BMW M8 GTE กับดีไซน์แอโรไดนามิกส์โค้งสุดท้ายก่อนลงแข่งต้นปีหน้า

ด้วยความที่กำหนดการแข่งขัน 24 Hours of Daytona ในเดือนมกราคม 2018 เริ่มใกล้เข้ามา แผนก Motorsport ของ BMW จึงกำลังเร่งมือทดสอบรถแข่งคันใหม่ของทีม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาช่วงสุดท้าย โดยทีมวิศวกรกำลังพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่ชิ้นส่วนแอโรไดนามิกส์ของ BMW M8 GTE ซึ่งจะถูกส่งไปลงรายการใหญ่อย่าง FIA World Endurance Championship (WEC) และ IMSA WeatherTech SportsCar Championship (IWSC) ภายในปี 2018 ที่จะถึงนี้ด้วย

“ภารกิจหมายเลข 8” หรือ “Mission 8” คือชื่อที่ BMW ใช้เรียกโครงการพัฒนารถคันนี้ ซึ่งไม่บอกก็คงรู้ว่าพวกเขาตั้งความหวังกับรถแข่งรุ่นนี้เอาไว้มากน้อยเพียงใด ส่วนนึงก็เพราะมันเป็นรถรุ่นเรือธงของค่าย และการแพ้หรือชนะย่อมเปรียบเหมือนคำตัดสินว่าผลงานวิศวกรรมจากแคว้นบาวาเรียนั้นเจ๋งจริงหรือไม่ แต่อีกส่วนนึงก็เพราะ BMW บอกว่าชิ้นส่วนและเทคโนโลยีหลายอย่างที่บรรจุลงไปในรถแข่ง BMW M8 GTE จะมาปรากฎอยู่ในรถ BMW ซีรีส์ 8 คูเป้ เวอร์ชันถนนด้วย และในเมื่อรถเวอร์ชันถนนจะถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการหลังจากที่ BMW M8 GTE วาดลวดลายในสนามไปบ้างแล้ว ความล้มเหลวในสนามจึงอาจหมายถึงหายนะและชะตากรรมของรถรุ่นนี้

บทสัมภาษณ์ของ Jens Marquardt ผู้อำนวยการฝ่าย BMW Motorsport บนเวบไซต์ Bimmerfile บอกว่า “สิ่งนึงที่โดดเด่นในเรื่องของการพัฒนา BMW M8 GTE ก็คือ การที่ทีมมอเตอร์สปอร์ตและทีมโปรดักชันทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือด้านแอโรไดนามิกส์ โดยทีมงานใช้บริการ Aero Lab ของ BMW Group ในการออกแบบชิ้นส่วนตัวถังแต่ละชิ้นเพื่อการแข่งขันระยะไกลหรือ Endurance โดยเฉพาะ ส่วนฝ่ายโปรดักชันก็จะเข้ามาเก็บข้อมูลสำคัญเพื่อไปประยุกต์ใช้กับรถเวอร์ชันถนนไปพร้อมๆ กัน

เนื่องจากภารกิจของ BMW M8 GTE จะมีทั้งการแข่งขันระยะสั้นและระยะไกล ดังนั้นนอกเหนือไปจากประสิทธิภาพและเสถียรภาพของรถแล้ว ทีมวิศวกรของแผนก BMW Motorsport ยังต้องให้ความสำคัญกับความแข็งแรงและทนทานของชิ้นส่วนด้วย ทีมงานจะเริ่มต้นจากการพัฒนาคอนเซปต์ขึ้นมา แล้วส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศพลศาสตร์ทำการทดลองในสถานการณ์จำลองแบบต่างๆ บนคอมพิวเตอร์นับ 1,000 ครั้ง

จากนั้นก็ถึงเวลาที่จะขึ้นรูปชิ้นส่วนจริงมาทดสอบ ทีมได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ Additive Manufacturing Centre ภายใน BMW ที่มีเทคโนโลยีด้านการผลิตสาร Additive ใหม่ๆ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถสร้างชิ้นส่วนและส่งมาทดสอบในอุโมงค์ลมได้ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงเท่านั้น ความรวดเร็วในการสร้างชิ้นงานทำให้พวกเขาได้ทดสอบการไหลของอากาศบนตัวถัง BMW M8 GTE นับร้อยๆ รอบ ทั้งบนรถโมเดลและรถคันจริง

เมื่อการทดสอบในอุโมงค์ลมผ่านพ้นไปด้วยดี ชิ้นส่วนทั้งหมดก็จะถูกส่งต่อมาทดสอบบนรถคันจริงในสนามแข่งจริง เพื่อที่ทีมวิศวกรจะได้เช็คดูว่าชิ้นส่วนที่พวกเขาออกแบบมานั้นทำงานในชีวิตจริงได้ตามที่คำนวณเอาไว้หรือไม่ การทดสอบจะทำให้เห็นว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นส่งผลต่ออุณหภูมิของเครื่องยนต์และเบรกอย่างไร รวมถึงเช็คความรู้สึกหลังพวงมาลัยของนักแข่ง จากการทดสอบหลายๆ ครั้ง ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันด้วย

ผลงานที่ถือว่าเป็นไฮไลท์สำหรับชิ้นส่วนแอโรไดนามิกส์ของ BMW M8 GTE ก็อย่างเช่น ขาตั้งสปอยเลอร์หลังแบบ “Swan Neck” หรือ “คอหงส์” (ดีนะที่ไม่ใช่ Goose Neck เพราะแปลเป็นภาษาไทยคงดูไม่จืด…) ที่ทำให้กระแสลมที่ไหลผ่านด้านใต้ของสปอยเลอร์สะอาดและเป็นระเบียบ ซึ่งช่วยเพิ่มสมรรถนะของตัวรถให้ดีขึ้น, แนวเส้นหลังคาที่นำมาจาก BMW ซีรีส์ 8 คูเป้ ที่ช่วยส่งอากาศไปที่สปอยเลอร์หลังได้ดีขึ้น, แผงดิฟฟิวเซอร์ขนาดกว้างใหญ่ที่กันชนหลังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านอากาศพลศาสตร์ให้กับตัวรถ และกระจกมองข้างที่ทั้งฝ่ายมอเตอร์สปอร์ตและโปรดักชันทำงานร่วมกัน และน่าจะเป็นชุดเดียวกับที่มาปรากฏอยู่บน BMW ซีรีส์ 8 เวอร์ชันถนน หรือใกล้เคียง..

สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ ในวันที่ทีมงานฝั่งมอเตอร์สปอร์ตกับฝั่งโปรดักชันทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น เทคโนโลยีล้ำสมัยในรถแข่งก็จะถูกถ่ายลงมาสู่รถถนนให้พวกเราได้ใช้งานกันเร็วขึ้นเช่นกัน และไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะ BMW ซีรีส์ 8 เท่านั้น เพราะ BMW บอกว่ามันจะถูกถ่ายทอดไปสู่รถรุ่นอื่นๆ ของค่ายด้วย

ที่มา Bimmerfile

The following two tabs change content below.
มนุษย์เงินเดือนผู้คลั่งไคล้ในรถยนต์สมรรถนะยอดเยี่ยม นักแข่งรถสมัครเล่นที่มักจะพบเห็นวิ่งดมฝุ่นอยู่ท้ายสนาม คุณพ่อของลูกสาวที่น่ารัก และหนึ่งในทีมงาน Bimmer-th.com

Comments

comments