BMW Driving Experience ถ้าคุณมี BMW ในครอบครอง นี่คืองานที่คุณต้องมา

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามจะเชื่อมโยงแบรนด์รถยนต์เข้ากับบุคลิกของเจ้าของรถ เช่น เจ้าของ Saab มักจะเป็นคนที่จบการศึกษาระดับสูงและห่วงใยสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ เจ้าของ Mercedes Benz มีรสนิยมที่ชอบความหรูหราประณีตและความสะดวกสบาย เจ้าของ Audi เป็นคนอัธยาศัยดีและมักจะเห็นเปิดกระจกทักทายเจ้าของ Audi คนอื่นๆ ดุจเครือญาติ (แต่ทั้งชีวิตผมก็ยังไม่เคยเห็นคนขับ Audi ทำแบบนั้นเลยสักคน) แน่นอนว่างานวิจัยเหล่านั้นไม่ได้ทำขึ้นในประเทศไทย และผลวิจัยก็มักจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศและกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มมาตอบคำถาม แต่สำหรับ BMW นั้นคำตอบที่ได้มักจะคล้ายๆ กัน คนขับ BMW เป็นคนที่หลงใหลสมรรถนะและชื่นชอบความเร็ว นั่นอาจเป็นเพราะรถยนต์ BMW ทุกคันมีบุคลิกที่โดดเด่นชัดเจนกันตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก หรือแม้กระทั่งสโลแกนเดิมของบริษัทอย่าง Ultimate Driving Machine หรือสโลแกนใหม่อย่าง Sheer Driving Pleasure ก็พูดถึงความสุดยอดในเรื่องการขับขี่ด้วยกันทั้งนั้น และวันนี้ BMW ได้นำการฝึกอบรมการขับรถมาจัดให้กับลูกค้าของ BMW ในประเทศไทย เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าถึงแก่นแท้ของสมรรถนะและซึมซาบสโลแกนของ BMW กันได้อย่างเต็มอิ่ม โปรแกรมที่ว่ามานั้นคือ BMW Driving Experience ความยาวหนึ่งวันเต็ม ซึ่ง BMW จัดขึ้นทั่วโลกมาต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 40 ปีแล้ว และผมจะบอกคุณผู้อ่านกันตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า ถ้าคุณมี BMW อยู่ในครอบครอง นี่คือโปรแกรมที่คุณต้องลางาน เคลียร์ตารางนัด เลื่อนกินข้าวกับแฟน เพื่อปลีกตัวมาเข้าร่วมให้ได้เท่านั้นครับ

Ham J. Stuck พา BMW 3.0 CSL กระโดดลอยข้ามเนินในรายการ Nürburgring 6 Hours

จุดเริ่มต้นของโปรแกรม BMW Driving Experience นั้น ต้องเท้าความกลับไปถึงจุดกำเนิดของแบรนด์ M ซึ่งในขณะนั้นยังเรียกกันในนาม BMW Motorsport ตามชื่อบริษัทที่ BMW ก่อตั้งขึ้นในปี 1972 เพื่อลุยงานด้านการแข่งขันอย่างจริงจัง แต่ช่วงเวลาที่ให้คำนิยามแบรนด์ M อย่างแท้จริงนั้น คือตอนที่ Ham J. Stuck นักขับชาวเยอรมัน ขับรถยนต์ BMW 3.0 CSL “Batmobile” กระโดดลอยข้ามเนินในรายการ Nürburgring 6 ชั่วโมง ในปี 1973 และคว้าแชมป์ในรายการนั้น แต่ความพิเศษคือไม่ใช่แค่เขาเพียงคนเดียวที่ประสบความสำเร็จในรายการนั้น เพราะ BMW 3.0 CSL อีกสองคันที่ขับโดย Dieter Quester/Toine Hezemans/Harald Menzel และ Niki Lauda/Hans-Peter Joisten ก็ตามเข้าเส้นชัยมาในอันดับ 2 และ 3 ด้วย สรุปคือ BMW ยึดทุกโพเดียมของรายการนั้น

ในตอนนั้นเองที่ชาว BMW Motorsport GmbH ค้นพบว่าความรู้ความเชี่ยวชาญด้านมอเตอร์สปอร์ตที่ทีมได้สั่งสมมาเริ่มผลิดอกออกผล และค้นพบอีกว่าการขับรถแข่งในสนามให้ได้เร็วกับการขับรถให้ปลอดภัยบนถนนนั้น แท้จริงแล้วมันมีรากฐานมาจากทักษะประเภทเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นแล้วทำไมถึงไม่นำความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีมาฝึกฝนให้ลูกค้า BMW ล่ะ? คนที่เลือกซื้อ BMW ย่อมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสมรรถนะและชื่นชอบการขับรถอยู่แล้ว ถ้าพวกเขาได้รับการฝึกฝนก็จะทำให้สามารถเข้าถึงสมรรถนะของรถได้เต็มที่มากขึ้นและปลอดภัยมากขึ้นเวลาอยู่ในสถานการณ์คับขันบนท้องถนนด้วย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโปรแกรม BMW Driving Experience ที่ปัจจุบันแตกแขนงออกไปอีกมากมาย เช่น BMW Snow and Ice Experience, BMW Tour Experience หรือแม้แต่โปรแกรมขับรถตัวแรงตระกูล M อย่าง BMW M Experience ฯลฯ

ถ้าในภาพนี้คุณบีเวอร์จะดูคล้ำกว่าปกติก็ไม่ต้องแปลกใจ… เพราะเขาลงไปยืนคุมงานเองกลางแดดที่สนาม BMW Area 51 (Secret Test Facility)

ใครจะคิดอย่างไรผมไม่แน่ใจ แต่ตัวผมเองขณะนั่งฟังคุณบีเวอร์ เศรษฐิพงศ์ อนุตรโสตถิ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย บรรยายพร้อมกับเปิดคลิปวีดิโอโปรแกรม BMW Driving Experience ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นภาพเก่าๆ ตั้งแต่สมัย BMW ซีรีส์ 3 E21 ยังถูกนำมาใช้เป็นรถฝึกในสนามมาจนถึงปัจจุบันที่ BMW 330e M Sport F30 มารับหน้าที่ต่อ ผมรู้สึกถึงพลังที่ภาพเหล่านั้นสื่อสารออกมาอย่างบอกไม่ถูก BMW บอกว่าเวลาที่คุณอยู่ในโปรแกรมนั้น คุณไม่ต้องกลัวว่าจะทำพลาด ทำผิด หรืออะไรทั้งนั้น เพราะนี่คือสถานที่และเวลาที่จะคุณสามารถผิดพลาดได้โดยไม่มีผลกระทบร้ายแรงตามมา และที่สำคัญทีม Instructor ของ BMW ซึ่งเป็นนักแข่งมืออาชีพทุกคน ก็พร้อมช่วยเหลือคุณอยู่เสมอ “We’ve Got Your Back” เพื่อที่ว่าเวลาคุณออกไปอยู่บนถนนและเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด คุณจะได้รู้สึกมั่นใจและสามารถนำสิ่งที่ฝึกมาจากโปรแกรมเพื่อเอาตัวรอดได้

ในโลกนี้มีผู้ผลิตรถยนต์กี่รายที่คิดเผื่อและห่วงลูกค้าของพวกเขาแบบนี้ผมไม่ทราบ แต่ผมรู้สึกดีกว่าถ้าหากรถยนต์แบรนด์ที่ผมเลือกนั้นรักในชีวิตและสวัสดิภาพของลูกค้าของพวกเขา ไม่ใช่เพียงแค่เงินตราตามมูลค่าของรถและค่าอะไหล่จากบริการหลังการขาย BMW Driving Experience จึงไม่ใช่โปรแกรมที่คุณจะมาฝึกเพื่อกลับออกไปซิ่งบนถนนสาธารณะเวลาโดน AMG ท้าดวล แต่เพื่อความปลอดภัยของคุณและคนที่โดยสารไปใน BMW คันโปรดของคุณ ตามสโลแกนของโปรแกรมที่เขียนไว้ว่า SAFETY FIRST หรือความปลอดภัยมาเป็นที่หนึ่ง

ก่อนที่จะไปเจาะลึกในแต่ละสถานีที่ทาง BMW เตรียมไว้ให้ ผมขอพาคุณผู้อ่านไปเจอกับทีม Instructor กันก่อนดีกว่าครับ แต่ละคนเป็นกันเองมากจนผมเกรงใจ ทั้งๆ ที่ทุกท่านล้วนมีดีกรีระดับแชมป์หรือไม่ก็ว่าที่แชมป์ประเทศไทยกันทั้งนั้น

จากนั้น พวกเราทุกคนก็ได้รับเชิญลงมาประจำรถหมายเลขที่มอบหมายเอาไว้ แต่ก่อนที่จะเราจะขับออกไปก็ต้องเรียนรู้การปรับท่านั่งที่ถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ กันก่อน เพราะการนั่งในท่าที่ถูกต้องจะช่วยให้เรารับรู้ถึงอาการของรถได้เร็วขึ้น และควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขั้นตอนถ้าจะให้จำกันง่ายๆ ทำตามนี้ครับ

  1. ความสูง จนกำปั้นมือที่วางอยู่บนศีรษะเราเริ่มแตะเพดานรถ
  2. ระยะห่างจากแป้นเหยียบ เมื่อเหยียบเบรกสุดเต็มแรงแล้วขายังต้องงออยู่เล็กน้อย เรื่องนี้สำคัญมากเพราะนอกจากจะทำให้คุณสามารถเหยียบเบรกได้ลึกพอให้ตัวช่วยต่างๆ ทำงานแล้ว หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็จะป้องกันกระดูกหักอีกด้วย
  3. พนังพิงหลัง นั่งพิงพนักเต็มหลัง เหยียดแขนตรงออกไปตรง 12 นาฬิกา ข้อมือทั้งสองข้างต้องวางอยู่บนวงพวงมาลัยพอดี โดยพยายามนั่งให้หลังตรงที่สุด ถ้าตรงแล้วยังไม่พอดีกับพวงมาลัย ไปข้อสี่กันต่อครับ
  4. พวงมาลัย ปรับความสูงให้เราสามารถเห็นมาตรวัดได้เต็มจอ และปรับระยะห่างเข้าออกให้สามารถวางข้อมือบนวงพวงมาลัยได้ ต่อเนื่องจากข้อสาม
  5. ปรับพนักพิงศีรษะให้อยู่กึ่งกลางพอดี เรื่องนี้ก็สำคัญมากอีกเช่นกัน เพราะมันจะเป็นตัวช่วยลดแรงกระแทกบริเวณต้นคอและช่วยชีวิตเราได้

เมื่อได้ตำแหน่งแล้ว ก็สตาร์ทรถไปกันเลย!

สถานีที่ 1 Emergency Braking

เริ่มวันกันอย่างเบาๆ ครับ สถานีนี้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับระยะเบรก โดยวิธีคือให้ขับรถมาด้วยความเร็วที่กำหนด 30 กม./ชม. เมื่อหน้ารถมาถึงไพล่อนคู่แรก ก็ให้กระแทกเบรกลงไปจนสุดแล้วคาเอาไว้จนกระทั่งรถหยุดสนิท เราได้ลองกันคนละหลายรอบมากจนผมลืมนับ โดยรอบสุดท้ายนี่เราขับกันที่ 60 กม./ชม.

ระยะเบรกของรถนั้นจะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ระยะเวลาการตอบสนอง (Response Time) และระยะเบรกที่แท้จริงของรถ (Braking Distance) โดยตอนบรรยายได้มีการยกตัวอย่างเอาไว้แล้วว่า ในกรณีที่รถวิ่งด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. ระยะเบรกจนหยุดสนิทของ BMW 330e M Sport จะอยู่ที่ประมาณ 12 เมตร แต่พอเจาะดูรายละเอียดแล้วน่าตกใจ เพราะระยะเบรกของรถที่แท้จริงอยู่แค่ 3 เมตร เท่านั้น ส่วน 9 เมตร แรกหมดไปกับเวลาในการตอบสนอง ซึ่งคือเวลาตั้งแต่ที่สายตาเรามองเห็น สมองสั่งการ จนถึงเท้าสลับจากคันเร่งมากดแป้นเบรก และเมื่อความเร็วเพิ่มขึ้นก็จะต้องใช้ระยะทางมากขึ้นเป็นทวีคูณจนกว่ารถจะหยุดสนิท ตัวอย่างสุดท้ายของสถานีนี้คือการเพิ่มความเร็วเป็น 60 กม./ชม. ซึ่งทำให้ระยะเบรกรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 30 เมตร แบ่งเป็นระยะเวลาในการตอบสนอง 18 เมตร และระยะเบรกที่แท้จริงของรถ 12 เมตร ยาวขึ้นถึง 2.5 เท่า

BMW บอกว่าวงการรถยนต์มีความพยายามที่จะทำให้ระยะเบรกสั้นลงมาโดยตลอด ซึ่งมีข้อจำกัดคือสามารถพัฒนาได้เฉพาะระยะเบรกที่แท้จริงเท่านั้น แต่ BMW ต้องการลดระยะส่วน Response Time ด้วยจึงใส่ระบบ Standby Brake เข้ามา โดยเมื่อคนขับถอนเท้าออกจากคันเร่ง ระบบจะสั่งให้คาลิปเปอร์นำผ้าเบรกมาประชิดจานรอไว้ก่อน (ยังไม่ออกแรงกด) เพื่อที่พอตอนคนขับกดเบรก รถก็จะตอบสนองได้ทันที ปัจจุบัน BMW ทุกรุ่นที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีระบบนี้ติดตั้งมาให้จากโรงงานครับ

สถานีที่ 2 Avoiding without Braking

สถานีนี้เป็นการจำลองสถานการณ์ว่ามีรถตัดหน้าออกมาในระยะกระชั้นชิด ทำให้เราต้องหักหลบโดยที่ไม่มีเวลาและระยะทางพอให้เบรกก่อน จะว่าไปก็คล้ายๆ กับ Moose Test หักหลบกวางมูสที่เราได้พบเห็นจากต่างประเทศครับ

พี่จูนบอกให้พวกเราขับรถมาด้วยความเร็วตั้งแต่ 40 กม./ชม. ไล่ขึ้นไปแต่ละรอบเป็น 50, 60 และ 70 กม./ชม. เมื่อวิ่งเข้ามาในซองไพล่อนแล้วจะถูกบังคับให้หักหลบอุปสรรคออกไปทางซ้าย โดยที่ไม่ต้องเหยียบเบรก อาจจะฟังดูเหมือนง่าย แต่ใน 5 รอบ ที่ขับ มีสองรอบที่ผมเอาล้อหลังด้านซ้ายไปสะกิดกรวยยางเข้า นั่นแปลว่าผมหักเลี้ยวเร็วเกินไปจนอาจจะเฉี่ยวกับรถอีกคันที่วิ่งอยู่ในเลนซ้ายได้นั่นเอง อาการของ BMW 330e M Sport มีความเป็นกลางและควบคุมได้ง่ายมาก แม้ว่าความเร็วจะสูงถึง 60-70 กม./ชม. และช่องที่ให้หักหลบก็มีขนาดพอๆ กับความยาวและความกว้างของตัวรถเท่านั้น รถไม่มีอาการเซหรือสะบัดจนเสียการควบคุม และน้ำหนักพวงมาลัยก็เสถียรไปตลอดทาง ไม่ได้มีจังหวะวูบวาบหนักบ้างเบาบ้างให้คนขับได้เสียวเล่นเลยครับ

สถานีที่ 3 Braking and Avoiding

รอบนี้ยังคงใช้สถานที่เดียวกับสถานีที่สองครับ แต่เพิ่มการกดเบรกลงไปจนรถหยุดสนิทด้วย เปรียบได้กับการนำทักษะที่เราฝึกฝนในสถานีที่ 1 กับ 2 มารวมกัน วิธีการทุกอย่างจึงยังเหมือนเดิม แต่เมื่อเริ่มหักหลบก็ให้กดเบรกลงไปจนสุดด้วย เราได้ลองกันหลายรอบเช่นเคยเริ่มจากความเร็ว 60 กม./ชม. แต่ปรากฏว่าระยะเบรกของ BMW 330e M Sport นั้นสั้นมาก พอกระแทกเบรกลงไปแล้วหักหลบ รถเฉียงไปได้แค่ 45 องศา ยังไม่ทันเข้าเลนซ้ายเต็มคันก็หยุดสนิทแล้ว (จะเบรกดีไปไหน?) เราเลยได้รับคำสั่งให้เพิ่มความเร็วเป็น 70 กม./ชม. เพื่อให้อย่างน้อยรถวิ่งเข้าไปตั้งตรงเต็มคันอยู่ในเลนซ้าย และได้ใช้ทักษะการหมุนพวงมาลัยหักหลบ ซ้าย-ขวา-ตรง แบบที่ฝึกมาในตอนเช้ากันสักหน่อย

อันที่จริงแล้ว สถานีนี้ง่ายกว่า 1 กับ 2 ครับ เพราะรถไม่มีจังหวะให้เสียอาการอะไรเลย พอเริ่มเบรกความเร็วรถก็หล่นวูบลงมาแล้ว ทำให้การหักหลบเร็วๆ นั้นตัวรถเป็นกลางและนิ่งมากๆ แต่ส่วนผมออกจะสนุกกับสถานีนี้ก็เพราะได้ยืนฟังคนอื่นๆ กระแทกคันเร่งออกจากจุดสตาร์ทแล้วลากรอบเพื่อไปถึง 70 กม./ชม. ก่อนถึงไพล่อนแรกนี่ล่ะครับ (ระยะทางกะด้วยสายตาน่าจะราว 70-80 เมตร…สั้นมากนะ) เสียงเครื่องเบนซินสี่สูบ TwinPower Turbo กับมอเตอร์ไฟฟ้ารวม 252 แรงม้า มันประสานกันออกมาเป็นโทนทุ้มอูมๆ และมีเนื้อเสียงที่ละเอียดหวานหูใช้ได้ บุคลิกของเสียงกระเดียดไปทาง V6 ด้วยซ้ำ ผมไม่ทราบว่า BMW ทำออกมาได้ยังไง แต่ถ้าเครื่องสี่สูบเสียงแบบนี้ ผมว่าไม่เสียชื่อความเป็น BMW ครับ อ้อ…แล้วสถานีนี้ผมเลิกชนกรวยได้สำเร็จแล้ว!

สถานีที่ 4 Understeering, Oversteering, DTC และ DSC

ทีม Instructor บอกกับเราว่านี่คือสถานีที่ทุกคนรอคอย เพราะหลังจากขับๆ หยุดๆ กันมาทั้งวันก็ถึงเวลาที่จะได้เดินคันเร่งกันยาวๆ เสียที สถานีนี้เราจะได้เรียนรู้การควบคุมรถบนถนนลื่นในโค้ง ทั้งอาการ Understeer หรือหน้าดื้อโค้ง Oversteer หรือท้ายปัด และได้เรียนรู้การทำงานของระบบ DTC ผ่านการดริฟท์!

ผมกดปุ่ม Traction Control OFF ที่ด้านขวาของคันเกียร์แช่เอาไว้เป็นเวลา 5 วินาที จนหน้าปัดแสดงสัญลักษณ์ว่าระบบช่วยเหลือทุกอย่างปิดการทำงานพร้อมกับข้อความ DSC Off สีส้ม เมื่อเรียบร้อยก็ใส่เกียร์ D แล้วขับรถขึ้นไปบนลาน Skid Pad ของสนาม BMW Area 51 (Secret Test Facility) ซึ่งถูกพรมน้ำไว้จนชุ่ม จากนั้นวนรถเป็นวงกลมบนพื้นคอนกรีตด้วยความเร็ว 40 กม./ชม. พี่เบี๊ยดพูดผ่านวิทยุเข้ามาบอกให้ผมกดคันเร่งโดยไม่ต้องแต่งพวงมาลัยเพิ่ม หน้ารถ BMW 330e M Sport เริ่มบานออกแสดงให้เห็นถึงอาการ Understeer รถยังคงรักษาเส้นทางวิ่งเป็นวงกลมอยู่แต่รัศมีกว้างขึ้น จากนั้นถอนคันเร่งให้ความเร็วกลับลงมาที่ 40 กม./ชม. ตามเดิม รถก็ร่นรัศมีกลับเข้ามาวิ่งเป็นวงกลมเล็กเท่ากับตอนแรก

รอบต่อไปเป็นของแรงครับ พี่เบี๊ยดส่งข้อความผ่านวิทยุสื่อสารเข้ามาอีกครั้งให้ผมขับรถขึ้นไปบนวงกลมชั้นในสุด ซึ่งเป็นลานหินแม่น้ำที่จัดเรียงด้วยมือซึ่งมีความลื่นมาก ความเร็ว 20 กม./ชม. แล้วจุ่มคันเร่งลงไปจนคิกดาวน์ ผล? จะเหลืออะไรล่ะครับ ล้อหลังหมุนฟรีและดันท้ายรถขวางออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป (แต่เร็วมาก) ผมยกเท้าออกจากคันเร่งตามคำแนะนำผ่านวิทยุสื่อสาร พร้อมกับเคาน์เตอร์พวงมาลัยกลับไปจนสุดเพื่อแก้อาการ แต่ไม่ทันแล้ว รถหมุนจนครบ 360 องศา เบรกถูกกดลงจนสุดเพื่อหยุดไม่ให้รถไหลถอยหลังอันจะทำให้เกิดความเสียหายกับระบบเกียร์ได้ ผมลองทำใหม่อีกสองสามรอบ คราวนี้ตบคันเร่งด้วยความละเมียดละไมขึ้น และความรู้สึกตรงสะโพกที่รถส่งขึ้นมาผ่านเบาะเพื่อคอยจับอาการท้ายรถ จะได้ตอบสนองได้ไวขึ้น ซึ่งก็สำเร็จผ่านมาได้ด้วยดี

ถัดมาเป็นการทดลองระบบช่วยเหลือ Dynamic Traction Control (DTC) ที่ BMW ใส่เข้ามาให้ขับในหิมะได้สะดวกขึ้น เพราะระบบจะยอมปล่อยให้ล้อหมุนฟรีได้เล็กน้อย ซึ่งทำให้สามารถควบคุมรถได้ง่ายกว่าเมื่ออยู่บนพื้นผิวที่ลื่นมากๆ อย่างเช่นน้ำแข็ง แต่เราสามารถเอามาใช้ในเวลาที่เราต้องการขับ BMW ให้สนุกขึ้นได้…แบบตอนนี้ วิธีเข้าโหมดจาก DSC Off ก็ให้กดที่ปุ่มเดิมติดกัน 2 ครั้ง หน้าจอจะยังขึ้นสัญลักษณ์ปิดระบบช่วยเหลืออยู่ แต่แสดงข้อความ Traction Control แทน DSC Off จากนั้นก็จุ่มคันเร่งกันได้ตามสะดวก ท้ายของ BMW 330e M Sport ถูกเตะออกไป ผมหมุนพวงมาลัยเคาน์เตอร์โดยที่คันเร่งยังแช่จมมิดอยู่อย่างนั้น แค่แต่งพวงมาลัยแก้อาการเล็กน้อยก็สามารถดริฟท์สวยๆ ได้จนครบรอบราวกับมือโปรแล้ว นี่ก็ว่าจะซื้อมาไว้ลงแข่งดริฟท์ #ผิด

สุดท้ายเป็นการเปิดระบบช่วยเหลือขึ้นมาตามปกติ กดปุ่มเดิมซ้ำอีกครั้งจนไฟเตือนทุกอย่างดับทั้งหมด คราวนี้รถวิ่งเกาะหนึบเป็นวงกลมโดยมีอาการยื้อนิดๆ รับรู้ได้เลยว่า ระบบช่วยเหลือทุกอย่างพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะดึงรถให้วิ่งเป็นวงกลมตามทิศทางของพวงมาลัยให้ได้ น่าทึ่งครับ เพราะก่อนหน้านี้เราก็เพิ่งได้ลองกันมาว่าพื้นตรงนี้มันลื่นมากๆ

 สถานีที่ 5 Slalom Time Trial

คนอื่นๆ อาจจะรอคอยสถานีที่แล้ว แต่ตัวผมเองรอสถานีนี้ครับ เราจะได้แข่งสลาลอมจับเวลากัน โดยได้ขับคนละ 4 รอบ และเลือกเอาเวลาจากรอบสุดท้ายมาใช้หาคนที่ขับได้เร็วที่สุด ไม่จำกัดความเร็ว ไม่จำกัดสไตล์ในการขับ ไม่จำกัดโหมดที่ใช้ ขออย่าเดียวคือห้ามเบรกมือตอนกลับรถ และตอนเบรกจอดสนิทต้องอยู่ในซองทั้งคัน หน้า-ท้ายไม่ยื่นเลยแนวไพล่อน

สามรอบแรกเป็นการให้ลองอาการของรถในโหมดต่างๆ ทั้ง Comfort, Sport และ Sport Plus ซึ่งผมทดลองด้วยตัวเองแล้วก็พบว่าโหมด Sport ทำเวลาได้ดีกว่า Comfort อยู่ราว 1-1.5 วินาที พร้อมกับฟีลลิ่งที่มั่นใจมากขึ้นจากพวงมาลัยที่หนืดขึ้น ส่วน Sport Plus นั้นพา “เทพเจ้าแห่งการชนกรวย” กลับมาเข้าสิงห์ผมอีกครั้ง ตอกคันเร่งออกตัวจากจุดสตาร์ทแล้วกระชากเลี้ยวเข้าทางขวาของไพล่อนแรก หักซ้ายต่อไพล่อนที่สอง หักขวาเข้าไพล่อนที่สาม หักซ้าย…“ปั้ก” เสียงสีข้างของ BMW 330e M Sport ตบกรวยยางลงไปนอนกับพื้น ในใจคิดว่าไม่เป็นไรต้องไปต่อให้จบอย่างมากก็บวกแค่ 2 วิ! แต่พอสุดทางกลับรถมาแล้วแทบหงายหลัง เพราะกรวยเจ้ากรรมดันนอนแตกแถวกระเด็นห่างจากจุดเดิมออกไปอีกสักสองฟุต แล้วผมต้องขับอ้อมให้ได้ไม่งั้นน่าจะโดนปรับเวลาเรื่องวิ่งผิดไลน์ซึ่งหนักยิ่งกว่า ผ่านไพล่อนสุดท้ายกลับเข้าจอดในซองมาได้ในสภาพสุนัขหงอย หมดอารมณ์จะแคร์เวลา

แต่สิ่งที่ผมชื่นชมมากกว่าเวลาที่เร็วที่สุดของตัวเอง ก็คืออาการตอบสนองของรถ พลังเครื่องยนต์และมอเตอร์ทั้ง 252 แรงม้า สามารถพา BMW 330e M Sport ออกตัวไปได้อย่างไม่รีรอ ออกตัวมีล้อเล็กน้อย ส่วนจังหวะการโยนซ้ายขวาเพื่อลัดเลาะไปตามไพล่อนแต่ละแท่งนั้น ตัวรถมีความเป็นกลางสูงและคุมง่ายมาก การถ่ายน้ำหนักจากซ้ายไปขวาและกลับกันเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนลืมไปว่ารถคันนี้แบกแบตเตอรี่และมอเตอร์มาด้วย ผลพวงจากความพยายามของวิศวกร BMW ที่ทำรถออกมาให้มีการกระจายน้ำหนักสมดุล 50:50 ทุกคันมันดีแบบนี้ น้ำหนักพวงมาลัยยังคงที่และสื่อสารอาการของล้อหน้ากลับมาหาคนขับได้ชัดเจน และแม้จะใช้เพียงเกียร์ D ในโหมดสปอร์ต แต่เกียร์ก็แสนรู้และคารอบไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่มีอาการเปลี่ยนขึ้นเปลี่ยนลงจนเสียจังหวะให้เห็นตลอดทั้งสี่รอบที่ผมขับเองและสี่รอบที่ผมเป็นคนนั่งให้พี่ต่อพันธุ์แห่ง BMW Car Magazine ขับให้เห็นเลยสักครั้ง

โบนัสส่งท้าย Hot Lap

ปิดงานด้วย Hot Lap โดยฝีมือว่าที่แชมป์ทั้งสามท่าน ที่จะพาพวกเราทีละ 3 คนนั่ง BMW 330e M Sport ในโหมด Sport Plus ไร้ตัวช่วย วิ่งตามติดไล่บี้กันในสนามทดสอบแคบๆ ของ BMW Area 51 (Secret Test Facility) เพื่อจำลองบรรยากาศในการแข่งขันจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มันส์มากๆ ขนาดที่ว่าผมเคยขับรถลงแข่งในรายการประเภท Track Day มาบ้างแล้ว ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ชมการทำงานของนักแข่งที่อยู่ระดับแนวหน้าและเป็นมืออาชีพแบบใกล้ชิดขนาดนี้ ผมเลือกนั่งคันที่พี่ปุ๊ก นักขับหญิงเพียงคนเดียวของเราเป็นคนขับ และอยากจะขอเอ่ยปากชื่นชมกันตรงนี้ครับ (ถ้าพี่ปุ๊กได้อ่าน) ว่าพี่ปุ๊กขับได้เนียนและนิ่งมาก ตัวผมเคยแต่อ่านเรื่องราวของนักแข่ง F1 อย่าง Sebastien Vettel ที่ให้สัมภาษณ์ว่าตอนซิ่งในสนาม เขามีเวลาเหลือหันไปมองสิ่งที่เกิดขึ้นบนป้ายคะแนน สแตนด์ และรอบๆ ข้างได้สบาย และสามารถโต้ตอบวิทยุกับทางพิทได้แม้แต่เรื่องสัพเพเหระ วันนั้นเพิ่งได้เห็นเองกับตาที่พี่ปุ๊กสามารถพูดคุยกับทุกคนในรถได้เหมือนกำลังขับไปชอปปิ้งที่ Central World ด้วยน้ำเสียงเรียบสบาย ปรบมือและขอเป็นกำลังใจให้ครับ

บทความนี้อาจจะยาว แต่มันสามารถเล่าได้เพียงไม่ถึงครึ่งของสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโปรแกรม BMW Driving Experience ซะด้วยซ้ำ และถ้าคุณมี BMW อยู่ในครอบครอง ผมขอแนะนำให้คุณไปสมัครโปรแกรม The Ultimate JOY Experience แล้วสมัครเข้าคอร์สโดยพลัน… เพราะนอกจากมันจะทำให้คุณมั่นใจกับสมรรถนะของ BMW ของคุณมากขึ้นแล้ว มันยังช่วยให้คุณปลอดภัยขึ้นด้วย แล้วจะปฏิเสธทำไมเล่า?

ขอให้มีความสุขกับ BMW ทุกวันครับ

ขอขอบคุณ
BMW Thailand และทีมงาน BMW Driving Experience

The following two tabs change content below.
มนุษย์เงินเดือนผู้คลั่งไคล้ในรถยนต์สมรรถนะยอดเยี่ยม นักแข่งรถสมัครเล่นที่มักจะพบเห็นวิ่งดมฝุ่นอยู่ท้ายสนาม คุณพ่อของลูกสาวที่น่ารัก และหนึ่งในทีมงาน Bimmer-th.com

Comments

comments