BMW Z1-โรดสเตอร์คันแรกของตระกูล “Z”

ในปัจจุบัน ถ้ามีใครสักคนอยากซื้อ BMW ใหม่ป้ายแดงที่ใช้หลังคาแบบเปิดประทุน ก็จะพบว่าทางเลือกนั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์ 4 Convertible, ซีรีส์ 6 Convertible หรือ Z4 ซึ่งกำลังจะถูกแทนที่ด้วย Z5 ในเร็วๆนี้ แต่ถ้าหากย้อนกลับไปในยุค 80s ที่หนุ่มสาวยังต้องจีบกันด้วยจดหมายรักหรือโทรศัพท์บ้าน และดูโอ WHAM! ยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางนั้น ทางเลือกสู่โลกเปิดหลังคาของ BMW ถูกจำกัดอยู่แค่ซีรีส์ 3 E30 ตัวถัง Cabriolet เท่านั้น ทาง BMW รู้ดีว่าอีกไม่นาน ตลาดรถประเภทโรดสเตอร์หลังคาเปิดแบบ 2 ที่นั่งอาจจะมีแววบูมอีกครั้ง และนั่นก็คือที่มาของ BMW Z1 ยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มีคนรู้จักน้อยมากที่สุดรุ่นหนึ่ง?!?

นำเครื่องยนต์จากยุค 80s บวกกับสไตล์ตัวถังยุค 2000 สิ่งที่ได้คือ Z1
นำเครื่องยนต์จากยุค 80s บวกกับสไตล์ตัวถังยุค 2000 สิ่งที่ได้คือ Z1

Project ของ BMW Roadster ตัวใหม่ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1985 ผู้บริหารระดับสูงของ BMW คิดว่าพวกเขาจะลองสร้างรถรุ่นใหม่ โดยไม่ใช้เจ้าหน้าที่และทีมจากสำนักงานใหญ่ แต่ใช้หน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อวิจัยและพัฒนายานยนต์ที่หลุดโลกมากขึ้นกว่าเดิม

รถคันใหม่นี้ จะเป็นโรดสเตอร์ 2 ที่นั่ง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตั้งแต่รุ่น 328 และ 507 ในตำนานปิดฉากลง ทาง BMW ก็ไม่เคยทำรถประเภทนี้ออกมาขายอีกเลยเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ

งานเริ่มขึ้น โดยผู้บริหารระดับสูงมอบหมายให้ Dr. Ulrich Bez ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของหน่วย BMW Technik GmbH (Technik = Technology) ทำการวิจัยทางวิศวกรรมเพื่อหาความเป็นไปได้ในการสร้างรถเปิดประทุนขนาดเล็ก มี 2 ที่นั่ง มีน้ำหนักที่เบา แต่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับซีรีส์ 3 บางส่วนได้ เนื่องจากในเวลานั้น BMW ยังสร้างเครื่องยนต์มัลติวาล์ว 6 สูบไม่เสร็จ และเครื่อง S14 ของ M3 ก็มีต้นทุนในการสร้างต่อเครื่องสูงไป

Dr. Ulrich Bez เองก็ไม่ใช่มือใหม่ในวงการ เขาคือหนึ่งในทีมที่ช่วยดูแล Porsche 911 RS 2.7 มาก่อน และในเวลานั้นก็กำลังช่วย BMW วิจัยเรื่องเรื่องยนต์ V8 อัลลอยบล็อคใหม่ ที่จะนำมาใช้แทนเครื่อง 6 สูบเรียงความจุเยอะอย่าง M30B35 และยังรับโปรเจ็คท์ Z1 นี้ไปดูด้วย จากนั้นก็เริ่มจ่ายงานให้ลูกน้อง โดยผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบทรวดทรงตัวถังภายนอกของ Z1 ก็คือ Harm Lagaay ชาวดัตช์ผู้ซึ่งเคยทำงานกับ Porsche มาก่อน ออกแบบรุ่น 924 แล้วก็ย้ายมาอยู่ BMW ในปี 1985 ทันเวลาที่ Z1 กำลังก่อร่างสร้างรูปพอดี

ทั้งสองท่านนี้ ยังต้องทำงานกับทีมวิศวกรและฝ่ายออกแบบจำนวนรวมทั้งสิ้น 60 คน เพื่อกำหนดรูปแบบมาตรฐานของโรดสเตอร์คันใหม่ ในช่วงแรกนั้น พวกเขายังสองจิตสองใจอยู่ว่า จะทำให้มันเป็นรถเครื่องวางกลางลำแบบ M1 ดี หรือว่าจะทำเป็นรถเครื่องวางหน้าอย่างที่ BMW ถนัด ท้ายสุดพวกเขาก็เลือกอย่างหลัง เพราะเป็นทางเลือกที่ลงตัวที่สุดในเรื่องการจัดวางอุปกรณ์ ห้องโดยสาร และการบาลานซ์น้ำหนักซึ่งเป็นหัวใจของ BMW ทุกคัน

เขาว่าอย่างนั้น แต่ที่จริงมันมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการระบายความร้อน ความง่ายในการบังคับควบคุม และที่สำคัญคือถ้าวางกลาง จะเอาเครื่องอะไรมาวาง? สมัยนั้น BMW ยังไม่มีเครื่อง V8 แล้วถ้าจะเอา 6 สูบเรียงมาวางตามยาว เกรงว่าขนาดตัวรถจะยาวเกินป้ายไปด้วย

bmwz1_proto

รถต้นแบบเริ่มออกวิ่งทดสอบตั้งแต่ปี 1986 ในระหว่างนั้นแนวทางการออกแบบของรถยนต์ในโลกเริ่มขยับจากความเหลี่ยมกับเส้นสายคมๆ เข้าสู่ความโค้งมนมีแอโร่ไดนามิกส์มากขึ้น (ให้นึกถึงรูปทรงของซีรีส์ 5 E28 เทียบกับ E34 แล้วจะเห็นแนวโน้มที่ว่านั่น) ทำให้ทีมออกแบบต้องพัฒนารูปทรงของรถไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เผยโฉมเวอร์ชั่นที่ใกล้ผลิตจริงในงานมอเตอร์โชว์ที่ Frankfurt วันที่ 11 กันยายน ปี 1987

BMW Z1 กลายเป็นดาวเด่นประจำงานนั้นไปในทันที ด้วยบรรดาสื่อมวลชนและคนทั่วไปที่ห้อมล้อมด้วยความตื่นเต้นไปกับรูปทรงของรถที่เหมือนหลุดมาจากอนาคต สื่อมวลชนเจ้าหนึ่งของเยอรมันถึงกับติดต่อไปที่ผู้บริหาร BMW เพื่อขอซื้อรถคันที่จอดโชว์ในงานด้วยเกรงว่าเมื่อรถรุ่นนี้ออกขายจริง มันจะถูกแย่งซื้อไปเสียหมด โดยสื่อมวลชนรายนั้นเสนอเงิน 150,000 มาร์ก (ราคาคาดการณ์ของ Z1 อยู่ที่ 80,000 มาร์ก) แต่ BMW ไม่สามารถขายรถให้ได้เนื่องจากยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามระเบียบของรัฐ

Z1 โดดเด่นมากจนหลายคนลืมไปเลยว่าในงานเดียวกันนั้น BMW ยังได้เปิดตัว 750iL  ซึ่งเป็นรถ V12 รุ่นแรกหลังสงครามโลกของทางค่าย แถมยังมีซีรีส์ 3 Touring อีกต่างหาก ว่ากันว่า ทันทีที่ผู้คนเห็นหน้าตาของโรดสเตอร์รุ่นใหม่ ชาวเยอรมันต่างก็วิ่งกันไปจองทั้งๆที่รถยังไม่ขึ้นสายการผลิตจริง จนนับใบจองได้ถึง 5,000 ใบ BMW จึงมั่นใจที่จะเดินสายการผลิตรถรุ่นนี้ แม้ว่าต้นทุนต่อคันจริงๆจะสูงและไม่มีความคุ้มค่าในแง่เศรษฐศาสตร์ก็ตาม

ในที่สุด BMW ก็เผยโฉม Z1 เวอร์ชั่นขายจริงอย่างเป็นทางการ ที่เมือง Punta Ala ประเทศอิตาลี เดือนตุลาคมปี 1988 ซึ่งในเวลานั้น ทางโรงงานก็เริ่มประกอบ Z1 ไปบ้างแล้ว แต่สายการผลิตจริงเริ่มต้นในเดือนมีนาคมปี 1989 ด้วยกำลังการผลิตวันละ 6 คัน

Z1 มีแค่พวงมาลัยซ้ายเท่านั้น และในโลกนี้มีอยู่แค่ 8,000 คัน
Z1 มีแค่พวงมาลัยซ้ายเท่านั้น และในโลกนี้มีอยู่แค่ 8,000 คัน

“Enter the new world” ถูกใช้เป็นคำโปรยหัวโฆษณาของ Z1 ตัวอักษร Z นั้น ไม่ได้ยกของ Datsun Fairlady มาใช้ แต่มันย่อมาจากคำภาษาเยอรมันว่า “Zukunft” ซึ่งแปลว่า “อนาคต” โดยทั้งชื่อและธีมการตลาดต่างก็สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของรถที่ดูทันสมัยมากเมื่อเทียบกับรถที่เปิดตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน

ความเซ็กซี่ของตัวถังรถ ทำให้ชาวเยอรมันอย่าง Peter Irmler รู้สึกทึ่งมาก เขากลายเป็นเจ้าของ BMW Z1 จากโรงงานคันแรก ซึ่งมีตัวถังสีแดง

Peter เล่าว่า “ทันทีที่เห็นรถคันนี้ ผมบอกกับตัวเองว่าผมต้องซื้อมันให้ได้ แต่ผมไม่มีอะไรเลย ไม่มีเงินพอที่จะซื้อมันได้ ผมต้องขายทุกอย่าง ถอนเงินจากทุกบัญชีที่มี ทิ้งประกันชีวิต ขายหุ้น ขายนู่นขายนี่ไปหมดเพื่อเอาเงินมาซื้อมัน”

ตัวถังภายนอกทำมาจากพลาสติก ถอดเปลี่ยนได้ทุกชิ้น
ตัวถังภายนอกทำมาจากพลาสติก ถอดเปลี่ยนได้ทุกชิ้น

โครงสร้างหลักของตัวรถ Z1 นั้น ถึงแม้จะมีรหัสตัวถังว่า E30 และมีข้อบ่งชี้ว่าหลายอย่างของตัวรถ ถูกหยิบยืมมาจากซีรีส์ 3 รหัส E30 แต่อันที่จริงแล้วต้องนับว่าเป็นแพลทฟอร์มใหม่ที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อโรดสเตอร์อย่าง Z1 โดยเฉพาะ บอดี้ของ Z1 นั้นจะมีผิวตัวถังภายนอกที่สามารถถอดออกได้ โดยประตูและแก้มข้าง ทำมาจาก ThermoPlastic ที่พัฒนาโดย General Electrics ส่วนฝากระโปรงหน้าหลังทำมาจาก GRP ซึ่งทุกส่วนจะถูกพ่นเคลือบด้วยแล็คเกอร์ชนิดพิเศษที่มีความยืดหยุ่นสูง เนื่องจากวัสดุพลาสติกจะบิดตัวไปมาได้มากกว่าเหล็ก ถ้าใช้แล็คเกอร์ปกติสำหรับรถตัวถังเหล็ก ชั้นแล็คเกอร์อาจจะร้าวได้

แล้ว Dr. Ulrich Bez ก็ยืนยันเรื่องความยืดหยุ่นของวัสดุด้วยวิธีไหน? ลองเดาไหมครับ?

ใช่แล้ว พี่ Ulrich แกสั่งให้ทีมเอาพลาสติกที่ชิ้นแก้มหน้ารถมาวางบนพื้น จากนั้นก็กระโดดกระทืบอย่างสง่าผ่าเผยแบบเยอรมัน เมื่อกระทืบเสร็จแล้วกระโดดออก ชิ้นส่วนนั้นก็เด้งดึ๋งกลับคืนรูปดังเดิม ไม่มีความเสียหายใดๆเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นต่อหน้าสื่อมวลชนที่เป็นพยานได้

ว่ากันว่าเปลือกตัวถังแบบถอดได้นี้ กลายเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของ Z1 ในสมัยนั้นก็คือ ถ้าคุณเบื่อสีภายนอกของรถ แต่ไม่อยากทำสีใหม่ (บางคนอาจจะชอบ 2 สีเท่าๆกัน) คุณก็สามารถสั่ง Body panel ภายนอกสีที่คุณต้องการ แล้วเอามาสลับใส่กับรถของคุณโดยถอดแล้วเปลี่ยนทีละชิ้น!

การเปลี่ยนเปลือกตัวถังนี้ BMW บอกว่าใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงถ้าทำโดยทีมช่างผู้ชำนาญการและเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบครัน แต่สำหรับมนุษย์ธรรมดาที่มีความรู้ด้านรถ ทำเองกัน 2 คนที่บ้านนั้น อาจต้องใช้เวลา 2 วันกว่าจะเสร็จ ดังนั้นจึงไม่พบว่ามีใครเปลี่ยนสีตัวถัง BMW Z1 เล่นเองบ่อยๆ

หลังคาผ้าใบของ Z1 กางและเก็บด้วยมือ
หลังคาผ้าใบของ Z1 กางและเก็บด้วยมือ

นอกจากจะมีบอดี้พลาสติกที่ต่างจากรถรุ่นอื่นๆแล้ว BMW Z1 ยังมีตัวถังที่ได้รับการทดสอบอย่างดีในอุโมงค์ลม และมีการจัดการแอโร่ไดนามิกส์ที่ล้ำหน้ากว่ารถยุค 90s บางคันด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่นใต้ท้องรถที่มีแผ่นพลาสติกปิดเรียบ ทำมาจากอีพ็อกซี่เรซิ่นประกบกับไฟเบอร์กลาส ซึ่งมีขนาดโตปิดใต้ท้องเต็ม แต่เบาแค่ 15 กิโลกรัม นี่คือสิ่งที่ซูเปอร์คาร์อย่าง Ferrari ทำในปี 1993 และรถทั่วไปตามท้องถนนเพิ่งจะมีกันไม่กี่ปีมานี้

สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นทางด้านการออกแบบของ Z1 ก็คือประตูที่เปิดแบบ Vertical Sliding ซึ่งหาดูได้ยากในรถทั่วไป เมื่อต้องการจะเข้าไปนั่งในรถ ก็กดปุ่มที่บริเวณข้างรถ จากนั้นทั้งบานกระจกและบานประตูจะเลื่อนไหลหายตุ๋มลงไปในธรณีประตู เวลาปิด ก็เลื่อนกลับเข้าที่เดิม ถ้านึกไม่ออกว่ามันทำงานอย่างไร ลองดูคลิปนี้ครับ

กลไกการทำงานของประตูนั้น ประกอบด้วยชุดสวิตช์สั่งการ กับมอเตอร์ขับเคลื่อน 2 ชุดและชุดสายพาน ซึ่งทำให้ประตูเลื่อนขึ้นลงได้อย่างนุ่มนวล ตัวบานกระจกจะทำงานแยกกับประตูเพื่อให้คนขับสามารถกดกระจกลงได้เวลาจะซื้อพวงมาลัยดอกไม้ตามสี่แยกในเมืองมิวนิค (มันใช่เหรอวะ) แต่ถ้ากดเปิด หรือปิดประตู บานกระจกจะทำงานประสานกันกับตัวประตู พร้อมกันนี้ยังมีระบบปลดรางฉุกเฉิน ซึ่งทำให้ไม่ต้องห่วงว่าถ้าระบบไฟฟ้าเสียแล้วคุณจะโดนขังไว้ในรถ

ภายในมีเสน่ห์ เรียบง่ายและทันสมัย แต่อยากร้อนหรือเย็น..ต้องเลือก
ภายในมีเสน่ห์ เรียบง่ายและทันสมัย แต่อยากร้อนหรือเย็น..ต้องเลือก

ภายในของ Z1 ได้รับการออกแบบอย่างเรียบง่าย นี่คือ BMW ในยุคที่ยังไม่มี iDrive ไม่มีฟังก์ชั่นประเภท Dynamic นั่น Variable นี่ ทำให้แผงคอนโซลสะอาดตาไม่ต่างอะไรกับซีรีส์ 3 E30 และรถจากยุคเดียวกัน หน้าปัดและเครื่องเคราต่างๆเบื้องลึกยังแชร์กันใช้กับ E30 อยู่ สังเกตได้ว่าหน้าปัดยังใช้วิธีนับระยะทางแบบฟันเฟือง ไม่ได้เป็นดิจิตอลสีส้มเหมือนรถยุคใหม่ พวงมาลัยไม่มีระบบมัลติฟังก์ชั่น แต่ขนาดกำลังสวย ดูน่าจะจับถนัดมือไม่แพ้พวงมาลัย BMW ยุคใหม่ๆ

สิ่งหนึงที่เป็นข้อจำกัดของ Z1 ก็คือขนาดตัวรถที่ต้องเล็ก และพื้นที่ภายในที่มีน้อยเนื่องจากต้องใช้เครื่อง 6 สูบเรียงวางตามยาว ดังนั้นหลังแดชบอร์ดจึงมีพื้นที่เหลือน้อยมาก เจ้าของรถจะต้องเลือกว่าจะติดฮีทเตอร์ไว้รบกับอากาศหนาว หรือจะเอาเครื่องปรับอากาศไว้ใช้กับหน้าร้อน แน่นอนว่ารถ Z1 ที่ขายไปส่วนใหญ่ จะไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่สามารถติดตั้งเพิ่มได้ เจ้าของรถหลายคนก็ดัดแปลงระบบปรับอากาศ ตู้แอร์ และสวิตช์แรงดันต่างๆจาก E30 มาใช้ใน Z1

ช่วงล่างหน้าจาก E30 +ช่วงล่างหลังพัฒนาใหม่
ช่วงล่างหน้าจาก E30 +ช่วงล่างหลังพัฒนาใหม่

เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของ Z1 มีเพียงแบบเดียวคือเครื่อง M20B25 6 สูบเรียง SOHC 12 วาล์ว 2.5 ลิตร 170 แรงม้า ซึ่งยกมาจาก 325i E30 เช่นเดียวกับชุดเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ แต่ความพิเศษของ Z1 ก็คือจะมีท่อพิเศษที่ยิงยาวจากท้ายเกียร์ไปจนถึงเฟืองท้าย เชื่อม 2 ส่วนนี้ติดกันและทำให้เฟืองท้ายมีการเคลื่อนไปมาในแนวระนาบน้อยลง ตัวเครื่องยนต์เองก็วางเอาไว้หลังแนวแทร็คล้อหน้า ทำให้นับว่า Z1 เป็นรถแบบ Front-Midship คันหนึ่งเลยก็ได้ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. โรงงานเคลมไว้ 7.9 วินาที ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 225 กม./ชม.

bmwz1_engine_suspension

ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบปีกนกและสตรัทที่ยกมาจากของซีรีส์ 3 E30 ทั้งชุด แม้แต่น็อตล้อก็ยังเป็นแบบ 4 รูเหมือน E30 (ไม่ใช่ 5 รูแบบซีรีส์ 5 หรือรถรุ่นใหม่กว่านั้น) แต่ช่วงล่างหลังเป็นแบบที่มัลติลิงค์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยเรียกว่า Z-Axle ซึ้งมีความสามารถในการคุมมุมขยับของล้อได้ดีกว่าช่วงล่างหลังเซมิ-เทรลลิ่งอาร์มของ E30 และป้องกันอาการท้ายปัดโดยไม่ได้ตั้งใจได้ดีขึ้น ในภายหลัง BMW ก็เอาช่วงล่างแบบนี้ไปใช้กับ E36 ด้วยเช่นกัน

bmwz1_stripped02

ด้วยตำแหน่งของการติดตั้งเครื่องยนต์ และบอดี้ของรถที่เตี้ยกว่าซีรีส์ 3 ทำให้ Z1 มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลงกว่าซีรีส์ 3 คูเป้/Cabriolet ถึง 10 เซ็นติเมตร ส่งผลให้มีบุคลิกการขับขี่ที่แคล่วคล่องว่องไว อาการยวบของตัวถังน้อยกว่าโดยที่ช่วงล่างไม่ได้จูนให้แข็งกว่ากันมากนัก อัตราส่วนการกระจายน้ำหนักอยู่ด้านหน้า 49% และด้านหลัง 51%

bmwz1arpenck

นอกจากรถในสายการผลิตตามปกติแล้ว ตามธรรมเนียมของ BMW ก็ต้องมีการส่งรถไปวาดลวดลายให้กลายเป็น “Art Car” สำหรับ Z1 นี้ ทาง BMW ได้เชิญ A.R. Penck ศิลปินผู้มีชื่อเสียงจากภาพวาดและงานปั้น มาสร้างลวดลายลงบนตัวถังของ Z1 อีกด้วย โดยงานชิ้นนี้ถูกนำมาโชว์ในเดือนมิถุนายนปี 1991 เป็นรถ Z1 สี Top Red ที่นำมาพ่นสีดำเพิ่มลงไป

และในเดือนมิถุนายนปี 1991 นี้เอง BMW ก็ตัดสินใจหยุดสายการผลิต Z1 ลง เนื่องจากแม้ว่าจะขายด้วยราคาสูงถึง 83,000 มาร์กแล้ว แต่ก็ยังขาดทุน เพราะค่าวัสดุและเทคโนโลยีการทำตัวถังของ Z1 นั้นแพงมาก อีกทั้งยังต้องใช้แรงงานคนในการประกอบ เนื่องจากเครื่องจักรในสมัยนั้นยังไม่มีความละเอียดพอที่จะประกอบตัวถังที่มีวัสดุผสมหลากหลายแบบนี้ได้..ถ้านึกไม่ออกว่า 83,000 มาร์กแพงยังไง ก็ลองคิดดูแล้วกันครับว่า M3 E30 ที่มาในสเป็คมาตรฐานทั้งคันยังมีราคาเริ่มต้นที่ 58,000 มาร์ก…

ทั้งโลกมี 8,000 คัน และ 6,400 คันอยู่ในเยอรมนี
ทั้งโลกมี 8,000 คัน และ 6,400 คันอยู่ในเยอรมนี

เหนือสิ่งอื่นใด BMW Z1 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการรถยนต์ด้วยการใช้วัสดุผสมหลากหลายในการสร้างตัวถังให้มีน้ำหนักเบา มีจุดศูนย์ถ่วงที่่ต่ำ มีการขับขี่ที่สนุกสนานตามแบบฉบับของ BMW อีกทั้งยังเป็นเหมือนห้องทดลองในชีวิตจริงสำหรับการทดสอบช่วงล่างหลังแบบใหม่ที่จะช่วยปรับปรุงการบังคับควบคุมของ BMW รุ่นใหม่ๆให้มั่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้นไปอีก

ว่ากันว่าเป้าหมายของรถยนต์ที่เกิดมาบนโลกนี้ มีอยู่ 3 อย่างคือ 1) เกิดมาเพื่อโชว์เทคโนโลยีใหม่ๆ 2) เกิดมาเพื่อสร้างรายได้ 3) เกิดมาเพื่อกลายเป็นประวัติศาสตร์

BMW Z1 อาจไม่ประสบความสำเร็จในข้อ 2) ด้วยต้นทุนการสร้างมหาศาลกับยอดขายเพียงแค่ไม่ถึงหมื่นคัน..แต่ถ้าเป็นข้อ 1) รับรองว่ามันประสบความสำเร็จอย่างไร้ข้อกังขา และด้วยเหตุผลนี้ล่ะ ทำให้มันบรรลุเป้าหมายในข้อที่ 3) ตามมาด้วย เพียงแต่มันเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังวิ่งได้ และมอบรอยยิ้มให้กับเจ้าของแทบทุกครั้งที่ได้ขึ้นขับ


Source: press.bmwgroup
BMW Nederlande

Clip เพิ่มเติม (สำหรับคนที่ฟังภาษาอังกฤษออก) จาก BMW เนเธอร์แลนด์

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments