BMW X3 Mission To Mars (Duea) ภารกิจสู่คลองมะเดื่อ กับชายกลางแห่งตระกูล X

ผมไม่มีโอกาสไปร่วมทริปขับ BMW X3 ใหม่ไปดาวอังคาร (Mars) ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นพอถึงคราวที่ บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย ส่งรถมาให้รีวิว ผมก็เลยถือโอกาสจัดทริปไป Mars เสียเอง แต่ว่า Mars ของผมนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่พวกคุณคิด เพราะมันคือ Mar-Duea หรือ “คลองมะเดื่อ” แถวๆ นครนายกบ้านเรานี่เอง ด้วยความที่คิดว่ามันน่าจะมีพื้นผิวให้ได้ทดสอบระบบ xDrive อันเลื่องชื่อของ BMW อยู่บ้าง และน่าจะมีฉากสวยๆ กลางน้ำให้ถ่ายรูป BMW X3 มาประกอบบทความได้ล่ะน่า

แต่ครั้นจะไปคนเดียวก็ใช่ที่ เพราะผมเองนั้นก็ไม่ได้ชำนิชำนาญการขับบนเส้นทางออฟโรดอะไร งานนี้ก็เลยต้องโทรไปขอร้อง (แกมบังคับ) “แตงโม” น้องเล็กประจำทีมที่เขียนบทความรีวิวรถสารพัดรุ่นให้คุณๆ อ่านกันบน Bimmer-th มาเป็นแนวร่วมด้วย และผมต้องขอออกตัวไว้ตั้งแต่เริ่มบทความว่า ในช่วงการขับลุยคลองมะเดื่อนั้นผมให้แตงโมเป็นคนดีดแป้นพิมพ์บรรยายความรู้สึกของเขาออกมาเอง ส่วนตัวผมนั้นก็ย้ายตำแหน่งไปนั่งหลังซ้ายทำทีเสียว่าเป็นผู้บริหารที่กำลังต้องเข้าป่าไปตรวจงานอย่างไรอย่างนั้น

เอาล่ะ…เพื่อไม่ให้เสียเวลาและหน้ากระดาษ ผมขอตัดเข้าเรื่องของ BMW X3 xDrive20 xLine พระเอกของเราในบทความนี้กันเลยก็แล้วกันครับ

ต่างจากรุ่นเก่าตรงไหนบ้าง?

ตอนที่เห็น BMW X3 ใหม่ครั้งแรก บางคนอาจจะคิดว่า BMW ได้จับเอารถรุ่นเดิมรหัส F25 มาปรับปรุงโฉมครั้งใหญ่อย่างที่เราเรียกติดปากกันว่า Big Minorchange แต่ในความเป็นจริงนี่คือรถที่ BMW ทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมดจากศูนย์

ใต้เปลือกตัวถังคือแพลตฟอร์ม CLAR หรือ Cluster Architecture ที่เป็นโครงสร้างแบบโมดูลซึ่งสามารถปรับ ย่น ยืด ให้ออกมาเป็นตัวถังขนาดและสไตล์หลายรูปแบบ ซึ่งจะถูกนำไปใช้กับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังและไฮบริดทุกรุ่นของค่าย นับตั้งแต่ ซีรีส์ 7 G11/G12 ที่เปิดตัวมาสักระยะนึงแล้ว ไปจนกระทั่งรถยนต์รุ่นใหม่ในอนาคตอย่าง ซีรีส์ 3 G20 ที่จะเปิดตัวปลายปีนี้ (ในต่างประเทศ) รวมถึงรถในอนุกรม X ทุกรุ่น อย่างเช่นเจ้า BMW X3 คันนี้

บางคนอาจจะคิดว่า BMW ได้จับเอารถรุ่นเดิมรหัส F25 มาปรับปรุงโฉมครั้งใหญ่อย่างที่เราเรียกติดปากกันว่า Big Minorchange แต่ในความเป็นจริงแล้ว นี่คือรถที่ทำขึ้นมาใหม่หมดจดจากศูนย์

การเปลี่ยนแปลงอีกจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นที่ใต้เปลือกนอก ลูกปืนล้อถูกเปลี่ยนมาใช้วัสดุอลูมิเนียม เหล็กกันโคลงถูกปรับปรุงให้มีน้ำหนักเบาขึ้น ทั้งหมดช่วยลดน้ำหนักใต้สปริง (Unsprung Mass) ซึ่งมีผลอย่างมากกับแฮนด์ลิงของรถ ผลที่เกิดขึ้นคืออาการสะดุ้งสะเทือนจากผิวถนนไม่เรียบลดลงราวกับลอนคลื่นบนถนนพวกนั้นถูกรีดให้เรียบขึ้นกว่าที่ตาเห็น

ส่วนเครื่องยนต์ก็หันมาใช้ชิ้นส่วนอลูมิเนียมมากขึ้น ในขณะที่ส่วนประกอบอื่นๆ ในตัวรถก็เปลี่ยนมาเป็นพลาสติกหรือวัสดุคอมโพสิทตามแนวทาง Intelligent Lightweight ของค่าย เจ้า BMW X3 ใหม่จึงมีน้ำหนักตัวเบาลงกว่ารุ่นเดิมถึง 25 กิโลกรัม ทั้งๆ ที่ตัวรถขยายขนาดขึ้นในทุกมิติ

ล้อหน้าถูกขยับออกไปชิดด้านหน้ามากขึ้นเพื่อลดระยะโอเวอร์แฮงค์ให้สั้นลง ใต้ท้องมีแผ่นปิดเรียบเพื่อลดแรงเสียดทานอากาศ เช่นเดียวกับกระจังหน้าไตคู่ที่มาพร้อม Active Air Flap หรือครีบกระจังหน้าที่สามารถเปิดหรือปิดครีบอัตโนมัติตามความเร็วหรือความร้อนในห้องเครื่อง

ช่อง Air Breather หลังซุ้มล้อหน้ามีหน้าที่ระบายกระแสลมที่ปะทะอยู่ภายในซุ้มล้อซึ่งจะช่วยลดแรงยกที่ทำให้หน้ารถเกิดอาการเบาที่ความเร็วสูง เส้นสายของฝากระโปรงหน้าถูกออกแบบให้มีสันคมและผิวโค้งนูนมากขึ้น เกิดเป็นวิสัยทัศน์แปลกใหม่เวลาที่สันและเนินพวกนั้นเล่นกับแสงธรรมชาติ เมื่อมองจากด้านข้าง ลำตัวของรถถูกปรับให้อยู่ในแนวระนาบมากขึ้นกว่ารุ่นก่อนเพื่อช่วยเสริมลุคความสปอร์ต และสะท้อนให้เห็นการกระจายน้ำหนักหน้า-หลังแบบ 50-50

ด้านท้ายประกอบไปด้วยสปอยเลอร์บนฝาท้ายดีไซน์ใหม่พร้อมปีก Aero Edge ที่ปลายทั้งสองด้าน ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับตัวจัดระเบียบอากาศต่างๆ ที่กล่าวไปในก่อนหน้านี้ก็จะช่วยทำให้ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ (Coefficient Drag: Cd) ของ BMW X3 อยู่ที่ราว 0.29 เท่านั้น เรียกว่าต้องพับเก็บความเชื่อเก่าๆ ที่ว่ารถคันโตจะต้านลมเป็นใบเรือสำเภาเก็บใส่ลิ้นชักแล้วล็อกกุญแจทิ้งไปเสียที เพราะที่ตัวเลขระดับนี้ มันไม่ต่างอะไรจากรถเก๋งขนาดเล็กหรือกลางคันนึงด้วยซ้ำ

ถัดลงมาจากกระจกบานหลังเป็นไฟท้ายใหม่ดีไซน์สามมิติ ฝาท้ายที่ทำงานร่วมกับระบบ Comfort Access เมื่อพกกุญแจแล้วใช้เท้าเตะเข้าไปใต้กันชนจะสามารถเปิดและปิดฝาท้ายได้ จากนั้นจึงเป็นท่อไอเสียที่มีปลายท่อออกมาจากทั้งสองข้าง พื้นที่เก็บสัมภาระมีขนาดใกล้เคียงกับรุ่นเดิมที่ 550 – 1,600 ลิตร

ในภาพรวมแล้วผมเองไม่ได้รู้สึกถูกอกถูกใจอะไรกับดีไซน์ภายนอกของ BMW X3 ใหม่เป็นพิเศษ สำหรับผมแล้ว BMW X3 ใหม่ก็เหมือนกับมีด Swiss Army ที่ดีไซน์ประณีตและใช้งานได้อเนกประสงค์นั่นล่ะครับ คือเรียบร้อย ลงตัว ดูดีมีสกุล แต่ไม่ได้ทำให้ใจสั่นระรัวเหมือนตอนถึงคิวจับมือกับ BNK48 แต่นั่นก็เป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคล

ในตลาดประเทศไทย BMW X3 มีจำหน่ายอยู่ด้วยกันสองรุ่นย่อยคือ xLine แบบคันที่เรานำมาทดสอบ ซึ่งจะได้ไฟหน้า BMW Adaptive LED เป็นมาตรฐาน พร้อมระบบไฟสูงอัตโนมัติที่ยกไฟสูงให้เองเวลาวิ่งบนเส้นทางที่มืดในตอนกลางคืน และเมื่อตรวจพบว่ามีรถวิ่งอยู่ข้างหน้าก็จะจัดการแหวกลำแสงเบี่ยงหลบไม่ให้เป็นการรบกวนสายตาผู้อื่นด้วย ส่วนไฟตัดหมอกเป็น LED แนวนอน ฉีกกฎไฟตัดหมอกดวงกลมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำอนุกรม X มาตั้งแต่ BMW X5 E53

อีกรุ่นคือ M Sport ที่จะได้ชุดแต่งภายนอกแบบ M Sport แล้วก็จะมีช่วงล่าง M Sport ระบบช่วยนำรถเข้าจอดอัตโนมัติ Parking Assistant กล้องมองหลัง และการตกแต่งภายนอกด้วยสีดำเงาเพิ่มขึ้นมา

ห้องโดยสารและอุปกรณ์

ดีไซน์ภายในห้องโดยสารยังคงเป็นเรื่องราวเดียวกับ BMW รหัสตัวถัง G ทุกรุ่น เรือนไมล์ที่เห็นเป็นเข็ม แท้จริงแล้วเป็นจอขนาด 12.3 นิ้ว ที่ทำกราฟฟิคไว้ได้อย่างแนบเนียน มาตรวัดรอบฝั่งขวาสามารถเปลี่ยนไปแสดงค่าอื่นๆ ได้ทั้งข้อมูลระบบนำทาง รายการเพลง คลื่นวิทยุ ระบบสั่งงานด้วยเสียง และเตือนประตูหรือฝาท้ายถูกเปิด แถมยังปรับเปลี่ยนสีสันกับข้อมูลที่แสดงได้ตามโหมดการขับขี่ได้ด้วย

ผมพบว่ามันดีงามในแง่การดึงความสนใจจากคนขับ แต่ด้านการอ่านค่านั้น การเหลือบตาไปดูจอกลางซึ่งอยู่ระดับเดียวกับสายตาพอดียังสามารถทำได้สะดวก สบายตา และรวดเร็วกว่า (นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่คุณเห็นรถยุคปี 2000s หันมาทดลองทำเรือนไมล์อยู่ตรงกลางคอนโซลกันหลายรุ่น เพราะเคยมีผลวิจัยว่าการเหลือบสายตาไปซ้าย-ขวา สามารถทำได้เร็วกว่าขึ้น-ลง) ข้อดีอีกอย่างของเรือนไมล์แบบนี้ก็คือ มันสามารถแสดงผลได้ชัดเจนตลอดเวลาแม้ว่าจะโดนแสงแดดส่องเข้ามากระทบตรงๆ

หน้าจอบนคอนโซลกลางสามารถควบคุมได้ทั้งจากปุ่มโรตารี่ iDrive จากการสัมผัสหน้าจอ และจากการใช้ท่าทางมือ Gesture Control ที่ผมก็ยังคงไม่คุ้นเคยและต้องหนีกลับไปกดปุ่มบนพวงมาลัยอยู่สัก 50% แต่เริ่มชักจะติดใจ อย่างเช่นเวลาจะเพิ่มหรือลดเสียง ผมจะเลือกยกนิ้วชี้มือซ้ายมาควงสว่านก่อนเป็นลำดับแรก ก็ถ้าจะมองว่านี่คือ Gimmick จากเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งจะอยู่ในวัยเตาะแตะก่อนที่มันจะพัฒนาไปเป็นอะไรที่ใช้ประโยชน์ได้จริงจังกว่านี้ในอนาคต ผมว่ามันก็โอเคแล้วล่ะ

จุดเด่นของหน้าจอบนคอนโซลกลางของ X3 ก็คือ มันสามารถแสดงสถานะการทำงานของ xDrive ได้ตามภาพด้านบน กราฟฟิคอาจจะดูไม่หวือหวา แต่ข้อมูลที่แสดงนั้นมีประโยชน์และชัดเจนมาก ตัวเลขแถวล่างจะเป็นตัวบอกองศาก้มเงยและองศาการเอียงของตัวถัง ส่วนเปอร์เซ็นต์ตรงกลางนั้นคือ Indicator ที่บอกคุณว่าคุณเข้าใกล้ขีดจำกัดของรถขนาดไหนแล้ว อธิบายง่ายๆ ก็คือเมื่อไหร่ที่ตัวเลขไหลไปถึง 70-80% แล้วทางข้างหน้ายังมีทีท่าจะชันหรือลาดเอียงขึ้นกว่าเดิม คุณก็ไม่ควรเดินหน้าไปต่อ เพราะต่อให้ระบบ xDrive จะล้ำขนาดไหน มันก็ยังไม่สามารถเอาชนะกฎฟิสิกส์ไปได้อยู่ดีนะครับ

ถัดลงมาช่องแอร์บนคอนโซลกลางแบบทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ชุดเครื่องเสียง ชุดควบคุมระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ 3-Zone (ซ้าย ขวา หลัง) และที่วางแก้วกับช่องใส่ของที่ใหญ่โตพอดู ลึกเข้าไปใต้สัญลักษณ์ X3 คือที่อยู่ของแป้นชาร์จแบบไร้สาย (Wireless charger) ซึ่งสามารถชาร์จได้ทั้งโทรศัพท์มือถือและกุญแจ BMW Display Key

ผมลองนำ iPhone X ในเคสหนังของ Apple ที่หนาพอประมาณไปวางดู ก็พบว่าระบบสามารถตรวจจับอุปกรณ์และเริ่มชาร์จได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องถอดเคสออก ตำแหน่งและทางเข้าของช่องวางนั้นอยู่ลึกไปหน่อยจนต้องเอื้อมตัวไปหยิบและวางโทรศัพท์อยู่บ้าง แต่ก็ดีกว่าการต้องคลำหาสาย USB แล้วมาเสียบผิดเสียบถูกกับก้นโทรศัพท์เยอะ

และถ้าหากคุณเชื่อมต่อโทรศัพท์เข้ากับรถผ่านบลูทูธอยู่แล้ว ก็แทบจะไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไปหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอีกต่อไป ในตอนดับเครื่องจะมีสัญญาณเตือนกับข้อความบนหน้าปัดให้เราไม่ลืมหยิบอุปกรณ์ออกจากที่ชาร์จด้วย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนขี้ลืมแบบผม

พวงมาลัยเป็นทรงเดียวกับ 520d Sport แต่มีการตกแต่งปุ่มสีเงินคล้ายกับใน 740Le xDrive iPerformance Pure Excellence เช่นเดียวกับปุ่มควบคุมเครื่องเสียงและระบบปรับอากาศที่เป็นสีเงิน ซึ่งเดี๋ยวเราจะกลับมาคุยกันถึงเรื่องนี้ในตอนท้ายบทความครับ

เบาะคู่หน้ามาแปลกเพราะแม้ว่ารถคันนี้จะเป็นรุ่น xLine แต่ก็ได้เบาะสปอร์ตที่ปีกเบาะสามารถปรับให้โอบกระชับตัวหรือขยายออกได้ ด้านคนขับมีหน่วยความจำสองตำแหน่งตามที่คุ้นเคย การขับทางไกลยาวๆ หรือรถติดกลางเมืองนั้น ความแน่นของเบาะกับปีกที่โอบกระชับตัวจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อหลังไม่ต้องออกแรงพยุงตัวคุณไว้มากนัก ทำให้การต้องขับนานๆ ไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้าสักเท่าไหร่

เบาะหลังแยกพับได้แบบ 40:20:40 มีผิวสัมผัสแข็งกว่าเบาะหน้าจนรู้สึกได้ ส่วนรองนั่งยาวพอประมาณและพนักพิงหลังเอนกำลังดี ทำให้การโดยสารด้านหลังสะดวกสบายกว่า X1 อยู่มาก และการโดยสารทางไกลที่ต้องนั่งกันยาวๆ 2-3 ชั่วโมง ไม่ทิ้งความลำบากไว้ให้กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างและสะโพกจนรู้สึกตึงหรือล้าเท่าไรนักคล้ายกับเบาะหน้า โดยรวมถือว่าสอบผ่านได้สบายๆ ถ้าคุณต้องพาครอบครัวเดินทางออกทริปเป็นประจำ

กุญแจที่ให้มากับ X3 ใหม่เป็น BMW Display Key ที่คิดว่าคุณผู้อ่านของเราคงจะคุ้นเคยกันบ้างแล้ว และมันสามารถวางชาร์จด้วยแท่น Wireless Charger ในรถได้เลย ฟีเจอร์ในกุญแจนั้นมีทั้งการบอกสถานะของรถ ระยะทางที่วิ่งได้จากน้ำมันในถัง และการตั้งค่าให้พัดลมระบายอากาศในรถก่อนออกเดินทางเช่นเคย

ปิดท้ายด้วยไฮไลท์ประจำห้องโดยสารของ BMW X3 ใหม่ ซึ่งคงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากหลังคากระจก Panoramic Glass Roof ที่ช่วยให้ห้องโดยสารโปร่งสบายและมีบรรยากาศผ่อนคลายอย่างสุดๆ กระจกส่วนหน้าสามารถกระดกท้ายขึ้นหรือเลื่อนเปิดไปทั้งบานเลยก็ได้ ตัวม่านมูนรูฟก็เปิดปิดด้วยไฟฟ้า ตลอดเวลาที่อยู่กับ BMW X3 ผมแทบจะเปิดมันทุกครั้งแม้ว่าจะขับรถอยู่กลางแดดจ้าตอนเที่ยงที่อุณหภูมิ 34 องศาเซลเซียส เพราะมันทำให้รู้สึกว่าในห้องโดยสารนี่มันหายใจโล่งดีจริง

Drive!

คำถามก็คือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่ว่ามานั่นมันได้ผลอะไรบ้างไหม?

การประเคนเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีอยู่ในคลังของ BMW ในปี 2017 ลงไป การลดน้ำหนักตัวรถ การปรับปรุงอากาศพลศาสตร์ และการจูนระบบขับเคลื่อนให้เน้นการส่งกำลังไปที่ล้อหลังมากขึ้นเพื่อบุคลิกความสนุกสนาน จะทำให้รถขับสนุกมากขึ้น ในขณะที่ทำหน้าที่เป็นรถคันเก่งของครอบครัวได้ดีขึ้นหรือไม่ คำตอบสั้นๆ ก็คือ “ได้!” ผมพบว่าสิ่งที่ BMW บรรจงใส่ลงไปช่วยขัดเกลาให้ BMW X3 ขับขี่ได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น อันที่จริงมันก็เป็นบุคลิกแบบ BMW โค้ด G ใหม่ทุกคันที่ผมชื่นชอบนั่นแหละครับ

คำถามก็คือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่ว่ามานั่นมันได้ผลอะไรบ้างไหม? คำตอบสั้นๆ คือ “ได้!”

ช่วงล่างขณะวิ่งในเมืองผ่านรอยต่อถนนหรือฝาท่อที่ความเร็วต่ำยังมีความตึงตังให้สัมผัสกันเบาๆ ด้วยความช่วยเหลือจากการพยายามลดน้ำหนักใต้สปริง (Unsprung Mass) และน้ำหนักตัวถังในภาพรวม พวงมาลัยในโหมด Comfort มีความเบามือและว่องไวกว่ารถ SUV ทั่วไป ทำให้การขับรถ SAV หนัก 1.8 ตัน ลัดเลาะไปในซอบแคบๆ เช่น ย่านอารีย์และซอยราชครู ที่การจราจรวุ่นวายไม่ใช่เรื่องน่าอึดอัดอย่างที่คิด

อัตราทดพวงมาลัยที่แปรผันอัตโนมัติตามความเร็วก็ยิ่งช่วยทำให้ไม่ต้องสาวพวงมาลัยกันเยอะเวลาต้องเลี้ยวเข้าตรอกหรือถอยจอดในช่องแคบๆ …แหม่ แต่มันคงจะง่ายกว่านี้มากถ้าหน้าจอ 10.25” บนคอนโซลกลางสามารถปรากฏภาพของสิ่งกีดขวางที่อยู่ท้ายรถได้ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มอีกตัวซึ่งมีชื่อเรียกว่า…เอ่อ กล้องมองหลัง

(คันที่นำมาทดสอบเป็นรุ่น xLine ซึ่งไม่มีกล้องมองหลังมาให้ และนำมาทดสอบก่อนที่ บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย จะนำรุ่น M Sport มาทำตลาด)

พอมาอยู่บนถนนโล่งที่ความเร็วเดินทาง ช่วงล่างที่เคยตึงตังบ้างก็เริ่มแสดงความนุ่มนวลออกมาให้สัมผัสมากขึ้น ช่วงระยะการทำงานที่ยาวสามารถดูดซับแรงกระแทกจากรอยต่อบนทางด่วนหรือผิวขรุขระเอาไว้ได้ดี และมีความหนืดมากพอที่จะหยุดการเต้นของสปริงได้ในจังหวะเดียว ตัวรถรูดผ่านรอยต่อดุๆ บนทางด่วนประเทศไทยได้อย่างสบายอารมณ์ แม้จะมีอาการโยกตัวขึ้นลงจากจังหวะยืดยุบของช่วงล่างอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการยืดยุบที่เหมือนกับมีอะไรมาพยายามรั้งตัวถังเอาไว้ กระเดียดไปทางหนึบหนับเหมือนเวลาคุณดึง Resistance Band ตอนเข้าฟิตเนส มากกว่าโยนตัวเด้งดึ๋งเป็นลูกโป่งสูบน้ำ การทำงานของช่วงล่างมีความสมดุลทั้งสี่ล้อ ไม่มีอาการหน้านุ่มหลังดีดให้น่ารำคาญใจ

ผมคิดว่าวิศวกรสามารถหาจุดสมดุลออกมาใช้ได้ เพราะการจะเซ็ทช่วงล่างให้สามารถวิ่งทางตรงเร็วๆ ได้นิ่ง แต่เปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูงยังมั่นใจได้ระดับนึง และยังต้องคลานผ่านถนนผิวหยาบกระด้างของเมืองไทยที่ความเร็วต่ำได้นุ่มนวลด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าหากคุณเติมตัวแปรอย่างยางแก้มเตี้ยที่โอบรัดล้อ 19 นิ้ว น้ำหนักตัวระดับ 1.8 ตัน ความสูงของรถ ความสนุกในการขับขี่ลงไป การหาจุดสมดุลก็ยากขึ้นอีกอักโข

ด้วยข้อจำกัดทั้งหมดที่มี ในบางจังหวะ X3 จึงยังมีอาการตึงตังเวลาผ่านรอยต่อ หรือเอียงตัวเวลาหักเลี้ยวเร็วๆ อยู่บ้าง และการโยกเปลี่ยนเลนอย่างรุนแรงหรือสาดเข้าโค้งอย่างไม่บันยะบันยัง จะสัมผัสถึงอาการท้ายไหลออกได้ไวไปนิดพอให้อะดรีนาลินสูบฉีด แต่ระบบช่วยเหลือต่างๆ ก็จะออกมาช่วยรั้งรถให้กลับมาอยู่กับร่องกับรอยได้ในทันท่วงที และถ้าคุณพา X3 เข้าโค้งอย่างมีสติ กล่าวคือเข้าช้า เล็งไลน์ให้ดี แล้วยิงออกจากโค้ง ตัวรถก็จะเกาะหนึบอยู่อย่างนั้นและไม่มีอาการเสียววาบโผล่มาให้คุณได้สัมผัส

ผมยังพบว่าตัวรถไม่ค่อยสะทกสะท้านกับแรงลมปะทะมากนัก มันนิ่งและมั่นคงแม้ว่าเข็มความเร็วจะเริ่มไหลเกินขอบเขตที่ควรขับไปไกลขึ้นเรื่อยๆ นับว่าเป็น SAV ที่ใช้เดินทางไกลอย่างเร่งด่วนได้อย่างไม่เครียด หรือถ้าจะต้องขับไปดาวอังคารจริงๆ ก็คงจะไม่ล้ามากเท่าไหร่ (เหรอ!) การเก็บเสียงในห้องโดยสารถือว่าทำได้ดี เพราะที่ความเร็วระดับนี้ผมก็ยังไม่ต้องตะเบ็งเสียงคุยกับคนในรถ ซึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้กับการเปลี่ยนมาใช้กระจกหน้าแบบ Acoustic Glass

เครื่องยนต์ของ BMW X3 ใหม่ เป็นแบบดีเซล TwinPower Turbo สี่สูบ 2.0 ลิตร พละกำลัง 190 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที กับแรงบิด 400 นิวตันเมตร ตั้งแต่ 1,750 – 2,500 รอบ/นาที พ่วงเข้ากับเกียร์อัตโนมัติ Steptronic 8 จังหวะ อ่านสเปกตัวเลขแล้วแฟนๆ BMW คงจะคุ้นเคยกันดี พอมาอยู่ในร่าง SAV ที่สูงและหนัก รวมถึงแบกระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ xDrive ไปด้วยทุกที่ ผมขอยืนยันให้สบายใจกันตรงนี้ว่าเรื่องเรี่ยวแรงสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันไม่ใช่ปัญหา การสร้างอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งไปถึงความเร็วเดินทางยังคงอยู่ในระดับที่แทบ “ไม่ต้องใช้ความพยายาม” และสามารถเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขันได้โดยที่คุณไม่ต้องลุกขึ้นมายืนทับคันเร่ง

ในชีวิตปกติคุณไม่จำเป็นต้องใช้รอบสูงเกิน 2,000 รอบ/นาที ก็วิ่งได้ทั่วกรุงเทพฯ แล้ว แรงดึงช่วงหลัง 3,000 รอบ/นาที ขึ้นไปดูจะเหือดแห้งไปเล็กน้อยตามบุคลิกดีเซล ส่วนรอบช่วงสูงเกินกว่านั้นผมแนะนำว่าเราไม่ต้องไปลากให้มันเปลืองเวลา อัตราเร่งเท่าที่ลองจับคร่าวๆ 0-100 กม./ชม. ทำได้ราว 9.0-9.5 วินาที ในวันที่แดดร้อนเปรี้ยงอุณหภูมิ 34.5 องศาเซลเซียส (โรงงานเคลมไว้ 8.0 วินาที) ส่วน 80-120 กม./ชม. นั้นทำได้อยู่ในช่วง 7.0 วินาที +/- ในโหมดสปอร์ตจะได้อัตราเร่งที่ไวขึ้นอีกนิดหน่อย

xDrive! Mission to Mar-Duea ภารกิจสู่คลองมะเดื่อ!

อย่างที่เกริ่นเอาไว้ตอนต้นว่าเราตั้งใจมาทดสอบระบบ xDrive ของ BMW X3 ใหม่กันถึงนครนายก เราไปถึงที่นั่นกันราวบ่ายสี่โมงครึ่งของวันอาทิตย์ แต่ก็ยังมีรถสัญจรเข้าออกอยู่ประปราย ทางเข้าคลองมะเดื่อเริ่มจากทางลาดยางมะตอยที่ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นทางลูกรังและกรวดหิน

ด้วยความที่กลัวว่าลำธารที่ไหลผ่านอาจแห้งเหือดเพราะนี่มันกลางฤดูแล้ง และเราอาจจะต้องรีบไปหาสถานที่ถ่ายภาพอีกจุดซึ่งห่างออกไปอีกอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง แตงโมจึงจัดการเร่งฝีเท้าเจ้า BMW X3 ให้เร็วขึ้นอีก ช่วงล่างสามารถซับแรงกระแทกส่วนมากจากสภาพทางลูกรังที่มีกรวดก้อนใหญ่ตกอยู่เป็นหย่อมๆ ไว้ได้ ทำให้การนั่งโดยสารไม่ได้รู้สึกกระเด้งกระดอนหรือสร้างความยากลำบากให้กับอวัยวะภายในร่างกายไว้อย่างที่กลัวในตอนแรก

แต่ไม่นานทางลูกรังเรียบๆ ก็สิ้นสุดลง และเริ่มมีหลุม บ่อ เนินดิน โผล่มาทักทาย ช่วงล่างมีเสียงตึงตังขึ้นมาบ้างเพราะสภาพพื้นผิวเริ่มไม่ปราณีกับรถคันไหนทั้งนั้น และรถเก๋งหรือกระบะทรงเตี้ยรอบตัวเราเริ่มหายไปทีละนิด เหลือแต่ออฟโรด 4×4 ยกสูงเต็มพิกัดที่กำลังจับจ้อง BMW สีขาวคันนี้ด้วยสายตาประหลาดใจ

เราเข้ามาถึงลำธารที่สองก่อนแสงหมดพอดีและโชคดีว่ามันมีน้ำเพียงพอในระดับที่เราคาดไว้ จึงตัดสินใจเดินหน้าต่อตามแผนท่ามกลางการเฝ้าดูของคุณลุงคุณป้าในเพิงพักโดยรอบที่รู้สึกได้ถึงความกังวลว่าพวกเราจะเอา BMW ถ้าไม่ฝีมือดี รถเจ๋ง ก็คงจะกำลังทำสิ่งที่ซื่อบื้อมาก และต่อจากนี้จะเป็นความเห็นของแตงโมครับ…

แตงโม Thitipat Hiranbavorntip
 มันเป็นบ่ายวันหยุดที่ผมกำลังพา BMW X3 คันสีขาวตะลุยเข้าทางดินที่มีหลุมบ่อมาก จนรถกระบะด้านหน้าของพวกเราต้องค่อยๆ หลบซ้ายขวาทีละหลุม ในท้ายสุดเราก็แซงพวกเขาขึ้นไปจนหมดเกลี้ยงเพื่อที่จะพบกับธารน้ำในคลองแรก ใช่ครับผมกำลังพา BMW X3 คันนี้ไปพิชิตคลองมะเดื่อในช่วงระดับน้ำสูงพอดีกับใต้ท้องรถเพื่อเก็บภาพบรรยากาศสวยๆ ให้เหมาะสมกับรถที่มีระบบขับเคลื่อนแบบ xDrive และได้ชื่อว่าไปพิชิตภารกิจที่ดาวอังคารมาแล้วเหมือนโฆษณาของ BMW ทั่วโลกที่มีสโลแกนว่า #Missiontomars

 

ผมเชื่อว่า 90% ของผู้คนที่ซื้อรถ SAV (หรือ SUV นั่นแหละ) ตระกูล X ของ BMW ทั้งหลาย มีจำนวนน้อยมากที่จะนำรถตัวเองเข้าไปลุยในสวนหรือข้ามลำธารแบบนี้ การนำ BMW X3 สีขาวคันนี้เข้าไปตะลุยในบ่ายวันนั้นจึงสร้างความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็น รวมถึงคนขับที่อยู่หลังพวงมาลัยแบบผมไม่น้อย เพราะช่วงล่างของ BMW X3 นอกจากจะนุ่มและสามารถเก็บรอยต่อบนพื้นถนนคอนกรีตได้ดีแล้ว เมื่อต้องมาลุยเข้าทางดินที่มีหลุมบ่อและหินเยอะอย่างคลองมะเดื่อก็ยังทำให้พวกเรานั่งสบายกว่าที่นึกภาพไว้ในตอนแรก

ช่วงล่างของรถเก็บอาการได้ดีจากช่วงระยะยุบตัวของโช้คอัพที่ยาวกำลังเหมาะ ในช่วงที่เรากำลังลุยข้ามน้ำและต้องหยุดเพื่อถ่ายรูปบนพื้นของลำธารที่เต็มไปด้วยหินที่ร่วนพอตัวนั้น สำหรับรถที่ใส่ยางวิ่งถนนปกติถือเป็นเรื่องเสี่ยงที่จะติดหล่มไม่น้อย แต่ระบบ xDrive ใน BMW X3 ก็ทำหน้าที่ได้ดี มันสามารถกระจายแรงต่างๆ ไปยังล้อทั้ง 4 ได้อย่างราบรื่น และทำให้ภารกิจถ่ายรูปรถบนดาวอังคารที่มีน้ำในบ่ายวันนั้นสามารถเสร็จสิ้นลงได้โดยไม่ต้องพึ่งใครมาช่วย (และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน!) นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ทำให้พวกเราพูดได้เต็มปากว่ารถตระกูล SAV ก็สามารถลุยได้เยอะกว่าที่พวกเราเคยนึกภาพกันไว้

บทสรุป (กรุณาอ่านจนจบ…)

ในตอนต้นของบทความ ผมได้ทิ้งประเด็นเรื่องภายในเอาไว้อยู่หนึ่งเรื่อง นั่นคือเรื่องที่ภายในของ BMW X3 ใหม่ใช้ปุ่มต่างๆ สีเงินแบบเดียวกับ ซีรีส์ 7 ซึ่งอาจจะทำให้ดูหรูล้ำไปไกลกว่า ซีรีส์ 5 อย่างขัดความรู้สึก และพอขยายภาพมาดูที่รถทั้งคันในภาพรวม คุณก็จะยังพบเรื่องที่ขัดแย้งความรู้สึกอย่างนั้นเพิ่มมาอีกอย่างหรือสองอย่าง เช่น BMW X3 มีไฟ Carpet Light เหมือนซีรีส์ 7 แต่กลับไม่มีกล้อง Surround View หรือกล้องมองหลังซึ่งผมมองว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับรถ SAV บนเส้นทางออฟโรดมากกว่า หรือการที่น้องชายคนเล็กอย่าง BMW X1 สามารถหมุนพวงมาลัยเข้าจอดแบบขนานให้ได้อัตโนมัติ แต่ BMW X3 xDrive20d xLine ยังต้องพึ่งพาความสามารถของคนขับล้วนๆ ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเงินจำนวน 3,699,000 บาท มันซื้ออะไรกลับมาให้คุณบ้าง?

ผมยอมรับว่าตอนแรกผม “ติดกับ” อยู่กับเรื่องนี้พอสมควร และไม่เข้าใจว่า BMW ต้องการวางตำแหน่ง X3 ไว้อย่างไรกันแน่ แต่ชั่วโมงบินของผมหลังพวงมาลัย BMW X3 ที่มากขึ้น และการได้เผชิญสถานการณ์รูปแบบต่างๆ บนท้องถนน ทำให้ผมเริ่มค้นพบว่าคุณค่าที่แท้จริงของรถคันนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าออพชันของมันจะเหมือนหรือต่างจาก ซีรีส์ 7 เพียงใด หรือมันจะช่วยพาคุณเข้าไปอยู่ในช่องจอดได้หรือไม่ (มีมันก็ดีกว่าไม่มีนั่นแหละครับ…แต่เอาน่ะ) ทว่า มันอยู่ที่ความอเนกประสงค์และพร้อมตอบโจทย์ของคุณได้ทุกสถานการณ์…แบบชื่อเรียก “SAV” หรือสโลแกน On A Mission ของมันต่างหาก

การมี X3 มันก็เหมือนกับการมีมีด Victorinox Swiss Army พกติดตัวที่คุณจะหยิบออกมาตัดกระดาษ เปิดขวดไวน์ เลื่อยไม้ หั่นของ หรือไขสกรู ก็ทำได้หมดด้วยเจ้ามีดพับเพียงเล่มเดียวในอิริยาบถแบบ Professional

ทุกครั้งที่ผมต้องเดินกลับมาขึ้น BMW X3 หลังจากลงไปทำธุระอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าเข้าเมืองไปซื้ออาหารโปรดให้ภรรยา หิ้วของพะรุงพะรังที่ต้องซื้อเข้าบ้านออกมาจากท้อปซูเปอร์มาร์เก็ต เตรียมตัวกลับจากการทดสอบที่คลองมะเดื่อตอนท้องฟ้ามืดมิด หรือตอนที่มี Subaru Forester สีดำวิ่งจิกท้ายอยู่บนทางด่วน ทำทีอยากลองว่าดาวลูกไก่กับใบพัดฟ้าขาวอะไรจะแน่กว่ากันนั้น

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นข้างในคือ “ความอุ่นใจ” เพราะผมรู้ว่า BMW X3 จะพร้อมรบสำหรับภารกิจของผมเสมอ การมี X3 ก็เหมือนกับการมีมีด Victorinox Swiss Army อยู่ข้างกาย ที่คุณจะหยิบออกมาตัดกระดาษ เปิดขวดไวน์ เลื่อยไม้ หั่นของ หรือไขสกรู ก็ทำได้หมดด้วยเจ้ามีดพับเพียงเล่มเดียวในอิริยาบถแบบ Professional

เปล่าครับ…ผมไม่ได้กำลังบอกว่า X3 คือรถที่ดีที่สุดไปหมดทุกด้าน แต่ผมกำลังจะบอกว่ามันทำทุกอย่างได้ตามวัตถุประสงค์ที่มันถูกสร้างมา และทำสิ่งเหล่านั้นได้ดีอย่างปราศจากเงื่อนไข มันอาจจะไม่ได้มีหน้าตาที่ทำให้คุณตื่นเต้นเมื่อแรกพบ และไม่ได้มีสมรรถนะที่ทำให้คุณสนุกสุดเหวี่ยงได้แบบสปอร์ตซาลูนของค่าย แต่ถ้าคุณเป็นคนประเภทที่เห็นทุกกิจกรรมในชีวิตคือภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ และ “ความวางใจ” คือสิ่งที่คุณค้นหาในรถคันต่อไปของคุณ เช่นนั้น BMW X3 จะเป็นรถที่ was there, is there, and will always be there และพร้อมที่จะช่วยคุณพิชิตภารกิจพวกนั้นจนเสร็จสมบูรณ์..ตราบเท่าที่คุณต้องการมัน

BMW X3 ใหม่กับสโลแกน “On A Mission” นั้นจึงมีที่มาที่ไป และไม่ใช่คำโฆษณาทางการตลาดที่เขียนขึ้นมาอย่างลอยๆ

ขอขอบคุณ BMW Thailand เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

สงวนลิขสิทธิ์
บทความและภาพถ่ายนี้ถูกเผยแพร่เป็นแห่งแรกที่เวบไซต์ Bimmer-th.com

The following two tabs change content below.
มนุษย์เงินเดือนผู้คลั่งไคล้ในรถยนต์สมรรถนะยอดเยี่ยม นักแข่งรถสมัครเล่นที่มักจะพบเห็นวิ่งดมฝุ่นอยู่ท้ายสนาม คุณพ่อของลูกสาวที่น่ารัก และหนึ่งในทีมงาน Bimmer-th.com

Comments

comments