Paul Rosche: เบื้องหลังพลังขับเคลื่อนของ BMW ในตำนาน

ถ้าคุณเป็นบุคคลที่หลงใหลในการขับขี่ นิยมการกระแทกคันเร่งลากรอบ  ชื่นชอบที่จะดูการแข่งรถ คุณคงเข้าใจความสำคัญของเครื่องยนต์ในรถแต่ละคัน เครื่องยนต์คือสิ่งที่ทำให้เกิดความกระหายต่อพลัง การเสพย์ติดแรงดึง รวมถึงการสร้างความรู้สึกแห่งการเป็นผู้ชนะ ตลอดจนถึงความเพลิดเพลินที่ทำให้พวกเราสมัยเป็นวัยรุ่นบี้คันเร่งลากรอบเพียงเพื่อให้ได้ยินเสียงหวานๆจากเครื่องยนต์ที่พวกเราปรับแต่งมาอย่างภาคภูมิใจ

นั่นคือสาเหตุที่ทั้งคนไทยและฝรั่งมักมองเครื่องยนต์ว่าเป็น “หัวใจ” ของรถ และแน่นอนว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ BMW มีสาวกมากมายทั่วโลกจนทุกวันนี้

bth_aug16_PaulRosche2

ถ้าผมพูดชื่อ Paul Rosche ออกมา ผมเชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้จัก แถมอาจจะพาลนึกถึงช็อคโกแลตก้อนในห่อฟอยล์สีทองเอาด้วยซ้ำ แต่ถ้าผมพูดชื่อรถอย่าง M3 E30 ต้นฉบับความแรงที่ยิ่งนานยิ่งขลัง, McLaren F1 ซูเปอร์คาร์ที่ BMW สร้างเครื่องยนต์ให้ และครองสถิติรถ Production Car ที่เร็วที่สุดในโลกอยู่เป็นทศวรรษ, BMW 2002 Turbo หรือซูเปอร์คาร์รุ่นแรกของ BMW อย่าง M1 ผมว่าคุณต้องรู้จักเกือบทั้งหมด รถเหล่านี้มีความสำคัญในการสร้างชื่อ BMW ในฐานะพรีเมียมคาร์ขับสนุกมาทุกยุคทุกสมัย และตา Paul Rosche ที่ผมพูดถึงนั่นล่ะครับ คือหัวหน้าฝ่ายเทคนิคเครื่องยนต์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “หัวใจ” ในรถเหล่านี้ทุกคัน!

ท่านบารอน Alexander และ Paul เป็นบอสกับลูกน้องที่เข้าขากันดีสุดๆ
ท่านบารอน Alexander และ Paul เป็นบอสกับลูกน้องที่เข้าขากันดีสุดๆ

Paul Rosche เกิดวันที่ 1 เมษายน 1934 พอเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็เข้าไปสมัครทำงานกับ BMW ทันทีตั้งแต่อายุ 23 ปี แล้วก็ได้บรรจุไปเป็นลูกน้องของ “ท่านบารอน BMW”  Alexander von Falkenhausen งานแรกของเขาคือการเจียรแคมชาฟท์ใส่เครื่องรถ BMW 502 กับ 507 ความที่ Paul เป็นคนที่หมกมุ่นและใส่ใจรายละเอียดมากเขาจะนั่งคำนวณองศาแคมชาฟท์อย่างตั้งใจไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนเจ้านายและเพื่อนๆตั้งฉายาให้ว่า Nocken-Paul แปลเป็นไทยอาจต้องใช้คำว่า “พอล-ลูกเบี้ยวหมก” จะใกล้เคียงที่สุด

ในช่วงปี 1959 BMW อยู่ในฐานะที่กำลังจะล้มละลาย พวกเขากำลังจะขายกิจการให้ Daimler-Benz อยู่แล้ว แต่สองพี่น้อง Herbert กับ Harald Quandt ตัดสินใจระดมเงินซื้อหุ้นในบริษัทเพิ่มจาก 30 เป็น 50% เพื่อกุมอำนาจการตัดสินใจของบริษัท พวกเขามองว่าที่ผ่านมา BMW ขายแต่รถจิ๋วราคาประหยัด กับรถหรูเครื่อง V8 แต่ไม่มีรถสำหรับตลาดลูกค้าฐานะปานกลางที่น่าสนใจในสายตาลูกค้า เมื่อมีทีมวิศวกรเสนอให้สร้างรถรุ่นใหม่ในโครงการ “Neue Klasse” (New Class) พี่น้อง Quandt ก็เห็นด้วยและรีบผลักดันให้โครงการสำเร็จ แล้วก็มอบหมายให้ท่านบารอน สร้างเครื่องยนต์รุ่นใหม่ที่เหมาะสมกับรถเหล่านี้

เครื่องยนต์รุ่นใหม่นี้ เปรียบได้กับไม้ขีดไฟเล็กๆที่จุดลงบนกองน้ำมัน ความมีวิสัยทัศน์ของท่านบารอนในครั้งนั้นทำให้ BMW มีเครื่อง 4 สูบเรียงที่ใช้สร้างชื่อเสียงไปทั้งวงการแข่งและวงการรถบ้าน แม้สมัยนั้นจะมีหลายชื่อ แต่พวกเราจะรู้จักเครื่องนี้กันในนาม “M10”

Neue-Klasse คือสปอร์ตซาลูนที่สร้างคำนิยามให้ DNAของ BMW จนทุกวันนี้ ในภาพเป็นรุ่น 2000ti แข่งใน Nurburgring ปี'66
Neue-Klasse คือสปอร์ตซาลูนที่สร้างคำนิยามให้ DNAของ BMW จนทุกวันนี้ ในภาพเป็นรุ่น 2000ti แข่งใน Nurburgring ปี’66

แน่นอนว่า Paul Rosche ในฐานะลูกน้องคนเก่ง ก็ช่วยดีไซน์เครื่องยนต์ดังกล่าว อันเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ มี 5 แบริ่งชาฟท์และมีประสิทธิภาพพอที่จะไปโมดิฟายต่อได้หลากหลาย ซึ่งผู้บริหารหลายคนไม่เห็นด้วยและมองว่าเป็นการสิ้นเปลือง แต่ในที่สุดพวกเขาก็สร้างเครื่อง M115 (สมัยนั้นยังไม่เรียกว่า M10) ใส่ในรุ่น 1500 ซาลูนทรงเปรียวคันใหม่ และมีเวอร์ชั่นสมรรถนะสูงสำหรับรุ่น 1800TI/SA ซึ่งประสบความสำเร็จมากในฐานะรถแข่ง ท่านบารอนขับรถรุ่นนี้แข่งเองในปี 1964 และมั่นใจในประสิทธิภาพจนกล้าไปเคาะประตูห้องผู้บริหารแล้วบอกว่า “เรามาทำรถแข่งเครื่องเทอร์โบกันเถอะ”

M31 คือเครื่องยนต์รถยุโรปรุ่นแรกที่ติดตั้งเทอร์โบจำหน่ายให้คนทั่วไป
M31 คือเครื่องยนต์รถยุโรปรุ่นแรกที่ติดตั้งเทอร์โบจำหน่ายให้คนทั่วไป

รถแข่งที่ใช้เครื่องยนต์ M12 โมดิฟายเต็มพิกัด Paul โมดิฟายเครื่องเพิ่มความจุเป็น 2.0 ลิตร จากนั้นก็ติดเทอร์โบและปรับจูนจนได้พลังสูงถึง 280 แรงม้า รถรุ่น 2002TIK ที่เขาเป็นคนทำเครื่องชนะการแข่ง European Touring Car ปี 1969 และในเวลาต่อมามันได้ถูกดัดแปลงให้เหมาะกับการใช้งานบนถนน เปลี่ยนชื่อเป็น M31 และนำมาวางลงใน 2002Turbo 170 แรงม้า

 

หลายท่านก็คงทราบดีอยู่แล้วว่า 2002 Turbo ปี 1974 คือรถยุโรปสเป็คโรงงานรุ่นแรกที่ติดตั้งเทอร์โบชาร์จเจอร์ เครื่อง 4 สูบแคมชาฟท์เดี่ยวยังถูกพัฒนาต่อมาอีกหลายเวอร์ชั่น จนกระทั่งเปลี่ยนรหัสชื่อเป็น M10 ถ้าคุณเคยขับ 520 E12, 316 E21, 318i E30 โฉมแรก นั่นล่ะครับคือมรดกจากฝีมือ Paul Rosche ซึ่งมีการผลิตยาวนาน 28 ปี จาก 1962 ถึง 1988

bth_aug16_BMW2002Turbo

เครื่องยนต์ 4 สูบที่พัฒนาตั้งแต่ยุค 60s สืบทอดมาเป็นเวลานาน ทั้งในรถบ้านและรถพันธุ์แรงของ BMW
เครื่องยนต์ 4 สูบที่พัฒนาตั้งแต่ยุค 60s สืบทอดมาเป็นเวลานาน ทั้งในรถบ้านและรถพันธุ์แรงของ BMW

ในช่วงปี 1970 ทางบริษัทแม่หยุดยั้งโครงการมอเตอร์สปอร์ตเอาไว้ แต่ก็กลับมาอีกครั้งในปี 1973 โดยสนับสนุนเครื่องยนต์ให้กับการแข่ง Formula Two และ Touring Car ในยุโรป ช่วงเวลาในยุคนั้นเองที่ BMW คิดทำรถแข่งเครื่องวางกลางลำ ซึ่งการจะลงแข่งในคลาสนั้นได้ จะต้องทำรถเวอร์ชั่นปกติขายให้คนทั่วไปด้วย นี่คือที่มาของ BMW M1 ซูเปอร์คาร์เครื่องวางกลางลำคันแรกของ BMW และเครื่องยนต์ M88 แบบ 6 สูบเรียงทวินแคมของมันก็เป็นฝีมือของ Paul Rosche นั่นเอง วิธีการสร้างก็ไม่ยาก เขานำเอาเครื่อง M10 เวอร์ชั่นมอเตอร์สปอร์ตมา ใช้รูปแบบเสื้อสูบและส่วนประกอบท่อนล่างมาพัฒนาต่อให้เป็น 6 สูบ ก็ได้ท่อนล่างที่พร้อมแล้ว ส่วนฝาสูบนั้น Paul ตัดสินใจทำฝาสูบแบบ 4 วาล์วต่อสูบที่ช่วยให้ลากรอบสูงและสร้างแรงม้าได้ดีขึ้นมา น่าเสียดายที่การแข่งขันคลาสนั้นถูกยุบไปเสียก่อน และ M1 ก็ขายไปได้เพียงไม่ถึง 500 คัน

M1 ซูเปอร์คาร์คันแรกของ BMW ได้เครื่อง 6 สูบที่เกิดจากการเอา 4 สูบ มาเพิ่มอีก 2 กระบอก ประกบฝาสูบมัลติวาล์ว
M1 ซูเปอร์คาร์คันแรกของ BMW ได้เครื่อง 6 สูบที่เกิดจากการเอา 4 สูบ มาเพิ่มอีก 2 กระบอก ประกบฝาสูบมัลติวาล์ว

แต่หยาดเหงื่อแรงงานของ Paul ไม่ได้สูญเปล่า ในเมื่อลงทุนทำเครื่องไปแล้วก็ต้องใช้ให้คุ้ม ในช่วงเดียวกับที่ขาย M1 อยู่นั้น Paul ก็เอา M88 มาทำเป็นเวอร์ชั่น “เรียบร้อย” สำหรับใส่ลงในรถซาลูน ถอดฝาสูบ 24 วาล์วออกแล้วใส่ฝาสูบแบบแคมชาฟท์เดี่ยว SOHC 12 วาล์วลงไปแทน แรงม้าลดลงจาก 272 เหลือ 215 แรงม้า กลายเป็นเครื่อง M90 แล้วก็นำไปวางในตัวแรงของซีรีส์ 5 E12 ที่ชื่อ M535i รวมถึงรถคูเป้อย่าง 635CSi E24 และซาลูนหรู 735i E23

แล้วพอซีรีส์ 5 โฉม E28 เปิดตัว แล้ว BMW คิดทำ “M5” รุ่นแรก Paul จะทำอย่างไร..เดาได้..จะไปยากอะไร ก็เอา M88 ที่เคยใช้กับ M1 นั่นแหละ กลับมาใช้ใหม่ เปลี่ยนระบบจ่ายเชื้อเพลิงจากหัวฉีดกลไกเป็นไฟฟ้ารุ่นใหม่กว่า แค่นี้ M5 E28 สปอร์ตซาลูน 286 แรงม้าก็เกิดแล้ว และยังนำไปวางใน M635CSi อีกด้วย

BT-52 คือรถ Formula One รุ่นแรกที่ใช้เครื่องเทอร์โบและได้แชมป์มาครอง
BT-52 คือรถ Formula One รุ่นแรกที่ใช้เครื่องเทอร์โบและได้แชมป์มาครอง

ช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่าง M1, M535i นั้น Rosche ก็เดินหน้าพยายามพัฒนาแผนกมอเตอร์สปอร์ตต่อไป  เขาชักจูงให้ผู้บริหารอนุมัติให้ทีมเข้าแข่ง Formula One สำเร็จในปี 1980 เขานำเครื่องยนต์ M12 ที่สร้างไว้ตั้งแต่ก่อนปี 1969 มาปรับปรุงต่อ ปรับฝาสูบขนานใหญ่ แล้วติดตั้งลงในรถ Brabham BT52 ใช้เครื่อง 4 สูบ 1.5 ลิตรเทอร์โบ 800 แรงม้า ลงแข่งครั้งแรกในปี 1982 และกำชัยในสนามแรกโดยฝีมือของนักแข่ง Nelson Piquet ภายหลังพัฒนาจนแรงม้าสูงขึ้นมาก ในรถแข่ง Brabham BT56 ปี 1987 เครื่องยนต์ถูกปรับแต่งพลัง เปลี่ยนชื่อเป็น M12/13 เมื่อนักข่าวถาม Paul ว่าเครื่องรุ่นนี้มีกี่แรงม้า Paul ตอบว่า “ไม่รู้สิครับ..อาจจะ 1,400 แรงม้า..ตอบไม่ได้ เพราะเครื่องวัดแรงม้าที่เราใช้มันวัดได้สูงสุดแค่ 1,280 แรงม้าน่ะ”

Paul ชนแก้วฉลองกับท่าน CEO Eberhard von Kuenheim
Paul ชนแก้วฉลองกับท่าน CEO Eberhard von Kuenheim

BMW ถอนตัวออกจากการแข่งขัน Formula One ในปี 1987 แต่ไม่ได้ทิ้งโลกมอเตอร์สปอร์ตไปไหน เพราะก่อนหน้านั้นหลายปี BMW มองเห็นอนาคตในการแข่ง Touring Car ที่กำลังมาแรง ในปี 1985 CEO ของ BMW นาย Eberhard von Kuenheim เดินทางไปที่ Motorsport GmbH ซึ่ง Paul Rosche เป็นผู้อำนวยการอยู่ จากนั้นก็คุยงาน คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ จิบเบียร์ไป ตอนก่อนกลับก็เกือบลืม “เออนี่..Paul” ท่าน CEO บอก “ผมอยากได้เครื่องแรงๆไว้ใส่ซีรีส์ 3 ตัวใหม่หน่อย” จริงอยู่ว่าซีรีส์ 3 E30 มีเครื่อง 6 สูบ M20 170 แรงม้าอยู่แล้ว แต่เขามองว่ามันยังไม่ใช่เครื่องสำหรับการแข่งในสนาม แน่นอนว่า Paul บอกว่าไม่ต้องห่วงครับท่านเดี๋ยวผมจัดให้

ท่อนล่าง M10 โมฯเพิ่ม+ฝามัลติวาล์วของ M5 E28 ที่เอามาหั่นออก 2 สูบ กลายเป็นเครื่อง S14
ท่อนล่าง M10 โมฯเพิ่ม+ฝามัลติวาล์วของ M5 E28 ที่เอามาหั่นออก 2 สูบ กลายเป็นเครื่อง S14

Paul เอาแบบจากเครื่อง M10 4 สูบ 2.0 ลิตรเป็นตัวตั้งต้น จากนั้นก็เอาฝาสูบแบบ 4 วาล์วต่อสูบของเครื่อง M88 ใน M5 มา “ตัด” ให้เหลือ 4 สูบแล้วขันน็อตกับแผ่นเหล็กแปะส่วนที่โหว่ไว้ จากนั้นก็ขยายท่อนล่างเป็น 2.3 ลิตรและปรับจูนก้านสูบ ข้อเหวี่ยงและแบริ่งให้รองรับการหมุนได้ถึง 10,000 รอบต่อนาที เขาสร้างเครื่องยนต์ “S14” ให้กับ M3 E30 เสร็จภายในเวลา 2 สัปดาห์เท่านั้น! และเมื่อท่าน CEO ได้ลองอัดเล่นก็รู้สึกพอใจกับประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ลากรอบได้สูง ทนมือทนเท้า น้ำหนักตกหน้าน้อยกว่าเครื่อง 6 สูบ M20 ทำให้บังคับควบคุมได้ดีกว่า M3 รุ่นแรกนั้นกลายเป็นตำนานของ BMW และเป็นหนึ่งใน Touring Car ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของยุโรป

ซูเปอร์คาร์ 3 ที่นั่ง ของแปลกจากฝีมือ Gordon Murray
ซูเปอร์คาร์ 3 ที่นั่ง ของแปลกจากฝีมือ Gordon Murray

ต่อมาในปี 1990 ชีวิตของ Paul ก็กลับไปยุ่งเกี่ยวกับชื่อ “F1” อีก..แต่คราวนี้ไม่ใช่รถแข่งล้อเปิด..มันคือซูเปอร์คาร์ที่จะครองสถิติความเร็วโลกไปนานแสนนาน เรื่องของเรื่องคือ Gordon Murray บิดาของ McLaren F1 มีแผนจะสร้างรถของเขาโดยใช้เครื่อง V10/V12 ขนาด 4.5 ลิตร 550 แรงม้าของ Honda แต่ก่อนจะสร้างเครื่องสำเร็จ Honda กลับเปลี่ยนใจแล้วบอกว่าไม่อยากสร้างเครื่องโตกว่า 3.0 ลิตร V6 Gordon Murray ก็อึ้งรับประทานเพราะโครงสร้างตัวรถ แท่นเครื่องและบาลานซ์ทุกอย่างถูกคำนวณมาให้ใช้กับเครื่อง V12 หมดแล้ว แต่ในปี 1990 นั้นเองขณะที่ Gordon ไปดมควันเบนซินปลดปล่อยความเครียดที่สนามแข่ง Hockenheim ในเยอรมนี ซึ่งมีการจัดแข่ง Formula One อยู่พอดี ก็เดินไปเจอ Paul Rosche ของเรากำลังซดเบียร์ชิลอยู่ ก็นึกขึ้นได้ว่า “เห้ย นั่นมันเพื่อนเก่าสมัยเราเคยทำรถแข่ง Brabham กันนี่หว่า” ว่าแล้วก็เดินเข้าไปทักทายแล้วก็ปลดปล่อยบทเล็คเชอร์เรื่องซูเปอร์คาร์ในฝันของเขาออกมาทั้งหมด Paul ฟังเสร็จแล้วก็บอกว่า “สวยดิ! งั้นเครื่องของไอ้รถคุณเนี่ย เดี๋ยวผมทำเอง!” Gordon Murray บอกด้วยว่า “ห้ามใช้เทอร์โบนะ!” Paul ก็บอก “ไม่มีปัญหา เดี๋ยวรอดูละกัน”

S70/2 ขุมพลังที่ผลักดัน McLaren F1 ไปสู่ 391 กม./ชม.
S70/2 ขุมพลังที่ผลักดัน McLaren F1 ไปสู่ 391 กม./ชม.

Paul เอาเครื่อง M70 V12 5.0 ลิตรกาง 60 องศาที่อยู่ใน 750iL E32 และ 850i มาโมดิฟายต่อ ขยายความจุเป็น 6,064 ซี.ซี. เปลี่ยนฝาสูบจากแคมชาฟท์เดี่ยวต่อฝั่งสูบเป็นแบบคู่ มี 48 วาล์ว ปรับปรุงการทำงานให้รองรับรอบเครื่องที่สูงขึ้นในหลายจุดเช่นระบบเวียนน้ำมันเครื่องแบบ Dry-sump แคมชาฟท์องศาสูงกับแบริ่งแคมชาฟท์ทำจากแม็กนีเซียม ระบบคอยล์จุดระเบิดแยก ลิ้นคันเร่งแบบ 12 ลิ้นสูบใครสูบมัน ย้ายจุดตัดการทำงานเครื่องไป 7,500 รอบต่อนาที กลายเป็นเครื่อง S70/2 ที่มีแรงม้าสูงถึง 627 แรงม้า (PS) แรงบิด 651 นิวตัน-เมตร แม้ว่าน้ำหนักเครื่อง 266 กิโลกรัมจะเกินจากที่ Gordon Murray กำหนดไว้ไป 16 กิโลกรัม แต่แรงเครื่องที่ได้เพิ่มมา 77 แรงม้านั้นถือว่าคุ้มจะแลก มันสร้างความเร็วสูงสุดได้ 372 กิโลเมตร/ชั่วโมง นี่ไม่ใช่ว่าหมดแรง แต่เป็นเพราะวัดรอบดีดไปชน Limiter ที่ 7,500 ต่างหาก..ในปี 1998 มีการนำเครื่องตัวนี้มาปลดรอบให้ลากได้ 8,300 ขับโดย Andy Wallace ที่สนามทดสอบของ VW ที่ Ehra-Lessien และทำความเร็วได้ถึง 391 กิโลเมตร/ชั่วโมง

bth_aug16_PaulRosche

จะเห็นได้ว่าเครื่องยนต์แต่ละเครื่องที่ Paul Rosche ทำออกมานั้น ล้วนแล้วแต่สร้างชื่อเสียงให้กับ BMW มาตลอด ถ้าไม่มี Paul ค่ายใบพัดขาวฟ้าของคุณก็อาจไม่มีเครื่องยนต์ดีๆหลายรุ่น อย่านับแค่เครื่องมอเตอร์สปอร์ตพลังสูง แต่รวมถึงเครื่องรถทั่วไปที่พวกเราขับกัน ปรัชญาของ Paul ที่เรียนรู้มาจากท่านบารอน Alexander กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เครื่องยนต์เหล่านี้กลายเป็นตำนาน ความใส่ใจในรายละเอียดขั้นเทพของ Paul บวกกับนิสัยของท่านบารอนที่ชอบทำเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพพร้อมสำหรับการขุนเพื่อแข่ง กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ Ultimate Driving Machine ให้กับ BMW ได้เป็นอย่างดี และสอนให้นักสร้างเครื่องยนต์ทั้งหลายได้รู้ว่า “ถ้าคุณตั้งใจทำงานชิ้นแรกให้ดีที่สุด ดีแบบสุดใจขาดดิ้น คุณจะได้รากฐานที่ดีสำหรับการต่อยอดในอนาคตที่จะทำให้คุณไม่ต้องเหนื่อยเท่าเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า” เครื่องยนต์ M10 คือตัวอย่างที่ดีจากปรัชญานี้

ปัจจุบัน Paul อายุ 82 ปีแล้ว เป็นลุงแก่ผู้มากประสบการณ์ที่เป็นตำนานในใจของวิศวกรเครื่องยนต์รุ่นหลังๆ ถ้ามีโอกาส เขามักจะเข้าร่วมงานแข่งรถต่างๆ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับนักสร้างเครื่องชาวเยอรมันรุ่นหลาน เมื่อปี 2013 มีการเอารถแข่ง Brabham BT52 จากปี 1983 มาวิ่งโชว์ในงาน Goodwood Festival of Speed ลุง Paul ก็เป็นหนึ่งในทีมช่าง 30 คนที่ช่วยทำให้รถแข่งคันนี้ได้กลับมาวาดลวดลายอีกครั้ง

 


บรรณานุกรม
www.carmagazine.co.uk
BMW Group Press Article
www.mclaren.com

The following two tabs change content below.

Pan Paitoonpong

Founding Member/Contributing Editor
มนุษย์ปากจัดผู้หลงใหลเสน่ห์ของรถยุค 90s ชื่นชอบรถยนต์ที่ขับสนุกและมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ขับตัวอ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการขับขี่>>รู้จักกันในชื่อ Commander CHENG ก่อนรีแบรนด์ตัวเองโดยใช้ชื่อจริง>>ทดสอบรถยนต์และเขียนบทความให้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ Headlightmag.com, GQ Magazine และแน่นอน..bimmer-th.com

Comments

comments