจากโหมด COMFORT เรียกได้ว่าต้องตั้งใจจับผิดกัน เพราะถ้าถือนิ่งๆ ตรงๆ จะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างกันมากนัก แต่จะสามารถเห็นได้ชัดเวลาเลี้ยวโค้งหรือเมื่อหักเปลี่ยนเลนมุดไวๆ ตำแหน่งเกียร์นั้นจะเลือกอยู่ในเกียร์ที่รอบสูงขึ้นกว่าในโหมด COMFORT

หากเป็นในโหมด SPORT PLUS+ ระบบ Dynamic Traction Control (DTC) จะถูกปิดไป รอบเครื่องและเกียร์จะอยู่ในรอบที่สูงพร้อมกระโจนไปข้างหน้า เมื่อถอนคันเร่งสมองกลเกียร์ จะสั่งให้คาเกียร์เดิมรอไว้

330e-p-drive-mode-2

 

330e-p-drive-mode-1

ตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ที่ BMW เคลมมาจากโรงงานนั้น อยู่ที่ 6.1 วินาที ซึ่งจากการจับเวลาสั้นๆ บนถนนเมืองไทย ด้วยน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 ในโหมด COMFORT เกียร์ D ปกติขณะเครื่องยนต์กำลังดับอยู่ จากนั้นกระแทกคันเร่งลงไปสามารถทำออกมาได้ 7.3 วินาที สำหรับน้ำหนักของคนขับคนเดียวที่หนัก 54 กิโลกรัม

หากอยู่ในโหมด Sport และตบเกียร์มาที่ S เพื่อให้เครื่องยนต์ติดรอไว้ ตัวเลข 0-100 กม./ชม. ของ BMW 330e M Sport จะลดลงมาเหลือ 6.9 วินาที มีเสียงยางฟรีทิ้งเล็กน้อยจากล้อหลัง ก่อน eBoost ของมอเตอร์ไฟฟ้าจะมาช่วยร่วมวงพารถกระโจนออกไปอย่างต่อเนื่อง

อัตราเร่งหรือกำลังเครื่องยนต์ขณะลอยตัวไปแล้วก็มีมาให้เรียกใช้ได้ตลอด จริงๆ แล้วแค่ส่วนของเครื่องยนต์เบนซินล้วนๆ นั้นเวลาที่ eBoost ของมอเตอร์ไฟฟ้ายังไม่ได้เข้ามาช่วย ก็มีกำลังเหลือพอ..ไม่ใช่สิ ต้องเรียกว่ากระฉับกระเฉงพอที่จะสามารถสร้างรอยยิ้มให้แก่คนที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยได้อยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ที่ eBoost เข้ามาแจมด้วย แรงดึงของรถจะเริ่มกระชากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

330e-p-sp

มาถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ว่ามอเตอร์ไฟฟ้าที่สร้างความได้เปรียบเรื่องพลัง แต่ก็เสียเปรียบในเรื่องน้ำหนักตัวรถนั้น ถ้าเอาไปวิ่งในชีวิตจริงกับรถ BMW เบนซินเทอร์โบ 4 สูบที่ไม่มีมอเตอร์มันจะเป็นอย่างไร?

ผมได้ลองวัดฝีเท้าเทียบกับ BMW 330i F30 LCI ของพี่ชายท่านหนึ่ง พบว่า BMW 330e M Sport นั้นมีแรงดึงที่กระชากและรุนแรงกว่าจากแรงบิดที่มากกว่า ในขณะที่ 330i ตัวปกติจะมาในโทนรอบเครื่องขึ้นแบบหวานๆ แต่ซ่อนความเผ็ดไว้ข้างใน และมีแรงดึงพอประมาณ แต่ไม่กระชากเท่า 330e M Sport ตอนตบคันเร่งแบบกดๆ ยกๆ แต่ถ้าหากกดคันเร่งเต็มกันตั้งแต่ออกตัว เช่น ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. นั้น พบว่ารถทั้งสองคันจะเร่งตีคู่ขนานกันไป ขึ้นอยู่กับจังหวะใครกดคันเร่งออกตัวก่อนมากกว่าครับ

เรามีคลิปสั้นๆ มาฝากกันเช่นเดิมครับ

ในช่วง 10 ปีที่แล้วนั้นเป็นช่วงที่รถเก๋งดีเซลยุคใหม่เริ่มเข้ามาตีตลาดมากขึ้น จากข้อดีด้านอัตราเร่ง, การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงที่ Ecocar ยังต้องมองค้อน และการปล่อยก๊าซไอเสีย ซึ่งนับว่าเป็นอะไรที่ใหม่มากๆ ในตอนนั้น ตัวผมเองแม้เพิ่งมาได้สัมผัสรถเก๋งดีเซลกันในช่วงปี 2010 เป็นต้นมา ก็ยังรู้สึกประทับใจต่อแรงดึงที่มีในเก๋งดีเซลมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้รถเก๋งดีเซลจะมีแรงบิดมหาศาลจนสามารถถีบตัวเราติดได้ดีเบาะแค่ไหน มันก็ยังขาดคาแรคเตอร์เครื่องยนต์รอบสูงที่มีเสียงหวานๆ ที่เป็นเอกลักษณ์แบบเบนซินไปอยู่ดี

การมาถึงของ BMW ระบบ Plug-in Hybrid ในตระกูล iPerformance นั้น ส่วนตัวจึงมองว่าสามารถลบข้อด้อยของเครื่องยนต์เบนซินปกติที่มักมีแรงบิดสู้เครื่องยนต์ดีเซลไม่ได้ (และถึงทำได้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันและการตัวเลขการปล่อยมลพิษคงไม่สวยเท่าแน่ๆ ) มันจึงมีทั้งสิ่งที่เรารู้สึกดีต่อเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินมาผสมรวมกัน ทำให้ BMW 330e M Sport คันนี้มีทั้งเอกลักษณ์ของเครื่องเบนซินที่เราหลงไหล และมีตัวเลขแรงม้าแรงบิดที่พอกันกับพลังเครื่องดีเซลด้วย แถมยังปล่อย CO2 เพียง 57 กรัม/กิโลเมตร!

งานนี้ต้องยกผลประโยชน์ให้กับฤทธิ์เดชของมอเตอร์ไฟฟ้าจริงๆ

330e-p21

ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันราว 3 วันนั้น มีตั้งแต่การขับใช้งานปกติแบบวิ่งทางไกลรักษาความเร็วในช่วง 110-120 กม./ชม. และการขับแบบตามอำเภอใจ

ในการขับทางไกลจะใช้ครูสคอนโทรลสลับกับใช้เท้ากดคันเร่งเองบ้างบางช่วง เมื่อเติมน้ำมันเต็มถังพร้อม ก็ค่อยๆ คลานผ่านการจราจรช่วงบ่ายของวันจันทร์ย่านสุขุมวิทที่รถติดเล็กน้อย เพื่อหาทางขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี จากนั้นเราก็วิ่งยาวกันไปเรื่อยๆ จนได้ระยะทางพอประมาณ แล้ววกกลับเข้ากรุงเทพฯ เมื่อลงทางด่วนก็แวะเข้าจุดพักรถปั๊มน้ำมันของทางด่วนย่านบางนา

330e-p25

330e-p26
รวมระยะทางทั้งหมดที่วิ่งไปนั้น 101.3 กิโลเมตร หน้าจอ Trip computer ขึ้นอัตราสิ้นเปลื้องเฉลี่ยน้ำมัน 15.4 กิโลเมตรต่อลิตร
เติมน้ำมันโซฮอล 95 กลับเข้าไปเต็มถัง 6.026 ลิตร
เติมน้ำมันโซฮอล 95 กลับเข้าไปเต็มถัง 6.026 ลิตร

เมื่อนำมาหารกันระหว่างตัวเลขกิโลเมตรที่วิ่งไปแล้วกับจำนวนน้ำมันที่เติมกลับเข้ามาใหม่ 101.3 หารด้วย 6.026 ลิตร = 16.81 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งจริงๆแล้วหากนับเฉพาะแค่ให้หัวจ่ายตัดจะทำได้ราว 17 กิโลเมตร/ลิตร น้ำมันในถังนี้ตั้งใจขับแบบคนทั่วๆ ไปขับ แต่ก็ยังแอบทำอัตราเร่ง 100-200 กม./ชม. แค่ช่วงเร่งหนีรถที่มาไล่จี้ก้นสั้นๆ พอเป็นพิธีครับ

330e-p27

ในการขับทางไกลที่ใช้ความเร็วคงที่เพื่อการเดินทางนั้น เครื่องยนต์จะมาเป็นพระเอกหลักของเรามากกว่า แต่มอเตอร์ไฟฟ้ามีหน้าที่ส่งกำลัง eBoost มาช่วยเพิ่มอัตราเร่งแค่ตอนเร่งเท่านั้น การเป็น Plug-in Hybrid จึงไม่ค่อยส่งผลสำหรับเดินทางไกลเท่าไหร่ แต่ตัวเลข 16-17 กิโลเมตร/ลิตร ก็จัดว่าสวยใช้ได้ทีเดียว

แล้วการมีมอเตอร์ไฟฟ้ามันจะช่วยอะไรนอกจาก พลัง eBoost สำหรับพวกเท้าหนัก
อีกบ้างมั้ยเนี่ย?!
คำตอบคือ มีครับ!

ถ้าคุณยังพอจำตำแหน่งปุ่มต่างๆ ที่วางไว้ใกล้ๆ กับคันโยกตู้เกมหรือคันเกียร์ไฟฟ้าของเราได้ ปุ่มเล็กปุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อรถคันนี้มากๆ เพราะมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าที่เรียกว่าปุ่ม eDrive นั้น จะสามารถเลือกโหมดทำงานมอเตอร์ไฟฟ้าได้จากการกดปุ่มอันเล็กดีไซน์เอียงๆ (จนกดยาก) นี้ได้ 3 โหมด ได้แก่ AUTO eDRIVE, MAX eDRIVE และ SAVE BATTERY

330e-p28
เจ้าปุ่ม eDrive เล็กๆอยู่ใต้คันเกียร์เล็กน้อย

โหมด AUTO eDRIVE ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานของรถ ทุกครั้งเวลาสตาร์ทรถจะเริ่มต้นจากในโหมดนี้ สมองกลที่คุมระบบไฮบริดจะจัดสรรพลังงานเองโดยอัตโนมัติ เมื่อคลานในเมืองหรือวิ่งแบบไม่ได้กดคันเร่งแรงมากนัก มอเตอร์ไฟฟ้าจะเข้ามาทำงานจนเมื่อไฟของแบตเตอรี่รถเหลือราว 2% รถจึงจะเริ่มพยายามชาร์จไฟกลับโดยใช้แรงจากเครื่องยนต์อีกครั้ง ใน BMW 330e M Sport นั้นแบตเตอรี่จะลดลงค่อนข้างช้ากว่าพี่ยักษ์อย่าง X5 xDrive40e ที่เรานำมารีวิวกันไปในคราวก่อน

โหมด MAX eDRIVE โหมดใช้แรงงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน ระบบจะใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะกดคันเร่งแรงแค่ไหน มอเตอร์ไฟฟ้าจะรับหน้าที่ดูแลเป็นหลัก เหมาะกับการใช้งานในเมืองที่รถติด หรือการนำรถออกไปซื้อของในชุมชนหรือตลาดใกล้ๆ

โหมด SAVE BATTERY ระบบจะสั่งให้เครื่องยนต์ทำงานอยู่ตลอด เพื่อเก็บแบตเตอรี่ไว้ใช้ในเมืองที่การจราจรติดขัด รถจะพยายามชาร์จไฟให้แบตเตอรี่อยู่เรื่อยๆ และนั่นหมายความว่าต้องแลกมากับอัตราการบริโภคน้ำมันที่สูงขึ้น ส่วนตัวคิดว่าโหมดนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์สักเท่าไหร่

330e-p-edrive-1 330e-p-edrive-2

ระยะทางที่สามารถวิ่งได้ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง เมื่อวิ่งในโหมด MAX eDRIVE ที่ใช้กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ และปรับโหมดการขับขี่เป็น ECO PRO เพราะเราจะพยายามให้ไปได้ไกลที่สุด ลองกันในเช้าวันจันทร์ที่การจราจรกำลังสาหัสเกือบทุกสาย หน้าปัดรถโชว์ตัวเลข 28-25 กิโลเมตร หากปิดแอร์จะได้ 28 กิโลเมตร หากเปิดแอร์จะได้ 25 กิโลเมตร ในที่นี่ผมขอเลือกเปิดแอร์ปกติแบบคนทั่วๆ ไปเขาทำกันดีกว่า

330e-p29

ผมใช้เวลาบนถนนวั้นนั้นอยู่ราวเกือบ 2 ชั่วโมง จากทางด่วนเหนือถนนประดิษฐ์มนูธรรมมุ่งหน้าแยกอโศก ระยะทางที่ต้องพิชิตราว 18 กิโลเมตร เข้าใจว่าการจราจรที่ติดจนจอดมากกว่าวิ่ง ทำให้ผมสามารถใช้โหมด MAX eDRIVE ได้แค่ 16 กิโลเพียงเท่านั้น ก่อนที่เครื่องยนต์จะเริ่มตื่นมารับหน้าที่ในเช้าวันนั้นต่อ

330e-p30

ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าวิ่งเพียวอย่างเดียวแล้วจะวิ่งได้ดีมีแรงพอจริงหรอ?

เมื่ออยู่ในโหมด MAX eDRIVE นั่นสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุดถึง 120 กม./ชม. และใช้เวลาไม่นานเสียด้วย

จากในคลิปจะเห็นได้ว่า 0-100 กม./ชม. นั้นสามารถวิ่งเกาะๆ กันไปกับบรรดา Ecocar ทั้งหลายได้โดยไม่โดนทิ้ง แถมยังสามมารถใช้ความเร็วได้ถึง 125 กม./ชม. นับว่ากำลังของมอเตอร์ไฟฟ้านั้นมีแรงพอสำหรับการขับในเมืองและบนทางด่วนเมื่อในวันที่ต้องการขับชิลๆ แน่นอน

บทส่งท้าย

330e-p22

ผมคิดว่าพวกเราทุกคนกำลังอยู่ในวันที่เริ่มเดินมาถึงจุดเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นระหว่างรอยต่อระหว่างเทคโนโลยีที่สดใหม่กับเทคโนโลยีปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกันดี เราทุกคนย่อมรู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะเป็นวันของรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการดังพลุแตกของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากอเมริกันเอย การเริ่มแพร่หลายของรถยนต์ Hybrid เอย หรือจะเป็นขั้นสูงกว่านั้นอย่างรถจำพวก Plug-in Hybrid อย่างรถคันที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้

BMW 330e M Sport จึงนับเป็นทางสายกลางที่ดีสำหรับการค่อยๆ เปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV เพราะมันดูจะเข้าถึงวิถีชีวิตของผู้ใช้รถได้หลายกลุ่มกว่าการบีบคอให้เปลี่ยนไปใช้รถ EV เพียวๆ กันซะตั้งแต่ตอนนี้

ราคาค่าตัวของ BMW 330e M Sport ณ วันที่เขียนบทความอยู่นี้ แปะป้ายอยู่ที่ 3,099,000 บาท อันเป็นรุ่นท็อปและแพงสุดของบรรดาซีรีส์ 3 F30 โฉม LCI ในบ้านเราทั้งหมด

แต่ล่าสุด BMW Thailand เพิ่งเปิดตัว BMW 330e Luxury รุ่นย่อยใหม่ของตระกูลซีรีส์ 3 F30 โดย BMW 330e Luxury นี้จะถอดชุดแต่ง M Sport จากคันที่เรารีวิวทิ้งไป มาในแนวหรูมากขึ้น และหันมาประกอบในประเทศ

bmw-330e-luxury-2

bmw-330e-luxury-5

ผลพวงจากการทิ้งมาดอันสปอร์ตดุดันไปและเปลี่ยนบุคลิกให้ดูเป็นมิตรมากขึ้น ก็ทำให้ราคาค่าตัวในการสู่ขอมาร่วมชายคาโรงรถเดียวกันนั้นเป็นมิตรขึ้นด้วย ราคา BMW 330e Luxury จะลดลงจากรุ่น M Sport ประกอบนอกที่เรารีวิวอยู่นี้ลงอีก 500,000 บาทเหลือแค่ 2,599,000 บาท!

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กล้าลองและเห็นประโยชน์ของรถ EV ที่เป็นไฟฟ้าล้วน แต่ยังกังวลเรื่องระยะทางและสถานที่ชาร์จไฟที่ประเทศเรายังไม่พร้อมเท่าไหร่นัก การเริ่มต้นจากรถยนต์ Plug-in Hybrid ก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดูมีเหตุผลพอสมควรสำหรับการก้าวข้ามออกจากเทคโนโลยีเดิมที่คุ้นเคย

BMW 330e M Sport จึงถือเป็นรถแบบที่เราฝันถึงไว้ ไม่ว่าจะเป็นฟีลลิ่งการขับของรถที่สนุกสนาน สามารถสื่อสารระหว่างคนขับกับรถได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือจะเป็นอัตราเร่งที่กำลังสนุกสำหรับรถที่ใช้งานทุกวันจากกำลังเครื่องยนต์ + มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวและน่าประทับใจ แถมเหมาะสำหรับในวันที่อยากซิ่งเล่นบทบู๊ลากเฮลิคอปเตอร์ แบบวิญญานพระเอก The Hire เข้าสิงก็ย่อมทำได้

ผมว่าโลกแบบอนาคต ที่เราเคยจินตนาการไว้ในหนังที่เคยดูเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว เริ่มใกล้เข้ามาแล้วล่ะ แม้คำว่าอนาคตอาจจะฟังดูเหมือนไกล แต่แท้จริงแล้วมันเริ่มต้นกันตั้งแต่ในวันนี้

330e-edrive-pic-1

และในวันข้างหน้าเราคงจะเริ่มชินกับเสียงมอเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้น เหมือนที่เราชินกับเครื่องยนต์ดีเซลในรถเก๋งยุคแรกๆ นั่นล่ะ!

ความเห็นเสริมจากทีม Bimmer-TH

ความเห็นเสริมจาก Pan Paitoonpong

เป็นอีกครั้งที่ BMW พิสูจน์ว่ารถที่ประหยัดน้ำมันและมลภาวะต่ำนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีบุคลิกการขับขี่ที่น่าเบื่อ ActiveHybrid3 เคยทำให้เรายิ้มกันปากฉีกมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน 330e นั้นก็เปรียบได้กับการนำ ActiveHybrid มาลดพลัง ลดความเกรี้ยวกราดลงแต่แลกกับการขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วน อีกทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่ากันมากจนแทบจะเอางบตรงนี้ไปซื้อ E60 ปีใหม่ๆอีกคันมาเล่นได้เลย ช่วงล่างของ 330e เป็นช่วงล่างที่พยายามจะหนึบ เฟิร์ม แต่เน้นการขับทางไกลแบบความเร็วสูงมากกว่าจะเอาไปทิ้งโค้งเล่นตามภูเขา ระบบควบคุมต่างๆพอเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อนแบบพวกซีรีส์ 7 หรือ X5 xDrive40e ที่พอขับแล้วรู้สึกว่าอยากมี “นักบินที่ 2” คอยช่วยกดสวิตช์ต่างๆให้ ผมชอบมัน…แต่ยังห่วงเรื่องความทนทานของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหนเมื่อต้องมาเจอสภาพแวดล้อม ร้อน-ชื้น-ท่วม-โหด แบบไทยๆ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผมอาจยังชอบรถพลังเครื่องสันดาปล้วนๆอย่าง 330i มากกว่า

ความเห็นเสริมจาก Thanapol Ratanaboon

“ถ้านี่คืออนาคต ผมเอาด้วย” ในวันที่วงการรถยนต์กำลังถูกพายุความรักษ์โลกและพลังงานทดแทนกระหน่ำเข้าใส่ ค่ายรถทั้งหลายต่างพยายามหาทางออกว่ารถยนต์แบบไหน เชื้อเพลิงแบบไหน และระบบนิเวศน์แบบไหนที่จะสามารถนำพาพวกเขาออกจากพายุลูกนี้ไปได้อย่างยั่งยืน ผมว่า BMW 330e M Sport นี่ล่ะคือคำตอบนั้น รถยนต์ไฟฟ้าล้วนยังมีปัญหาเรื่องพิสัยทำการ แถมยังต้องเกณฑ์ Sound engineer มาสังเคราะห์เสียงเครื่องยนต์ปลอมๆ ให้คนขับได้เร้าใจ  แต่มันก็เหมือนกับแมวสีส้มตัวอ้วนชื่อ Garfield นั่นล่ะ คุณว่าการที่มันตัวใหญ่จะทำให้มันแทนหมีป่าได้ไหม? ก็คงจะไม่ รถยนต์พลังไฮโดรเจนก็ยังติดข้อจำกัดต่างๆ นานา ส่วนรถยนต์ดีเซล…ถึงแม้จะไม่มีอะไรเสียหาย แต่มันก็ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ และสำหรับคนกระหายรอบอย่างผม การได้ลากรอบยาวๆ ฟังเสียงเครื่องเบนซินหวานๆ ก็ยังคงเป็นอะไรที่หอมหวลกว่า BMW 330e M Sport พลังเบนซิน + มอเตอร์ไฟฟ้ากล้ามโตจึงตอบโจทย์ได้อย่างพอเหมาะพอดีเสียเหลือเกิน คุณลองคิดดูนะ รถยนต์รักษ์โลก 252 แรงม้า เครื่องเบนซินลากรอบหวานๆ ช่วงล่างนุ่มหนึบ พวงมาลัยคมกริบ นั่งได้สี่คนพร้อมสัมภาระท้ายรถ ขับไปทำงานก็ได้ เที่ยวก็ได้ ลงแทร็คก็ได้ในราคา 3.099 ล้านบาท

แล้วคุณจะขออะไรอีก หืม?

ความเห็นเสริมจาก spin9

“รถยนต์คันต่อไปที่ผมจะซื้อ ต้องเสียบปลั๊กได้” ผมได้พูดเอาไว้แบบนี้กับหลายต่อหลายคน ตั้งแต่เริ่มเห็นทิศทางของการใช้พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ BMW ในซีรีส์ iPerformance อย่าง 330e ที่ถือว่าเป็นโมเดลเริ่มต้นของรถยนต์ Plug-in Hybrid ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นรถยนต์ที่เข้ามาทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากน้ำมันเชื้อเพลิงล้วนๆ มาใช้พลังงานไฟฟ้าบางส่วนได้อย่างสมเหตุสมผลที่สุด ไม่ทำร้ายฟีลลิ่งการขับขี่ที่แฟนๆ BMW ต้องการ ทั้งช่วงล่าง เสียงเครื่องยนต์ แถมยังมีสมรรถนะที่ดีกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงล้วนๆ อย่างมีนัยสำคัญ ผมคิดว่าในยุคนี้แล้ว การจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่สักคัน เพื่อให้ใช้งานต่อไปอีกสัก 5-6 ปี ฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับโลกอนาคต เป็นปัจจัยที่ไม่เล็กอีกต่อไป และ BMW 330e คันนี้ ก็ตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว ในช่วงการเปลี่ยนผ่านยุคการใช้พลังงานในรถยนต์ที่เริ่มมีการตืนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

330e-end

ขอขอบคุณ 

BMW Thailand

บทความโดย

ธิติพัทธ์ หิรัญบวรทิพย์


สงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาถ้อยคำรูปภาพในบทความโดยผู้เขียนและเว็บไซต์ bimmer-th.com
กรุณาขออนุญาตก่อนนำไปใช้ 

The following two tabs change content below.

Thitipat Hiranbavorntip

Eat Sleep Drive // First Jobber ผู้ลุ่มหลงกับเสียงเครื่องยนต์และโค้งบนภูเขา

Comments

comments