Story of BMW 8-Series E31: สุดยอดสายพันธุ์ Grand Tourer แห่งยุค 90s

เมื่อเร็วๆนี้ทางเว็บ bimmer-th.com เพิ่งได้ตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับ 8-Series Concept และ M8 รุ่นใหม่ที่ยังพรางตัวทดสอบวิ่งอยู่ โดยมีภาพรถคาดสติกเกอร์ลายทั้งคัน ซึ่งปล่อยออกสื่อโดย BMW เอง หลายคนคงรู้สึกชอบรูปทรงที่มีความแหลมลิ่มทิ่มจิต ดูสปอร์ตเพรียวกว่าซีรีส์ 6 สองเจนเนอเรชั่นที่ผ่านมา แต่บางคนก็บอกว่าไม่ชอบ เพราะเห็นแล้วรู้สึกราวกับว่ามันไม่ใช่ BMW..ผมจะเรียนให้ทราบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกครับ ที่ทีมออกแบบของ BMW สร้างงานประเภทพลิกโฉมจนต่างจากรถรุ่นอื่นที่ตัวเองเคยสร้างมาทั้งหมด เพราะในงานมอเตอร์โชว์ที่ Frankfurt ในเดือนกันยายน ปี 1989 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว BMW ก็เปิดตัวรถที่แหกกฎดีไซน์ของตัวเองอย่างสุดกู่…มันก็คือ ซีรีส์ 8 ตัวถัง E31 นั่นเอง!

ซีรีส์ 8 นั้นถือว่าเป็นรถ 2 ประตูที่สำคัญที่สุดรุ่นหนึ่งของ BMW ซึ่งมีประวัติย้อนกลับไปได้จนถึงยุค 1930s หลายคนในสมัยนั้นเข้าใจว่า E31 คือรถที่มาแทนที่เจ้าซีรีส์ 6 ตัวถัง E24 ..ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะขนาดภาพถ่ายข้างบนนี้ยังชวนให้คิดเลยด้วยซ้ำว่า BMW ยก 6 ออกแล้ววาง 8 ลงไปแทน แต่ความเป็นจริงก็คือรถทั้ง 2 รุ่นนี้มีตำแหน่งทางการตลาดและราคาต่างกันโดยสิ้นเชิง ซีรีส์ 6 มีระดับสูงกว่าซีรีส์ 5 เล็กน้อยและใช้เครื่องยนต์กลไกจำนวนมากร่วมกับซีรีส์ 5 และมีระดับราคาต่ำกว่าซีรีส์ 7 แต่ ซีรีส์ 8 นั้นมียศเป็น Uber Coupe (หมายถึงรถสองประตูรุ่นเรือธง ไม่ใช่รถคูเป้ที่เอามาวิ่งรับผู้โดยสารผ่านแอพที่เรารู้จักกัน) ดังนั้นเครื่องยนต์ของมันจึงแชร์กันกับซีรีส์ 7 E32 เทคโนโลยีการออกแบบ ระบบไฟฟ้า และหลายต่อหลายอย่าง เรียกได้ว่าทันสมัยยิ่งกว่า E32 ไปอีกด้วยซ้ำ

ผมเคยมีประสบการณ์หลังพวงมาลัยกับ E31 เพียงครั้งเดียวในชีวิต นั่นคือช่วงคริสต์มาสปี 1999 เจ้าของรถเป็นหุ้นส่วนในกิจการรีสอร์ทใหญ่แห่งหนึ่ง เป็นชาวมาเลย์ที่ฐานะร่ำรวยมาก ที่บ้านเขาในกัวลาลัมเปอร์มีแต่รถเยอรมันหายากทั้งนั้นรวมถึง M3 E30 และรถตระกูล Alpina อีกหลายคัน 850i คือรถที่เขาซื้อจอดไว้ในระหว่างมาพักผ่อนที่ประเทศไทย ผมได้มีโอกาสขับเพียงช่วงสั้นๆ โดยมีเจ้าของรถนั่งไปด้วย จำได้ว่าผมคาดหวังกับตัวรถเอาไว้มากว่ามันจะต้อง แรง โหด โฉด ดิบ แต่ก็พบความจริงว่า 850i เป็นรถที่หน้าตาคม แต่อุปนิสัยสุภาพเรียบร้อย ถ้ายังไม่ได้เปลี่ยนท่อแต่ง คุณเบิ้ลเครื่องเล่นไปเถอะ เสียงมันจะเงียบราวกับแมวจาม คุณจะกระแทกคันเร่งยังไงก็เถอะ รถมันก็จะพุ่งแบบไปเรื่อยๆ ในฐานะเด็กอ่อนหัดแต่ก็ผ่านมือ Supra Turbo และ Subaru WRX มาบ้าง การตอบสนองของ 850i คันนั้นออกจะสุภาพแต่มีพลังคล้ายเซอร์ โรเจอร์ มัวร์ มากกว่าดุดัน กร้าวแกร่ง แบบวิน ดีเซล

มันไม่ใช่รถซิ่งเด็กห่าม เมื่อก้าวเข้าไปนั่งก็จะรู้สึกได้ว่า เบาะ พวงมาลัย ตำแหน่งการขับขี่ มันช่างสบายเหลือเกิน อาจจะเพราะมันเป็นรถใหญ่ ด้วยความยาว 4,780 มิลลิเมตร กว้าง 1,854 มิลลิเมตร ถือว่ากว้างมากในสมัยนั้น แม้จะดูเหมือนรถสปอร์ตคันเล็กเวลาจอดอยู่คันเดียว แต่พอเอา E34 525i มาจอดเทียบข้าง ก็พบว่า 850i ทั้งยาวและกว้างกว่า แล้วก็ไม่ได้เตี้ยกว่ากันมากอย่างที่คิด การลุกเข้าออกจึงสบายใกล้เคียงกับ Mercedes-Benz 560SEC และสบายกว่า Porsche 928 คนละเรื่อง

ยิ่งพอได้ขับบนทางโล่งๆยาวๆ คุณจะเข้าใจว่ารถคันนี้เกิดมาเพื่อเป็นผู้ชนะสิบเอาโต้บาห์น เทียบกับรถทุกคันที่ผมเคยขับมาในสมัยนั้น 850i เป็นรถที่สามารถวิ่ง 240 กิโลเมตร/ชั่วโมงแบบนิ่งๆ ไม่หวั่นกับกระแสลมหรือสภาพถนน การเก็บเสียงทำได้ดีมากสำหรับรถที่มีประตูแบบไร้กรอบ พลังเครื่องยนต์ที่ดูเหมือนไม่ค่อยสะใจในช่วงออกตัวนั้น พอไต่เกิน 100 ปุ๊บเหยียบเป็นมา ไม่ได้ดึงแบบพวกรถเทอร์โบ 4-500 ม้า แต่ไหลมาเรื่อยๆเหมือนกับพลังมันไม่มีที่สิ้นสุด

นับจากวันนั้น ผมไม่เคยได้สัมผัส E31 อีกเลย แม้แต่จะเห็นตัวจริงก็เป็นเรื่องยาก มันคือรถที่ผมได้พบปีละไม่กี่คัน จนกระทั่งกระแสแห่งความคลั่งไคล้รถยุค 90s กลับมาอีกครั้ง บวกกับการจัด Event ของนิตยสาร BMWcar ทำให้ผมได้ทราบว่าอันที่จริงประเทศเรามีซีรีส์ 8 อยู่เยอะพอสมควรและหลายคันก็ยังอยู่ในสภาพดี

สิ่งเหล่านี้ บวกกับการเผยโฉมแบบ World Premiere ของซีรีส์ 8 ใหม่เวอร์ชั่น Concept ทำให้ผมมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่เราจะกลับมามองย้อนอดีตไปกับ Uber Coupe คันนี้อีกครั้ง

source: autowp.ru

โปรเจคท์ของซีรีส์ 8 เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1984 โดยพยายามเน้นดีไซน์แบบ Avantgarde ไม่ดำเนินรอยตาม BMW รุ่นต่างๆที่มาก่อนหน้า BMW พยายามโชว์ว่าพวกเขาสามารถออกแบบรถไปได้ไกลกว่าไฟหน้า 4 ดวงกับกระจกบานหลังแบบ Hoffmesiter kink ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรในซีรีส์ 8 ที่สืบทอดจาก E24, E30, E32 และ E34 เลยแม้แต่น้อย พวกเขาพัฒนามันไปควบคู่กับโปรเจคท์ BMW Z1 ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าส่วนหน้าของรถทั้ง 2 คันนั้นมีความคล้ายในเส้นสาย ถ้าคุณลองนึกภาพ Z1 ใช้ไฟหน้าแบบป๊อปอัพเหมือนซีรีส์ 8 ก็คงรู้สึกได้ว่ามันเป็นพี่น้องกัน

ในปี 1986 ทีมออกแบบเริ่มหาจุดลงตัวสำหรับเส้นสายภายนอกได้ และได้สร้างรถเวอร์ชั่น Prototype ออกมา (ในภาพบน) งานออกแบบภายนอกของ E31 นี้เป็นฝีมือของชายชาวออสเตรีย ชื่อ Klaus Kapitza ซึ่งย้ายจากสตูดิโอของ Ford ในเยอรมันมารับหน้าที่นี้ด้วยคำเชิญของ Claus Luthe ซึ่งในขณะนั้นเป็นถึงระดับผู้บริหารสูงสุดสายงานออกแบบของ BMW แล้ว Klaus ไม่เคยออกแบบ BMW มาสักรุ่น แต่มีสไตล์การออกแบบในเชิงหัวคิดก้าวหน้า ซึ่งก็ตรงกับ Claus Luthe ที่นับเป็นบิดาแห่งการออกแบบของ BMW ตั้งแต่ E28 เป็นต้นมา เขาได้รับคำสั่งจากท่านประธาน Herbert Quandt ว่า “ต่อไปนี้ ขอให้หาแนวทางการออกแบบใหม่ๆมาได้แล้ว ที่ผ่านมากับรถอย่าง E21, E23 และ E24 เราก็ทำได้ดี..แต่เราต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ” แล้วจะมีอะไรเหมาะสมมากกว่าการแต่งตั้งคนที่ไม่เคยแตะ BMW มาคุม Studio No.3 ที่ใช้ออกแบบ E31? Luthe คิดว่าการจะให้กำเนิดดีไซน์ที่สดใหม่ ก็ต้องใช้ดีไซน์เนอร์ที่ไม่มีความยึดติดกับผลิตภัณฑ์เก่าที่แล้วมา

นี่คือจุดเริ่มต้นของรูปลักษณ์ที่สะอาดตา เส้นสายไม่ซับซ้อน ดูเรียบร้อย สุภาพ แต่เปี่ยมไปด้วยความคมคาย เมื่อนำเข้าอุโมงค์ลมวัดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน 0.29 (ซีรีส์ 6 E24 มีค่าเท่ากับ 0.39)

นอกจากเรื่องการออกแบบที่ก้าวหน้าไปอีกคันแล้ว สิ่งที่ควรทราบอีกอย่างก็คือ BMW เทงบประมาณการพัฒนาให้กับซีรีส์ 8 ไปมากถึง 1,500 ล้านดอยช์มาร์ค พวกเขาคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้กับรถรุ่นนี้หลายอย่าง เช่น

  • ใช้การออกแบบส่วนๆต่างๆโดยนำคอมพิวเตอร์มาช่วย (CAD-Computer Aided Design) ซึ่งยังนับเป็นเรื่องล้ำยุคสำหรับในสมัยนั้น
  • เป็นรถรุ่นแรกที่ใช้ระบบสายไฟแบบสื่อผ่านจุดศูนย์กลางแบบมัลติเพล็กส์ (CANbus) ซึ่งนำสมัยกว่าชาวบ้านชาวช่องเขาไป 7-10 ปี (ขึ้นอยู่กับว่าไปเทียบกับชาวบ้านประเทศไหน)
  • เนื่องจากเป็นรถที่ไม่มีเสากลาง (B-pillar) จึงต้องย้ายตำแหน่งยึดเข็มขัดนิรภัยใหม่ ในรถไร้เสากลางของค่ายอื่นมักยึดติดที่ส่วนล่างของกระจกหลัง แต่ของ 8 ซีรีส์จะยึดติดกับเบาะนั่ง
  • เป็นรถรุ่นแรกที่ใช้ระบบกระจกหล่น กล่าวคือ เมื่อเปิดประตู บานกระจกจะเลื่อนลงเล็กน้อยเพื่อให้เปิดปิดประตูได้ง่ายและตัวกระจกไม่ครูดกับยางขอบประตูแรงเกินไป
  • เป็นรถรุ่นแรกของ BMW ที่เปลี่ยนรูปแบบของช่วงล่างหลังมาเป็นมัลติลิงค์ (Integral with 5-links suspension) ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับ BMW Z1
  • เครื่องยนต์ของ 850i เป็นรถรุ่นแรกๆของโลกที่ใช้ลิ้นคันเร่งควบคุมด้วยไฟฟ้า (เช่นเดียวกับ 750iL E32)

หลังจากที่เปิดตัวไปได้สักพัก BMW ก็มีออพชั่นเสริมให้ลูกค้าเลือกได้อีก  เช่น

  • ระบบควบคุมการทรงตัว ASC+T (Automatic Stability Control plus Traction) ซึ่งในปัจจุบันเราจะรู้จักในชื่อ DSC กับ DTC ไปแล้ว
  • พวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิก ปรับน้ำหนักตามความเร็วของรถ
  • โช้คอัพปรับความหนืดด้วยระบบไฟฟ้า EDC (Electronic Damper Control) ซึ่งฟังดูล้ำ..แต่ไม่ใช่ของแปลกเพราะฝั่งญี่ปุ่นนั้น Toyota กับ Nissan ทำโช้คปรับไฟฟ้าใส่ในรถตัวเองมาก่อนนั้นนานมากแล้ว

ภายในของ E31 เต็มไปด้วยอุปกรณ์และปุ่มต่างๆมากมาย มีลักษณะสวยงามเป็นธรรมชาติเพราะไม่ต้องเผื่อที่ไว้ให้กับจอโตๆอย่างที่เราพบในรถสมัยใหม่ คอนโซลกลางได้รับการออกแบบในเชิง Driver-focused เช่นเดียวกับ BMW รุ่นอื่นๆในยุคนั้น แต่ก็ถูกขัดเกลาเส้นสายโดยรอบเสียจนล้ำหน้าเกิน BMW รุ่นอื่นในช่วงเวลาเดียวกันไปไกล เบาะนั่งและคอพวงมาลัยปรับด้วยไฟฟ้า เชื่อมกับระบบความจำ สามารถบันทึกตำแหน่งที่ต้องการไว้ใช้ได้ กระจกมองหลังเป็นแบบตัดแสงอัตโนมัติ มีระบบ On Board Computer (หรือ Trip Computer) อยู่บนแผงคอนโซลกลางเหนือชุดวิทยุซึ่งเจ้าของรถสามารถกดดูข้อมูลต่างๆที่กล่อง ECU สามารถประมวลผลได้ เช่นอัตราสิ้นเปลืองต่างๆ

สมัยนี้แผงวงจรต่างๆทำงานได้ฉลาดและมีขนาดเล็กลงมากจนเราสามารถจับเอา Computer และหน้าจอลักษณะนี้ไปใส่ในหน้าปัดรถเล็กๆ คันละไม่กี่แสนบาทได้ แต่ 27 ปีก่อน โทรศัพท์มือถือยังใหญ่จนตบวัวตบควายตายได้ On Board Computer ของรถก็ต้องใช้พื้นที่สำหรับแผงวงจรต่างๆมากจนต้องติดตั้งเป็นส่วนหนึ่งของคอนโซล

เครื่องยนต์ของ 850i เป็นบล็อค M70B50 ซึ่งยกมาจาก 750i/750iL ซึ่งเปิดตัวไปก่อนหน้านั้น 2 ปี หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเครื่องยนต์รุ่นนี้เป็นแบบ 4 วาล์วต่อสูบ..อันที่จริงมันใช้รูปแบบค่อนข้างโบราณหน่อย คือใช้เพลาราวลิ้นเดี่ยวเหนือฝาสูบแต่ละข้าง (SOHC) และมีแค่ 2 วาล์วต่อสูบเท่านั้น (ก็ช่วยไม่ได้ เพราะในปี 1989 รถส่วนใหญ่ของ BMW ที่ไม่ใช่พวก M ยังไม่ใช้เครื่องมัลติวาล์วด้วยซ้ำ) ถ้าพูดแล้วก็กลัวคนรัก BMW โกรธเหมือนกัน แต่ความจริง โครงสร้างของเครื่องยนต์ M70 นั้นก็เกิดจากการนำเอาเครื่อง M20B25 สองเครื่องมาประกบทำมุม 60 องศาเป็นเครื่อง V แม้แต่ลูกสูบ 84 มิลลิเมตรกับระยะช่วงชัก 75 มิลลิเมตรก็เท่ากับเครื่อง M20B25 อะไหล่บางส่วนก็ผลิตมาจากไลน์เดียวกับเครื่อง M40 SOHC เช่นวาล์ว กระเดื่อง และก้านสูบ

อย่างไรก็ตาม ขืนยกมาทั้งดุ้นก็จะโดนครหา ดังนั้นทีมวิศวกรเครื่องยนต์จึงได้เปลี่ยนเสื้อสูบจากเหล็กหล่อ เป็นอะลูมิเนียมแบบ AluSil (Aluminum 78%+Silicon 18%) เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนแคมชาฟท์จากสายพานมาเป็นโซ่ และเพิ่มระบบปรับตั้งระยะห่างวาล์วอัตโนมัติด้วยไฮดรอลิกเพื่อลดภาระในการบำรุงรักษาลง

เครื่องยนต์ M70B50 ใช้อัตราส่วนกำลังอัดต่ำแค่ 8.8:1 สร้างพลังทั้งสิ้นได้ 300 แรงม้า ที่ 5,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตรที่ 4,100 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ZF 4HP24 หรือเกียร์ธรรมดา Getrag 560G ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ BMW เอาเกียร์ 6 จังหวะมาใส่ในรถยนต์นั่งสำหรับผลิตจำหน่ายทั่วไป ด้วยน้ำหนักตัว 1,790 กิโลกรัม (หนักกว่า 525i E34 ประมาณ 270 กิโลกรัม) 850i สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายใน 6.8 วินาที ความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในระหว่างช่วงเปิดตัว 850i นั้น ทาง ฺBMW Motorsport GmbH กับ BMW Technik GmbH ได้แอบทำโปรเจคท์ลับ ว่ากันว่าในช่วงแรก BMW ตั้งใจสร้างรถ “M8 Concept” คันนี้มาเพื่อเป็นคู่แข่งกับรถระดับ Ferrari โดยใช้ 850i เป็นพื้นฐาน แล้วปรับแต่งให้ได้สมรรถนะสูงสุด รถคันนี้ใช้เครื่องยนต์รหัส S70/1 ..ฟังจากชื่อก็น่าจะรู้ว่าเป็นฝีมือของ M Division นั่นเอง มันได้ลิ้นคันเร่งแบบแยกอิสระ 12 ลิ้น  คอยล์จุดระเบิดแยกอิสระ 12 คอยล์ เปลี่ยนฝาสูบเป็นแบบ DOHC 48 วาล์ว และปรับแต่งเพิ่มหลายขนานจนได้แรงม้าออกมาทั้งสิ้น 550 แรงม้า นี่คือผลงานที่พวกเขาทำสำเร็จในปี 1991 แต่ในที่สุดก็พับโครงการไว้ เนื่องจากต้นทุนในการสร้างเครื่องยนต์ S70/1 และการปรับแต่งส่วนต่างๆสูงมาก ขณะนั้นยอดขายของ 850i ก็ไม่ได้เรียกว่าดีนัก ประกอบกับเกิดวิกฤติการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซีย ทำให้ผู้บริหารของ BMW เล็งเห็นว่าทำขายไปก็เท่านั้น

รถ M8 Concept จึงถูกเก็บเข้าคลังลับของ BMW ไปโดยที่ไม่มีใครทราบว่ามันมีตัวตนอยู่ แม้แต่เจ้าหน้าที่ PR ของ BMW เองก็ยังปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้สร้าง M8 ขึ้นมา..ไม่มีวันทำ และไม่มีความเป็นไปได้ที่จะทำ

M8 Concept Photo sourced from autowp.ru

อย่างไรก็ตาม ในปี 2010 นิตยสาร BMW Car Magazine ได้ทำสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับรถคูเป้ลึกลับพลังกว่า 500 ม้าคันนี้ และได้มีโอกาสเข้าไปยลโฉมรถ M8 คันจริง ซึ่ง BMW ยินยอมปลดปล่อยข้อมูลเพื่อนิตยสารรายนั้นเพียงรายเดียว ทำให้ทั้งโลกได้ทราบรายละเอียดของสมบัติล้ำค่าที่ BMW ซุกซ่อนเอาไว้นาน 19 ปี ในปีเดียวกันนั้น BMW ก็ตัดสินใจนำ M8 Concept ไปโชว์ตัวที่พิพิธภัณฑ์ BMW ใน Munich เป็นการเผยข้อมูลสู่สาธารณะในวงกว้าง จากนั้นมารถคันนี้ก็มักไปปรากฏตัวในงานพิเศษต่างๆ เช่นงาน Legend Of Autobahn ที่จัดในอเมริกา BMW ก็ใจดีส่งรถข้ามทวีปไปโชว์ตัว และนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่มันได้เดินทางออกนอกประเทศ หรืออย่างเมื่อปี 2014 เมื่อมี Meeting ฉลองครบรอบ 25 ปี E31 BMW ก็ยอมให้ลูกค้าเข้าไปเยี่ยมชม M8 Concept ที่มีคันเดียวในโลกนี้เช่นกัน

นี่ถ้าหากช่วงนั้นไม่เกิดสงคราม และ BMW ที่เยอรมันใจกล้า ทำมาขายจำนวนจำกัดสัก 100 คัน มันคงกลายเป็นรถในตำนานที่แรงและเร็วหาตัวจับยาก อย่าลืมนะครับว่าในปี 1991 Ferrari ที่แรงที่สุดมี 478 แรงม้า และ Lamborghini Diable ก็มีพลัง 492 แรงม้า ถ้านำมาเทียบอัตราส่วนในสมัยนี้ คุณลองนึกดูว่าถ้า BMW ทำรถ GT สักคันที่แรงม้า 800 ตัว คุณว่ามันจะน่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน?

ที่สำคัญคือ เครื่องยนต์ S70/1 นี้ เป็นต้นแบบที่ BMW ใช้ทำงานวิจัยเพื่อสร้างเครื่องยนต์ V12 6.0 ลิตร 627 แรงม้าให้กับ McLaren F1 แต่ปัญหาคือเครื่อง S70/1 ยังมีขนาดใหญ่ไปและมีน้ำหนักมากเกินกว่าค่าที่ Gordon Murray หัวหน้าโปรเจคท์สร้าง F1 กำหนดเอาไว้ BMW จึงต้องพัฒนาอีกมากกว่าจะได้เครื่อง S70/2 ที่อยู่ใน F1

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า M8 Concept จะถูกใส่ลิ้นชักปิดตายไป แต่งานวิจัยหลายอย่างที่ได้จากมัน ก็ช่วยให้ BMW สามารถสร้างเวอร์ชั่นสมรรถนะสูงของซีรีส์ 8 ออกมาได้สำเร็จ และนี่ก็คือ BMW 850CSi ซึ่งได้รับการปรับแต่งโดยเปลี่ยนกันชนหน้า/หลังเป็นทรงแอโร่ไดนามิกส์ เปลี่ยนล้ออัลลอยจากขนาด 16 นิ้วเป็น 17 นิ้วลายห้าก้านใบพัด ใช้ช่วงล่างแบบสปอร์ต ลดความสูงลงจากเดิม สปริงและโช้คอัพแข็งขึ้นกว่าเดิม ที่เด็ดสุดคือระบบ AHK – Aktive Hinterachs Kinematik ซึ่งเป็นระบบบังคับเลี้ยว 4 ล้อ ที่จะเลือกกระดิกองศาล้อหลังในมุมที่เหมาะสมกับความเร็วต่างๆ ช่วยให้รถรักษาเสถียรภาพการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง กลายเป็นพื้นฐานให้กับระบบ Integral Active Steering ที่เราพบในซีรีส์ 3, 5 และ 7 ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังได้เบรกแบบพิเศษ เฟืองท้ายแบบมีออยล์คูลเลอร์ เครื่องยนต์เองก็มีออยล์คูลเลอร์ แม้แต่ระบบพวงมาลัยลูกปืนหมุนวนก็ยังทดให้ตอบสนองไวกว่า 850i รุ่นปกติอีก 15%

เครื่องยนต์ของ 850CSi ก็คือเครื่อง M70B50 ที่ถูกทีม M นำไปโมดิฟายเพิ่ม มันจึงได้รหัสเป็น S70B56 ท่อนล่าง ขยายปอดจาก 5.0 ลิตร เป็น 5.6 ลิตร ปรับปรุงฝาสูบ และเพิ่มอัตราส่วนกำลังอัดเป็น 9.8:1 แม้ว่าจะยังใช้ฝาสูบ SOHC 2 วาล์วต่อสูบอยู่เหมือนเดิม แต่กระนั้นก็ยังสร้างแรงม้าได้ 381 แรงม้าที่ 5,300 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 550 นิวตัน-เมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที

ในสมัยนั้น การมาของ 850CSi ดูเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ BMW ในเมื่อ Mercedes-Benz เปิดตัว S-Class Coupe และ SL R129 ที่ใช้เครื่อง 6.0 ลิตร V12 มัลติวาล์วซึ่งมีกำลังถึง 394 แรงม้า ถ้าขืน BMW ไม่ทำอะไรออกมาต่อกรเลยก็จะเสียชื่อเด็กมิวนิค อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ BMW เข้าถึงเซียนรถได้มากกว่าก็คือเกียร์ ในขณะที่ Mercedes-Benz ไม่เคยมีเกียร์ธรรมดาให้เลือกกับเครื่อง V8 และ V12 ของพวกเขา รถอย่าง 850CSi นั้นมีให้เลือกแค่เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะเพียงอย่างเดียว ตอกภาพลักษณ์ Ultimate Joy ด้วยวิธีนี้ล่ะครับ

BMW ผลิต 850CSi ออกมาเพียงแค่ 1,510 คันเท่านั้น แล้วก็ต้องหยุดผลิตไปในปี 1996 เพราะมาตรฐานด้านมลภาวะเข้มข้นขึ้นมากจนทาง BMW ไม่สามารถปรับปรุงเครื่อง S70B56 ให้รับกับมาตรฐานใหม่ได้ในงบประมาณที่กำหนด

นอกจากเผยโฉมตัวแรง Top of the line แล้ว BMW ก็มีแผนที่จะจับตลาดราคาย่อมเยาลงมา (แต่ก็ยังแพงอยู่ดี) ด้วยการนำเครื่อง V8 มัลติวาล์วตระกูล M60 ที่เพิ่งพัฒนามาหยอดใส่ซีรีส์ 5 E34 และซีรีส์ 7 E32 รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ในตอนแรก พวกเขาคิดที่จะใช้เครื่องยนต์ M60B30 3.0 ลิตร 218 แรงม้า แต่เมื่อตระหนักดีว่าพละกำลังมันจะไม่แรงพอให้เรียกตัวเองว่า Grand Tourer ได้ BMW จึงเลือกเครื่อง M60B40 บล็อคเดียวกับ 740i/740iL มาใส่ แล้วตั้งชื่อรุ่นว่า 840Ci

เครื่องยนต์ M60B40 เป็นแบบ V8 32 วาล์ว DOHC ความจุ 4.0 ลิตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0:1 ให้พลัง 286 แรงม้าที่ 5,800 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตรที่ 4,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ หรือในยุโรปจะมีเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะให้เลือก

840Ci ได้รับการอัปเดตอีกครั้งในช่วงกลางปี 1995 โดยเปลี่ยนเครื่องยนต์จาก M60B40 เป็น M62B44 ซึ่งเพิ่มความจุเป็น 4.4 ลิตร แต่ประหยัดน้ำมันและจูนมาให้ตอบสนองต่อคันเร่งได้ไวกว่าเครื่องยนต์เดิม และยังเปลี่ยนท่อนล่างจาก NikaSil (เสื้อสูบอะลูมิเนียม ผสม Nickel และ Silicon) ซึ่งมีปัญหากับเชื้อเพลิงกำมะถันสูงในอเมริกาและอังกฤษในช่วงต้นยุค 90s ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาไลนเนอร์กระบอกสูบพัง มาใช้ AluSil แบบเดียวกับรุ่น V12 แรงม้าสูงสุดอยู่เท่าเดิมที่ 286 แต่ลดลงมาอยู่รอบเครื่องที่ 5,700 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุดเพิ่มเป็น 420 นิวตัน-เมตรที่รอบต่ำลงคือ 3,900 รอบต่อนาที

รถ 840Ci ทั้งรุ่น 4.0 และ 4.4 ลิตร ถือเป็นประชากรจำนวนน้อยของซีรีส์ 8 แม้ว่าราคาของมันจะน่าโดนกว่ารุ่น V12 โดยที่สมรรถนะไม่ได้ด้อยไปกว่ากันมากนัก ตลอดเวลาการจำหน่ายไปจนถึงวันปิดไลน์ผลิตในเดือนพฤษภาคม 1999 นั้น รถเครื่อง V8 มียอดขายรวมประมาณ 7,800 คัน คิดเป็น 25% ของยอดขายซีรีส์ 8 ทั้งหมด

แล้วรุ่นมาตรฐานเครื่อง V12 5.0 ลิตรล่ะ? มันก็ยังอยู่ครับ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับรถรุ่นอื่นๆในค่าย BMW เขาก็ทยอยเปลี่ยนชื่อจาก 850i เป็น 850 Ci ในปี 1994 และยังได้เพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานติดรถเช่นเดียวกับรุ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้า มีรีโมทรถแบบอินฟราเรด และเบาะหลังแบบพับได้ ยิ่งไปกว่านั้นระบบช่วยเหลือทางด้านการทรงตัว ASC ได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเวอร์ชั่นแรกๆของ DSC-Dynamic Stability Control ซึ่งมีความสามารถในการคุมรถมากกว่าเดิม มีการเพิ่มระบบ Adaptive Control ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ

ส่วนที่น่าฉงนอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงที่เปลี่ยนชื่อเป็น 850Ci นั้น BMW ก็กำลังเผยโฉมซีรีส์ 7 ตัวถัง E38 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ V12 รหัส M73B54 พอดี ดังนั้นรถ 850Ci ที่ผลิตในปี 1994 จึงมีทั้งรุ่นที่ยังใช้เครื่องยนต์เดิม และรุ่นใหม่ที่ปรับเป็นเครื่อง 5.4 ลิตร 326 แรงม้า แรงบิด 490 นิวตัน-เมตรเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะประกบกับเกียร์ธรรมดา (ซึ่งมีเป็นจำนวนน้อยมาก) หรือเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะลูกใหม่ที่ยกมาจากซีรีส์ 7

แต่ 850Ci นั้น นับได้ว่ามาถึงในช่วงที่ยอดขายของซีรีส์ 8 กำลังอยู่ในช่วงขาลง สมัยที่เป็น 850i ยังทำยอดขายได้กว่า 20,000 คัน พอปรับโฉมเป็น 850Ci กลับขายได้เพียง 1,218 คันเท่านั้น

ถ้าใครบังเอิญเป็นเจ้าของ 850Ci ที่ยังเป็นเครื่อง M70B50 อยู่..รู้ไว้ด้วยนะครับว่ารถของคุณนั้นมีจำนวนน้อยกว่า Ferrari F50 บนโลกใบนี้ซะอีก

นอกจากรถในสายการผลิตปกติแล้ว ที่ขาดไม่ได้ และเปรียบราวประเพณีสำคัญของ BMW คือการส่งรถไปลงสีให้แสบสันต์เป็นหนึ่งในบรรดารถ Art Car ในปี 1995 BMW 850CSi ได้รับการเพนท์ลวดลายบนตัวถังโดยศิลปินชาวอังกฤษชื่อ David Hockney  โดยมีแนวคิดที่สื่อให้เห็นถึงความโปร่งใสในเชิงศิลป์ที่มีต่อตัวรถ มองจากด้านข้างจะเห็นแนวของพวงมาลัยกับตำแหน่งคนนั่งขับ มองจากด้านบนฝากระโปรงจะเห็นสิ่งที่ดูเหมือนชุดท่อไอดี

ตา Hockney แกก็ร้ายไม่เบา เพราะขนาดได้รับงานปั้นรถ Art Car ก็ยังแอบวาดรูปสุนัขพันธุ์ Dachshund ของตัวเองที่ชื่อ Stanley นั่งอยู่บนเบาะหลังอีกด้วย

และนี่ล่ะครับ ก็คือความเป็นมาของซีรีส์ 8 รถที่ทาง BMW ทุ่มทุนไป 1,500 ล้านดอยชต์มาร์ค ผลิตอยู่นาน 10 ปี แต่ก็ขายได้แค่ 30,621 คัน คุณคงเข้าใจอยู่แล้วว่ารถที่ขายไม่ดี ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นรถไม่ดี ถ้าคุณได้สัมผัสตัวจริงของซีรีส์ 8 บนมอเตอร์เวย์ยาวๆสักครั้ง คุณจะเข้าใจมากขึ้นว่า BMW เอาเงินไปทำอะไรกับรถคันนี้ตั้งเยอะแยะ

มันคือรถที่แหกทุกคอกของดีไซน์ BMW ในยุคของมัน แต่ก็ยังสามารถเรียกตัวเองเป็น BMW แท้ๆได้ เพราะความเอาใจใส่ทางด้านเทคนิค การปรับแต่งช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยว ถูกล่ะ บางคนอาจจะบอกว่าถ้ามีเงินเยอะขนาดนี้ ซื้อ M3 E36 ดีกว่า เพราะราคาถูกกว่า จุดบำรุงรักษาน้อยกว่า แถมเวลาอัดเล่นในสนามก็คล่องตัวและแรงมากด้วยเพราะน้ำหนักตัวเบากว่าซีรีส์ 8 อยู่มาก แต่ในความเป็นจริง เมื่อคุณต้องเดินทางด้วยความเร็วระดับหาพระแสงบนถนนที่คุณไม่คิดว่าจะมีใครกล้าวิ่งด้วยความเร็วแบบนั้น รถอย่างซีรีส์ 8 นี่ล่ะครับสามารถทำได้โดยคนขับไม่รู้สึกเครียดเลย

นี่ล่ะคือพลังสมองของวิศวกร BMW ที่สามารถสร้างรถระดับนี้ได้ตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนที่คุณผู้อ่านบางคนจะเกิดเสียด้วยซ้ำ ผมจะคอยดูในอีก 2-3 ปีข้างหน้าว่า ซีรีส์ 8 รุ่นใหม่จะสามารถสร้างความแตกต่างให้กับวงการอย่างที่ E31 ทำไว้เมื่อ 27 ปีก่อนได้หรือไม่

ความเห็นส่วนตัวของผม? ลูกไม้ ย่อมหล่นไม่ไกลต้น โดยเฉพาะถ้าต้นไม้นั้นขึ้นอยู่แถวโรงงาน BMW ผมคิดว่ามันก็คงงอกออกมาเหมือนๆกันหมดแหละครับ

 

Source: BMWGroup Press, E31.net, bmwblog.com

 

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments